1 ก.ย.2560 นายพฤทธิ์นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ภายหลังได้รับการลดหย่อนจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญจำนวนสองครั้ง และถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษแล้ว แต่หลังการปล่อยตัว กลับถูกอายัดตัวต่อตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2557 ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เรียกให้ไปรายงานตัว
ในช่วงเช้าวันนี้ นายพฤทธิ์นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางอุบลราชธานี โดยมีครอบครัวมารอรับ แต่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองอุบลราชธานีเข้าอายัดตัวตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพในคดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. ก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามตามหมายจับ และจึงมีการนำตัวพฤทธิ์นรินทร์เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร
จนกระทั่ง เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวพฤทธิ์นรินทร์มาถึงกองบังคับการปราบปราม และได้มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางติดตามไปเพื่อร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย แต่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบผู้ต้องหา
จากนั้น เวลาราว 21.00 น. หลังจากเจ้าหน้าที่ยินยอมให้ทนายความเข้าพบผู้ต้องหา ทาง พ.ต.อ.บุญเลิศ กัลยาณมิตร พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของคสช. โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาไม่ไปรายงานตัว ทั้งต่อมา ก็ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งเรียกแล้ว โดยผู้ต้องหาประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป
ในคืนนี้ เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะได้ควบคุมตัวพฤทธิ์นรินทร์ไว้ที่กองบังคับการปราบปราม และจะนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขังในวันพรุ่งนี้
(ภาพและเรื่องราวของพฤทธิ์นรินทร์จาก สำนักข่าวประชาไท)
สำหรับ คดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เดิมนั้น นายพฤทธิ์นรินทร์เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกควบคุมตัวจากบ้านพัก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท
ภายหลังการรัฐประหาร 2557 พฤทธิ์นรินทร์ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ที่ 44/2557 ลงวันที่ 1 มิ.ย.2557 ให้มารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 และยังถูกเรียกรายงานตัวซ้ำอีกครั้งตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2557 ลงวันที่ 8 มิ.ย.2557 ให้มารายงานตัวในวันที่ 9 มิ.ย.2557 แต่ในช่วงดังกล่าว พฤทธิ์นรินทร์ระบุว่าตนไม่ทราบว่ามีคำสั่งเรียกรายงานตัวดังกล่าวแต่อย่างใด
จนกระทั่งวันที่ 12 มิ.ย.2557 พฤทธิ์นรินทร์จึงได้ทราบจากญาติว่ามีคำสั่งเรียกรายงานตัว จึงได้เดินทางเข้าไปยังสโมสรกองทัพบก แต่หลังจากเข้ารายงานตัวกับทางคสช. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีเดินทางมารับตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพาตัวพฤทธิ์นรินทร์กลับไปคุมขังที่สภ.เมืองอุบลราชธานี ในวันที่ 13 มิ.ย.2557
ขณะที่ในวันที่ 13 มิ.ย.2557 เช่นเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่มารายงานตัวภายในกำหนด จำนวน 17 ราย ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม และกองปราบปรามได้ขอศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ โดยมีพฤทธิ์นรินทร์เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย แต่ขณะนั้นเขาถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว
ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.2557 อัยการจังหวัดอุบลราชธานีได้ส่งฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาล ก่อนที่จำเลยจะให้การรับสารภาพ และศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งหมด 9 กรรม ความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 27 ปี ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ลงโทษกรรมละ 4 เดือน รวม 36 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 36 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกรวม 13 ปี 22 เดือน
หลังจากถูกคุมขังเป็นเวลาราว 3 ปีเศษ พฤทธิ์นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี โดยเขาได้รับการลดหย่อนจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญจำนวนสองครั้ง และถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษ
สำหรับนายพฤทธิ์นรินทร์ ปัจจุบันอายุ 30 ปี เคยศึกษาด้านคอมพิวเตอร์จนเกือบจบปริญญาตรี แต่ได้หันมาเรียนจนจบด้าน ปวส.แทน หลังจากนั้นได้ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีตามร้านอาหารในจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเกิดความสนใจทางการเมืองจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จนกระทั่งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ได้มีการกำหนดโทษสำหรับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านเพิ่มเติม
คดี 112 หนุ่มอุบล ศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี 22 เดือน กรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 9 กรรม (สำนักข่าวประชาไท)
รายงาน: ชีวิตนักดนตรีหนุ่มชาวอุบล ก่อน-หลังจองจำ 30 ปีคดี 112 (สำนักข่าวประชาไท)