อย่าให้ ‘เรือนจำ’ กลายเป็นสถานที่ ‘ถูกลืม’
ตัวเลขผู้ต้องขังคดีการเมืองในระลอกนี้ที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ของปีนี้ยังคงขยับเพิ่มขึ้น-ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากเทียบเคียงจากต้นเดือน ก.ย. แม้จะผ่านมาเพียง 15 วัน แต่ผู้ต้องขังคดีการเมืองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว 11 คน โดยมีผู้ต้องขังคดีการเมืองในระลอกล่าสุดนี้กลายเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว 2 คน เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะไม่ประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาอีก คือ พลทหารเมธิน และ ‘มะ’ ณัฐชนน ทำให้จนถึงปัจจุบัน มีนักโทษเด็ดขาดอันเนื่องมาจากคดีเกี่ยวข้องกับการเมืองถูกคุมขังอยู่ อย่างน้อย 4 คน ได้แก่ อัญชัญ, ศุภากร, เมธิน และณัฐชนน
ผู้ต้องขังคดีการเมือง 11 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวและได้ประกันตัว ในช่วง 15 วันที่ผ่านมา (1-15 ก.ย.) ได้แก่
สมาชิกทะลุฟ้า 7 คน ได้แก่ ‘ป่าน’ กตัญญู, ‘คิม’ ทศมา, ‘เจมส์’ ศักดิ์สิทธิ์, ‘คาริม’ จิตริน, ‘ทู’ กฤษณะ , ‘อาทิตย์’ ทวี และ ‘ชาติ’ ชาติชาย ซึ่งเคยถูกคุมขังในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง 7 คนถูกคุมขังอยู่นาน 56-57 วัน และได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 12-13 ก.ย. 2565 จากการที่ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งของศาลชั้นต้น
‘ร็อก’ ธนรัตน์ สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งถูกคุมขังในคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ดินแดง #ม็อบ19มิถุนา65 ธนรัตน์ถูกขังอยู่นาน 82 วัน และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 เนื่องจากอัยการไม่ได้สั่งฟ้องภายในผัดฟ้อง
‘นิว’ จตุพร ถูกคุมขังระหว่างรอคำสั่งประกันตัวจากศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีมาตรา 112 กรณีสวมชุดไทยไปเดินม็อบแฟชั่นโชว์ ที่สีลม จตุพรถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงนาน 3 วัน และได้การปล่อยตัวชั่วคราวหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565
‘มานี’ เงินตา และ ‘จินนี่’ จิรัชยา ถูกคุมขังในข้อหาหลัก ‘ร่วมกันดูหมิ่นศาล’ จากเหตุปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ทั้งสองถูกขังอยู่นาน 9 วัน ก่อนได้ประกันตัวระหว่างสอบสวน เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2565
กระนั้นก็ยังคงมีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อย่างน้อย 19 คน ในจำนวนนี้ 5 คน ถูกคุมขังมานาน 100 วันแล้ว โดย ‘คทาธร’ และ ‘คงเพชร’ คือ สองผู้ต้องขังที่ถูกขังระหว่างต่อสู้คดีนานที่สุดในระลอกนี้ ด้วยระยะเวลานานกว่า 159 วัน หรือกว่า 5 เดือนแล้ว รองลงมา คือ พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกคุมขังมาแล้ว 158 วัน, เอกชัย หงส์กังวาน ถูกคุมขังมาแล้ว 151 วัน และสมบัติ ทองย้อย ถูกคุมขังมาแล้ว 142 วัน ตามลำดับ
ผู้ต้องขังการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว มีอย่างน้อย 19 ราย
ผู้ต้องขังการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอยู่ในขณะนี้ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ คดีตามมาตรา 112, คดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ดินแดง และคดีการเมืองอื่นๆ
คดีมาตรา 112 รวม 2 คน
1. ‘หนุ่ม’ สมบัติ ทองย้อย – ถูกขังชั้นอุทธรณ์ คดี ม.112 ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’
สมบัติ อายุ 54 ปี ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ มาตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” และอีก 2 ข้อความ ทั้งนี้ทนายความยื่นขอประกันตัวสมบัติระหว่างอุทธรณ์แล้วหลายครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดิม
อ่านเรื่องของสมบัติเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/42995
2. ‘แซม’ พรชัย ยวนยี – ถูกขังชั้นสอบสวน คดี ม.112 ถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ
พรชัย อายุ 32 ปี ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน มาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2565 หลังเข้าเคลียร์หมายจับคดีเก่าเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศ แต่พบว่ามีหมายจับในคดีมาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ทำให้พรชัยถูกจับกุมตามหมายจับและถูกฝากขังมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ทนายความได้ยื่นคัดค้านฝากขังของพนักงานสอบสวนมาแล้วถึง 7 ครั้ง แต่ศาลก็ยังคงอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเรื่อยมา
อ่านเรื่องของพรชัยเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/46023
คดีอันเนื่องจากการชุมนุมที่ดินแดง รวม 12 ราย
ผู้ต้องขังคดีอันเนื่องมาจากชุมนุมที่ดินแดงทั้งหมดถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี โดยเป็นคดีจากการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา65 จำนวน 4 คน ได้แก่ วัชรพล, จตุพล, ณัฐพล และพลพล และเป็นคดีจากการชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 จำนวน 8 คน ได้แก่ ศศลักษณ์, พิชัย, ใบบุญ, สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์, หนึ่ง และวรวุฒิ
หากแบ่งตามสังกัดการเคลื่อนไหว จะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทะลุแก๊ส 9 คน, กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 คน และเป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ 2 คน
สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส 10 คน ได้แก่
1. ‘ต้อม’ จตุพล
จตุพล อายุ 18 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2565 ต้อมจบการศึกษาสูงสุดในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เริ่มต้นเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อกลางปี 2564 โดยมีเหตุผลหลักมาจากความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังเพื่อนของต้อมต้องเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19
2. ‘แบงค์’ ณัฐพล
ณัฐพล อายุ 20 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ณัฐพลถูกกล่าวหาว่าเผารถตำรวจระหว่างการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา65 แต่เขายืนยันว่าไม่ได้เป็นคนก่อเหตุเผารถตำรวจตามที่ถูกกล่าวหา หลักฐานที่ตำรวจมีเป็นเพียงรูปถ่ายขณะเขายืนอยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุเท่านั้น
ณัฐพลยอมรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมจริง แต่ขณะเกิดรถตำรวจถูกเผา เขาวิ่งเข้าไปดึงเด็กคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ไฟออกมา เพราะกลัวว่าเด็กคนนั้นจะถูกไฟลวกเท่านั้น
นอกจากนี้ ณัฐพลยังมีความกังวลเรื่องคนรักเช่นเดียวกับพลพล โดยขณะนี้แฟนของเขาตั้งท้องอยู่ ก่อนหน้านี้เขาและแฟนทำงานรับจ้างขนของอยู่ที่ย่านสำเพ็งด้วยกัน จึงกังวลว่าแฟนที่ท้องอยู่จะทำงานไหวหรือไม่ และนายจ้างจะเลิกว่าจ้างเขาหรือไม่
3. ‘เก่ง’ พลพล
พลพล อายุ 20 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 เก่งอาศัยอยู่กับตามาตั้งแต่เด็ก ต้องหยุดเรียนกลางคันเมื่ออยู่ชั้น ม.2 จึงมีวุฒิ ป.6 เป็นวุฒิการศึกษาสูงสุด ปัจจุบันเก่งทำงานรับจ้างทั่วไป และรับงานเสริมรับจ้างขนศพกับโรงพยาบาล เพราะเคยมีประสบการณ์ช่วยงานพ่อเลี้ยงที่เป็นสัปเหร่อมาก่อนหลายปี
4. ‘หยก’ วรวุฒิ
วรวุฒิ อายุ 20 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 หยกเล่าว่า เหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันไม่มีเหตุผลเลย หยกรู้สึกว่าพวกเขาและเพื่อนๆ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายยิ่งกว่าคนปล้น ฆ่า หรือนักการเมืองที่คอรัปชั่นเสียอีก
5. ‘หิน’ อัครพล
อัครพล อายุ 26 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 หินมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับ ‘สมาธิสั้น’ ต้องกินยาก่อนอาหารทุกวัน ภาวะสมาธิสั้นจะทำให้มีอาการปวดหัวเล็กน้อยบ้างเท่านั้น แต่หากป่วยจริงๆ จะรู้สึกปวดหัวหนักมากคล้ายกับเป็นไมเกรน โดยทำได้เพียงอาศัยกิน ‘ยาแก้ปวด’ บรรเทาอาการไปเท่านั้น
6. ‘ใหญ่’ พิชัย
พิชัย อายุ 31 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 จบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ในกรุงเทพฯ ช่วงโควิดระบาดใหญ่ถูกให้ออกจากงานช่างไฟที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และผันตัวมาเป็นไรเดอร์ขับรถรับส่งอาหารแทน
ใหญ่ยังคงงุนงงที่ถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ก่อนถูกฝากขังโดยไม่รับสิทธิประกันตัว ใหญ่เล่าว่า ที่ตัดสินใจเลือกไปมอบตัวกับตำรวจ เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดและไม่ได้คิดว่าจะได้กลับเข้ามาอีก เพราะก่อนหน้านี้ใหญ่เคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้วครั้งหนึ่ง อันเนื่องมาจากคดีการเมืองเช่นกัน นานถึง 115 วัน และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565
7. ‘หนึ่ง’ เกตุสกุล
หนึ่ง อายุ 36 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 หนึ่งเคยประสบอุบัติเหตุ ทำให้ศีรษะมีรูปผิดปกติจากการเข้ารับการผ่าตัดบริเวณศีรษะ ระหว่างถูกคุมขังอยู่ หนึ่งรู้ว่าแม่มีอาการป่วยจนเดินไม่ได้ และพบอีกว่าน้องสาวตั้งท้องด้วย เขาจึงเป็นกังวลมาก อยากรีบออกไปดูแลหลานที่ใกล้จะคลอดออกมาลืมตาดูโลก และอยากกลับออกไปดูแลแม่ด้วย
8. ‘ดิว’ สมชาย
สมชาย อายุ 38 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ดิวเคยเล่าว่าที่เขากับเพื่อนๆ ตัดสินใจเข้ามอบตัวกับตำรวจ โดยไม่ได้คิดจะหนีแต่อย่างใด ไม่คิดว่าตำรวจจะฝากขังและศาลไม่ให้ประกัน ดิวยืนยันว่าตัวเองบริสุทธิ์ ตำรวจมีเพียงภาพที่ดิวไปเข้าร่วมม็อบ แต่เขากลับถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน’ นั่นทำให้ดิวทั้งรู้สึกงงและรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม
9. ‘คิม’ ธีรวิทย์
ธีรวิทย์ อายุ 42 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 คิมทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังสมาชิกทะลุแก๊สคนอื่นๆ ตลอดมา ระหว่างถูกคุมขังเคยอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว เป็นเวลา 39 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. ถึง 26 ก.ค. 2565 และยังเคยติดโควิด-19 จากการถูกขังในเรือนจำอีกด้วย
เป็นสมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 ราย ได้แก่
10. ‘อาร์ม’ วัชรพล
วัชรพล อายุ 20 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2565 จบการศึกษาระดับชั้น ปวช. ปัจจุบันทำงานเป็นไรเดอร์ ขับรถรับส่งสินค้าและอาหาร อาร์มเริ่มต้นเข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เพราะต้องการเรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอาร์มเห็นถึงปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างมาก ภายใต้การบริหารของรัฐบาล
และเป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ 2 ราย ได้แก่
11. ‘ภูมิ’ ศศลักษณ์
ศศลักษณ์ อายุ 19 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ก่อนหน้าถูกคุมขังภูมิทำงานด้านอาสากู้ภัย ก่อนต้องเข้าเรือนจำ ภูมิสมัครคอร์สเรียน ‘การกู้ชีพกู้ภัย’ ไว้ แต่ถูกคุมขังในคดีนี้เสียก่อน จึงยังไม่ทันได้เรียน ขณะถูกคุมขังภูมิเคยอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 5 วัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว และได้ยุติการอดอาหารเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว
12. ‘โอม’ ใบบุญ
ใบบุญ อายุ 22 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 การถูกคุมขังในคดีนี้ทำให้โอมต้องพักการเรียนไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ระหว่างถูกคุมขังโอมเคยใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนตัวเองเพื่อประท้วงศาลที่สั่งให้คุมขังพวกเขา และยังเคยอดอาหารประท้วงพร้อมกับภูมิเป็นเวลา 5 วันอีกด้วย ก่อนจะได้ยุติการอดอาหารเมื่อวันที่ 13 ก.ย.
อ่านเรื่องของผู้ต้องขังคดีดินแดงเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/45483
คดีการเมืองอื่นๆ รวม 5 ราย
1-2 ‘ต๊ะ’ คทาธร และ ‘เพชร’ คงเพชร – ถูกขังระหว่างต่อสู้คดีนานที่สุดในระลอกนี้ กว่า 5 เดือนแล้ว
คทาธร อายุ 26 ปี และคงเพชร อายุ 18 ปี คือ สองผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีนานที่สุดในระลอกนี้ ด้วยระยะเวลา 159 วัน หรือนานกว่า 5 เดือนแล้ว ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน หลังถูกตำรวจจับกุมขณะกำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงาน #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม และถูกพบว่ามีวัตถุระเบิดในครอบครอง
อ่านเรื่องของคงเพชรและคทาธรเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/46097
3. พรพจน์ แจ้งกระจ่าง – ถูกขังชั้นสอบสวน คดีปาระเบิดใส่หน้าบ้านประยุทธ์ นานอันดับ 2 ในระลอกนี้
ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน หลังจากเข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 การถูกคุมขังครั้งนี้เป็นการถูกขังครั้งที่ 2 แล้ว อันเนื่องมาจากคดีการเมือง โดยครั้งแรกนั้นเขาถูกคุมขังเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2564 ในคดี #ม็อบ17ตุลา64 เป็นเวลานานถึง 133 วัน และได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 จนกระทั่งถูกคุมขังอีกในคดีนี้
อ่านเรื่องของพรพจน์เพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/47903
4. เอกชัย หงส์กังวาน – ถูกขังชั้นฎีกา คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โพสต์เรื่องเพศในเรือนจำ
เอกชัย อายุ 47 ปี ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีในชั้นฎีกา มาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีโพสต์เล่าเรื่องเพศในเรือนจำ ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) โดยมีการยื่นประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีระหว่างชั้นฎีกา 5 ครั้งแล้ว แต่ศาลฎีกายังคงไม่อนุญาต
อ่านเรื่องของเอกชัยเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/48142
5. ‘แม็ก’ สินบุรี – ถูกขังชั้นพิจารณาคดี ถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมตำรวจระหว่าง #ม็อบ19กันยา64
สินบุรี อายุ 26 ปี สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี มาตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 2565 หลังเข้ามอบตัวในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมจราจรระหว่างการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 แต่ศาลกลับไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเรื่อยมา
อ่านเรื่องของสินบุรีเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/47336
‘นักโทษเด็ดขาด’ เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว ถูกขังอยู่อย่างน้อย 4 ราย
1. อัญชัญ – คดี ม.112 กับโทษจำคุก 29 ปี 174 เดือน (จาก 87 ปี)
อดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ปัจจุบันอายุ 66 ปี ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 ในช่วง คสช. หลังมีการรัฐประหาร ปี 2557 โดยถูกกล่าวหาว่าอัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวม 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กรรม ในช่วงปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558
เธอถูกจับกุมในวันที่ 25 ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นระหว่างที่ คสช. ยังคงบังคับใช้กฎอัยการศึก และถูกขังต่อเนื่องไปจนถึงชั้นพิจารณาคดีเป็นระยะเวลา 3 ปี 9 เดือน ก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561 ต่อมาก่อนจะเริ่มสืบพยานในคดีนี้ เมื่อปลายปี 2563 อัญชัญให้กลับคำให้การและรับสารภาพ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ศาลอาญาจึงมีคำพิพากษาให้จำคุก 87 ปี รับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน นับว่าเป็นอัตราโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ที่มากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล
ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเธอไม่ประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาอีก เธอจึงกลายเป็นนักโทษเด็ดขาดและต้องรับโทษจำคุกให้ครบตามเวลา 29 ปี 174 เดือน อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จึงจะได้รับการปล่อยตัว (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 โดยจะต้องหักล้างเวลาที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี 3 ปี 9 เดือน)
อ่านเรื่องของอัญชัญเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/25397
2. ศุภากร – คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน (จาก 9 ปี)
ปัจจุบันอายุ 23 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ในคดีตามข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (5) โดยถูกกล่าวหาว่าได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตารและโพสต์ภาพตัดต่อพระบรมฉายาลักษณ์จำนวน 9 โพสต์
ศุภากรถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 หลังศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาให้จำคุก กรรมละ 1 ปี ทั้งหมด 9 กรรม รวม 9 ปี รับสารภาพ ลดโทษจำคุกเหลือ 4 ปี 6 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว ศุภากรจึงตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาอีก คดีจึงถึงที่สุดแล้วและกลายเป็นนักโทษเด็ดขาดต้องรับโทษจำคุกให้ครบตามเวลา 4 ปี 6 เดือน จึงจะได้รับการปล่อยตัว (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564)
อ่านเรื่องของศุภากรเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/41189
3. พลทหารเมธิน – คดี ม.112 กับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน (จาก 5 ปี)
เมธิน (นามสมมติ) อายุ 22 ปี ถูกคุมขังอยู่ในคดี มาตรา 112 ที่เรือนจำ มทบ.11 จ.นครปฐม มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 จนกระทั่งศาลทหารมีคำพิพากษา โดยถูกกล่าวหาจากถ้อยคำที่โต้เถียงกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชนกัน
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมธินไม่ประสงค์ที่จะอุทธรณ์ต่อ ปัจจุบันคดีของเมธินจึงถึงที่สุดแล้ว และกลายเป็นนักโทษเด็ดขาดต้องรับโทษจำคุกให้ครบตามเวลา 2 ปี 6 เดือน จึงจะได้รับการปล่อยตัว (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2565)
อ่านเรื่องของเมธินเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/47146
4. “มะ” ณัฐชนน – คดีมีวัตถุระเบิดในครอบครอง กับโทษจำคุก 3 ปี (จาก 6 ปี)
ณัฐชนน อายุ 25 ปี ถูกจับกุมระหว่างเดินทางไปร่วมการชุมนุม #ม็อบ12มิถุนา65 และถูกพบว่ามีประทัดยักษ์ ทำให้ถูกดำเนินคดีมีวัตถุระเบิดในครอบครอง ล่าสุดศาลมีคำพิพากษาแล้วโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม โดยพิพากษาจำคุก 6 ปี รับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 3 ปี
ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ณัฐชนนไม่ประสงค์ที่จะอุทธรณ์ต่อ ปัจจุบันคดีจึงถึงที่สุดแล้ว และกลายเป็นนักโทษเด็ดขาดต้องรับโทษจำคุกให้ครบตามเวลา 3 ปี จึงจะได้รับการปล่อยตัว (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2565)
อ่านเรื่องของณัฐชนนเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/47522
ดูรายละเอียดของผู้ต้องขังการเมืองเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/44804