ศาลปกครองไม่รับฟ้อง ‘เอกชัย’ คดีร้องให้กทม.ย้าย ‘หมุดหน้าใส’ ออก ระบุไม่ใช่ผู้เสียหาย

ศาลปกครองไม่รับฟ้อง ‘เอกชัย’ คดีร้องให้กทม.ย้าย ‘หมุดหน้าใส’ ออก ระบุไม่ใช่ผู้เสียหาย

ในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมา เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตผู้ต้องขังทางการเมือง ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารถึงสองครั้งจากการเคลื่อนไหวติดตามตรวจสอบเรื่องการหายไปของ “หมุดคณะราษฎร” และการปรากฏขึ้นแทนของ “หมุดหน้าใส” โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 เม.ย.60 ภายหลังจากเดินทางไปยื่นร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลให้ติดตามหาเจ้าของ “หมุดหน้าใส” (ดูในรายงาน) และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.60 ภายหลังเตรียมเดินทางนำหมุดคณะราษฎรที่ทำจำลอง ไปติดตั้งกลับคืนที่จุดที่อยู่เดิมของหมุดคณะราษฎร (ดูในรายงานข่าว)

นอกจากนั้น เอกชัยยังได้ดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยฟ้องกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องได้ดำเนินการเคลื่อนย้าย “หมุดหน้าใส” ออกไป และให้ดำเนินการจำลองหมุดคณะราษฎรนำไปติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดิม หากแต่ก่อนหน้าวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาไม่กี่วัน เอกชัยก็ได้รับคำวินิจฉัยไม่รับฟ้องคดีนี้ โดยแม้ศาลจะเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง แต่ศาลเห็นว่าเอกชัยไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ทำให้ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

“หมุดคณะราษฎร” ที่หายไป และ “หมุดหน้าใส” ที่ถูกนำมาแทน (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)

ยื่นฟ้องกทม.-ผู้ว่าฯ ละเลยต่อหน้าที่ต้องเคลื่อนย้าย “หมุดหน้าใส” ออก

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.60 เอกชัยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยฟ้อง กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

คำฟ้องคดีระบุว่าผู้ฟ้องคดีเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ จึงมีความผูกพันกับสถานที่สำคัญหลายแห่งในกรุงเทพฯ โดยเคยเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลานพระบรมรูปทรงม้าหลายครั้ง และจะเห็นหมุดคณะราษฎรติดตั้งอยู่ โดยหมุดนี้เป็นหมุดทองเหลืองซึ่งจัดทำโดยกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกวันประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475 วันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหมุดนี้จึงเป็นโบราณวัตถุตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แม้หมุดนี้จะไม่มีหลักฐานการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานรัฐก็ตาม

ต่อมาปรากฏข่าวในสื่อมวลชนหลายแห่งตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.60 ถึงการแทนที่ของหมุดใหม่ซึ่งถูกขนานนามเป็น “หมุดหน้าใส” ในบริเวณนี้ ขณะที่หมุดคณะราษฎรซึ่งเป็นหมุดที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลากว่า 80 ปี กลับถูกเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิม

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของหมุดใหม่นี้จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนถึงความเหมาะสมของหมุดดังกล่าวที่นำมาติดตั้งในบริเวณเขตพระราชฐาน ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยังไม่แสดงความประสงค์ที่จะถอนหมุดหน้าใสออกจากบริเวณดังกล่าว จึงถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่นี้ ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงเห็นควรที่จะร้องเรียนเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ด้วยเหตุนี้ผู้ฟ้องคดีจึงทำคำร้องเพื่อเตรียมยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 25 เม.ย.60 โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการตามหาเจ้าของหมุดใหม่นี้ภายใน 7 วัน หากไม่มีผู้ใดแสดงความเจ้าของ ก็ขอให้ดำเนินการเคลื่อนย้ายหมุดนี้ออกไปเก็บไว้ในสถานที่อื่น

แต่ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการเข้าควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปยัง มทบ.11 และทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง โดยผู้ฟ้องคดีไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกเพื่อแจ้งสถานที่ หรือขอความช่วยเหลือ ต่อมาพวกเขาส่งตัวผู้ฟ้องคดีกลับบ้านของผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ

ผู้ฟ้องคดียังเดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการตามหาเจ้าของหมุดหน้าใสที่ มทบ.11 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 60 อย่างไรก็ดี ทหารที่ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีในวันนั้น พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับคำร้องของผู้ฟ้องคดี และปฏิเสธที่จะให้คำตอบถึงความคืบหน้าในการประกาศหาเจ้าของหมุดหน้าใส จนปัจจุบันไม่ปรากฏหน่วยงานรัฐใดแสดงความเป็นเจ้าของหมุดหน้าใส หรือดำเนินการประกาศตามหาเจ้าของหมุดหน้าใส หรือเคลื่อนย้ายหมุดนี้ไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง-เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาความคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชน

การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต่อศาลปกครองนี้ ผู้ฟ้องคดีมิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐคนใดคนหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่ต้องการให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินการประกาศตามหาเจ้าของหมุดหน้าใส หรือเคลื่อนย้ายหมุดนี้ไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นโดยเร็ว

นอกจากนั้น เอกชัยยังระบุคำขอท้ายฟ้องไว้สองประการ คือขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการเคลื่อนย้ายหมุดใหม่นี้ไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นโดยเร็ว และขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการจำลองหมุดคณะราษฎรเพื่อติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดิม

ศาลปกครองชี้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาล แต่ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.60 ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยไม่รับฟ้องคดีนี้ โดยวินิจฉัยในสองประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ โดยคำวินิจฉัยระบุว่าเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับ ทั้งนี้มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้ดำเนินการถอนหลักหมุด กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

อีกประเด็นหนึ่งคือผู้ฟ้องคดีมีสิทธิในการฟ้องคดีนี้หรือไม่ คำสั่งศาลปกครองระบุว่าการนำหมุดที่มีข้อความดังกล่าวไปแทนที่หมุดคณะราษฎรในบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่จะส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว หรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีในฐานะที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่มีการนำหมุดดังกล่าวไปแทนที่หมุดคณะราษฎร และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เคลื่อนย้ายหมุดที่มีข้อความดังกล่าวออกไปจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จึงมิอาจถือได้ว่าจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

เอกชัยยืนยันติดตามประเด็น “หมุดหาย” ต่อไป

เอกชัยเปิดเผยว่าในส่วนการฟ้องต่อศาลปกครองนี้ ตนได้ดำเนินการเขียนคำฟ้องและไปยื่นเอกสารต่างๆ ด้วยตนเอง แม้ไม่ได้คาดหวังว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยตามฟ้องของผู้ฟ้องตั้งแต่ต้น แต่ก็อยากใช้สิทธิของตนเองในการฟ้องคดี เพื่อให้เกิดการติดตามตรวจสอบเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไป โดยตนกำลังพิจารณาเรื่องการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาล และยืนยันที่จะติดตามประเด็นเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎรต่อไป

 

X