หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 เรื่องมาตรการในการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมการเข้าออกพื้นที่วัดพระธรรมกาย พร้อมกับออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่
แน่นอนว่า คำสั่งดังกล่าวมีไว้เพื่อเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการจับกุม “พระธัมมชโย” แม้คำสั่งดังกล่าวจะกระทบกับการใช้สิทธิของบุคคลอื่นโดยตรง แต่จนถึงที่สุดจากการเพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่และปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่ใช้เจ้าหน้าที่รวมกันทั้งหมดถึง 4,000 กว่านาย ก็ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวพระธัมมชโยได้
พระสงฆ์จะไปประกอบกิจ ญาติโยมจะนำของมาบริจาคที่วัดก็ถูกสกัดห้ามเข้าไปในวัด ขณะเดียวกันภาพที่เห็นก็คือ การที่ประชาชนช่วยเป็น “กำแพง” ขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อำนาจที่มีในการเข้าไปค้นหาพระธัมมชโยได้โดยง่าย อีกทั้งในช่วงดังกล่าวมีการดำเนินคดีแล้ว 46 คดี ออกหมายเรียก 317 คน เรียกรายงานตัวมากกว่า 80 คน ในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ 14 รูป1
รายงานชิ้นนี้จะกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและผลกระทบของการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 ต่อวัดพระธรรมกาย ในส่วนประเด็นทางกฎหมายสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ความเห็นทางกฎหมายต่อการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. 5/60 ต่อวัดพระธรรมกาย”
ประกาศคำสั่งให้ “สิทธิเสรีภาพ” ออกจากพื้นที่วัดพระธรรมกาย
16 กุมภาพันธ์ 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 ให้พื้นที่วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พื้นที่หมู่ 7-13 ใน ต.คลองสอง พื้นที่ 7-11 ใน ต.คลองสาม ผลก็คือพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น “เขตจำกัดสิทธิและเสรีภาพ” ไปโดยทันที
นั่นก็เพราะคำสั่งดังกล่าวให้มีการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ในเวลาที่กำหนด พร้อมกับออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่และส่งมอบเอกสารสำหรับการกระทำความผิด นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการตรวจค้นพื้นที่ทั้งตัวบุคคลและยานพาหนะ รวมถึงการรื้อถอนทำลาย เคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้นด้วย สำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนี้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ2
คำถามแรกเกิดขึ้นทันที จะจับพระธัมมชโยทำไมต้องเรียกบุคคลรายงานตัว แล้วหากจะเรียกบุคคลทำไมไม่ใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำถามที่ตามมาคือ แล้วบุคคลที่ถูกเรียกนั้นมีความเกี่ยวข้องกับคดีความผิดของพระธัมมชโยอย่างไรบ้าง อีกทั้งการออกคำสั่งลักษณะนี้ยังเป็นการบังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงขัดกับหลักความมั่นคงเเน่นอนของกฏหมาย
นอกจากมาตรการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ดีเอสไอก็อาศัยอำนาจคำสั่งที่ 5/2560 ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้ตัดสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตทั้งพื้นที่ควบคุม อ้างเหตุว่า มีการใช้โซเซียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลเท็จ แต่ในอีกทางก็คือ ตัดช่องทางสื่อสารภายในวัดพระธรรมกาย ตัดช่องทางการรับรู้จากโลกภายนอก3
เมื่อเอา “สิทธิและเสรีภาพ” ออกจากพื้นที่วัดพระธรรมกายแล้ว ก็ตามมาด้วยการจำกัด “สิทธิและเสรีภาพ” ในพื้นที่อื่นๆ ไล่ตั้งแต่คำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีให้ทุกอำเภอเตรียมพร้อมมิให้ภิกษุและญาติโยมจัดตั้งมวลชนต่อต้าน ม.444 ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายความมั่นคงเข้าพูดคุย “ทำความเข้าใจ” กับพระสายันต์ ฐิตเมโทและพระพินิจ กิตติวัณโณ ให้หยุดส่งข้อความออนไลน์ทางโปรแกรมไลน์ให้พุทธศาสนิกชนออกมาต่อต้าน ม.44 และยกเลิกการชุมนุม เพราะเป็นความผิดตามคำสั่ง คสช.5
ตามมาด้วยกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาแจ้งเครือข่ายสถานีภูธรพื้นที่ 32 อำเภอ ให้หัวหน้าสถานีที่มีวัดสาขาของธรรมกายตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งด่านตรวจความมั่นคงตลอด 24 ชั่วโมง สกัดกั้นพุทธศาสนิกชนของวัดพระธรรมกายไม่ให้เดินทางมาสนับสนุน หากพบความเคลื่อนไหวให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชี้แจง ทำ “ความเข้าใจ” ด้วยวาจาสุภาพ อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.6
เรียกรายงานตัว จับกุม และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.
นอกจากมาตรการที่ใช้ในภาพกว้างแล้วการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว จับกุม และการดำเนินคดีกับบุคคลตามมาอีกด้วย ทั้งนี้ศูนย์ทนายความฯ ทราบข้อมูลเพียงบางส่วนน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับที่พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ( ดีเอสไอ) ว่ามีการดำเนินคดีแล้ว 46 คดี ออกหมายเรียก 317 คน เรียกรายงานตัวมากกว่า 80 คน แต่เพียงตัวอย่างที่ยกมาก็จะเห็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของปฏิบัติการครั้งนี้ได้
อีกทั้งกรณีการปิดล้อมควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายอาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพสะท้อนการใช้อำนาจของ คสช. ทั้งกฎอัยการศึกในช่วงหลังการรัฐประหาร การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ทั้งฉบับที่ 3/2558และ13/2559ได้เป็นอย่างดี
เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว
19 กุมภาพันธ์ 2560 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2560 ออกคำสั่งเรียกพระสงฆ์ในวัดพระธรรมกาย 14 รูป เข้ารายงานตัว ได้แก่ พระธัมมชโย พระทัตตชีโว พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ พระปลัดสุธรรม สุธัมโม พระครูถวัลศักดิ์ ยติสโก พระครูใบฎีกา อำนวยศักดิ์ มุนิสโก พระครูสังฆรักษ์ อนุรักษ์ โสตถิโก หรือพระครูแอ พระสนิทวงศ์ วุฑธวโส พระมหานพพร ปุญญชโย พระภาสุระ ทนตมโน (ใจวงศ์) พระนพดล สิริวโส พระมหาบุญชัย จารุทัตโต พระครูสุวิทย์ สุวิชชาโกพระแสนพล เทพเทพา หรือ สิบเอก แสนพล เทพเทพา ทั้งนี้พระทั้ง 14รูปไม่ได้เข้ารายงานตัวตามวันเวลา7 จึงมีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ตามมาในภายหลัง
22กุมภาพันธ์ 2560 นายณรงค์ ผดุงศักดิ์ศรี หรือเฮียสี่ นปช.อ่างทอง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกเข้ารายงานตัวหลังปรากฏชื่ออยู่ข่าวของสำนักข่าว TNEWSว่าเข้าร่วมชุมนุมอยู่ที่ตลาดคลองหลวง แต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัวนายณรงค์ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่าทหารเพียงแค่เรียกตนไปพบเพราะไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อได้ เพราะปกติตนก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์ติดตามทุกเดือนอยู่แล้ว8
23 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีมีหนังสือด่วนออกคำสั่งเลขที่ ปท 0023.4/3240 จากเรียกนายสถาพร มาทรัพย์กำนันตำบลคลองสามและนายวีระ วงษ์มั่งมีผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ควบคุม มารายงานตัวตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 นอกจากการเรียกโดยอาศัยม.44โดยตรงแล้ว ยังมีการเรียกให้ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 4คน โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 และพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 โดยคำสั่งระบุว่าเพื่อรับนโยบายเพิ่มเติมจากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี9 แต่ภายหลังก็มีคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีให้ทั้ง 6คน ไปปฎิบัติหน้าที่ ณ วิทยาลัยการปกครอง คลอง 6 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อย่างไม่มีกำหนด10
ทั้งนี้ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าทั้ง 6คนจึงถูกปฏิบัติตามที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้จากข่าวพบว่า 2ใน 6คน ได้แก่ นายไท ทองปราง เมื่อค้นหามีภาพถ่ายรูปกับกิจกรรมของวัดพระธรรมกายทุกปี อดีตเคยเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยดูแลวัดพระธรรมกายอีกด้วย11 ส่วนนายวีระศักดิ์ ฮาดดา เมื่อปี 2559เคยถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงมีความเห็นสั่งฟ้อง ในฐานความผิดจัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เหตุจากเป็นคนนำมวลชนมาขวางการปฏิบัติหน้าที่ของดีเอสไอ12
4 มีนาคม 2560 มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 เรียกผู้ดูแลอาคารสถานที่ภายในวัดพระธรรมกาย รวม 19 ราย นำเอกสารระบุตัวตน เข้ารายงานตัวกับ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ที่ บก.ตชด.ภ.1 ภายในวันที่ 9 มี.ค. 256013 โดยคำสั่งเรียกดังกล่าวก็มีเพื่อเรียกบุคคลเหล่านี้มาสอบประเด็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ดูแลอาคารและการปฏิบัติหน้าที่ว่าแต่ละคนมีหน้าที่อะไรบ้าง คำถามก็คือ หากต้องการขอข้อมูลในฐานะพยานก็สามารถใช้ระบบกฎหมายแบบปกติ เช่น การออกหมายเรียก เหตุใดจึงต้องอาศัยอำนาจจากคำสั่งของหัวหน้า คสช.ด้วย
3 มีนาคม 2560 ดีเอสไอออกหมายเรียกนายวุฒิสาร พนารี ผู้ประสานงานมวลชน วัดพระธรรมกาย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/60 ให้เข้ารายงานตัวที่ บก.ตชด. 7 มี.ค.2560 14 จากนั้นเมื่อถึงวันนัดนายวุฒิสารเข้ารายงานตัวตามหมายเรียก และได้รับการปล่อยตัว โดยนายวุฒิสารให้สัมภาษณ์ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่หากมีคำสั่งหรือระเบียบใดๆ15
นอกจากนั้นวันเดียวกันศูนย์ทนายความฯได้รับทราบจาก นายสายชล กาแก้ว อดีต นปช. ว่าถูกเรียกตามคำสั่ง ม.44 ให้มารายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เมื่อเขาไปถึงมี พ.ท.เพื่อชาติ อุไรเลิศ ผบ.ร.11 พัน 1 มารอพบ นายสายชลอธิบายว่า ไม่เคยไปร่วมชุมนุมที่วัดพระธรรมกาย จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เป็นการออกหมายผิดคน แล้วก็ปล่อยตัวไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง ปราบปรามผู้มีอิทธิพลฯ ในการเรียกนายสายชล กรณีนี้ทำให้เห็นว่าแม้จะไมได้เกี่ยวข้องกับกรณีวัดพระธรรมกายเจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. อื่นๆ ในการติดตามตัวคนอีกด้วย
5 มีนาคม 2560 มีประกาศคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 5/2560 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ มีคำสั่งเรียก นางศรวรรณ ศิริสุนทรินทร์ หรือป้าเช็ง เจ้าของตลาดป้าเช็ง คลองหลวง ให้เข้ารายงานตัว ในช่วงที่มีการปิดล้อมวัดตลาดป้าเช็งซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดพระธรรมกายมีการนิมนต์ภิกษุ สามเณรและประชาชนมาประกอบกิจ และนี่สาเหตุให้ป้าเซ้งโดนเรียกไปรายงานตัว16 ต่อมาป้าเซ้งให้สัมภาษณ์ว่า การให้พุทธศาสนิกชนใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจทางพุทธศาสนา “ถวายข้าวพระทุกวันอาทิตย์” ที่วัดพระธรรมกายไม่น่าจะเป็นอะไรเพราะก็เป็นชาวพุทธ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญเท่านั้น การทำบุญเป็นสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ไม่มีการก่อม๊อบแน่นอน17
จับกุมควบคุมตัว
23 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังดีเอสไอพยายามเข้าตรวจค้นบริเวณอาคารบุญรักษา ตำรวจคุมตัวพระสงฆ์ 6 รูป (พระวัดพระธรรมกาย 3 รูป ส่วนอีก 3 รูปเป็นพระต่างจังหวัด) และบุคคลต้องสงสัยอีก 20 คน มาสอบสวนที่ บก.ตชด.1 หลังพบว่ามีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาแล้วในตอนเย็นวันเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ปรากฏรายชื่อของบุคคลทั้ง 26 คน ในรายงานข่าว
นอกจากกรณีดังกล่าวแล้วศูนย์ทนายความฯ ติดตามผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้บางส่วนได้แก่
นายสมบัติ ทองย้อย คนเสื้อแดง ถูกทหารควบคุมตัวเมื่อ23 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นเวลาหนึ่งวัน และเจ้าหน้าที่จดเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อเข้ามายังมือถือของเขาในช่วง2-3วันที่ผ่านมาทั้งหมด จากนั้นจึงให้ลงนามในข้อตกลงว่า จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เดินทางออกนอกประเทศ เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเพราะเดินทางไปให้กำลังใจมวลชนที่วัดพระธรรมกายเมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์18
นายไพศาล จันทปาน 2 มีนาคม 2560 นายไพศาลอาชีพ คนขับรถแท็กซี่ ถูกทหารรวบตัวกลางตลาดคลองหลวง ไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยได้สอบถามไปทางเจ้าตัว ระบุว่า มีการยึดโทรศัพท์ ไม่ให้รับสาย ในระหว่างควบคุมตัว และมีการให้เซ็นต์ MOU ของทาง คสช. โดยมีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่วัดพระธรรมกายและตลาดกลางคลองหลวง จนกว่าคำสั่งควบคุมพื้นที่ ตาม ม.44 จะยกเลิก หลังจากนั้นทหารนำตัวนายไพศาล มาส่งที่ตลาดกลางคลองหลวง และให้เดินทางออกนอกพื้นที่ทันที19
นายอัยย์ เพชรทอง ประธานองค์กรพลังชาวพุทธ กัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจับกุมเมื่อวันที่ 1มีนาคม 2560ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และถูกสั่งห้ามไม่ให้แถลงข่าว หรือเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย) และกำหนดนัดวันที่ 22 มีนาคม เพื่อส่งตัวพร้อมส่งสำนวนให้อัยการ นอกจากนายอัยย์แล้วยังมีคนที่นางกชกร ไชยวาน นายพยุง อุณหิต
นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ทหาร ควบคุมตัวเมื่อ5 มีนาคม 2560จากหน้าตลาดกลางคลองหลวง ระหว่างเดินเข้าอาคาร เจ้าหน้าที่นำตัว อนุรักษ์ ไปที่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 หลังเจ้าหน้าที่สอบปากคำ ได้ออกคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ควบคุมพิเศษ และหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายจะดำเนินคดีย้อนหลัง จากนั้นจึงปล่อยตัว ต่อมา 15 มีนาคม 2560 เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 5 นาย ขอความร่วมมือ 3 ข้อ คือ ขอให้หยุดแจกจ่ายเสื้ออย่ารังแกพระเนื่องจากเป็นการยุยงปลุกปั่น ต่อมาขอไม่ให้เข้าไปภายในวัดพระธรรมกายเนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมตามมาตรา 44 และสุดท้ายหากมีการฝ่าฝืนจะถูกควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติ ตลอดเวลาของการพูดคุยทหารทุกนายมีท่าทีที่สุภาพไม่มีการข่มขู่คุกคามแต่อย่างใด
นางวันเพ็ญ ทองดี 6 มีนาคม 2560 ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เหตุเพราะนำอาหาร สิ่งของต่าง ๆ ไปให้กับพระและลูกศิษย์วัดที่วัดพระธรรมกาย20
เด็กชายอายุ 14 ปี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีปรากฏข่าวการควบคุมตัวเด็กชาย อายุ 14 ปี ถือป้ายประท้วงในพื้นที่ควบคุมพิเศษ วัดพระธรรมกายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวบุคคลที่ไปถือป้ายอยู่ด้านหน้า สภ.คลองหลวง ประมาณ 4 คน หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กชายคนดังกล่าวด้วย หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวแล้ว ดีเอสไอได้นำตัวมาทำการซักถามที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภ.1) จากการซักถามทราบว่า เด็กชายดังกล่าวเป็นเชื้อชาติกะเหรี่ยง มีพระสงฆ์จาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พาเด็กมาประมาณ 20 คน เพื่อเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณตลาดกลางคลองหลวง จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ เด็กได้ จึงให้อยู่ในการดูแลของสถานพินิจ เพื่อปรับปรุงแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู พฤติกรรม21 ต่อมาศูนย์ทนายความติดต่อไปยังสถานพินิจ จ.ปทุมธานี ก็ได้รับแจ้งว่า เด็กคนดังกล่าวได้รับการปล่อยตัวไปแล้วเมื่อช่วงดึกวันที่ 15 มีนาคม
นอกจากนั้นยังปรากฏข่าวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอีก 8 คน ได้แก่ นายเจริญ เพ็ชรกิจ นายอัศวิน เสาร์รี นายเอกวิทย์ สมใจ นางทัศนันท์ สมใจ นางสาวณภาสณัฐ ชุติพนธ์ชานนท์ นางสาวทองศรี คำสิริ นางสาวดาวเรือง จันทร์ขอนแก่น นางสาวกอบกุล ตฤปอัชฌ ตามข่าวระบุว่าทั้ง 8คนได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เข้ามาที่วัดพระธรรมกายอีก หากเจ้าหน้าที่พบเห็นถือเป็นความผิดซึ่งหน้าให้จับกุมตัว22 ทั้งนี้ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นการจับกมควบคุมตัวมาหรือเป็นการเรียกรายงานตัว
การดำเนินคดีในช่วงปฏิบัติการปิดล้อมวัด
ในช่วง 1เดือนที่มีการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉับับที่ 5/2560 ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550
การดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 พบ 13ราย ได้แก่ นายอัยย์ เพชรทอง ประธานองค์กรพลังชาวพุทธ กัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย นายเจริญ เพ็ชรกิจ พระปลัดสุธรรม สุธัมโม พระวิเทศ ภาวนาจารย์ พระครูถวัลศักดิ์ ยติสโก พระครูสังฆรักษ์ อนุรักษ์ โสตถิโก พระสนิทวงศ์ วุฆฒิวังโส พระมหานพพร ปุญญชโย พระภาสุระ ทนตมโน(ใจวงศ์) พระนพดล สิริวโส พระมหาบุญชัย จารุทัตโต พระครูสุวิทย์ สุวิชชาโก พระแสนพล เทพเทพา ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในข้างต้น
บุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พบอย่างน้อย 3ราย ได้แก่
นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกวัดพระธรรมกาย ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นจากการแถลงจุดยืน 9 ข้อของลูกศิษย์วัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 11ธ.ค.2559 ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินคดีและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลานั้น23 คดีนี้นายองอาจได้เดินทางเข้ามอบตัวแล้ว ในคืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ทางพนักงานสอบสวน.สภ.คลองหลวง ได้อนุญาตให้ประกันตัวออกไป โดยเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามออกนอกประเทศ และห้ามยุยงปลุกปั่น24
พระปลัดเสกสรรค์ อัตตทโม พระลูกวัดในเครือข่ายวัดพระธรรมกาย เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองหลวง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2560 นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวม 3 ข้อหา ทั้งนี้ไม่ปรากฏในข่าวว่าข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นมาตราใด25
พระสนิทวงศ์ วุฒิวังโส ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ยุยงปลุกปั่นมาตรา116พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา14และข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนได้นำตัวพระสนิทวงศ์ขออำนาจศาลอาญาฝากขัง แต่ได้ประกันตัวในเวลาต่อมา โดยวางทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินจำนวน 400,000บาท แต่ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวไม่ให้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน , ห้ามยุยงปลุกปั่นประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบและล่วงละเมิดกฎหมายของ แผ่นดิน และห้ามมิให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
นอกจากคดีที่กล่าวไปข้างต้นยังมีการดำเนินคดีกับนายธรรศ วันพฤหัส ตำรวจจาก บก.ปอท. ได้ขอศาลออกหมายจับนายธรรศ ในข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) และ(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จากการโพสต์ข้อความใน Twitter 2 ข้อความ ที่กล่าวพาดพิงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย26
ภายหลังการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบสองเดือนประกาศดังกล่าวยังคงไม่ถูกยกเลิกแม้ว่าการปฏิบัติการเข้าตรวจค้นจะสิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.2560จากสถานการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่าทั้งคำสั่งที่ให้อำนาจและรูปแบบของปฏิบัติการได้สร้างผลกระทบเกินความจำเป็นไปอย่างมาก ทั้งการตัดระบบการสื่อสาร การลำเลียงอาหารและเครื่องดื่ม การใช้อำนาจเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวถ้าหากฝ่าฝืนก็มีโทษและการจับกุมบุคคล ทั้งที่ไม่ได้ระบุชัดว่าบุคคลเหล่านี้กระทำความผิดอะไร
นอกจากนั้นยังมีผลกระทบที่มิได้คาดหมายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 นางสาวพัฒนา เชียงแรง อายุ 48 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดพะเยา ผู้ช่วยงานพยาบาลศูนย์รัตนเวช เสียชีวิตภายในวัดพระธรรมกาย ด้วยอาการหอบหืดกำเริบ แต่ผลการชันสูตรศพ แพทย์ระบุเป็นการตายผิดธรรมชาติ จากสาเหตุเบื้องต้น คือปอดอักเสบและติดเชื้อ
จากบทสรุปทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า การจับบุคคลสำคัญระดับประเทศอย่างพระธัมมชโยนั้น เหตุใดผู้มีอำนาจรัฐโดยเฉพาะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงต้องออกคำสั่งอย่างเฉพาะเจาะจงต่อกรณีวัดพระธรรมกาย ทำไมการใช้กฎหมายปกติจึงไม่สามารถให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เหตุการณ์ใดที่เราจะได้เห็นการออกคำสั่งในลักษณะดังกล่าวอีก แล้วการใช้คำสั่งในลักษณะนั้นกำลังกลายเป็นเรื่อง “ชอบธรรม” ตั้งแต่เมื่อไร กว่าจะหาคำตอบนั้นเจอ ก็หวังแต่เพียงว่า เราจะไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของ คสช. ไปเสียก่อน
.
.
หมายเหตุ – สามารถดาวน์โหลดไฟล์รายงานได้ที่นี่ WORD และ PDF
.
.
เชิงอรรถ
1 http://www.komchadluek.net/news/regional/265066
10 http://www.posttoday.com/local/central/482094
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ความเห็นทางกฎหมายต่อการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. 5/60 ต่อวัดพระธรรมกาย
ทหารปล่อย“สมบัติ ทองย้อย” เสื้อแดงสมุทรปราการแล้ว หลังควบคุมตัวกว่า 24 ชั่วโมง เหตุไปร่วมชุมนุมที่วัดธรรมกาย
แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้หยุดใช้มาตรา 44 และใช้กระบวนการยุติธรรมปกติกรณีวัดพระธรรมกาย
“44 MISSION IMPOSSIBLE: ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ ม.44 ทำไม่ได้?”