ท่ามกลางกระแสการแชร์ข่าวพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 และการเข้าจับกุม ‘ไผ่ ดาวดิน’ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ด้วยข้อหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการแชร์ข่าวดังกล่าวมายังหน้าเฟซบุ๊กของตน
นอกจากการดำเนินคดีขั้นรุนแรงในลักษณะดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีบุคคลหลายรายซึ่งได้ไปกดไลค์ หรือกดติดตามเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือการแสดงความเห็นในเพจการเมืองต่าง ๆ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกมาซักถาม ให้กดเลิกติดตามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เขียนปฏิญาณตน และบันทึกภาพและเสียงไว้ โดยบางรายยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ร่วมระหว่างการซักถามด้วย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่าพฤติการณ์ในการเรียกบุคคลมาซักถามจากเหตุการณ์กดไลค์นั้นมีความสุ่มเสี่ยงว่าเจ้าหน้าที่จะกระทำไปโดยไม่มีอำนาจใด ๆ ตามกฎหมาย จึงจัดทำคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกเรียกตัวไปซักถามดังต่อไปนี้
1. ถามชื่อ ยศ ตำแหน่ง และหน่วยงานต้นสังกัด ของบุคคลที่ติดต่อมา
2. ถามเจ้าหน้าที่ที่เรียกตัวไปซักถามว่า เรียกตัวเพราะเหตุใด และใช้อำนาจใดในการเรียกไปซักถาม เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้การการกดติดตาม (follow) หรือ การกดไลค์ (Like) เพจหรือข้อความใด ๆ เป็นความผิด แม้เจ้าหน้าที่จะเห็นว่าเป็นข้อความที่ผิดกฎหมายก็ตาม และการที่เจ้าหน้าที่จะเรียกบุคคลไปสอบถามได้ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้
- ตามกฎหมาย หากตำรวจต้องการให้บุคคลใดมาพบ ต้องมีหมายเรียกเป็นหนังสือ ตามมาตรา 51 และมาตรา 52 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ต้องเป็นทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58
3. หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าอาศัยอำนาจใดในการเรียกไปซักถาม โดยบอกว่าเป็นเพียงการขอความร่วมมือ กรณีดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องไปพบเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
4. กรณีที่ตัดสินใจว่าจะไปพบเจ้าหน้าที่ ควรให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังระหว่างกระบวนการด้วย และไม่ควรนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัวไปด้วย
5. การตอบคำถามเจ้าหน้าที่ให้ตอบเท่าที่จำเป็น หากไม่มั่นใจว่าคำตอบนั้นจะส่งผลเสียต่อตนเองหรือบุคคลอื่นใดหรือไม่ ไม่ควรตอบโดยไม่ได้ปรึกษาทนายความ
6. หากเจ้าหน้าที่เรียกไปเพื่อให้รับทราบข้อกล่าวหา ต้องยืนยันว่ามีสิทธิติดต่อญาติ สิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ และสิทธิที่จะมีบุคคลไว้วางใจร่วมระหว่างสอบสวน ไม่ควรให้การใด ๆ โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย และหากไม่สามารถติดต่อใครได้ในเวลาดังกล่าว โปรดจำไว้ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ ในชั้นสอบสวน
7. ห้ามลงชื่อในเอกสารใด ๆ โดยไม่ได้อ่านข้อความทั้งหมดและตรวจสอบความถูกต้องก่อน หากเจ้าหน้าที่บันทึกไม่ถูกต้อง ต้องขอให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้องก่อนจะลงชื่อในเอกสาร
8. ขอสำเนาเอกสารการซักถามมาไว้เป็นหลักฐาน หากเจ้าหน้าที่ไม่สำเนาให้ ควรขอจดรายละเอียดไว้ และพยายามจดจำรายละเอียดการพูดคุยให้ได้มากที่สุด
9. เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ รวมถึงไม่สามารถขอเข้าดู หรือคัดลอกข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลอนุญาตตามมาตรา 18 และ 19 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
10. เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจบังคับให้กดเลิกติดตาม (unfollow) หรือ unlike เพจใด ๆ รวมถึงไม่สามารถบังคับให้กล่าวปฏิญาณใด ๆโดยเราไม่ยินยอม เพราะการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายบังคับข่มขืนใจ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย
ทั้งนี้ สามารถแจ้งเหตุการณ์ละเมิดสิทธิ หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ โทร 09-678-93172, 09-6789-3173 หรือเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน