แถลงการณ์ เรื่องการข่มขู่คุกคามการทำงานของนักกฎหมายและองค์กรสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ เรื่องการข่มขู่คุกคามการทำงานของนักกฎหมายและองค์กรสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เรื่องการข่มขู่คุกคามการทำงานของนักกฎหมายและองค์กรสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่วันที่ 2 กันยายน 2557

                ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ร่วมจัดเวทีรายงานสิทธิมนุษยชนและเวทีเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุงในวันนี้ แต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557  ซึ่งเป็นวันก่อนจัดงาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรร่วมจัดได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ยกเลิกการจัดงานในวันนี้โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ  และในระหว่างการประสานงานมีการแจ้งว่าหากองค์กรร่วมจัดยังคงยืนยันในการดำเนินกิจกรรมต่อไปอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คนขึ้นไป อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นต่อพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. การจัดงานดังกล่าวเป็นการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และงานเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุงซึ่งเกี่ยวข้องกับอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง อีกทั้งรายงานที่ศูนย์ทนายความฯได้จัดทำขึ้นมานี้ก็มาจากข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนและคดีความในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความฯและองค์กรภาคี ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพในฐานะนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างกว้างขวาง การติดตามตรวจสอบสถานการณ์และเผยแพร่ข้อมูลสู่ความรับรู้ของสังคมจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น
  2. เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีซึ่งต้องปฏิบัติตาม อีกทั้ง คสช.ได้ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่าจะเคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่ง คสช.ได้จัดทำขึ้นมาก็ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยได้รับการคุ้มครองประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ การขอให้ยุติกิจกรรมจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าว
  3. การที่เจ้าหน้าที่ทหาร “ขอความร่วมมือ” ให้ยุติหรือเลื่อนการจัดงานออกไปก่อน โดยแจ้งว่าหากยืนยันจะจัดงานทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองนั้น นอกจากจะเป็นการข่มขู่คุกคามนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคม และลิดรอนสิทธิของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวที่จะได้รับความเป็นธรรมและได้รับการชดเชยเยียวยา ซึ่งขัดต่อภาพลักษณ์ซึ่งคสช.ได้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน และยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอประณามพฤติการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีในฐานะองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ยังขอยืนยังถึงหน้าที่ของนักกฎหมายในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วันหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่องทางอื่นต่อไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ต่างๆ จางหายไปโดยผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวไม่ได้รับการค้นหาความจริงและความยุติธรรม เพื่อให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันข้อเสนอในรายงานดังกล่าวต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ

  1. ขอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ
  2. ยกเลิกการกักตัว จับกุม ควบคุมบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
  3. ยกเลิกการจำกัด ควบคุม เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทุกรูปแบบ
  4. ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

     ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

X