แถลงการณ์โดยโฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีประเทศไทย/การแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร

แถลงการณ์โดยโฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีประเทศไทย/การแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร

แถลงการณ์โดยโฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
กรณีประเทศไทย/การแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร
10 กุมภาพันธ์ 2558

เรามีความกังวลต่อเนื้อหาบางมาตราของข้อเสนอเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งมีกำหนดจะนำเข้าสู่การพิจารณาภายในอาทิตย์นี้ เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารปี 2557 วางแผนที่จะลงมติเพื่อรับรองร่างแก้ไขดังกล่าว ภายใน 2-3 อาทิตย์ที่จะถึงนี้
เรามีความกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตรา 46 ซึ่งให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารในการสั่งควบคุมผู้ต้องหาทั้งทหารและพลเรือนตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาได้ถึง 84 วัน โดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบ นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2557 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่ผู้ต้องหาเป็นพลเรือนตามความผิดอาญาบางประเภท รวมถึงความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดต่อความมั่นคง และความผิดจากการละเมิดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตราดังกล่าวอาจถูกนำมาบังคับใช้กับกรณีนี้ด้วย

การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มาตรา 9 ของกติการะหว่างประเทศฯ กำหนดว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาจะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นกลไกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตีความคำว่า “โดยพลัน” ว่าหมายถึงภายในระยะเวลา 2-3 วัน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเน้นย้ำถึงหลักประกันที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ไว้ว่าจะยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เราขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทบทวนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยองค์กรตุลาการ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิที่จะอุทธรณ์คดี เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดการใช้ศาลทหารเฉพาะสำหรับการพิจารณาคดีความผิดต่อกฎหมายทหารซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้บทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยมีหน้าที่ในการรับประกันว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง (มาตรา 14) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำว่าการพิจารณาคดีของพลเรือนโดยศาลทหารไม่สามารถที่จะริดรอนสิทธิในส่วนนี้ได้

http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=15559&LangID=E

10991404_787720934611096_6641768778807458649_n

X