พิพากษา ‘เสาร์’ ผู้ป่วยจิตเวช ยื่นคำร้องศาลฎีกาฯ ผิดฐาน ‘หมิ่นกษัตริย์’ จำคุก 2 เดือน 20 วัน

4 พฤศจิกายน 2563 – วันนี้ ศาลอาญา รัชดาฯ ได้นัดคู่ความเพื่ออ่านคำพิพากษาในคดีของนาย ‘เสาร์’ ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเข้ายื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในปี 2558 ขอเป็นคู่ความกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดียึดทรัพย์ เพื่อขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณที่เขาเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงจัดสรรให้เขารับผิดชอบ โดยเขาหลงไปว่าตัวเองสามารถติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 ผ่านทางโทรทัศน์ได้

>>> อ่านประมวลคดีของเสาร์ได้ที่ อยุติธรรมยาวนาน และการทวงความยุติธรรมของ ‘เสาร์’ – ผู้ป่วยจิตเวช คดีหมิ่นฯ กษัตริย์

นอกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ จะไม่รับคำร้องแล้ว ยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ ไปแจ้งความดำเนินคดีเสาร์ เนื่องจากเห็นว่าคำร้องดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 เสาร์ถูกนำตัวขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร ก่อนที่ต่อมาคดีนี้จะถูกโอนมายังศาลยุติธรรม รวมระยะเวลาเกือบ 6 ปี

ในศาลอาญา นายสุเทพ ภักดิกมล และนายสุทรรศน์ น้อยแก้ว เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน โดยมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบ มาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยเคยถูกจำคุกในคดียาเสพติด ศาลพิจารณาเพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 เดือน อย่างไรก็ตาม คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน  3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้จำคุก 2 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้ จำเลยเคยถูกคุมขังแล้วในชั้นฝากขัง ตั้งแต่ 28 พฤษภาคม -19 สิงหาคม 2558 รวม 84 วัน ถือว่าถูกขังครบโทษแล้ว ทำให้ในวันนี้ แม้ศาลจะตัดสินว่ามีความผิด แต่จำเลยไม่ต้องถูกนำตัวไปขังอีก

ในเนื้อความของคำพิพากษาที่ศาลอ่าน ได้เท้าความถึงมูลเหตุแห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 จำเลยเข้ายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่าต้องการรื้อฟื้นคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่อขอเป็นคู่ความในคดี ในคำร้องมีเนื้อหาทำนองว่าจำเลยสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผ่านสื่อได้ พระองค์ท่านทรงจัดสรรเงินและทรงมอบเงินนี้ให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านทางบัญชีของทักษิณ ชินวัตร และต่อมาพระองค์ท่านทรงมีรับสั่งให้ทักษิณนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปสร้างบ้านและทำโครงการปราบปรามยาเสพติดและช่วยเหลือเด็ก

ศาลอ่านต่อไปว่า เสาร์ได้ยื่นคำร้องนี้ให้แก่นิติกรชำนาญการประจำศาลฎีกาฯ นาย จุลเดช ละเอียด ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อไปยังผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ คำร้องของเสาร์ถูกตีตก เนื่องจากตัวกฎหมายไม่ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนยื่นเรื่องได้ในช่องทางนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ยังได้มอบหมายให้ตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีกับเสาร์ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาเป็นไปในทางที่มิบังควร โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนที่ต่อมาเสาร์จะได้รับหมายเรียกและเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีในศาลทหาร

ศาลระบุในคำพิพากษาว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกคือ จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่?

ในวันเกิดเหตุ นิติกรฯ คือ นาย จุลเดช ละเอียด ยืนยันว่า เสาร์ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจริงและได้ทำการยื่นเรื่องจริง เนื่องจากพยานถูกโทรเรียกโดย รปภ. ศาล นาย เปรม กาลสุข ว่ามีชายผู้หนึ่งเดินทางมาขอยื่นคำร้องที่ศาลฯ แต่มีลักษณะแต่งกายไม่สุภาพ ทางนิติกรฯ ได้เสนอคำร้องต่อประธานและองค์คณะผู้พิพากษาฯ ซึ่งองค์คณะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีตัวกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยยื่นคำร้องในลักษณะนี้ และข้อความในคำร้องเองก็มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เลขานุการศาลฎีกาฯ จึงมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ นาง ลัดดาวัลย์ นิยม เข้าแจ้งความ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รายนี้เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวมีการพาดพิงพระมหากษัตริย์ อาจทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ในการสืบสวน ยังมีการให้ พล.ต.ต.พิษณุ ฟูปลื้ม เป็นผู้ตรวจสอบลายมือของเจ้าเลยว่าเป็นผู้เขียนคำร้องขึ้นเองหรือไม่ พบว่าสอดคล้องกัน เนื่องจากเจ้าเลยเองก็ยอมรับว่าตนเป็นผู้เขียนคำร้องขึ้นด้วยตัวเอง

ในแง่ของการพิจารณาว่าถ้อยคำของจำเลยมีลักษณะเข้าข่ายการหมิ่นประมาทฯ หรือไม่ การที่พยานจำเลยมาเบิกความในเรื่องคำนิยามของการหมิ่นประมาทฯ เมื่อพิจารณาจากข้อความประกอบกับที่จำเลยนำสืบ ศาลเห็นว่าเป็นการต่อสู้ลอย ๆ ไม่มีน้ำหนัก เมื่อพิจารณาข้อความเห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์จริง อาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นความผิด

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สอง คือ จำเลยทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่? สามารถบังคับตนเองได้หรือไม่?

ศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ นิติกรเบิกความว่า จำเลยได้ไปยื่นคำร้องด้วยตนเอง ภายหลังเกิดเหตุที่จำเลยถูกควบคุมตัวและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง คือ  ร.ต.ท.วิศรุตภูมิ ชูประยูร เห็นว่า จำเลยพูดไม่รู้เรื่อง จิตไม่ปกติ จึงได้ส่งตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ เพราะมีอาการป่วยทางจิตจึงได้ไปยื่นคำร้อง นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เป็นการกระทำที่น่าจะทำไปเพราะอาการทางโรคจิตเภท ซึ่งในข้อนี้ได้ความเสริมจาก นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจำเลยว่า ขณะที่เสาร์เข้ายื่นคำร้องนั้นน่าจะอยู่ในระยะขั้นกลางของโรค ยังสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้

ศาลให้เหตุผลในการรับฟังว่า แพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นพยานคนกลาง ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับจำเลย มีน้ำหนักน่าเชื่อ และในส่วนของนิติกรที่รับคำร้องยังได้พูดคุยสอบถามจำเลยประมาณ 20 นาที เห็นว่า ขณะกระทำการจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคดี>> เสาร์ ผู้ป่วยจิตเภท คดี 112 (ร้องศาลฎีกาฯ ทวงเงินทักษิณ)

อ่านเรื่องราวในคดี 112 อื่นๆ ที่>> คดีความใต้ยุค คสช.: ฐานข้อมูลคดี 112

X