พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตยื่นฟ้อง “ทนายอานนท์” เหตุเพราะจัดการชุมนุมทางการเมือง “ยืนเฉย ๆ” โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า ด้านศาลแขวงดุสิตนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 ส.ค.นี้ และปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน
จากกรณีที่นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมจัดกิจกรรม “ยืนเฉย ๆ” เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 บริเวณทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอร์ค สถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ(บีทีเอส)อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมจัดกิจกรรมจัดกิจกรรมในรูปแบบเดิมอีกครั้งเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของ คสช. ที่บุกจับพลเมืองทำแอดมิจเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ทั้ง 8 คน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 บริเวณลานวิคทอรี่พอยท์ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
วันนี้ (27 พ.ค. 2559) ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ยื่นฟ้องนายอานนท์ ฐานจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งผู้รับทราบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ทั้งที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องแจ้งความประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานที่แห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
ด้านศาลแขวงดุสิตนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 สิงหาคมนี้ เวลา 9:00 น. โดยศาลให้ทำประวัติและให้สาบานตนว่า จะมาตามนัดแล้วปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้หลักประกันเนื่องจากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
ด้านนายอานนท์ นำภา จำเลยในคดีนี้กล่าวว่า เหตุที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพราะเห็น พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างเงื่อนไขให้การแสดงออกของประชาชนนั้นยุ่งยากเกินความจำเป็น แล้วในทางปฎิบัตินั้น หากมีการแจ้งตาม พรบ. ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็มักจะเข้าขัดขวางการใช้เสรีภาพและการแสดงออกของประชาชน เช่น นำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปขัดขวางหรือนำสิ่งกีดขวางไปยับยั้งการแสดงออกของประชาชน เราจึงใช้เสรีภาพของพลเมืองตามหลักการสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลักการว่า หากการทำกิจกรรมหรือการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ประชาชนก็สามารถกระทำได้