2 น.ศ.ชุมนุม “คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย” ให้การปฏิเสธคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – “บอล” แค่ร่วมเฉยๆ

วันที่ 20 ส.ค. 63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน นายธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถูกออกหมายเรียกในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากการร่วมกิจกรรม #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย บริเวณลานเจ้าแม่จามเทวี ที่มีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลและสนับสนุนข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63

ภาพบรรยากาศการชุมนุม #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63 

 

วันนี้ เวลา 13.00 น. นักศึกษาทั้ง 2 ราย พร้อมด้วยทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.ท. เกรียงศักดิ์ โกมลสวรรค์ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา โดยคดีมีพ.ต.อ.ดนัย ใจกล่ำ ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดลำพูน เป็นผู้กล่าวหา  

พนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำพูนได้แจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำการส่งตรวจสอบประวัติอาชญากรรม โดยข้อกล่าวหาที่ผู้ต้องหาทั้งสองถูกแจ้งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย ที่ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1 ได้มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี โดยการโพสต์บนเฟซบุ๊กข้อความ “ #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย ” และต่อมาในวันที่เกิดเหตุวันที่ 24 ก.ค. 63 นายธนาธร วิทยเบญจางค์ ผู้ต้องหาที่ 2 ก็ได้มาเป็นแกนนำและใช้เครื่องเสียงปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2. เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา 3. ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมชักชวนให้ผู้ร่วมชุมนุมชูสามนิ้ว

พนักงานสอบสวนแจ้งว่าพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวของนายธนวัฒน์ เป็นความผิดใน 2 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และ ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุมโดยจัดให้มีการชุมนุม”

และข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “การทํากิจกรรมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทําการอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร”

ส่วนนายธนาธร ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อกล่าวหาแรกเช่นเดียวกับนายธนวัฒน์ แต่เพิ่มข้อกล่าวหา “กระทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต” อีก 1 ข้อกล่าวหาด้วย

ผู้ต้องหาทั้งสองรายเมื่อได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยนายธนวัฒน์ให้การเพิ่มเติมระหว่างการสอบปากคำว่า ตนเชื่อว่าการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิของพลเมืองที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเชื่อมั่นคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุว่าจะไม่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังคับกับการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ตนเองจึงเชื่อว่าในประเทศไทยสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้ ส่วนคำให้การในรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายผู้ต้องหาทั้งสองจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 4 ก.ย. 63 

ด้านพนักงานสอบสวนระบุว่าวันนี้ผู้ต้องหาทั้งสองได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกผู้ต้องหา จึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามนัดหมายเท่านั้น โดยหลังผู้ต้องหายื่นคำให้การเพิ่มเติมแล้ว พนักงานสอบสวนจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสอง พร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในวันที่ 8 ก.ย. 63 เวลา 9.00 น.

บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของนายธนาธร วิทยเบญจางค์ และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย มีเพื่อนและประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจทั้งสอง โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดราว 10 นาย จับตาอยู่โดยรอบสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน และมีการตั้งกล้องถ่ายวิดีโอคอยบันทึกเหตุการณ์ด้านนอกสถานีตำรวจไว้ตลอดเวลาที่มีการรับทราบข้อกล่าวหา 

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในการชุมนุม #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย ในส่วนของนายธนวัฒน์ วงค์ไชย ระบุว่าตนเพียงแต่ไปร่วมชุมนุมเฉยๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมและไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด หากแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนกลับเห็นว่าการโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมของนายธนวัฒน์เข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว จึงน่าสนใจว่าพนักงานอัยการจะพิจารณาประเด็นนี้อย่าางไร

ทั้งนี้การดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อผู้แสดงออกทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีคดีลักษณะนี้แล้วถึง 15 คดี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการออกหมายเรียกนักศึกษาจากการชุมนุมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง และพะเยา ขณะที่ในพื้นที่ภาคอื่นๆ ยังไม่มีรายงานการดำเนินคดีเกิดขึ้น

 

X