ชวนอ่าน 5 เรื่องสั้น ครบรอบ 10 ปีสลายการชุมนุม: ความรุนแรงที่จารึกในหน้าวรรณกรรม

วรรณิดา อาทิตยพงศ์

วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นวันที่มีคนตายเกิดขึ้น 19 พฤษภาคม 63 ผ่านมา 10 ปีของการสลายการชุมนุม​ “คนเสื้อแดง” ณ สี่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพ รัฐบาลในยุคนั้น เรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “การขอคืนพื้นที่” แต่สำหรับผู้สูญเสียและรู้สึกรู้สมในครั้งนั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นคือ “การล้อมปราบกลางเมืองหลวง”

วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าก็ถามตัวเองเช่นกันว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ กำลังเป็นเด็กน้อยมัธยมปลาย เห็นเหตุการณ์ผ่านทางทีวี ภาพเผาบ้านเผาเมือง ควันไฟพวยพุ่ง เห็นแต่สถานที่ไม่เห็นคน นายกฯ อภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ “unfortunately some people died” วลีที่ตอนนั้นยังแปลไม่ออก ใช้เวลาอีกถึง 10 ปี กว่าจะเติบโตทางความคิด และเข้าใจถึงความเจ็บปวดในประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว ทว่าแผลก็ยังคงสดใหม่เหลือเกิน เจ็บ เรื้อรัง และยังอักเสบไม่เสื่อมคลาย

เป็นสิบปีที่ทิ้งช่วงให้เด็กน้อยเติบโต บ้างจากที่เคยไปร่วม Big Cleaning ในครั้งนั้น ก็ละอายและยอมรับในครั้งนี้ วาทกรรม “เสื้อแดงเผาเมือง” “เผาบ้านเผาเมือง” ที่คอยสั่งสมในครั้งนั้น ก็เริ่มกระจ่างในครั้งนี้ กับความจริงที่มีหลายชุด และยังต้อง #ตามหาความจริง กันต่อไป

94 คือตัวเลขอย่างน้อยของผู้เสียชีวิต 36 คนภูมิลำเนาเป็นคนอีสาน อีกกว่า 2,000 คือตัวเลขของผู้บาดเจ็บ ไม่เพียงแค่ตัวเลขที่ประชาชนถูกฆ่าโดยรัฐ แต่ยังมีเลือดเนื้อ จิตใจ ของครอบครัวและผู้สูญเสียอีกจำนวนมาก ที่สิบปีผ่านเสียงไม่อาจส่งให้ได้ยิน

นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีการศึกษา รวบรวม ข้อมูลเรื่องการสลายการชุมนุม นปช. พื้นที่วรรณกรรมอย่างเรื่องสั้น ยังเป็นอีกที่ทางหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้ “เหยื่อ” หรือ “ผู้ถูกกระทำ” มีชีวิต มีตัวตน มีสิทธิ์เสียง และเผยให้เห็นถึง “การต่อสู้” ของพวกเขา — คนตัวเล็กๆ ที่ถูกใช้ความรุนแรงปราบปราม แต่ก็ไม่ละความพยายามที่จะต่อกรกับอำนาจที่เหนือกว่า

ในเมื่อพวกเขายังไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐ แต่ในวรรณกรรมพวกเขามีตัวตนและยังคงจะส่งต่อและโลดแล่นต่อไป เพื่อเรียกร้องสถานะและความเป็นธรรมทางประวัติศาสตร์

วาระครบรอบสิบปี สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ข้าพเจ้าจึงอยากชวนย้อนอ่าน 5 เรื่องสั้น ที่มีเนื้อหาพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งก่อน หลัง และผลพวงที่เป็นรอยแผล เป็นความสูญเสียของผู้คน อันให้แง่มุมเรื่องราวของผู้กระทำ อารมณ์นึกคิดของคนตัวเล็กๆ ผ่านมุมมองหลากหลาย ทั้งจากผู้ถูกกระทำ และผู้มองเฉยที่อยู่แวดล้อมไปกับเหตุการณ์

สิ่งใดที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เอ่ยถึง วรรณกรรมจะทำหน้าที่ตรงนั้น

  

ตะวันออกเฉียงเหนือ (2555), ธีร์ อันมัย

“มันเกิดในยุคสมัยของเรา ยุคที่ข้อมูลข่าวสารถึงกันขนาดนี้ เรายังยอมให้มีการฆ่ากันกลางถนนได้อย่างเลือดเย็นนั้น มันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา…”

“ตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นเรื่องสั้น ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารชายคาเรื่องสั้น ปี 2555 (เว็บไซต์ อีสานเรคคอร์ดนำมาเผยแพร่อีกครั้งในวาระครบรอบสิบปีสลายการชุมนุม)

เรื่องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งานศพของ “ผม” – ลูกชายคนที่แข็งแรงและเอาการเอางานที่สุดของนางจากไปกลางเดือนพฤษภาคม 2010 บทสนทนาของแม่ ลุง และเพื่อนในงานศพ ที่พูดถึง “ผม” ผู้ตาย ก่อนที่ส่วนที่สอง จะเล่าด้วยเสียงของ “ผม” ถึงการตายของตัวเอง และเหตุการณ์ที่เขาถูกยิง “ผมถูกยิงตอนบ่ายสามโมงบริเวณต้นมะขามใหญ่ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ”

เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าอย่างตรงไปตรงมา บทสนทนาในงานศพสะท้อนถึงภาพคนอีสานที่ขัดแย้งกับวาทกรรม “ควายแดง” ที่ย้ำว่าคนอีสานโง่ จน เจ็บ แต่บทสนทนาของตัวละครในเรื่องกลับทำให้เห็นถึงความเข้าใจสภาพบ้านเมือง การติดตามข่าวสาร และวิเคราะห์ถึงข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดถึงความพยายามของผู้เขียนและ “ผม” ที่ไม่ใช้ พ.ศ. ในการพูดถึงเวลา แต่ใช้ ค.ศ. แทน โดยผู้เล่าก็บอกตามตรงว่าเพื่อไม่ให้เรื่องของพวกเขาเงียบหายไปในสายธารประวัติศาสตร์ไทย แต่เคลื่อนไหวและดำรงอยู่ไปกับสากลกาล

“คุณกำลังอยู่ในงานศพของผม นั่นคือบทสทนาบางส่วนของญาติและเพื่อนผม อย่าตกใจหากพวกเขาพูดไม่เหมือนชาวบ้านจริงๆ แล้วผมอยากให้เขาเข้าใจเสียใหม่ว่า คนที่บ้านผมที่เป็นชาวบ้านนั้น ไม่เป็นแบบที่พวกคุณวาดในใจแบบ “เหมารวม” เอาไว้อีกต่อไปแล้ว”

กล่าวได้ว่า ตะวันออกเฉียงเหนือ ส่องสะท้อนถึงเหยื่อและครอบครัวผู้สูญเสียจากการสลายการชุมนุม ในขณะเดียวกันก็โต้ตอบมุมมองที่คนชั้นกลางและรัฐมองพวกเขา และยืนยันถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้นว่ามีคนเจ็บจริง ตายจริง และสูญเสียจริง

 

ขนมหลากสี (2556), นฆ ปักษนาวิน

หากตะวันออกเฉียงเหนือ ฉากอยู่ที่หมู่บ้านในอีสาน เรื่องสั้น “ขนมหลากสี” ที่เขียนขึ้นในช่วงปีใกล้เคียงกัน กลับมีฉากอยู่กลางกรุงเมืองหลวง

ขนมหลากสี อยู่ในรวมเรื่องสั้น “ออกไปข้างใน” ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2556 โดยสำนักพิมพ์มติชน เล่าเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ใจกลางเมืองย่านธุรกิจ ในช่วงปีที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง เรื่องเล่าถึงชีวิตประจำวันของเขา งานประจำที่ร้านกาแฟหรูใกล้รถไฟฟ้า และเพื่อน “กลุ่มปฏิวัติ” เสพ “ขนม” ที่มีหลากสี ลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายวุ้น (พวกเขาเรียกแทนสารเคมีบริสุทธิ์ชนิดหนึ่ง)

โดยพวกเขาไม่ได้ใส่ใจถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุมเลยแม้แต่น้อย

เรื่องสั้นเรื่องนี้ เปิดให้ตีความได้หลากหลาย แฝงสัญญะไว้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง การบรรยายฉาก และฉายาตัวละคร เช คานธี กุหลาบ จิตร โรซ่า ที่ล้วนเป็นนามของนักปฏิวัติเลื่องชื่อ ถือเป็นการอ่านที่ค่อนข้างเพลินเพลิดในแง่ที่ผู้เขียนทิ้งจุดสงสัยไว้หลายจุด และจบลงที่ทำให้ผู้อ่านกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 53 ตัวเรากำลังทำอะไรอยู่? คุณกำลังทำอะไรอยู่? เหมือนเด็กที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มปฏิวัติ” กลุ่มนี้หรือไม่

“เรายังคงเมามายอยู่บนชั้นสูงสุดอย่างไม่รับรู้วันคืน แม้ว่าจะมีขบวนการปฏิวัติของประชาชนเกิดขึ้นจริงๆ บนท้องถนน มีการสังหาร และความตาย มีควันไฟสีดําพุ่งพวยขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่เราก็หาได้สนใจ เราเมามายด้วยความสุขในห้องที่มืดมิดทั้งกลางวันและกลางคืน”

 

ห้องหับบนชั้น 7 (2560), ภู กระดาษ

ทอดเวลาผ่านมากว่า 7 ปี เหตุการณ์การเมืองไทยก็ยังผันแปรแย่ยิ่งกว่าเก่า ผ่านเหตุการณ์ชุมนุมอีกรอบ เอื้อให้เกิดรัฐประหาร 2557 ตกอยู่ในความเงียบงันภายใต้กระบอกปืน และสภาพสังคมเช่นนั้น ก็หล่อหลอมงานวรรณกรรมขึ้นมา

“ห้องหับบนชั้น 7” ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารชายคาเรื่องสั้นฉบับที่ 9 เมื่อปี 2560 (เว็บไซต์ อีสานเรคคอร์ดนำมาเผยแพร่อีกครั้งในวาระครบรอบสิบปีสลายการชุมนุม)

เรื่องสั้นเรื่องนี้ แก่นเรื่องพูดถึงความเคยชินในการอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร ผ่านการนัดพบของกลุ่มเพื่อนวัยสามสิบจนถึงสี่สิบ ผู้ล้วนมีการศึกษาและมีหน้าที่การงานในแวดวงของตน ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชน ทั้งหมดมานัดพบ ดื่มเบียร์ จิบไวน์ เคล้าส้มตำ ร่ำภาษาอีสานกันที่ห้องคอนโดมิเนียมกลางกรุงฯ ในขณะที่ถนนรอบนอกมีทหารเดินเพ่นพ่านเฝ้าระวังอยู่ไม่ขาดสาย

“พลทหารสองนายกระชับอาวุธประจำกาย – ปืนเล็กยาว – จับจ้องตามรถจี๊ปของผู้บังคับบัญชาที่มาตรวจเวรยามและกำลังแล่นห่างออกไป ผมจึงได้ระลึกขึ้นมาลำพังให้ตนเองว่า นี่เราอยู่ภายใต้การปกครองของคณะปกครองเผด็จการทหารครั้งล่าสุดมากี่ปีแล้วนะ”

จากบทสนทนา และฉากในเรื่องที่ผู้เขียนบรรยายอย่างละเอียด ทำให้เห็นว่า “ห้องหับบนชั้น 7” พื้นที่ในห้องเป็นของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา เจ้าของห้องเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่ทำวิทยานิพนธ์ศึกษาแนวคิดของ Hannah Arendt นักวิชาการชาวเยอรมันชื่อดังที่ตั้งคำถามถึงที่มาทางสังคมที่กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีวรรณกรรมอิตาลีเรื่อง “เปเรย์ร่ายืนยัน” อยู่ในห้อง อันเป็นนวนิยายที่มีตัวละครเป็นนักข่าวต่อต้านเผด็จการ ซึ่ง ผม-ผู้เล่าเรื่องก็เคยอ่านแล้ว

ตลอดทั้งเรื่อง ผู้อ่านจะจับสังเกตได้ว่า บทสนทนาระหว่างผู้มาใหม่และผู้ที่อยู่ก่อนแล้ว ต่างย้ำอยู่เสมอว่า “พวกเราสบายดี” อันเป็นความสบายดีทางกายภาพ

“อภิปรายกันอย่างดุเดือด เลือดพล่าน ด้วยความไม่พึงพอใจ ด้วยความอุกอั่งคั่งแค้น ด้วยความไม่สะดวกสบายใจถาโถมออกมาชนิดที่ว่าจะเป็นจะตายให้ได้ในเดี๋ยวนี้ และในจังหวะนั้นชาติชายก็พูดขึ้นมาว่า ‘คิดว่าครั้งนี่ พวกหมู่เฮาจะอยู่ในยุคปกครองของทหารไปอีกจักปี’

‘อาจจะสิบหรือซาวปีพุ้นหละ’ ชนิยาตอบ

แล้วก็นิ่งงันกัน เสียงเครื่องปรับอากาศดังมาทดแทนทุกเสียงและพวกเรายังคงสบายดี”

ตัวละครพวกนี้อยู่ในสภาวะแวดล้อม “อย่างสบายดี” แต่ในขณะเดียวกันก็หาทางแหกคอกอย่างเงียบเชียบ ผ่านการอ่านเปเรย์รายืนยัน หรือทำวิทยานิพนธ์เรื่องฮันนา อาเรนท์ แต่สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดกลับเมินเฉยต่อเสียงทหารยิงปืนที่ดังขึ้น โดยไม่แม้แต่จะลงไปติดตามว่าเกิดอะไรขึ้น หรืออาจจะจำนนต่อสภาวะที่ตนทำอะไรไม่ได้นี้ หรือเคยชินจนอาจไร้ความรู้สึกรู้สมต่อเหตุการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองจนเป็นเรื่องปกติกันแน่?

 

The red lipstick (2561), อนุสรณ์ ติปยานนท์

The red lipstick เป็นเรื่องสั้นสุดท้ายในหนังสือรวมเรื่องสั้น “ตะวันออกศอกกลับ” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ในปี 2561

“นั่นไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง…คนเหล่านั้นเป็นเพียงกลุ่มคนที่ถูกว่าจ้างมาเท่านั้นเอง พวกเขามารวมตัว ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว แหกปากเชิดชูอุดมการณ์อะไรบางอย่างที่พวกเขาไม่มีวันเข้าใจ”

The red lipstick เล่าผ่านมุมมองชนชั้นกลางผู้เมินเฉย ชายหนุ่มผู้เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ และมองการชุมนุมของคนเสื้อแดงตามวาทกรรมที่รัฐอยากให้มอง โดยไม่ได้จะพยายามทำความเข้าใจ แต่เขาได้มีโอกาสเข้าไปเห็น ไปเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดนี้ เริ่มจากการที่เขาต้องตามหาลิปสติกสีแดงสดที่ไม่มีแท่งลิปสติกใดในโลกทัดเทียมได้ให้กับภรรยา

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเขาโดยสารรถแท็กซี่ไปใจกลางเมือง ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม และเจอหญิงชราที่ตามหาลูกชายบาดเจ็บ ทำให้เขาต้องพามารดาผู้นั้นไปหาลูกที่โรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม

“ผมพบว่ามีรายชื่อใหม่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งทหาร พลเรือน การเสียชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า โลกที่มีแต่การเก็บตัวของผมกับโลกที่กำลังเคลื่อนไหวในความเป็นจริงแตกต่างกันมากมายเพียงใด”

จุดที่น่าสนใจของเรื่องนี้ ไม่เพียงแค่การเล่นกับอุปลักษณ์ “สีแดง” ที่มีอยู่ตลอดทั้งเรื่องแล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังพาผู้อ่านไปพบกับภาพแทนทัศนคติของความคิดคนที่มีต่อการชุมนุมเสื้อแดงในหลายๆ แบบ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องเล่าจากมุมผู้ถูกกระทำเท่านั้น เราเห็น ผม– ผู้เล่าเรื่อง–ที่ไม่สนใจการเมือง สนใจแต่เรื่องตัวเอง ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มองคนเสื้อแดงว่า เป็นพวกรับเงินมาชุมนุม หรือคนขับแท็กซี่ที่มองว่าการชุมนุมฯ ขัดขวางการทำมาหากินของเขา ซึ่งทั้งหมดกล่าวโดยไม่เคยเข้าร่วมม็อบ และไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ให้คำตอบตายตัวว่า ท้ายที่สุดแล้ว ตัวละคร “ผม” เข้าใจอะไรมากขึ้นหรือไม่ ตาสว่างหรือเปล่า หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เขาเห็นการบาดเจ็บ เลือดแดงฉานตรงหน้า มีผลอย่างไรต่อเขาบ้าง

เปิดโอกาสให้ผู้อ่านกลับมาไต่ถามตัวเอง และตีความหลังหน้ากระดาษเมื่อเรื่องสั้นหมดลง

การรุกรานในตอนบ่ายสอง (2553), กล้า สมุทวณิช

“ถ้อยคำกราดเกรี้ยวที่บางครั้งลอยผ่านลมจากถนนสายนั้นบอกแจ้งว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตย มันยิ่งทำให้ฉันสงสัย ก็เราไม่ได้อยู่ในประเทศประชาธิปไตยกันแล้วหรอกหรือ”

การรุกรานในตอนบ่ายสอง ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2553 ในวารสารชายคาเรื่องสั้น เล่มที่ 1 ก่อนจะถูกนำมารวมเล่มใน “หญิงเสาและเรื่องราวอื่นๆ” สำนักพิมพ์มติชน ปี 2556

เรื่องสั้นอีกเรื่องที่สะท้อน มุมมองชนชั้นกลางเมืองหลวงที่มีต่อคนเสื้อแดงได้อย่างเจ็บแสบถึงทรวง เล่าผ่านตัวละครหญิงที่เปิดร้านกาแฟอยู่ย่านกลางกรุง และมองว่าคนเสื้อแดงเป็นคน “พวกนั้น” ที่เข้ามาทำลายความสุขและกิจการร้านกาแฟของเธอ

“…คนพวกนั้นคืบเคลื่อนเข้ามาเต็มท้องถนนสายหลักเส้นสำคัญของย่านนั้น…ผู้คนหน้าตาไม่คุ้นเคย แต่งตัวด้วย “เครื่องแบบ” สีเดียวกัน สีหน้าสีผิวใกล้เคียงกัน พวกเขาเป็นคนเผ่าเชื้อเดียวกัน แต่เป็นสิ่งแปลกปลอมไม่คุ้นเคยสำหรับย่านนี้”

จุดที่น่าสังเกตคือการใช้ภาษาในการสะท้อนทัศนคติของ “ฉัน” ผู้เล่าเรื่อง ที่แม้ดูเหมือนความคิดคำนึงของ “ฉัน” จะออกมาโดยธรรมชาติ แต่กลับสะท้อนทัศนคติที่มองคนไม่เท่ากัน และเหยียดคน “พวกนั้น” อย่างชัดเจน

เหตุการณ์ในเรื่องขมวดปมยิ่งขึ้นเมื่อกลุ่มคนหนึ่งใน “พวกนั้น” ครอบครัวหนึ่ง อันประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เข้ามาสั่งน้ำเปล่าและนั่งดับร้อนที่ร้านกาแฟของเธอ และเธอถูกชายคนนั้นข่มขืน เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของ “ฉัน” เพียงผู้เดียว

เรื่องนี้อ่านสนุกอย่างยิ่ง ไม่เพียงสะท้อนจริตชนชั้นกลางอย่างชัดเจน แต่ยังทิ้งข้อสงสัยให้ผู้อ่านกลับไปใคร่ครวญ เกิดการข่มขืนขึ้นจริงหรือไม่? หรือทั้งหมดเกิดจากการที่ผู้เล่าคิดไปเอง ทั้งยังบิดมุมไปจากเรื่องเล่าหลักที่ผู้อ่านคุ้นเคย ซึ่งมักเล่าถึงเหยื่อที่บาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุม กลับตลบเป็นชนชั้นกลางถูก “รุกราน” แทน โดยเล่นล้อไปกับความกำกวมในเรื่องและความสูญเสียของผู้ชุมนุมที่เกิดจากการใช้กระสุนจริงในครั้งนั้น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวรรณกรรมไทยที่พูดถึงการชุมนุมเมื่อปี 2553 เกิดขึ้นมากมาย เกิดงานเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ นวนิยายที่พูดถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมและการสูญเสีย ซึ่งส่วนใหญ่มักเอ่ยขึ้นในมุมมองของผู้ถูกกระทำมากกว่าผู้กระทำ และก็เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อกลับมาพิจารณาดูอย่างคร่าวนั้น วรรณกรรมไทยที่พูดถึงเรื่องการชุมนุมเป็นหลัก ยังไม่ค่อยปรากฏเท่าไรนัก

สิบปีผ่านไป แต่ข้อเท็จจริงยังไม่คลี่คลาย ข้อมูลชั้นต้นยังปะปนวาทกรรม ความยุติธรรมก็หดหาย ในช่วงฝุ่นตลบ ลักลั่นทางความคิด เรายังอาจสกัด “วรรณกรรมที่สร้างความจับใจคน” ออกมาไม่ทัน

ข้าพเจ้าหวังใจอยู่ลึกๆ ว่า หลังผ่านไปสิบปี เรามีวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เราอาจมีงานเขียนที่ได้จากการค้นคว้าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เป็นช่วงงานเขียนเรื่องราวของบ้านเมืองที่พุ่งพวยออกมาเหมือนช่วงวรรณกรรมหลังเดือนตุลา

สักวัน.

 

X