การต่อสู้ของ “ดา ตอร์ปิโด” นักสู้ที่ไม่ควรถูกลืม

 แมวสีเทา
.
“ตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็ต้องสู้ ไม่ยอมจำนนต่อฟ้าดินง่ายๆ ความเป็นนักสู้นั้นมีอยู่เต็มเปี่ยมในสายเลือดและหัวใจ”
บางตอนจากบทนำในหนังสือ “บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของดา ตอร์ปิโด”
.
หากกล่าวถึงมาตรา 112 เราทราบกันดีว่าเป็นกฎหมายที่มีโทษร้ายแรงและสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในสังคม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ สำหรับตัวฉันเองคิดว่ากฎหมายมาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไข เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน มีการใช้กฎหมายลิดรอนสิทธิในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัวและเต็มไปด้วยเรื่องที่ “พูดไม่ได้”  
.
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มาตรา 112 ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากทั้งนักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป จนได้มีการเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่กฎหมายมาตรานี้ก็กลับยังคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจนถึงปัจจุบัน  
.
ฉันมีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการต่อสู้ของอดีตผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนักโทษการเมือง เมื่อได้ทราบข่าวจากเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “ในนามรักษาความสงบเรียบร้อย” ว่ามีการจัดพิมพ์หนังสือของ “ดา ตอร์ปิโด” อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเธอเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เอง ฉันจึงได้สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน
.
.
ฉันเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับดา ตอร์ปิโด มาก่อน จึงสนใจในคดีของเธอ เพราะดาเป็นนักโทษหญิงที่ถูกคุมขังเป็นเวลานานถึง 8 ปีกว่า และต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาจนเกือบถึงชั้นศาลฎีกา แต่ต้องถอนฎีกาที่ยื่นไปแล้ว เนื่องจากคดีใช้ระยะเวลาพิจารณายาวนาน และเธอเองก็มีปัญหาด้านสุขภาพขณะถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี คดีของเธอจึงจบแค่ชั้นอุทธรณ์
.
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ต้องหามาตรา 112 เลือกที่จะรับสารภาพในคดี เพราะได้รับโทษน้อยกว่า และมีแนวโน้มติดคุกสั้นกว่าผู้ที่เลือกต่อสู้คดีถึงที่สุด จึงมีน้อยคนนักที่จะต่อสู้ และดา ตอร์ปิโด เป็นหนึ่งในนั้น เรื่องราวของเธอจึงน่าสนใจมากสำหรับฉัน
.
ดา ตอร์ปิโด หรือดารณี ชาญเชิงศิลปกุล คือผู้ต้องขังหญิงรุ่นแรกๆ ในคดีมาตรา 112 ก่อนที่ข้อหานี้จะถูกใช้อย่างกว้างขวางในความขัดแย้งทางการเมืองหลายสิบปีที่ผ่านมา จากชีวิตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี กลายมาเป็นแกนนำกลุ่มสภาประชาชน และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร 2549 การขึ้นกล่าวคำปราศรัยของเธอนำไปสู่การถูกดำเนินคดี และการถูกจองจํานานกว่า 2,958 วัน หรือ 8 ปี กับอีก 1 เดือนเศษ จึงนับเป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องต่อสู้ทั้งคดีและต่อสู้ชีวิตอยูในเรือนจำ
.
หนังสือขนาดเล็กหนา 100 หน้าเล่มนี้ หากคาดเดาจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยยังไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างใน ก็คงคิดว่าเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวการถูกดำเนินคดี 112 แต่เมื่อได้อ่านแล้ว เราจะได้รับรู้ถึงเรื่องราวของมิตรภาพ ความสุข ความรัก ความทุกข์ หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ
.
การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุดของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ถูกทำให้กลายเป็น “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” จากคำพูดปราศรัยไม่กี่ประโยค หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกอัตชีวประวัติของนักสู้คนหนึ่ง ผู้มีอุดมการณ์มั่นคงและไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น เรื่องราวตั้งแต่เยาว์วัย ครอบครัว อาชีพนักข่าว การกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
.
ชีวิตที่ถูกบังคับให้ใช้ภายในเรือนจำ เรื่องราวของตลาดมืดในคุก การรับจ้างเฝ้าเวร หรือแม้แต่การรับจ้างทำความสะอาด ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงชีวิตอันแตกต่างและปัญหาที่เกิดขึ้นของนักโทษ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิที่ถูกลิดรอน รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถหนีพ้นได้แม้แต่ในเรือนจำ เนื่องจากนักโทษที่มีทุนสามารถมีชีวิตที่สุขสบายได้ ส่วนนักโทษที่ไม่มีทุนกลับต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมากกว่า
.
โชคยังร้ายไม่พอ เพราะหลังจากดาได้รับอิสรภาพไม่นาน เธอยังต้องเผชิญการต่อสู้ครั้งใหม่ ที่ร้ายแรงไม่ต่างกัน อย่างการต้องรักษาโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในร่างกายตนเอง ท่ามกลางความเจ็บปวด หนังสือเล่มนี้ยังทำให้เห็นว่าผู้หญิงคนนี้ยังเลือกที่จะต่อสู้กับคู่ต่อสู้ครั้งใหม่นี้จนสุดกำลัง และเดิมพันครั้งนี้ด้วยชีวิต
.
ฉันจึงอยากแนะนำให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการเมืองได้อ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไม่นานที่ผ่านมา และชีวิตความเป็นอยู่ภายในเรือนจำของนักโทษแล้ว ฉันคิดว่าผู้อ่านจะได้รับทั้งความสนุก ความเศร้า และรอยยิ้ม พร้อมกับความรู้สึกโกรธและหดหู่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนนี้
.
ถึงที่สุด การอ่านหนังสือเล่มนี้คือการร่วมกันจดจำเรื่องเล่าและวีรกรรมของนักต่อสู้อีกคนหนึ่งในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไรต่อไป เรื่องราวของเธอจะไม่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของประชาชน
.
———————–
.
หนังสือ “บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของดา ตอร์ปิโด” จัดจำหน่ายผ่านเพจ “ในนามของความสงบเรียบร้อย” https://www.facebook.com/FOTOofSilence ราคาเล่มละ 112 บาท ฟรีค่าจัดส่ง รายได้ทั้งหมดนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาลของดารณีต่อไป (ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ครั้งที่ 2)
.
.
X