งานเขียนแบบชีวิตของสุรพล: จำเลยคดีปาระเบิดศาลอาญาฯ จากมุมมองลูกชาย

น่าจะมีพ่อลูกไม่กี่คู่ที่มีชะตากรรมคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างคู่ของ สุรพล-เค เมื่อลูกต้องคดี 112 ส่วนพ่อต้องคดีปาระเบิดศาลอาญาฯ ในเวลาต่างกัน แต่ทั้งคู่ลงเอยที่คุกแห่งเดียวกัน ทั้งพ่อและลูกต่างมีทักษะของวิศวกร จึงได้ช่วยเขียนแบบบ้าน แบบโรงเรือน โรงนอนให้เจ้าหน้าที่ในคุกเหมือนกัน
ส่วนการเขียนแบบชีวิตนั้น สุรพลกับเค พยายามเขียนแบบชีวิตของตัวเองให้สวยงามไม่ต่างจากคนทั่วไป นั่นคือเติบโต ได้รับการศึกษา ทำงานมั่นคง เลี้ยงดูครอบครัว แต่มีบางอย่างที่ทำให้งานเขียนแบบชีวิตนี้ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แบบชีวิตของทั้งคู่เปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนไหนและเมื่อไหร่ จะดำเนินต่อไปอย่างไร ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าจาก ‘เค’ ลูกชายของสุรพล ที่เล่าถึงคลื่นลมทางสังคม-การเมืองหลายระลอกที่เปลี่ยนแบบแปลนชีวิตของพวกเขา

 

ม.ปลาย: ดอกไม้ไม่ได้เสียบปลายกระบอกปืนทุกที่

ตอนรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ผมเพิ่งจะอายุ 17-18 ปี ช่วงนั้นยังไม่สนใจการเมือง แต่จำได้ว่า ตอนนั้นผมกับเพื่อน 10 กว่าคนสวมชุดรด. เข้าไปหาอะไรกินในตลาดแถวลาดพร้าว 49 พวกผมถูกพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาด่าเรื่องทำรัฐประหาร เข้าร้านเกมก็ถูกด่าจนต้องออกจากร้าน ผมงงว่าด่าทำไม ผมเรียนรด. ไม่ใช่ทหาร ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย  แต่เห็นได้ว่าคนชอบรัฐประหารมันแค่ชนชั้นกลางในเมือง ถ้ามองจริงๆ ชนชั้นล่างเขาไม่ได้ชอบ เพราะอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไวไป กระทบการค้าเขาก็ด่า ตอนนั้นผมอยู่ในช่วงกำลังคิดว่ารัฐประหารดีหรือเปล่า ผมไม่ค่อยชอบที่ม็อบพันธมิตรเป็นม็อบจารีตมากและมีการทำคุณไสยฯ แต่ประเด็นนักการเมืองโกงผลประโยชน์มันค่อนข้างน่ารับฟัง ผมเลยชั่งใจ

พ่อผมในอดีตเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มนวพลกระทิงแดง

เดิมอุปนิสัยผมค่อนข้างขบถกับจารีตไทยอยู่แล้ว ตรงข้ามกับพ่อซึ่งค่อนข้างอนุรักษนิยม พ่อเล่าให้ฟังว่าช่วง 6 ตุลาฯ เขาเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มนวพลกระทิงแดง ตอนนั้นเขาอายุ 14 ปีกำลังเรียนโรงเรียนช่าง รุ่นพี่ไปไหนรุ่นน้องเฮโลตามไป พ่อเคยเล่าเรื่องตอนเอาศพนักศึกษามากองแล้วเผา เรื่องตอนยิงกันแต่ไม่แน่ใจว่าฝ่ายไหนยิงบ้าง เล่าว่าทหารก็ยิงนักศึกษา เล่าว่าเด็กช่างกลัวผีนักศึกษากันด้วย ฯลฯ  ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่านักศึกษาทำอะไรด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าเกลียดหรือเปล่า ได้ยินแค่ว่านักศึกษาเป็นคนไม่ดี เลยตีก็ตีด้วย เขาไม่ได้คิดอะไรเลย เขาแค่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง

ปี 2535 ที่มีเหตุการณ์พฤษภาเลือด พ่อผมยังมีแค่วุฒิปวส. ยังไม่จบปริญญาตรี และต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ 4 คน กำลังวุ่นและน่าจะไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอะไร พอเรียนจบปริญญาตรีพ่อทำงานเป็นวิศวกรและอัดกรอบรูปวิทยาศาสตร์ขายเป็นงานอดิเรก มีรูปเจ้าเต็มบ้าน พ่อเคร่งจารีตประเพณี ยึดเรื่องศาสนาค่อนข้างเข้มข้น ค่อนข้างเป๊ะเรื่องประเพณีของไทยพอสมควร ต้องใส่บาตรตอนเช้าทุกวัน

ผมไปพันทิป พ่อไปสนามหลวง

พ่อกับผมไม่ได้มีความเห็นร่วมกันตั้งแต่ตอนแรก ต่างคนต่างศึกษาข้อมูลกันเอง มามีความเห็นร่วมกันช่วงปี 2551-2553 หลังคมช. ยึดอำนาจ พ่อผมที่เป็นคนเสื้อเหลืองมาก่อนผมเริ่มเปลี่ยนใจ ส่วนผมตอนนั้นเรียนวิศวฯ อยู่นครศรีธรรมราชแล้ว ผมจะชอบเล่นอินเทอร์เน็ต ชอบเข้าเว็บบอร์ดบ้านราษฎร์ดำเนิน พันทิปห้องราชดำเนินที่คุยเรื่องการเมืองเข้มข้น  ส่วนพ่อไปฟังการปราศรัยต้านเผด็จการที่สนามหลวงเป็นประจำ

พอกลับมากรุงเทพฯ ได้คุยกับพ่อแล้วแลกเปลี่ยนกัน ใช้ตรรกะมากกว่าที่ฟังจากทีวี ผมรู้สึกว่าพ่อยังยึดเรื่องศาสนาเหมือนเดิม เรื่องจารีตประเพณียังเข้มข้น แต่เสรีนิยมพ่อเขาก็เอานะ ถ้าใช้หลักการเหตุผลมาเถียงเขาก็ฟัง เวลาเจอเหตุการณ์บางอย่างแล้วต้องใช้หลักคิดของเสรีนิยมเขาก็ใช้ เขาพูดออกมาได้เฉยเลย บางทีผมพูดบางเรื่องไปคิดว่าจะโดนพ่อด่าแต่ก็ไม่  เราคุยจนได้คำตอบตรงกันคือจะใช้หลักการ ไม่ใช้อารมณ์ความเชื่อ ฟังข้อมูลจนเลือกว่าเราจะมีอุดมการณ์แบบนี้ เลยกลายมาเป็นแบบทุกวันนี้

ในม็อบทุกคนเป็นคนหมู่มากไม่ได้มีอำนาจมากอะไร เป็นแค่ชาวบ้านเหมือนเรา

“เม.ย. 52 และ พ.ค. 53 ที่คนเสื้ิอแดงชุมนุม บ้านผมทั้งพ่อและน้องชายอยู่แนวหน้าปะทะกับตำรวจทหารมาทั้งสองปี ช่วงคนเสื้อแดงชุมนุมพ่อยังไปทำงานตลอดเวลา เขาเป็นวิศวกรโยธา จะสลับกันระหว่างทำงานแล้วไปม็อบต่อ บางวันไม่กลับบ้านกินนอนในม็อบ ผมอยู่กับพ่อนั่นแหละครับ อยู่ในม็อบเราได้เห็นคนไม่กลัว อะไรที่คาใจเราต่อต้านได้ แสดงออกได้ ไม่ใช่แค่ตำรวจตะคอกแล้วต้องกลัว ผมรู้สึกว่าเจ๋งดี ในม็อบทุกคนเป็นคนหมู่มากไม่ได้มีอำนาจมาก เป็นแค่ชาวบ้านเหมือนเราเขายังกล้าทำแบบนี้”

 

มาเจอพ่อที่แดน 1

หลังจากนั้นผมโดนคดี 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กซึ่งจริงๆ เนื้อหาเป็นโจ๊กเรื่องหนึ่ง อีก 1 ปีต่อมา พ่อโดนคดีปาระเบิดศาลอาญาฯ สุดท้ายผมกับพ่อมาเจอกันในคุก

อยู่ในคุกผมเป็น ‘เสมียนแดน’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ เป็นเสมือนตำแหน่งสูงสุดของนักโทษ คอยเช็กยอดผู้ต้องขัง ใครเข้าออกแดน ใครเข้าออกห้องพยาบาล ผมต้องรายงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ข้างในไม่ค่อยมีคนที่มีวุฒิฯ หรือมีความสามารถทำตรงนี้เขาเลยใช้ให้ทำ การเป็นเสมียนแดนทำให้มีสิทธิพิเศษหลายอย่าง บางครั้งผมขอยาเก็บไว้ให้พ่อได้ หรือไปหาเพื่อนๆ ลุงๆ ที่โดนคดี 112 แดนอื่น หรือฝากเสมียนแดนที่พ่ออยู่ว่าถ้าพ่อต้องการยาหรืออะไรให้บอกผมหน่อย ตอนอยู่ข้างในผมกับพ่อได้เจอกันเรื่อยๆ เพราะแฟนพ่อจะมาตีเยี่ยมทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ เขาจะตีเยี่ยมพร้อมกันสองคน ผมกับพ่อก็จะได้เจอกันที่ห้องเยี่ยม

พ่อผมจบวิศวฯ โยธาแต่ค่อนข้างมีฝีมือด้านวรรณศิลป์ เขาลายมือสวยวาดรูปได้ ช่วยทำอะไรให้เพื่อนๆ ในนั้นได้หลายอย่าง เช่นช่วยเขียนจดหมาย วาดรูป เขียนเสื้อ เขียนป้าย บางคนอยากทำโลโก้แก๊งเขาก็วาดให้ แลกเป็นของใช้พวกสบู่ยาสีฟันเก็บไว้ เขามีวิชาติดตัวจับฉ่ายมาก บางครั้งเขาเขียนแบบบ้านให้เจ้าหน้าที่พร้อมคำนวณโครงสร้างให้ด้วย พวกเจ้าหน้าที่จะชอบเพราะจ้างวิศวฯ ข้างนอกเขาคิดเป็นหมื่น พ่อผมใช้แค่ดินสอกระดาษแล้วนั่งเขียนได้เลย ตอนอยู่ในคุกผมเขียนแบบให้เจ้าหน้าที่เหมือนกัน ทั้งเขียนแบบเรือนนอนและห้องเยี่ยมใหม่ ซึ่งผมคิดว่าดีกว่าให้ผมอยู่เฉยๆ ในคุกเวลาผ่านไปปีเดียวยังน่าเบื่อมาก

จากศาลทหารสู่ศาลพลเรือน

ตอนนี้พ่อผมอายุ 56 ปี รวมแล้วคดีของพ่อสู้ในศาลทหารมา 4 ปีกว่า คนก่อเหตุสองคนเขารับสารภาพตั้งแต่ต้นแล้วแต่ศาลยังไม่ปักใจเชื่อ บอกว่าเห็นเป็นโครงข่ายการก่อการร้ายอยู่ ให้มีการให้สืบต่อแล้วจับคนมาเพิ่มอีก เลยไม่มีใครพ้นโทษได้ มีแต่ประกันตัวออกมาเกือบหมด ยังมีเหลืออยู่  3-4 คนที่ยังอยู่ข้างใน เพราะเงินประกันสูงถึง 500,000 บาท ซึ่งผมหาเองทั้งหมด เต็มที่ผมก็หาได้ 200,000 บาท จริงๆ แล้วคนอยู่ในคุกสามารถเรียนมสธ.ได้ แต่พ่อไม่ได้เรียนเพราะคดียังไม่จบ ทำให้วางแผนชีวิตไม่ได้

คดีของพ่อเพิ่งย้ายจากศาลทหารมาศาลพลเรือนปลายปีที่แล้ว จริงๆ ตอนคดีอยู่ศาลหทาร ศาลทหารไม่ได้ตึง ไม่ได้แผ่รังสีอำหิตผิดปกติ เขาก็ทำตามหน้าที่ แต่มีปัญหาเรื่องสืบพยานช้า บางครั้งสืบฯ ครั้งหนึ่งแล้วเว้นไป 3 เดือน เพราะพยานไม่มา ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ส่วนการทำเรื่องประกันตัว เจ้าหน้าที่ศาลทหารแตกต่างจากศาลพลเรือนเห็นได้ชัด เจ้าหน้าที่ศาลทหารถามคำตอบคำถามหรือไม่ตอบ ไม่ให้คำแนะนำอะไรเลย แต่เจ้าหน้าที่ศาลพลเรือนเป็นมิตรมาก ผมเคยเตรียมเอกสารไม่ครบ เขาคุย ให้คำแนะนำ ยิ้มแย้ม เหมือนเราไปจ่ายบิลโทรศัพท์ 

“เขาผ่านอะไรมาได้เพราะคำว่าวิศวฯ เขาเลยอยากให้ผมเป็นแบบเขา”

หลังจากผมพ้นโทษออกมา ผมยังไปเยี่ยมพออยู่ จริงๆ เขาอยากให้ผมไปเยี่ยมทุกวัน แต่ผมไม่ไหวเพราะต้องทำงาน เลยลดเป็นเหลืออาทิตย์ละ 3 วัน จันทร์-พุธ-ศุกร์ พอหลังๆ เริ่มทำงานมากขึ้น ไม่ไหวอีก จนเหลืออาทิตย์ละวันคือทุกวันอังคาร

ตั้งแต่เกิดเรื่องโควิด เรือนจำให้งดเยี่ยมแบบไม่มีกำหนด แต่ว่าทนายพบได้ ซื้อของฝากให้ได้ปกติ ครั้งล่าสุดที่ไปเยี่ยมพ่อคือที่ศาลเมื่อวันอังคารสุดท้ายที่เขาเปิดให้เยี่ยมได้ ก่อนปิดไม่ให้เยี่ยมตั้งแต่ 14 มี.ค. เขาบอกผมว่าอยากให้ผมมาเยี่ยมก่อน ไปให้ได้สัมผัสตัว นั่งคุยข้างกัน จับมือกัน ได้กอดหอม มันช่วยได้บ้าง ดีกว่านั่งคิดถึงอยู่ในคุก ตั้งแต่มีเรื่องโควิดจดหมายจากพ่อมาถึงช้า พ่อรู้เรื่องโควิด เขาส่งความเป็นห่วงมาว่าอย่าออกนอกบ้านนะลูก ไปไหนให้ระวัง เรื่องเรียนให้น้องชายเก็บเงินไว้แล้วเอาไปเรียนต่อปวส.ให้จบ อาชีพอย่างวิศวฯ จะทำให้เราไม่อดตาย เขาผ่านอะไรมาได้เพราะคำว่าวิศวฯ เขาเลยอยากให้ผมเป็นแบบเขา

คดีพ่อผมเราไม่รู้อนาคตเลย  

ตอนนี้ผมอยู่กับแม่และน้องชายคนเล็ก แม่ไม่มีรายได้ พ่อกับแม่ผมเขาแยกทางกันนานแล้ว ผมอยู่กับพ่อมาตั้งแต่ป.3  แม่ผมเพิ่งกลับมาตอนผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 3 และเพิ่งมาอยู่กับผมเมื่อ 1-2 ปีมานี้เอง ตอนนี้ผมเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก ทำอาชีพฟรีแลนซ์เช่นแจกใบปลิว ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกันเพราะงานลดลง

ตอนนี้ผมต้องทำงานเพื่อหาเงินไปเยี่ยมพ่อ ผมไม่ได้เป็นห่วงโควิดครับ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่น่ามี ร่างกายแกแข็งแรงดีปกติ แต่ว่าสภาพจิตใจไม่ดีเท่าไหร่ กำลังใจในการสู้ของพ่อแย่ลง ถ้าไม่มีเงินประกันก็ไม่รู้ว่าต้องอยู่จนถึงเมื่อไหร่ เพื่อนที่ผมเจอในคุก เขาฆ่าคนตายมาติดคุก 4 ปี ตอนนี้ถูกปล่อยมาแล้ว แต่คดีพ่อผมเราไม่รู้อนาคตเลย

#TLHRSocialDistancing


อ่านความคืบหน้าในคดีของสุรพลได้ที่ ศาลตรวจพยานหลักฐานคดีปาระเบิดศาลอาญายังไม่เสร็จ เหตุมีพยานเอกสารที่จะนำสืบอีกจำนวนมาก และ คดีปาระเบิดศาลอาญา โอนจากศาลทหาร นัดพร้อมวันนี้ ศาลเรียกหลักประกัน 5 แสน

 

 

X