เลื่อนสืบพยาน MBK39 แกนนำ หลังเอกชัยยื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุดถอนฟ้อง

ศาลอาญากรุงเทพใต้ เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ตามที่โจทก์ยื่นคำร้อง อ้างต้องรอฟังคำสั่งอัยการสูงสุด หลังเอกชัยยื่นขอความเป็นธรรมให้ถอนฟ้อง ศาลนัดสืบพยานโจทก์พนักงานสอบสวน 19 มี.ค. 63

12 มี.ค.2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดี MBK39 ในส่วนแกนนำ ซึ่งมี วีระ สมความคิด, ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, สมบัติ บุญงามอนงค์, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, เอกชัย หงส์กังวาน และสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ เป็นจำเลยในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และข้อหาชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมที่สกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

แต่เนื่องจากโจทก์ยื่นคำร้องเลื่อนนัดสืบพยาน โดยอ้างว่าเอกชัย หงส์กังวาน จำเลยที่ 6  ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้ ทำให้พนักงานอัยการที่ทำคดีนี้ต้องส่งสำนวนที่มีการร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมดไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา จึงไม่มีพยานและสำนวนเอกสารในการสืบพยาน และขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของอัยการสูงสุด โจทก์จึงจำเป็นต้องรอคำสั่งของอัยการสูงสุดก่อนดำเนินการสืบพยานต่อไป จึงขอให้ศาลยกเลิกการสืบพยานไปก่อน จากนั้นทนายจำเลยที่ 1-5 และทนายที่ 7-9 ร่วมกันแถลงขอคัดค้านการเลื่อนสืบพยาน เนื่องจากการร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยคนอื่น ๆ ในคดีนี้ และคดีนี้มีการสืบพยานมาใกล้เสร็จแล้ว หากมีการเลื่อนสืบพยานจะทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า จึงขอให้ศาลสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ไปก่อน อีกทั้งทนายของเอกชัยแถลงว่าไม่ทราบเรื่องที่เอกชัยยื่นขอความเป็นธรรมมาก่อน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกชัยขอพิจารณาลับหลังและศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังมาโดยตลอด ประกอบกับคดีนี้มีจำเลยคนอื่นด้วย เห็นควรให้สืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งเก้าไปก่อน หากภายหลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งอย่างไร ศาลจะพิจารณาสั่งตามกฎหมายต่อไป ศาลจึงได้ยกเลิกการสืบพยานโจทก์ในวันนี้และวันที่ 13 มี.ค. 63 นอกจากนี้ ทนายได้แถลงขอยกเลิกนัดสืบพยานในวันที่ 26 มี.ค. 63 ซึ่งเป็นนัดเดิมที่เคยนัดไว้ เนื่องจากติดพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดระยอง ศาลอนุญาตและให้นัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในวันที่ 19 มี.ค. 63 และสืบพยานจำเลยรวม 18 ปาก ในวันที่ 20, 27 มี.ค., 8, 22 พ.ค. และ 24 ก.ค. 63 เวลา 09.00 น.

คดีนี้เริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 62 โดยก่อนหน้านี้สืบไปแล้ว 10 ปาก จากที่โจทก์ยื่นสืบพยานทั้งหมด 14 ปาก โดยปากแรก เป็นทหารที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุม ปากที่สองคือเจ้าหน้าที่โยธา จากสำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งเป็นผู้ที่ไปรังวัดระยะทางรัศมี 150 เมตร จากวังสระปทุมถึงจุดที่ชุมนุม ปากที่สามเป็นทนายความที่เข้ามาให้ความเห็นด้านกฎหมาย ปากที่สี่ คืออดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวัน ปากที่ห้าเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เบิกความเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความในการปราศรัย ปากที่หก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา ปากที่เจ็ด พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ปากที่แปด รอง ผอ.สำนักงานจราจรและการขนส่งกรุงเทพฯ เบิกความเพื่อชี้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่ชุมนุมหรือไม่ ปากที่เก้า รองผู้กำกับการสันติบาล และปากที่สิบตำรวจผู้แฝงตัวในที่

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มสืบพยาน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้จำหน่ายข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เนื่องจากถูกยกเลิกไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 แต่ศาลยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีที่ได้กระทำไปก่อนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งนี้ (อ่านข่าวเพิ่มเติม ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ในคดีที่มีมูลเหตุเดียวกันนี้ คือ คดี MBK39 ในส่วนผู้ชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุม 28 ราย ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันกับกลุ่มแกนนำ ยกเว้นข้อหายุยงปุกปั่น พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรฟ้องคดี แต่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า การฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็น แต่ทางอัยการสูงสุดให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม และให้ทำความเห็นใหม่ กระทั่งอัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นไม่ฟ้องคดีเช่นเดิม และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นพ้องด้วย โดยคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการมีเนื้อหาระบุว่า ในข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 พนักงานอัยการเห็นว่าได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2562 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ข้อ 1 (7) ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เสีย จึงเป็นกรณีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในภายหลัง กำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จึงให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 28 ในข้อหานี้

ส่วนในข้อกล่าวหาเรื่องการสนับสนุนการจัดการชุมนุมสาธารณะภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  พนักงานอัยการพิจารณาเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 28 เป็นผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพมาได้จากที่เกิดเหตุ ไม่ได้พูดปราศรัย หรือเข้าช่วยเหลือผู้จัดการชุมนุม ถึงขนาดจะฟังได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนผู้จัดการชุมนุม อีกทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 28 คน ในความผิดข้อหานี้ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อผู้ต้องหาทั้งหมด (อ่านข่าวเพิ่มเติม ที่นี่)

 

X