เกือบ 4 ปี คดีแจกใบปลิวประชามติบางเสาธง เริ่มนัดสืบพยาน 7 นัด ช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 63

2 มี.ค. 2563 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในคดี แจกใบปลิวประชามติบางเสาธง หลังคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร และอัยการมีการสั่งฟ้องจำเลยเพิ่มอีก 1 ราย โดยฝ่ายโจทก์และจำเลยตกลงนัดสืบพยานทั้งหมด 27 ปาก ในช่วงวันที่ 21-23 ก.ค. และ 15-18 ก.ย. 2563

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 นักกิจกรรม นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และแรงงานจากสหภาพแรงงาน รวม 13 คน ได้เดินแจกใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559 บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมดำเนินคดี

ต่อมาในช่วงปี 2559 – 2561 อัยการศาลทหารได้ทยอยสั่งฟ้องผู้ถูกดำเนินคดี 11 คน แยกเป็น 4 คดี  ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา 8 คน ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในระหว่างการสอบสวน

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ศาลทหารกรุงเทพได้สั่งรวมคดีทั้ง 4 คดี ตามคำขอของอัยการศาลทหาร เนื่องจากจำเลยร่วมกระทำความผิดในคราวเดียวกัน มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกันทั้งหมด ก่อนที่จะมีการโอนย้ายคดีมายังศาลจังหวัดสมุทรปราการ หลังมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 โดยที่อัยการศาลจังหวัดสมุทรปราการยังคงมีการสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วเข้ามาอีกด้วย  และต่อมายังมีคำสั่งฟ้องจำเลยเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้รวมจำเลยในคดีนี้มีทั้งหมด 12 ราย

ในวันนี้อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้รวมการพิจารณาคดีของนายวรวุฒิ บุตรมาตร ซึ่งถูกฟ้องเพิ่มในภายหลัง ให้รวมเข้ากับคดีของจำเลย 11 ราย ซึ่งถูกฟ้องมาก่อน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกันและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้ารวมการพิจารณาทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันจะสะดวกและรวดเร็วในการพิจารณาคดี จึงอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดี โดยให้ถือสำเนาคดีแรกเป็นหลัก และให้วรวุฒิเป็นจำเลยที่ 12 ส่วนจำเลยที่ 1-11 ได้แก่ เตือนใจ (สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), กรชนก (สงวนนามสกุล), รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ, รังสิมันต์ โรม, กรกช แสงเย็นพันธ์, อนันต์ โลเกตุ, ธีรยุทธ นาขนานรำ, ยุทธนา ดาศรี, สมสกุล ทองสุกใส, และนันทพงศ์ ปานมาศ ให้นับลำดับตามเดิม

นอกจากนี้จำเลยทั้ง 12 ราย ได้ยื่นขออนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เนื่องจากจำเลยติดภารกิจ อาจไม่สามารถมาได้ในบางนัด ด้านอัยการแถลงไม่ค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วจึงอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี ประกอบกับจำเลยมีทนายแล้ว

ศาลยังได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้กับจำเลยทั้ง 12 ราย ฟัง ทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นโจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลจำนวน 11 ปาก โดยมีผู้กล่าวหา, ประจักษ์พยานในเหตุการณ์, เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และพนักงานสอบสวน

ด้านจำเลยแถลงว่า จำเลยทั้ง 12 ราย ไม่ได้มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย ตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนข้อหาร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนความผิดฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ 25/2549  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จำเลยประสงค์จะขอสืบพยาน 16 ปาก โดยจำเลยทั้ง 12 คนเป็นพยานให้กับตนเอง และมีอาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ นำสืบเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมาย ส่วนพยานอีก 2 ปากเป็นจำเลยในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ และศาลเคยมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

ศาลจึงได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ จำนวน 3 นัด ได้แก่ วันที่ 21-23 ก.ค. 2563 และนัดสืบพยานจำเลย จำนวน 4 นัด ได้แก่ วันที่ 15-18 ก.ย. 2563 รวมสืบพยานทั้งหมด 7 นัด

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าคดีจากกรณีการแสดงออกให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในคดีอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อหาในลักษณะใกล้เคียงกันนั้น ศาลพลเรือนมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งสิ้น เช่น คดี ‘ลุงสามารถ’ แปะใบปลิวโหวตโนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่, คดี ‘ไผ่ ดาวดิน และวศิน’ แจกเอกสารประชามติที่ศาลจังหวัดภูเขียว, และคดีสติ๊กเกอร์โหวตโนที่ศาลจังหวัดราชบุรี (อ่านข่าวย้อนหลังเพิ่มเติม ที่นี่)

อีกทั้งคดีนี้ อัยการยังมีการสั่งฟ้องในข้อหาตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เข้ามาอีก ทำให้จำเลยต้องต่อสู้คดีในข้อหาที่ถูกยกเลิกไปแล้วอีกด้วย และนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การจับกุมกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรม เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 คดีใช้เวลาจนถึงปัจจุบันกว่า 3 ปี 8 เดือนแล้ว โดยยังไม่ได้เริ่มต้นสืบพยานแม้แต่ปากเดียว

 

 

X