วันที่ 20 ก.ย. 62 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.), เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.), สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า กลุ่มเปราะบาง กับการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญในกระบวนการยุติธรรมและเสนอทางออกร่วมกันของผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน
(ภาพดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ กล่าวเปิดการเสวนา)
ภายในกิจกรรมเสวนามี ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนา โดยดร.ชยันต์ได้กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่แม้ว่าในทางหลักการแล้ว คนทุกคนจะมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ซึ่งกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น กรณีของชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม จากการถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครอง และพยายามจะใช้อาวุธคือระเบิดในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร
อีกกรณีที่กำลังเป็นที่พูดถึงของสังคมอยู่ในขณะนี้ คือกรณีของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ได้มีการค้นพบโครงกระดูกและหลักฐานว่าบิลลี่ได้ถูกฆาตกรรม โดยที่บิลลี่ได้ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่ 17 เม.ย. 57 ภรรยาและกลุ่มชาวบ้านก็ได้มีความพยายามติดตามหาข้อเท็จจริงและผู้รับผิดมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว ดังนั้น การเสวนาในวันนี้จะเป็นการสะท้อนปัญหาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง และการช่วยกันตอบคำถามว่าประชาชนจะทำอย่างให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น
ช่วงเช้าของการเสวนาเป็นการหยิบยกกรณีตัวอย่างและสะท้อนปัญหาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ
สาวินีย์ สายชลอำไพ ชาวบ้านในอ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้พูดถึงกรณีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบการจัดทำสัมปทานบัตรเหมืองแร่ ในอ.อมก๋อย ที่มีการขอสัมประทานบัตรในพื้นที่ป่าสงวนกว่า 284 ไร่ ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองและแหล่งต้นน้ำหลายสาย โดยที่กระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการทำเหมืองดังกล่าวเป็นไปโดยไม่โปร่งใส ทั้งการรวบรวมรายชื่อชาวบ้านในพื้นที่โดยที่ไม่ได้รับความยินยอม การให้ข้อมูลจากบริษัทที่จัดขอสัมปทานบัตรด้านดีเพียงด้านเดียว และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังกล่าวยังมีข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
อดินันท์ เล่ายี่ปา กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู จากอ.เวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พูดถึงกรณีปัญหาที่ดินในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาบุกรุกเขตอุทยาน ทั้งที่หลายพื้นที่มีการครอบครองและทำประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนการประกาศเขตพื้นที่อุทยาน อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ก็มักจะถูกสอบถามถึงเอกสารสิทธิซึ่งทางราชการออกให้ เพื่อเป็นหลักฐานในการครอบครองที่ดิน โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงจากกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
(ภาพนายอดินินท์ เล่ายี่ปา ขณะกำลังร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์)
สิทธิพล สอนใจ ชาวบ้านอ.นาน้อย จังหวัดน่าน เล่าถึงกรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า ในอ.นาน้อย จังหวัดน่าน โดยเจ้าหน้าที่รัฐมีการให้ข้อมูลกับกลุ่มชาวบ้านว่าจะมีการให้สิทธิในการครอบครองที่ดินและทำกินได้ จึงให้ชาวบ้านออกไปแสดงตัวในที่ดินของตนเอง เมื่อชาวบ้านจำนวน 298 ราย มาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของที่ดินนั้น แต่ต่อมากลับมีการดำเนินคดี แจ้งข้อกล่าวหากับชาวบ้านที่ได้ไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของที่ดิน โดยอาศัยการเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านั้น นำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อตัวชาวบ้านเอง ซึ่งเป็นการหลอกลวง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เล่าถึงกรณีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถสื่อสารเพื่อจะเข้าถึงความยุติธรรมได้ โดยเฉพาะในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีกระบวนการรองรับภาษาของแรงงานข้ามชาติ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ส่วนในกรณีของศาลยุติธรรมเมื่อแรงงานข้ามชาติต้องมีคดีขึ้นสู่ศาล ล่ามแปลภาษาของแรงงานข้ามชาติ เช่นกลุ่มภาษาไทใหญ่ ลีซู ปะหล่อง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น แทบจะไม่มีในศาลยุติธรรม และภาคเอกชนจะเข้าไปช่วยเหลือก็ยังถูกมองด้านลบ ว่าอาจมีการชี้นำในการแปลความหมาย ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถได้รับความยุติธรรมได้
นิตยา เอียการนา จากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงกรณีความห่างไกลในพื้นที่การอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ ในกรณีที่มีการวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อ.เวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของชัยภูมิและอาเบ แต่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสื่อต่างๆ เป็นข้อมูลด้านเดียวที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ ความห่างไกลนี้ก็จะมีส่วนทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปได้ยาก ประกอบกับอิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่นั้น ทำให้ไม่มีคนในพื้นที่กล้าออกมาให้ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเกรงจะได้รับผลร้ายตามมา
ทรงวิทย์ เชื่อมสกุล ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เปรียบเทียบความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำมาก เพียงเกิดมาอยู่บนดอยก็ผิดแล้ว เพราะอยู่ในเขตป่า นักวิชาการบางท่านเคยเปรียบไว้ว่า ความเป็นชาติพันธุ์หรือชาวเขานั้น เหมือนคนที่เกิดมาตัวเปล่าโดยไม่มีเสื้อผ้าใส่ หมายถึงการไม่มีกฎหมายคุ้มครองหรือรับรอง ในขณะที่ในทางตรงกันข้ามคนไทยเกิดมาก็มีเสื้อผ้าใส่ หรือบางคนนั้นเกิดมาพร้อมเสื้อเกราะกันกระสุน เป็นความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริงในสังคม กลุ่มชาติพันธุ์จึงถูกตัดโอกาสต่างๆ มากมาย
(รับชมการเสวนาในช่วงเช้าได้จาก ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงที่ 1 และ ช่วงที่ 2 )
(ภาพผู้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนในการเสวนากว่า 50 คน)
ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายการเสวนาแลกเปลี่ยนได้พูดถึงแง่มุมต่อกระบวนการยุติธรรมและเสนอแนวทางแก้ไข มีวิทยากรในช่วงนี้ ได้แก่ หมี่จู มอแลกู่ ประธานเครือข่ายอาข่าลุ่มน้ำโขง, สุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, พ.ต.อ.ไตรวิช น้ำทองไทย อดีตรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนภาค 7 และ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
หมี่จู ประธานเครือข่ายอาข่าลุ่มน้ำโขง มองว่าอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์หลายประการเกิดจากความไม่รู้และไม่เข้าใจ ต่อวิถีชีวิตและความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มากขึ้น
สุมิตรชัย ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มองว่าจากประสบการณ์ของตนเองนั้น พบปัญหาใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์ 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องยาเสพติดและป่าไม้ที่ดิน ซึ่งทั้งสองปัญหาล้วนเป็นแนวนโยบายจากรัฐ ผ่านการตีตราจากอคติบางประการต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอคติและการตีตราเหล่านี้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิหรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ได้ง่ายขึ้น เมื่อนโยบายที่มีขึ้นผ่านอคติและการตีตรา ประกอบกับไม่มีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เลย
นอกจากนี้สุมิตรชัยยังมองว่าจากประสบการณ์การเป็นทนายความของตน เห็นว่าประชาชนไม่มีสิทธิที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้นในคดีอาญา จนกว่าจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล หรือแม้แต่ในบางกรณีที่เข้าสู่กระบวนการชั้นศาลแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น วิดีโอในสถานที่เกิดเหตุคดีของชัยภูมิ ป่าแส ที่จนปัจจุบันทนายความและญาติก็ยังไม่ได้เห็น เป็นต้น ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถปกป้องหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้เลย อำนาจการตัดสินใจทางคดีขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด
สุมิตรชัยจึงเสนอว่า กระบวนการยุติธรรมต้องมีการเปิดเผยพยานหลักฐานต่อผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหาย ควรมีโอกาสได้รับรู้และต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในตอนท้ายสุมิตรชัยได้ตั้งคำถามว่า พยานหลักฐานหลายส่วนที่เกิดจากการหลอกลวง เช่น กรณีการให้ชาวบ้านไปยืนถ่ายรูปในที่ดิน โดยระบุว่าจะเป็นการออกเอกสารสิทธิ แต่กลับนำมาใช้เป็นหลักฐานเอาผิดชาวบ้านเองนั้น การนำพยานหลักฐานเหล่านี้มาใช้ปรักปรำประชาชน เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
(ภาพบรรยากาศการแลกเปลี่ยนในช่วงบ่าย)
สุรพงษ์ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงปัญหาภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมว่าเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและอำนาจการบังคับใช้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว ประกอบกับการให้ความน่าเชื่อถือต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าประชาชน ไม่ว่าจะในกระบวนการยุติธรรม สื่อ หรือรวมไปถึงสังคมด้วย อีกทั้งระบบการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐจากภาคส่วนต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดเกิดขึ้น ก็จะมีหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บัญชาการระดับสูงออกมาปกป้อง ทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสอบถามรายละเอียดจากทุกฝ่าย แต่หากเป็นกรณีของประชาชนกลับไม่เคยได้รับการปกป้องคุ้มครอง จนมีคำกล่าวที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในสังคม
สุรพงษ์จึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมว่า 1. ควรมีการลดอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐลงและเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน โดยออกเป็นกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ แม้ที่ผ่านมาจะมีกฎหมายต่างๆ อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ หากจะคาดหวังให้รัฐตรวจสอบอำนาจตนเอง ก็ไม่อาจคาดหวังได้ 2. รัฐต้องปลูกฝังและมองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน และปฏิบัติออกมาอย่างเป็นจริง ไม่ใช่เพียงคำกล่าวอ้าง ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐวางตัวเป็นกลางในการดำเนินการใดๆ 3. มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ เพราะกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจนี้ เป็นกระบวนการเริ่มต้นของความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นได้ ควรมีการปรับเปลี่ยนให้ตำรวจได้รับคัดเลือกมาจากคนในพื้นที่ และมีความเข้าใจในพื้นที่เป็นอย่างดี ประกอบกับให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการทำงานของตำรวจ ดึงพนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการชั้นตำรวจ และสุดท้ายมีการแยกส่วนพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนคดีออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สุมิตรชัย กล่าวเสริมในตอนท้ายว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือตำรวจนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีการเสริมสร้างอาวุธให้กับประชาชนด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือทางกฎหมายได้อย่างเต็มที่ ไม่มีทนายความ ไม่มีกระบวนการช่วยเหลือทางกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีในปัจจุบัน ที่มีคุณภาพพอให้ประชาชนสามารถใช้ได้
(รับชมการเสวนาในช่วงบ่ายได้ที่ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)