อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีกับทนายจูนคดีไม่ให้ค้นรถ เหตุขาดเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

10.00 น. วันนี้ (27 ส.ค.2562) ทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อรับทราบผลคำสั่งของอัยการสูงสุดซึ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อ ในข้อกล่าวหาว่าซ่อนเร้นพยานหลักฐานฯ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเจตนาซ่อนเร้นและเป็นเพียงการนำไปเก็บตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ศาลทหารเท่านั้น อีกทั้งตำรวจยังขอตรวจค้นในยามวิกาลโดยไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมายอีกด้วย

ทั้งนี้ในส่วนข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรนั้น พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งยุติการดำเนินคดี เพราะขาดอายุความ จึงทำให้การดำเนินคดีอาญาต่อทนายศิริกาญจน์ทั้งสองข้อกล่าวหาในคดีนี้ยุติลง

ในวันนี้มีตัวแทนจากสถานทูตแคนาดา สวีเดน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น Amnesty International (Regional Office) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ทนายศิริกาญจน์พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความฯ และตัวแทนจากสถานทูตต่างๆ

เหตุที่ทำให้ทนายจูนถูกแจ้งความ

คดีดังกล่าว มีเหตุสืบเนื่องมาจากการทำหน้าที่ทนายความและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มดาวดิน ของทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งช่วงระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน พ.ศ.2558 กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมดังกล่าวรวมตัวกันทำกิจกรรมและแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารและการบริหารงานประเทศที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ณ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ต่อเนื่องมาจนถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ต่อมา พ.ท.พงศฤทธ์ ภวังค์คะนันท์ ผู้บัญชาการกองพันทหารราบ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ว่านักศึกษาและนักกิจกรรม อย่างน้อย 14 คน กระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ตั้งแต่ห้าคนเป็นต้นไป ตามข้อที่ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากเหตุการจัดกิจกรรมข้างต้น

ช่วงเย็นต่อเนื่องถึงกลางคืนของวันที่ 26 มิ.ย.2558 เจ้าพนักงานตำรวจอ้างหมายจับซึ่งออกโดยศาลทหารกรุงเทพ เข้าจับกุมกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรม ทั้ง 14 คน พร้อมทั้งนำตัวมาสอบสวน ณ สน.พระราชวัง เนื่องจากพื้นที่ใน สน.สำราญราษฎร์คับแคบ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนอ้างว่าไม่สามารถทำการสอบสวนได้ เนื่องจากเกรงว่าประชาชนที่มาให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษาจะเข้าปิดล้อมสถานที่ จึงนำตัวทั้งหมดไปยังศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศาลหลักเมือง เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ในเวลาประมาณ 22.30 ของวันเดียวกัน

เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว พ.ต.สมบุญ ศรีสังข์ ผู้ช่วยจ่าศาล (ยศขณะนั้น) สั่งให้ห้ามมิให้กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมใช้โทรศัพท์มือถือ โดยให้นำอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวฝากไว้กับญาติ ซึ่งขณะนั้นมีเพียงทนายความและกลุ่มผู้มาให้กำลังใจเท่านั้นที่อยู่ในบริเวณศาลทหาร ทนายศิริกาญจน์ ในฐานะทนายความของทั้งหมด และทนายความท่านอื่น จึงรับสิ่งของเพื่อนำมาเก็บรักษาไว้

จากรายละเอียดที่ปรากฏในคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีและยุติการดำเนินคดี ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ระบุว่า พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช (ยศในขณะนั้น) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนแจ้งให้นักศึกษาและนักกิจกรรม ส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้พนักงานสอบสวน เพื่อเป็นวัตถุพยานประกอบคดี แต่ไม่สามารถยึดโทรศัพท์ได้ นำมาสู่เหตุแห่งข้อพิพาทในคดีนี้

ในวันเกิดเหตุ เมื่อพล.ต.ต.ชยพลฯ แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานและขอตรวจค้นรถของทนายศิริกาญจน์ โดยอ้างว่ามีรายงานของทหารระบุว่า มีผู้เก็บโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาและนักกิจกรรมไว้ในรถคันดังกล่าว แต่ทนายศิริกาญจน์ปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพล.ต.ต.ชยพลฯ ด้วยเห็นว่าฝ่ายตำรวจต้องนำหมายค้นซึ่งออกโดยศาลมาแสดงต่อตนก่อนจะทำการตรวจค้น

ต่อมา พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.สำราญราษฎร์ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ว่ากระทำความผิดฐานทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และความผิดฐานซ่อนเร้น เอาไปเสียซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใดๆ อันเจ้าพนักงานสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน หรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 และมาตรา 368

ภายหลังที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนของสน.ชนะสงคราม ทำการสอบสวนและทำความเห็นต่อพนักงานอัยการ ว่าควรสั่งฟ้องทนายศิริกาญจน์ ทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและขอให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

รายละเอียดของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีและยุติการดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ.2562 สำนักงานอัยการพิเศษดังกล่าว มีหนังสือที่ อส 0013.3/1076 แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีต่อทนายศิริกาญจน์ มายังผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

1. ยุติการดำเนินคดีต่อทนายศิริกาญจน์ ในความผิดฐานทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากหมดอายุความ กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ประกอบพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 6 โดยพนักงานอัยการเห็นว่า คดีมี พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 มีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีอาญาในท้องที่สน.สำราญราษฎร์ ให้การยืนยันว่า ได้รับการรายงานจากเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร ระบุว่าเห็นกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรม ฝากโทรศัพท์มือถือและสัมภาระอื่นไว้กับทนายศิริกาญจน์ และเห็นบุคคลไม่ทราบชื่อนำสัมภาระดังกล่าวไปใส่ไว้ในรถของทนายศิริกาญจน์ และในสัมภาระนั้น อาจมีสิ่งของซึ่งเป็นพยานหลักฐานประกอบคดีได้

ดังนั้น พนักงานอัยการจึงเห็นว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า สิ่งของที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ได้มาโดยการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐาน ได้ซุกซ่อนอยู่ในรถของทนายศิริกาญจน์ หากเนิ่นช้าสิ่งของอาจถูกยักย้ายถ่ายเท พล.ต.ต.ชยพลฯ จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ต้องหาเปิดรถ เพื่อขอตรวจค้นในเวลากลางคืนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 130 131 และ 132 เมื่อทนายศิริกาญจน์ไม่ยินยอม จึงเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาข้างต้น แต่เนื่องจากข้อกล่าวหานี้มีอายุความในการร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) เมื่อพ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษล่วงพ้นจากระยะเวลาดังกล่าว คดีจึงขาดอายุความ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป เข้าเงื่อนไขระงับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 39 (6) ประกอบระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2557 ข้อ 54 (6)

2. อัยการชี้ขาดไม่ฟ้องคดีต่อทนายศิริกาญจน์ ในความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานเนื่องจากไม่มีเจตนา กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 โดยอัยการสูงสุดเห็นว่า ขณะที่กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมอยู่ที่สน.สำราญราษฎร์และสน.พระราชวัง พวกเขายังไม่ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งต่อมานับรวมได้ 5 เครื่อง) เป็นของกลาง และไม่ปรากฏว่าทนายศิริกาญจน์เข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่พาตัวทั้งหมดไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขัง พ.ต.สมบุญ ศรีดี ผู้ช่วยจ่าศาลทหาร เตือนให้กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมห้ามใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพภายในบริเวณศาล และแนะนำให้เก็บโทรศัพท์มือถือฝากไว้กับญาติ

ต่อมา มีเจ้าหน้าที่นำซองกระดาษสีน้ำตาล 2 ซอง มาให้พวกเขาทั้งหมดเก็บโทรศัพท์มือถือ โดยพ.ต.สมบุญไม่ทราบว่าผู้ใดนำซองดังกล่าวไปเก็บ ระหว่างนั้น พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช มาปรึกษาว่าสามารถยึดโทรศัพท์มือถือในบริเวณศาลทหารกรุงเทพได้หรือไม่ ซึ่งพ.ต.สมบุญฯ แจ้งว่า หากไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางที่จะกระทำผิดภายในเขตบริเวณศาล ก็ไม่สามารถตรวจค้นได้ นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือเป็นของส่วนตัวที่ตนสั่งให้เก็บและนำไปฝากญาติแล้ว

อัยการสูงสุดจึงเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ทนายศิริกาญจน์เก็บโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครื่องของกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมจากภายในศาลทหารกรุงเทพ แล้วนำไปเก็บไว้ที่รถของตน ทนายศิริกาญจน์ไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้ยึดรักษาโทรศัพท์ไว้ หรือสั่งให้ส่งเป็นพยานหลักฐานไว้แล้ว เนื่องจากไม่มีการแจ้งจากทางเจ้าพนักงานว่าจะยึดโทรศัพท์มือถือดังกล่าวไว้เป็นของกลาง และทนายศิริกาญจน์ปฏิบัติตามคำแนะนำของพลตรีสมบุญ ศรีดี โดยนำไปเก็บไว้ในรถตามปกติ มิได้มีเจตนาซ่อนเร้นแต่อย่างใด

แม้ต่อมาภายหลัง พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช จะมาสั่งให้ทนายศิริกาญจน์เปิดรถเพื่อขอตรวจค้น แต่ทนายศิริกาญจน์ปฏิเสธไม่ยอมให้ตรวจค้น โดยอ้างว่าต้องมีหมายค้นก่อน และโต้แย้งว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสามารถยึดโทรศัพท์มือถือจากลูกความของตนได้ตั้งแต่แรกแล้ว แต่ไม่กระทำ กลับมาขอตรวจค้นรถของทนายศิริกาญจน์ซึ่งเป็นทนายความในยามวิกาลโดยไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย จึงเป็นการแสดงเจตนาโต้แย้งและขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานในการตรวจค้นรถของตนเท่านั้น โดยทนายศิริกาญจน์ไม่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครื่อง ที่ตนรับฝากไว้แต่อย่างใด อีกทั้ง เมื่อศาลออกหมายค้นแล้ว ทนายศิริกาญจน์ก็ปฏิบัติตาม โดยยินยอมเปิดรถให้ตรวจค้น การกระทำของทนายศิริกาญจน์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142

ทนายจูนยังเหลืออีก 2 คดี

จากการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นักศึกษาเเละนักกิจกรรมครั้งนั้น ทำให้ทนายศิริกาญจน์ไม่เพียงแต่ถูกดำเนินคดีในความผิดข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีคดีที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนอีก 2 คดี ซึ่งทนายศิริกาญจน์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และคดีที่สองในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและความผิดฐานชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อที่ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558

ทั้งนี้คดีแรกยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เรื่องขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนคดีที่สองนั้น ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีต่อทนายศิริกาญจน์ทั้ง 3 คดีนี้ มีที่มาจากมูลเหตุเดียวกัน คือ การทำหน้าที่ทนายความในการปกป้องสิทธิลูกความ โดยคดีที่ยุติไปเป็นคดีเเรกที่ขึ้นสู่ชั้นอัยการ ภายหลังจากที่ทนายศิริกาญจน์ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเเละให้การเกี่ยวกับเเนวปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีและพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนมีคำสั่งยุติคดีตามรายละเอียดข้างต้น

สามารถอ่านและดาวน์โหลดคำสั่งฉบับเต็มได้ที่ คำสั่งอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องทนายจูน

 

X