ยกฟ้องเอกชัย-โชคชัย แจ้งความเท็จ เหตุแจ้งความผบ.ทบ. เป็นกบฏ

10 มิ.ย. 62 ศาลแขวงพระนครเหนือ อ่านคำพิพากษาคดีที่ อ. 8327/2561 ซึ่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 (พระนครเหนือ) เป็นโจทก์ฟ้องเอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ เป็นจำเลยร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 จากเหตุที่ทั้งสองคนเข้าแจ้งความที่สน.ลาดพร้าวให้เอาผิดกับพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

.

ข้อความที่ให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. ตรงกับที่แจ้งความ และการแจ้งความข้อหากบฏไม่ใช่การกลั่นแกล้ง   

เวลา 9.30 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษา มีสาระสำคัญใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก ศาลเห็นว่าในบันทึกแจ้งความของเอกชัย มีข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์ที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ตรงกับคำเบิกความของพ.ต.ท.สุรพงษ์ สาขากร ในฐานะสารวัตรสืบสวน สน.ลาดพร้าว โดย พ.ต.ท.สุรพงษ์เป็นผู้ถอดความคลิปเสียงของเอกชัยในเฟซบุ๊ก และยอมรับว่าคลิปเสียงของพล.อ.อภิรัชต์และข้อความที่นายเอกชัยนำมาแจ้งความนั้นตรงกัน

ศาลเห็นว่าในกรณีนี้จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ที่ระบุว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย รวมถึงมาตรา 172 ที่ระบุว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

ประเด็นถัดมา ต่อกรณีทนายความได้นำสืบจำเลย จนรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ต่อต้านการรัฐประหาร และเรียกร้องให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นจึงมีความสนใจติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารมาโดยตลอด เมื่อเปรียบเทียบกับคำสัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์เองก็พบว่า เป็นการให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารจริง และจากข้อมูลในทางประวัติศาสตร์ก็เห็นได้ว่า การรัฐประหารเกือบทั้งหมดมักก่อการโดยผู้บัญชาการทหารบก ฉะนั้นแล้วจึงเชื่อได้ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบพยาน ไม่สามารถนำสืบให้สิ้นข้อสงสัยได้ว่าจำเลยทั้งสอง กระทำความผิดตามมาตรา 173

ในกระบวนการสืบพยานระหว่างวันที่ 1-2 พ.ค. 62 ทนายความจำเลยได้ยกประเด็นการแจ้งความข้อหากบฏต่อผู้นำรัฐประหาร เช่น คดีการฟ้องร้องเอาผิดผู้นำรัฐประหารของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร คดีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน นำโดยอุทัย พิมพ์ใจชน ที่ไปฟ้องร้องเอาผิดผู้นำรัฐประหารเอง โดยศาลเห็นว่าผู้แจ้งความไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะว่าเรื่องนี้เป็นความผิดต่อรัฐเท่านั้น ซึ่งฝ่ายโจทก์เห็นว่าการนำคดีมาแจ้งความเป็นการกลั่นแกล้ง ดังนั้นศาลเห็นว่าในส่วนคดีของความผิดตามมาตรา 173 ซึ่งระบุว่าเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย คนที่จะฟ้องต่อศาลได้เองคือพนักงานอัยการ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถฟ้องศาลเอง ทางเดียวที่ประชาชนจะแจ้งความได้คือให้อัยการเป็นผู้ฟ้อง

ดังคำเบิกความของเอกชัยที่ว่า จำเลยไปแจ้งความเอาผิดพล.อ.อภิรัชต์ เพราะเห็นว่า “ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยมีผบ.ทบ. คนใดตอบคำถามเกี่ยวกับการรัฐประหารเช่นนี้ เท่าที่จำได้ก็จะตอบปฏิเสธทั้งสิ้น แม้แต่คนที่ทำรัฐประหารอย่างพล.อ.สนธิหรือพล.อ.ประยุทธ์ก็ล้วนตอบปฏิเสธ ตนจึงรู้สึกคำพูดของผบ. ทบ. น่าจะเข้าข่ายขู่เข็ญจึงไปอ่านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ประกอบด้วย อีกทั้งผบ.ทบ.เป็นผู้มีอำนาจ คุมกองกำลังทหารด้วยตำแหน่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะกระทำตามที่พูด และตนก็ทราบอยู่แล้วว่าประชาชนจะฟ้องคดีนี้เองไม่ได้เพราะเป็นความผิดต่อรัฐ ศาลมักยกฟ้องเสมอ จึงต้องการให้อัยการเป็นผู้ฟ้องคดีให้”

สุดท้ายศาลเห็นว่าการที่จำเลยไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะจำเลยทราบข้อเท็จจริงมาเช่นนี้จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง กอรปทั้งพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง

.

จากแจ้งความ ผบ.ทบ. เป็นกบฏ สู่การถูกคสช. แจ้งความเอาผิดฐานแจ้งความเท็จ

ความเป็นมาของคดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 เวลาประมาณ 14.00 น. เอกชัย หงส์กังวานนั่งดูข่าวจากโทรศัพท์มือถือของตัวเอง และเห็นการสัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า

“คือผมมั่นใจว่าการเมืองไม่ใช่ต้นเหตุการณ์จลาจล ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร การปฏิวัติรัฐประหารมี 10 กว่าครั้งก็จริง แต่มันไม่ใช่สมัยก่อนแล้ว สมัยหลัง ๆ นี้ มันก็เป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น ผมไม่ได้ว่านักการเมืองดีหรือไม่ดี ดีก็มี ไม่ดีก็มี”

เอกชัยเห็นว่าประโยค “ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร” เป็นคำพูดขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ผิดกฎหมายอาญามาตรา 113  ตนและโชคชัยจึงเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าวเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 61

ในเวลาต่อมาพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความต่อตำรวจที่ สน.ลาดพร้าว เพื่อดำเนินคดีกับเอกชัยและโชคชัย ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามความผิดประมวลอาญามาตรา 137, มาตรา 172 และมาตรา 173

ในคำบรรยายฟ้องของโจทก์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 61 ระบุว่าถ้อยคำแจ้งความของจำเลยเป็นเท็จทั้งสิ้น โดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่าคำพูดของพล.อ.อภิรัชต์ เป็นการตอบคำถามนักข่าวในลักษณะแสดงความคิดเห็นในเหตุการณ์ในอนาคต อันเป็นการพูดในฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง อีกทั้งจำเลยทั้งสองรู้ดีว่าไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์เป็นการข่มขู่หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ดังนั้นการร่วมแจ้งความอันเป็นเท็จดังกล่าวของจำเลยอาจทำให้พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ร้อยตำรวจเอกธนากร ยอดแก้ว (พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว) กองทัพบก และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประชาชนเสียหายได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 1-2 พ.ค. 62 ศาลแขวงพระนครเหนือ ได้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้น รวม 6 ปาก โดยมีประเด็นที่มีการนำสืบพยานที่สำคัญ ได้แก่ กรณีนี้เนื้อหาคลิปเสียงของพล.อ.อภิรัชต์ และข้อความที่เอกชัยนำมาแจ้งความมีเนื้อหาตรงกันหรือไม่ บริบทของข้อความที่อาจจะเข้าขู่เข็ญหรือใช้กำลังเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมไปถึงประเด็น หน้าที่ของประชาชนในการปกป้องระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น (อ่านเนื้อหาการสืบพยานได้ที่: สืบพยานคดีเอกชัย-โชคชัยแจ้งความเท็จเอาผิดฐานกบฎกับ ผบ.ทบ. เสร็จสิ้น นัดฟังคำพิพากษา 10 มิ.ย. 62)

.

อ่านข่าวอื่นเกี่ยวกับคดีนี้ที่: 

โชคชัย-เอกชัย ให้การปฏิเสธคดีแจ้งความเท็จ ผบ.ทบ ฐานกบฏ ศาลนัดสืบพยานนัดแรก 1 พ.ค. 62

สั่งฟ้องเอกชัย-โชคชัย คดีแจ้งความเท็จ จากเหตุแจ้งความเอาผิดฐานกบฏกับ ผบ.ทบ.

.

X