20 เหตุผลที่คดีพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร

ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนในความผิด 4 ฐาน ได้แก่ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. ก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 55/2559 ให้ยุติการใช้ศาลพิจารณาคดีพลเรือน แต่การกระทำผิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557 – 11 ก.ย. 2559 จะยังคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร เช่น คดียุยงปลุกปั่นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกกล่าวหาจากการเดินทางไปให้กำลังใจนักศึกษาที่ถูก คสช. แจ้งความดำเนินคดี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558

แม้ คสช. จะส่งตัวแทนไปชี้แจงต่อนานาชาติว่า การใช้ศาลทหารกับพลเรือนมีอยู่จำกัดและอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นอย่างแท้จริงต่อสถานการณ์ในประเทศ จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ (อ่านเรื่องนี้ได้ที่: เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก)

ทว่าในความจริงแล้วคดีการเมืองที่อยู่ในศาลทหารจำนวนมาก ไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรง คดีพลเรือนหลายคดีที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลทหาร ในสังคมปกติ แทบไม่ถือว่าเป็นความผิด และล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เช่น คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าจากบ้านไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร, คดีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร หรือคดีถ่ายรูปกับขันแดง เป็นต้น

และเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมพลเรือนจึงไม่ควรขึ้นศาลทหาร

1. ตุลาการศาลทหารขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดี

ตุลาการศาลทหารสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม รวมถึงผู้บังคับบัญชาทหารสามารถแต่งตั้งตุลาการศาลทหารได้ ทำให้ตุลาการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามระบบทหาร แตกต่างจากศาลยุติธรรม ศูนย์ทนายความฯ ยังพบข้อเท็จจริงว่าตุลาการที่เป็นองค์คณะบางคดีได้มีการโทรศัพท์สอบถามหน่วยงานตามลำดับชั้นบังคับบัญชา ก่อนจะแจ้งผลการใช้ดุลยพินิจต่อจำเลย เผยให้เห็นความไม่เป็นอิสระในการพิจารณาคดี

2. องค์คณะตุลาการในศาลทหาร ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายทั้งหมด

ในศาลทหาร นอกจากตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายแล้ว ตุลาการที่ร่วมเป็นองค์คณะที่เหลือเป็นเพียงนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่าง ๆ ในพื้นที่ของศาลทหารนั้น ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด

3. บุคลากรในศาลทหารไม่พอเพียงต่อการพิจารณาคดีจำนวนมาก

ศาลทหารในต่างจังหวัด มีตุลาการศาลทหารราว 30 คนเศษ ใช้ระบบเวียนไปตามศาลต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเดือน โดยศาลมณฑลทหารบกที่เปิดทำการมีทั้งหมด 29 ศาล แต่ละศาลมีอัยการทหารประจำอยู่เฉลี่ยศาลละ 1 นาย และเจ้าหน้าที่ธุรการศาล 2-3 นาย เจ้าหน้าที่ศาลเองยังต้องทำหน้าที่เป็นหน้าบัลลังก์ในระหว่างการพิจารณาด้วย ทำให้จำนวนบุคลากรในศาลทหารไม่สามารถรองรับคดีพลเรือนจำนวนหลายพันคดีได้ ส่งผลถึงการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้า

4. เจ้าหน้าที่จากต่างประเทศไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์พิจารณาคดีในศาลทหารต่างจังหวัด

เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในศาลทหารต่างจังหวัดได้ เนื่องจากศาลทหารตั้งอยู่ในเขตของค่ายทหาร ซึ่งมีการระบุว่าเป็นพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและเกี่ยวข้องกับความลับราชการ จึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในค่ายทหาร

5. ก่อนหน้าการยกเลิกกฎอัยการศึก คดีในศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้

คดีที่การกระทำผิดเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557จนถึงวันที่ 1 เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้ อันขัดต่อหลักของนิติรัฐ ขัดต่อสิทธิในการได้รับการทบทวนคดีโดยศาลที่สูงขึ้นไป และแม้จะเป็นคดีที่มีความ “ร้ายแรง” ยิ่งโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต การไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกายิ่งส่งผลต่อการได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลยมากยิ่งขึ้น

6. ศาลทหารไม่มีระบบทนายความขอแรง

ในศาลพลเรือนจะมีระบบทนายความที่รัฐจัดหาให้กับจำเลยที่ไม่มีทนายและประสงค์จะมีทนาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และทนายเหล่านี้จะนั่งประจำอยู่ที่ศาล แต่ในศาลทหารไม่ได้มีระบบรองรับการเข้าถึงสิทธิในการมีทนายความของผู้ต้องหา ในคดีผู้ยากไร้ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนหลายคดี ศาลก็ไม่ได้มีการจัดหาทนายความมาให้ หรือบางกรณี เจ้าหน้าที่ศาลก็มีการประสานขอให้ทนายที่รู้จักกันเข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นราย ๆ ไป โดยไม่มีระบบรองรับ

7. ศาลทหารพิจารณาคดีล่าช้า

คดีขอนแก่นโมเดล จำเลย 26 คน ถูกจับกุมตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 ส่วนใหญ่ยังถูกขังอยู่ที่เรือนจำตลอดมา จนถึงปัจจุบันคดีอยู่ในศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น ศาลเพิ่งจะเริ่มสืบพยานโจทก์ปากแรกในเดือน ก.ย.2559

ในทำนองเดียวกัน คดีปาระเบิดศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 จำเลยในคดีจำนวน 14 คน ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 ก่อนอัยการทหารจะฟ้องคดีเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2558 นัดสอบคำการเมื่อ 19 ม.ค. 2559 เมื่อจำเลยยืนยันต่อสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 โจทก์ยื่นบัญชีพยานบุคคลมา 84 ปาก ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานเดือนละประมาณ 2 นัด ปัจจุบันเพิ่งสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียว เนื่องจากพยานอ้างว่าติดราชการ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานออกไป ในขณะที่จำเลยส่วนใหญ่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำมาปีกว่าแล้ว

ความล่าช้านี้ยังรวมถึงรูปแบบการนัดสืบพยาน ศาลทหารใช้ระบบการนัดสืบพยานแบบสองหรือสามเดือนต่อหนึ่งนัด และยังนัดสืบเพียงช่วงครึ่งเช้า ทำให้แต่ละนัด สืบพยานได้เพียงหนึ่งหรือสองปาก หรือพยานบางปากที่มีรายละเอียดมากก็ใช้เวลาหลายนัดในการนำสืบ รวมทั้งมีการเลื่อนนัดบ่อยครั้ง ทำให้กระบวนการสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ต่อเนื่อง แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่การกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน คดีที่มีต่อสู้คดีในศาลทหารจึงใช้ระยะเวลามากกว่าศาลพลเรือนหลายเท่า (อ่านเพิ่มเติมเรื่องความล่าช้าของศาลทหารที่นี่)

8. ความล่าช้าของกระบวนการในศาลทหาร บีบบังคับให้จำเลยบางรายยอมรับสารภาพ

โดยเฉพาะจำเลยในคดีที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทำให้ต้องต่อสู้คดีขณะถูกคุมขัง จนต้องตัดสินใจกลับคำให้การยอมรับสารภาพตามข้อหา ตัวอย่างลักษณะนี้ เช่น ‘คดีสมัคร’ จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่มีอาการจิตเภท ตัดสินใจรับสารภาพในช่วงเดือน ส.ค. 2558 หลังคดีถูกฟ้องในศาลทหารตั้งแต่ 30 ก.ย. 2557 การสืบพยานโจทก์เริ่มในเดือน ม.ค. 2557 ศาลทหารนัดสืบพยานหนึ่งนัดในแต่ละเดือน และเมื่อพยานไม่มาศาลเนื่องจากติดธุระ หรือไม่ได้รับหมาย ทำให้การสืบพยานต้องเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ กระทั่งสมัครตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากไม่สามารถทนต่อภาวะเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล ความล่าช้าในการพิจารณาคดีของศาลทหารจึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

9. ศาลทหารกำหนดอัตราโทษที่สูงกว่าศาลพลเรือนโดยทั่วไป

เช่น ในคดีมาตรา 112 ศาลทหารได้กำหนดอัตราโทษใหม่ ที่กรรรมละ 8-10 ปี ทั้งที่หลายปีก่อนหน้านี้ ศาลพลเรือนพิพากษาโทษเฉลี่ยกรรมละ 5 ปี ทำให้ในคดีที่มีการฟ้องร้องหลายกรรม เกิดการลงโทษที่หนักหน่วงอย่างไม่เคยมีมาก่อน หรือในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง/ประกาศ คสช. ศาลทหารลงโทษปรับ 10,000 บาท เมื่อรับสารภาพลดเหลือ 5,000 บาท แต่ความผิดในลักษณะเดียวกันในศาลพลเรือน เช่น คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ศาลแขวงดุสิตลงโทษปรับ 500 บาท

10. ศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ

แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่ศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะข้อเท็จจริงในคดี ภูมิหลัง ความประพฤติ และความเป็นอยู่ของจำเลย ทำเป็นรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการลงโทษที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดแต่ละราย เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาของศาลได้ แต่ศาลทหารกลับระบุว่าไม่สามารถสั่งให้กรมคุมประพฤติ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการสืบเสาะได้ ทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างเกี่ยวกับตัวจำเลยไม่ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ดุลยพินิจ เช่น คดีที่จำเลยมีอาการทางจิต ข้อเท็จจริงดังกล่าวกลับไม่ถูกศาลนำมาประกอบการกำหนดโทษ

11. ศาลทหารไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในบางคดี

ในบางคดี ตุลาการศาลทหารมีการระบุว่าได้อ่านกระบวนพิจารณาให้คู่ความฟังแล้วในห้องพิจารณา จึงไม่จำเป็นต้องคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดีอีก แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่คู่ความสามารถคัดถ่ายและเข้าถึงรายงานกระบวนพิจารณาในศาลได้ การปฏิเสธไม่คัดถ่ายเอกสารดังกล่าวทำให้ทนายความไม่ทราบความคืบหน้าในคดี ไม่ทราบรายละเอียดคำสั่งของศาลที่ระบุอยู่ในรายงาน และขาดหลักฐานที่จะใช้ดำเนินการโต้แย้งในกรณีที่ศาลอาจดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยไม่ชอบ

ตัวอย่างเช่น ชญาภา จำเลยในคดีโพสต์ข่าวลือในทำนองว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนบนเฟซบุ๊ก ถูกอัยการทหารฟ้องฐานมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมกับเพิ่มข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากข้อความอื่นที่มีการโพสต์บนเฟซบุ๊ก การดำเนินกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารกรุงเทพไม่นำตัวจำเลยมาในวันที่ฟ้องคดีเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม รวมถึงไม่แจ้งวันนัดให้ทั้งจำเลย ญาติจำเลย หรือทนายความทราบล่วงหน้าในกรณีของชญาภา

เนื่องจากชญาภาอยู่ในการควบคุมของทัณฑสถานหญิงกลาง ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่นำตัวจำเลยมายังศาลในวันที่มีการฟ้องคดี และไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องในครั้งแรก โดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องไปให้จำเลยอยู่แล้ว ในวันนัดสอบคำให้การศาลยังได้พิพากษาจำคุกจำเลย โดยที่จำเลยทราบล่วงหน้าว่าต้องมาศาลในคืนก่อนวันนัดไม่กี่ชั่วโมง ขณะทนายความซึ่งไปติดตามนัดหมายคดีที่ศาลทหารมาโดยตลอดจนถึงก่อนวันนัดหนึ่งวัน ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ศาลทหารเพียงว่าคดีของชญาภานั้นยังไม่กำหนดวันนัด ทำให้วันรุ่งขึ้นที่นัดสอบคำให้การ ชญาภาถูกนำตัวมาศาลทหารกรุงเทพและมีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากทนายความในกระบวนการ ทั้งศาลยังยกคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบของทนายความในกรณีดังกล่าว ส่วนตัวชญาภาแจ้งแก่ทนายความว่าเพิ่งได้รับเอกสารหมายนัดหลังกลับไปทัณฑสถานหญิงกลางในวันที่มีการพิพากษา

12. รูปแบบของหลักทรัพย์ประกันในศาลทหารไม่หลากหลาย

ศาลทหารห้ามใช้บุคคลและตำแหน่งบุคคลในการขอประกันตัว และไม่สามารถใช้กรมธรรม์ซื้อประกัน นอกจากนี้หลักเกณฑ์เงินประกันในศาลทหารไม่แน่นอน แตกต่างจากหลักทรัพย์ในศาลพลเรือน ที่กำหนดรูปแบบหลักทรัพย์หลากหลายกว่าในการขอประกันตัว

13. กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า

ศาลทหารยังมีการใช้ระบบจดคำเบิกความด้วยมือ หรือการบอกเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์พิมพ์ตาม ไม่ได้มีการใช้เครื่องมือบันทึกเสียงคำเบิกความเหมือนกับศาลพลเรือน ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากต้องหยุดรอให้ศาลจดกระบวนพิจารณาก่อนเป็นระยะ

14. แม้ศาลทหารอนุญาตประกันตัว แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ต้องเข้าเรือนจำ

ศาลทหารมีการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กำลังยื่นขอประกันตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหญิงหลายราย รวมทั้งผู้ต้องหาชาย จากกระบวนการตรวจค้นร่างกายก่อนเข้าเรือนจำ แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในระหว่างทำเรื่องขอประกันตัว จะมีการควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล และหากได้รับการประกันตัว ก็จะมีการปล่อยตัวที่ศาล ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำแต่อย่างใด

15. ศาลทหารเปิดนอกเวลาราชการ แต่ไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าหมดเวลาราชการ

26 มิ.ย. 2558 นักศึกษาและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมไปที่ สน.พระราชวัง ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ต่อมาประมาณ 21.40 น. ตำรวจ สน.พระราชวัง คุมตัวผู้ต้อหาทั้ง 14 คนไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพที่ยังคงเปิดทำการในเวลานอกราชการ ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังก่อนจะมีคำสั่งขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางในเวลาประมาณ 00.20 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. 2558

1 ปีกว่า หลังจากนั้น 19 ส.ค. 2558 ตำรวจนำตัวผู้ต้องหา 15 คน ในคดีตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) ที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามนำตัวผู้ต้องหาไปถึงศาลทหารกรุงเทพเวลาประมาณ 14.30 น. ก่อนศาลจะมีคำสั่งขังผู้ต้องหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลาง เวลาประมาณ 16.35 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลทหารไม่ดำเนินการตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหา โดยอ้างว่าหมดเวลาราชการ แม้ทนายความจะได้มาติดต่อขอปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่ที่ผู้ต้องหาเดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพก็ตาม

วันเดียวกับที่ศาลไม่อนุญาตให้ยื่นคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว 15 ผู้ต้องหา นปป. จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลจังหวัดภูเขียวในคดีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ และถูกอายัดตัวต่อในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อ 22 พ.ค. 2558 เขาถูกนำตัวมายังศาลมณฑลทหารบก ที่ 23 ในค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลทหาร ในเวลาประมาณ 20.30 น. โดยไม่อนุญาตให้พ่อและแม่ของจตุภัทร์เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาคดี

16. บางคดีพิจารณาคดีไม่เปิดเผย

ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลทหารมักจะสั่งพิจารณาลับ โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีอื่น ๆ ที่ศาลอนุญาตให้ญาติหรือผู้สังเกตการณ์เข้าห้องพิจารณาคดี ศาลก็ไม่อนุญาตให้มีการจดบันทึก รวมถึงมีระเบียบไม่ให้เขียนภาพบรรยากาศขณะพิจารณาคดีอีกด้วย

นอกจากนี้ หากเป็นคดีทางการเมืองที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน อาทิ คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก คดี 14 นักศึกษาและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดี 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ และคดีขบวนการประชาธิปไตยใหม่แจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ศาลทหารจะปิดทางเข้าออกบริเวณศาลหลักเมือง ไม่ให้บุคคลผ่านเข้าออกในบริเวณศาลจนกว่าจะได้รับอนุญาต หรือแม้จะให้บุคคลภายนอกเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีก็มักจะสั่งห้ามจดบันทึก หรือห้ามรายงานข่าว เช่น คดีเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงของฐนกร

17. ศาลทหารมักตั้งเงื่อนไขการประกันตัว

ในคดีที่เกี่ยวกับการเมืองที่ได้รับการประตัว เช่น คดีส่องโกงราชภักดิ์ คดี 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ คดี นปป. และคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของแม่จ่านิว ศาลทหารได้ตั้งเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามผู้ต้องหาหรือจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในศาลยุติธรรมมากนัก แม้แต่ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการประกันตัวในศาลยุติธรรมก็ไม่ปรากฏการตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ คดีที่ตั้งเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองในศาลยุติธรรมพบเพียงคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง อาทิ คดีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และคดีก่อการร้ายที่แกนนำ นปช. ตกเป็นจำเลยเท่านั้น

18. พลเรือนถูกตั้งข้อหาหนักเพื่อให้ขึ้นศาลทหาร

รินดา พรศิริพิทักษ์ ถูกทหารควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร ก่อนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยถูกกล่าวหาากการโพสต์เฟซบุ๊กว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. และภรรยาโอนเงินหมื่นล้านไปที่ประเทศสิงคโปร์ คดีนี้ถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลทหาร ก่อนศาลทหารจะมีความเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เพราะมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทบุคคล ไม่ใช่ความผิดตาม มาตรา 116 จึงส่งเรื่องให้ศาลอาญาทำความเห็น เมื่อทั้งศาลทหารและศาลอาญาเห็นพ้องกันว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดี เท่ากับเป็นการสิ้นสุดการดำเนินคดีในศาลทหาร

คล้ายกับคดีของจุฑาทิพย์ ที่โพสต์ข้อมูลการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เธอถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 และถูกฝากขังโดยอำนาจของศาลทหารกรุเทพก่อนได้รับการประกันตัว คดีนี้อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าการกระทำความผิดไม่เข้าข่ายความผิด แต่กลับถูกตั้งข้อหาที่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ทำให้พลเรือนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ของศาลทหารตามที่ยกมาข้างต้น

19. ให้ความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ขึ้นสู่ศาลทหาร

ตามประกาศ คสช. ที่ 37/2557 ระบุให้คดีฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. ขึ้นสู่ศาลทหาร แต่ไม่รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้ทหารเข้าค้นหรือควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน หากมีเหตุสงสัยว่าจะกระทำความผิดในฐานความผิดที่ขึ้นสู่ศาลทหาร รวมถึงห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ คดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ล้วนถูกนำขึ้นสู่ศาลทหาร เช่น คดีรำลึกหนึ่งปีรัฐประหารหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และคดีส่องโกงราชภักดิ์ เป็นต้น

20. การต่อสู้เพื่อไม่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารแทบไม่เป็นผลสำเร็จ

มีพลเรือนที่ตกเป็นจำเลยในศาลทหาร อย่างน้อย 15 คดี ที่เห็นว่า คดีของตนไม่ควรถูกพิจารณาที่ศาลทหาร และพยายามคัดค้านเพื่อจะได้ไปต่อสู้คดีที่ศาลพลเรือนตามปกติ ผ่านช่องทางตามกฎหมายที่สามารถใช้คัดค้านอำนาจศาลทหารได้ มี 2 ช่องทาง คือ การยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล แต่นอกจากคดีของจาตุรนต์ ฉายแสง เฉพาะข้อหาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ได้โอนไปยังศาลยุติธรรม เพราะการกระทำผิดเกิดก่อนมีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว คดีอื่น ๆ ล้วนยังคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหารต่อไป (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่: บทสรุปการต่อสู้ของพลเรือนที่ไม่ยอมขึ้นศาลทหาร)

จะเห็นได้ว่าทั้งในทางหลักการและทางปฏิบัติ การให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนนั้นมีปัญหามากมาย กระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ทหารเป็นผู้จับกุม อัยการทหารเป็นผู้ฟ้องคดี คดีถูกพิจารณาโดยศาลทหาร รวมไปถึงการตั้งเรือนจำชั่วคราวเพื่อคุมขังพลเรือนขึ้นมาในค่ายทหาร

X