หมายเรียก คือหมายที่ออกโดยพนักงานสอบสวน ไม่ต้องขอศาล เมื่อได้รับหมายเรียกควรปฏิบัติ ดังนี้
- อ่านหมายให้ละเอียด ว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่เท่าไร เป็นหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือเป็นหมายเรียกพยาน หากท่านมีข้อสงสัยให้โทรศัพท์สอบถามตามเบอร์โทรศัพท์ของพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในหมาย
- ในหมายเรียกจะระบุวันที่ที่เรียกให้ท่านไปพบ หากท่านไม่สามารถไปตามหมายได้ ให้โทรศัพท์แจ้งพนักงานสอบสวนและส่งหนังสือแจ้งขอเลื่อนนัดก่อนวันที่ที่ระบุในหมาย
- ท่านควรปรึกษาทนายความ และไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความหรือบุคคลที่ไว้ใจ
- หากท่านได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 แล้วไม่ไปตามหมาย พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่ไปตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ท่านอาจถูกออกหมายจับได้
- หากมีการนำตัวท่านไปแถลงข่าว ท่านมีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้
- กรณีมีหมายเรียก พนักงานตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวท่าน
เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
เข้าร่วมชุมนุมแล้วถูกจับ
หากเข้าร่วมชุมนุมแล้วถูกจับ ให้ปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้
- แจ้งครอบครัว ญาติ เพื่อ หรือผู้ไว้วางใจให้ทราบสถานการณ์ โดยระบุชื่อ – สกุล สถานที่ถูกจับ และสถานที่ที่ตำรวจจะนำไปควบคุมตัวอย่างชัดเจน
- ติดต่อทนายความ หรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย พร้อมแจ้งชื่อสกุล และเบอร์โทรติดต่อของตัวเองและญาติที่ไว้ใจได้ พร้อมสถานที่ที่ถูกนำไปควบคุมตัว
- หากถูกควบคุมตัวกะทันหัน และไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารในเวลานั้นได้ อาจตะโกนชื่อนามสกุลจริง พร้อมเบอร์โทรครอบครัว หรือเพื่อนดัง ๆ ให้บุคคลอื่น ๆ ทราบเรื่องการถูกจับกุม
** หมายเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิยึดเครื่องมือสื่อสาร เว้นแต่มีหมายศาลมาแสดงต่อหน้าเท่านั้น
แสดงออกทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียแล้วถูกจับ
การโพสต์และแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่อาจถูกจับกุมเนื่องจากถูกออกหมายจับโดยศาล ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ดังนั้นหากถูกจับกุมหรือควบคุมตัวควรปฏิบัติ ดังนี้
- สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่ หากไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัว หรือเชิญตัวไป หากมีหมายจับ สามารถขอบันทึกภาพไว้ตรวจสอบรายละเอียด
- ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่อ และตำแหน่ง พร้อมสังกัด
- สอบถามว่าการควบคุมตัวนี้ด้วยข้อหาอะไร
- สอบถามว่าจะถูกนำตัวไปที่ไหน
- แจ้งให้ญาติ คนที่ใกล้ชิด และทนายความให้ทราบโดยด่วน
- หากมีการนำตัวท่านไปแถลงข่าว ท่านมีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้
กรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้
- สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่ ระบุสถานที่ที่ให้ตรวจค้นตรงกับที่อยู่ของผู้ถูกตรวจค้นหรือไม่ และตรวจสอบว่าหมายค้นนั้นระบุให้ค้นเพื่ออะไร ให้เจ้าหน้าที่ที่มีชื่อในหมายดำเนินการตรวจค้นเพียงที่ระบุในหมายเท่านั้น
- ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยานได้
- ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน ยกเว้นหมายค้นระบุเวลาให้ทำการค้นในเวลากลางคืน
- ขอสำเนาบันทึกการตรวจค้นและบันทึกการยึดสิ่งของจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
หากเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นอุปกรณ์สื่อสาร หรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้เท่านั้น
หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจ และเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม โดยทั่วไปเจ้าพนักงานมักสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการต่อไปนี้
- คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
- สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟลชไดรฟ์, แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
- ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
- ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้า password หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว
- ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น
เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา
- ยืนยันว่าเรามีสิทธิในการแจ้งทนายความและบุคคลที่ไว้วางใจให้ทราบตั้งแต่ถูกจับกุม และสามารถให้ทนายความและบุคคลที่ไว้วางใจ เข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนและจัดทำบันทึกต่างๆ
- ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ รวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
- อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน
- ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง
- หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์และอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเอง หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้
- โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้
- หากเป็นการจับกุมตัว ตำรวจควบคุมตัวท่านที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ท่านมาถึงสถานีตำรวจที่ออกหมายจับ หลังจากนั้นจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาล ท่านมีสิทธิขอประกันตัวในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาลได้
- หากเจ้าหน้าที่ขู่หรือหว่านล้อมให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่างๆ และบอกว่าไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่หรือหว่านล้อมต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรต่อพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ
- ไม่ควรให้การใดๆ กับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น
- หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
- ข้อพึงระวัง
- เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้
- มีสิทธิจะให้ทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนได้
- การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาลต่อไป