สำรวจสถานะพ.ร.บ. คอมฯ จากกรณีแชร์ข่าว “ปลด 2 กกต.” และกรณีคล้ายคลึงกัน

แม้ว่าประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 แต่สถานการณ์ความมั่นคงในชีวิตประชาชนยังมิได้รับการยกระดับให้ดีขึ้นกว่าสถานการณ์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 62 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาจำนวน 9 คน ที่ทำการส่งต่อข่าวเท็จจากเว็บไซต์ชื่อ “syoutaogou.com”

เนื้อหาข่าวดังกล่าวระบุว่า “มีการจับกุมและปลด 2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง และพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (5) ที่ระบุว่าการนำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายเรียกในวันดังกล่าว 1 ราย คือ “คุณวิ” (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี เป็นคนจังหวัดนครนายก ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 62 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 2 นาย มาหาที่บ้าน และได้พบกับญาติของเธอ ก่อนจะแสดงหมายเรียกผู้ต้องหาต่อหน้าญาติ พร้อมแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ต้องการให้เธอเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทันที แต่ขณะนั้นเธอออกไปทำธุระอยู่ภายนอกบ้าน จึงไม่ได้เดินทางไปตามที่เจ้าหน้าที่ระบุ ต่อมาทราบว่าเธอเป็น 1 ใน 4 คนที่ยังไม่ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหา

จากการสอบถาม “คุณวิ” เธอเล่าว่าโดยปรกติไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การเมือง หากแต่วันที่แชร์โพสต์ข่าวดังกล่าว เพียงแต่กดแชร์ข่าว เพื่อไว้ใช้อ่านหลังเลิกงานเท่านั้น เนื่องจากอยากทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และไม่ได้เขียนข้อความหรือเนื้อหาใดประกอบการแชร์ อีกทั้งไม่เห็นว่าที่โพสต์ออกไปนั่นทำให้ประเทศเสื่อมเสียหรือเป็นความผิดร้ายแรงต่อความมั่นคงแต่อย่างใด

“ตำรวจมาหาที่บ้านวันที่ 27 มีนาคม ไม่ได้มีลักษณะข่มขู่คุกคาม แต่ว่าพยายามโน้มน้าวให้เราไปแถลงข่าว อยากให้เราไปให้ได้จริง ๆ แต่เราติดไปงานศพ แล้วบอกให้ไปแถลงข่าวเลย แต่เราไปไม่ได้ อีกอย่าง หลังจากทราบว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม ตอนนั้นเราก็ได้ลบข่าวทิ้งไปแล้ว” คุณวิกล่าว

“ปกติหนูเป็นคนไม่แชร์ข่าวการเมือง แต่วันนั้น มันสับสนไปหมด กกต. ก็ไม่ชัด พอหนูเห็นข่าวนี้ ก็อยากรู้ว่ามันจริงไหม ก็เลยกดแชร์ค้างไว้ เพื่อจะกลับมาอ่านทีหลังหลังจากทำงานเสร็จ เพราะอยากทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะเผยแพร่ข่าวปลอม หนูไม่คิดว่าจะมีความผิดร้ายแรงขนาดนั้น”

ตัวอย่างข่าวซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง

แก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในยุคคสช. แต่คดียังพุ่ง

จากกรณีการถูกดำเนินคดีของ “คุณวิ” ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจับกุมประชาชนจากการแชร์ข่าวจากอินเทอร์เน็ตจนถูกดำเนินคดี เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการอาศัยฐานความผิด “นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” มาดำเนินคดีประชาชน

จากรายงานของศูนย์ทนายความฯ พบว่าตลอด 4 ปี หลังการรัฐประหารของคสช. มีการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งได้มีการแก้ไขกฎหมายในปี 2560  ดำเนินคดีกับประชาชนจากการแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 จำนวนอย่างน้อย 56 คดี รวมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างน้อย 71 คน

ตั้งแต่ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีแนวโน้มของการใช้ข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีต่อผู้แชร์ข่าวที่อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช. โดยผู้แชร์ข่าวดังกล่าวเองก็ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นของตนเองแต่อย่างใด คดีในลักษณะนี้ ได้แก่

คดีแชร์ภาพจากเพจ KonthaiUk

กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดแถลงข่าวที่ปอท. เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 61 หลังจากจับกุมประชาชนจำนวน 27 คนที่แชร์ภาพจากเพจ KonthaiUK อันมีข้อความประกอบว่า “เรือเหาะก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านมาแดกอีก.. จะยอมมันอีกมั้ย!” พร้อมการนำภาพเรือเหาะ ดาวเทียม และภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มาตัดต่อรวมกัน นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาเป็นสื่อกระจายแก่บุคคลต่าง ๆ

การจับกุมในหลายกรณีพบว่าเป็นการติดตามไปถึงบ้านเพื่อแสดงหมายจับและพาตัวไปสอบคำให้การในทันที ที่ ปอท. บางกรณีเล่าว่าเขาไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความ และบางกรณียืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นต่างโดยสุจริต (อ่านรายงานชิ้นนี้ได้ที่: กวาดจับคนแชร์โพสต์ ‘KonthaiUK’ วิจารณ์คสช.: เมื่อ ‘ผู้เห็นต่าง’ ถูกประทับว่าบั่นทอนความมั่นคง)

คดีแชร์ข่าวจากเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณ”

เช่นเดียวกับกรณีแชร์ข้อความจากเพจ KonthaiUk ในช่วงเดือน มิ.ย. 61 พบกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีกหลายราย โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามจับกุม 4 คน ภายหลังการแถลงของตำรวจมีกรณีที่ติดต่อมาขอความช่วยเหลือกับทางศูนย์ทนายความฯ 1 คน แต่หลังจากนั้นยังไม่พบว่ามีคนที่ถูกออกหมายเรียกหรือถูกจับกุมเพิ่มเติมอีกหรือไม่

หนึ่งในผู้ต้องหากรณีนี้ เปิดเผยว่าได้รับหมายเรียกตำรวจท่องเที่ยวที่มาพบเธอที่บ้าน ตำรวจแจ้งว่าเธอถูกเรียกในฐานะพยานเท่านั้นไม่ใช่ผู้ต้องหา ถ้าไป ปอท. จะกันตัวเป็นพยาน พร้อมกับนำภาพข้อความในเพจของกูต้องได้ 100 ล้านฯ ให้เธอดู โพสต์ดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 61 และระบุว่าเพจดังกล่าวนี้มีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแอดมินเพจ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ปอท.แจ้งข้อหาคนแชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” เพิ่มอีก 1 ราย ก่อนปล่อยตัวกลับหลังแจ้งข้อหา)

ต่อมาในวันที่ 5 พ.ย. 62 อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องจำเลย 9 คน ในข้อหาความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

แชร์ข่าวกองทัพปรับเกณฑ์ทหารเพิ่มเป็น 4 ปี และข่าวประวิตรกินกาแฟแก้วละหมื่น

กรณีนี้เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 62 มีรายงานข่าวกรณีนายสมชาย (สงวนนามสกุล) น.ส.จุไรรัตน์ (สงวนนามสกุล) และบุคคลอีก 9 คน ถูกควบคุมตัวมาแถลงข่าวการจับกุมที่ บก.ปอท. ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) และ (5) จากการเผยแพร่ข่าวว่าพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะขยายระยะเวลาการเกณฑ์ทหารเพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี โดยข่าวดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ jookthai.com ซึ่งในข่าวระบุว่าบุคคลที่ชื่อสมชายเป็นเจ้าของเว็บไซต์ แต่ไม่ได้เป็นคนลงข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด

ต่อมาวันที่ 4 มี.ค. 62 หลังจากพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีมีการแชร์ข่าว “พล.อ.ประวิตรดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท” ต่อพนักงานสอบสวน และพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ได้จัดแถลงข่าวว่ามีผู้เผยแพร่และส่งต่อข่าวปลอมดังกล่าว 6 ราย และมีการแจ้งข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน (อ่านเพิ่มได้ที่: ประชาชนคนธรรมดายังเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” แม้อยู่ในโหมดเลือกตั้ง)

บทเรียนจากคดี “รินดา” โพสต์พล.อ.ประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม มีคดีที่ผ่านมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือกรณีของรินดา พรศิริพิทักษ์ ผู้ถูกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องข่าวลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ได้โอนเงินหลักหมื่นล้านไปยังธนาคารในประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2558

คดีนี้ ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนหรืออาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ยังไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร กรณีนี้เธอถูกทหารควบคุมตัวและนำมาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550

หากต่อมา ศาลทหารเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการโพสต์เฟซบุ๊กที่มีข้อความหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา คดีไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จึงสั่งจำหน่ายคดีออกจากศาล แต่ ปอท. และอัยการได้ทำความเห็นสั่งฟ้องใหม่ในข้อหาตาม มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ข้อหาเดียว ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุด (อ่านเรื่องนี้ได้ที่: ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีโพสต์ข่าวลือ พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้าน)

การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของการเมืองหลังยุค คสช. ที่เต็มไปด้วยการจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งการเปลี่ยนประชาชนที่เพียง “เห็นต่าง” จากรัฐ จึงมิควรถูกปฏิบัติในฐานะ “เป้าหมาย” ในการควบคุมจัดการแต่ประการใด เพราะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนในปัจจุบัน ประชาชนผู้แชร์ซึ่งมิได้เป็นผู้สร้างข่าวเท็จขึ้นมาจึงมีสถานะเป็น “เหยื่อ” เช่นเดียวกัน ท่ามกลางสงครามข่าวปลอมที่มีอยู่เกลื่อนในโลกโซเชี่ยลมีเดีย

ประเด็นที่สำคัญมากกว่านั้น ในยุคสมัยของอำนาจรวมศูนย์การตรวจสอบข่าวสารเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้นความคลุมเครือ หรือการตั้งคำถามต่อประเด็นสาธารณะในสังคมจึงเป็นทางออกของประชาชนธรรมดา ดังนั้นควรจะเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกที่มีหลักประกันว่าการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตให้สามารถทำได้ หากว่าสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ 

สถานะพ.ร.บ.คอมฯ ในหลักการสิทธิมนุษยชน

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับที่ถูกแก้ไขภายใต้ยุครัฐบาลคสช. โดยส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง กล่าวคือพระราชบัญญัติในหมวดหมู่นี้ เป็นกฎหมายที่ประกอบไปด้วยถ้อยคำที่คลุมเครือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตีความฝ่ายเดียว กลายเป็นเงื่อนไขจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือได้ถูกใช้ในการจำกัดสิทธิการแสดงความคิดเห็น การรณรงค์และการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งได้รับการรับรองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เพื่อดำเนินคดีกับประชาชนที่ทำการแชร์ข้อมูล แสดงความคิดเห็น หรือการตั้งคำถามต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยถ้อยคำที่กำหนดไว้ภายในกฎหมายอย่างกว้างขวางและคลุมเครือ เช่นคำว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน” ซึ่งคำว่า “บิดเบือน” นี้ไม่มีกรอบความหมายอย่างชัดเจนและกรอบความกว้างขวางเพียงใด  แต่กลับให้อำนาจในการตีความขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติการ ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างในการตีความที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

X