วันที่ 21 ธ.ค. 61 ที่สน.สำราญราษฎร์ นางพะเยาว์ อัคฮาด หรือ “แม่น้องเกด” มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน หลังถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 61 เครือข่ายวิญญูชนผู้ยังได้รับผลกระทบจากเผด็จการได้นัดรวมตัวประกาศเจตนารมณ์ “แก้แค้น ไม่แก้ไข” สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบอบเผด็จการ คสช. โดยผู้ทำกิจกรรม 4 ราย ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด, นายกฤษณะ ไก่แก้ว, นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ได้ร่วมกันแต่งกายเป็นยมบาล และสวมชุดอาสาสมัครพยาบาล ถือคำว่า “บัญชี หนัง หมา” ซึ่งมีรูปภาพของเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 พร้อมภาพผู้นำรัฐบาลและกองทัพในขณะนั้น
ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าควบคุมตัวทั้ง 4 คน ไปยังสน.สำราญราษฎร์ และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อนางพะเยาว์ ในเรื่องการเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา (ดูในรายงานข่าว จับ ‘แม่น้องเกด’ ฐานไม่แจ้งการชุมนุม)
ต่อมา นางพะเยาว์ พร้อมทนายความ ได้จัดทำคำให้การเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ไปยื่นต่อพนักงานสอบสวน โดยที่พนักงานสอบสวนได้นัดส่งตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการต่อไปในวันที่ 24 ธันวาคม ศกนี้
ในส่วนคำให้การเพิ่มเติมของนางพะเยาว์ ได้ให้การในสามประเด็นหลัก ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 บุตรสาวของตน คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ได้ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามในเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา โดยผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ ทั้ง 6 คน จากการไต่สวนการตายในศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ว่าความเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้การบังคับบัญชาและความรับผิดชอบของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก
ต่อมา คดีได้ถูกพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนเพื่อฟ้องผู้กระทำผิดเป็นคดีอาญา แต่เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 คดีความดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งมีข่าวการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยนายทหารระดับสูง ซึ่งตนก็ได้เคยร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของนายทหารผู้นั้นแล้ว แต่เรื่องไม่ได้คืบหน้าแต่อย่างใด หลังจากนั้นตนได้พยายามเรียกร้องต่อพนักงานสอบสวนและอัยการมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า
ทั้งตนยังถูกบิดเบือนจากฝ่ายผู้กระทำความผิด ถูกให้ร้ายดูหมิ่นดูแคลนจากฝ่ายผู้สนับสนุนผู้กระทำความผิด คดีความดังกล่าวยังมีข่าวว่าถูกจัดให้เป็นคดีมุมดำ คือคดีที่หาผู้กระทำความผิดไม่ได้ และอาจไม่มีการสอบสวนเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีอีก ซึ่งตนรู้สึกเสียใจและสะเทือนใจต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้เป็นอย่างยิ่ง
2. เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 61 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ตนได้ตัดสินใจไปทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งปกติจะมีการทำกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางสังคมและประวัติศาสตร์ อยู่แล้วทุกปี
ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมตระหนักและไม่ลืมเหตุการณ์การล้อมปราบประชาชนในปี 2553 จึงได้ทำกิจกรรม “ละครใบ้” ซึ่งตนได้รับบทเป็นบุตรสาวของตนเอง โดยได้สวมชุดที่เปื้อนเลือดของลูกสาวซึ่งได้เก็บรักษาไว้ เพื่อเตือนใจและเป็นกำลังใจในการต่อสู้ และมีเพื่อนตนรับบทเป็นยมทูตถือบัญชีหนังหมา
3. ในบรรดาวิธีเรียกร้องเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ตนได้พยายามตามวิถีทางของผู้เป็นแม่ที่สูญเสียลูกแล้วทุกวิถีทางที่สามารถกระทำได้ การทำกิจกรรมละครใบ้เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะแสดงออกให้สังคมไม่หลงลืมเหตุการณ์การล้อมปราบฯ และร่วมกันนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ สร้างบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย อันเป็นการแสดงออกในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ตนจึงเห็นว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และได้ขอให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ด้วย