กฎหมายชุมนุมสาธารณะ: ประสบการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลของเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมแพร่

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้ยุคคณะรัฐประหาร คสช. ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก แทนที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ กลับมีแนวโน้มจะถูกใช้ปิดกั้นการชุมนุมและสร้างภาระในการออกมาแสดงออกของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

อ่านเรื่องราวปัญหาการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 3 ปี พระราชบัญญัติการชุมนุมฯ: ห้ามเคลื่อนไหว ห้ามชุมนุม ห้ามคิดต่าง คสช.

(ภาพการชุมนุมของเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ วันที่ 12 พ.ย. 61)

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ ซึ่งรณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายการชุมนุมดังกล่าว แม้จะเป็นเครือข่ายที่เพิ่งรวมตัวกันไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่การผลักดันโครงการที่ชาวบ้านเห็นว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้เกิดการรวมตัวเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดลองใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่แกนนำชาวบ้านกลับถูกจับกุมดำเนินคดีจากการชุมนุม และประสบกับภาระในการออกมาทำกิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่

 

เรื่องราวจากชาวบ้านในพื้นที่ ผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ดำเนินการโดยบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล พีเอสทีเอนเนอร์ยี่ 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเพาเวอร์โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้านี้จะมีขนาด 28.5 เมกะวัตต์ โดยสถานที่ก่อสร้างหลักคือพื้นที่ตำบลร่องฟอง ซึ่งอยู่ท้ายหมู่บ้าน และห่างจากจุดที่ชุมชนตั้งอยู่เพียง 1.5 กิโลเมตร ขณะที่ห่างจากตัวเมืองแพร่ราว 5-6 กิโลเมตร ทำให้กลุ่มชาวบ้านกังวลถึงปัญหามลพิษ ฝุ่นละออง และน้ำเสียจากโครงการ จนเกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว ปัจจุบันหากใครได้เดินทางเข้าไปภายในหมู่บ้านร่องฟอง จะพบเห็นว่าทั่วทั้งหมู่บ้านได้มีการติดป้ายเพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

(ภาพการติดป้ายคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของหมู่บ้านร่องฟอง)

นางอนงค์เนตร รอดทุกข์ อายุ 66 ปี อดีตข้าราชการครู หนึ่งในชาวบ้านตำบลร่องฟอง เล่าว่า ชาวบ้านเริ่มทราบเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในตำบลร่องฟองตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ จากนั้นในชุมชนก็ได้มีการพูดคุยกันมาตลอดถึงข้อดีข้อเสียของโครงการ

นางอนงค์เนตรเองก็ได้เคยไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ผ่านคลิปวิดีโอที่มีการนำเสนอว่าเกิดผลกระทบภายหลังจากการตั้งโรงไฟฟ้าอย่างไรบ้าง ทั้งยังได้เดินทางไปยังบ้านเปาปม อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ในพื้นที่มากว่า 3 ปีแล้ว คนในพื้นที่ดังกล่าวได้เล่าถึงผลเสียของโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ฟัง เมื่อทราบเช่นนั้นนางอนงค์เนตรและชาวบ้านบางส่วนในบ้านร่องฟอง จึงเริ่มเกิดความคิดอยากเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ได้เรียนรู้ให้กับคนในชุมชนได้ทราบ เกิดเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือมากว่าครึ่งปี จนเกิดเป็นกลุ่มของชาวบ้านร่องฟอง และเครือข่ายในพื้นที่ 12 ตำบลในอำเภอเมืองแพร่

เมื่อถามถึงเป้าหมายสุดท้ายที่นางอนงค์เนตรอยากเห็นในการคัดค้านครั้งนี้ นางอนงค์เนตรเผยว่า “แม้แต่การตั้งในจังหวัดแพร่ ไม่ว่าที่ใด ถ้าหากมีการขอความช่วยเหลือ กลุ่มเครือข่ายก็จะไป เพราะสภาพของเมืองแพร่นั้นมันเป็นแอ่งกะทะ มีเขาล้อมรอบหมด มันตั้งไม่ได้ พื้นที่ภูมิศาสตร์ของเรามันไม่เหมาะ”

(นางอนงค์เนตร ชาวบ้านตำบลร่องฟอง)

 

ประสบการณ์ถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับจากการ พ.ร.บ.ชุมนุม

ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. 61 กลุ่มเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม 12 ตำบล อ.เมืองแพร่  ได้เคยรวมตัวกันเพื่อคัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ ที่บริษัทแม่ของบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวลได้จัดทำขึ้นในพื้นที่ตำบลต่างๆ ภายในโครงการ

(ภาพการคัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ของกลุ่มเครือข่าย จากสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์)

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 61 บริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวลได้จัดเวทีรับความเห็นที่ อบต.เหมืองหม้อ ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ โดยเจ้าหน้าที่มีการจัดกำลังทั้งทหาร ตำรวจ อส. ฝ่ายปกครอง และชุดปราบจลาจล เข้าดูแลพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านโครงการได้รวมตัวกันประมาณ 200 คน เพื่อจะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและต้องการจะยื่นหนังสือให้ทางบริษัท เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้าน แต่ทางบริษัทไม่ยอมออกมารับ

อีกทั้งมีการเรียกร้องให้หยุดการทำประชาพิจารณ์เพื่อทำข้อตกลงใหม่ แต่ปรากฏว่าคณะผู้จัดเวทีประชาพิจารณ์ไม่ยินยอม ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้น และมีการกระชากคอเสื้อผู้ชุมนุมกันเกิดขึ้น ในที่สุดนายอำเภอเมืองแพร่ที่เดินทางมาเป็นตัวแทนผู้ว่าฯ ได้เข้ารับหนังสือจากผู้ชุมนุมแทน พร้อมกับยุติการทำประชาพิจารณ์ไว้ก่อน โดยเวทียังไม่ได้เริ่มขึ้น

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยผู้กำกับ สภ.เมืองแพร่ ได้เข้าเชิญตัว ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ ไปยังสถานีตำรวจ โดยระบุว่าเป็นการเชิญให้ไปเสียค่าปรับ ทำให้ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ ถูกนำตัวขึ้นรถตำรวจไปที่ สภ.เมืองแพร่ และมีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเปรียบเทียบปรับในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม เป็นเงิน 2,000 บาท และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับเป็นเงิน 200 บาท ก่อนปล่อยตัวว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ

นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของชุมชน

 (ภาพว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ ที่ถูกเชิญตัวไปเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากเฟสบุ๊กของว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ)

 

เมื่อ สนช. ลงพื้นที่  กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม อ.เมืองแพร่  แจ้งการชุมนุมสาธารณะ เพื่อคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.61 กลุ่มเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม 12 ตำบล อ.เมืองแพร่  จำนวนราว 200 คน ได้จัดการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการก่อสร้างไฟฟ้าชีวมวล บริเวณสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ด้านข้างศาลากลางจังหวัดแพร่ ซึ่งคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีกำหนดเดินทางมาร่วมประชุมในวันดังกล่าว

จากประสบการณ์การชุมนุมครั้งก่อนที่แกนนำของเครือข่ายได้ถูกจับกุมและเปรียบเทียบปรับ ก่อนการชุมนุมครั้งนี้ เครือข่ายจึงได้มีการไปแจ้งจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งที่ สภ.เมืองแพร่ โดยระบุวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าชีวมวล และต้องการให้คณะกรรมาธิการการพลังงาน ที่เดินทางมาลงพื้นที่ เข้ามาร่วมพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่

  

(ภาพการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม 12 ตำบล อ.เมืองแพร่ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 61)

หลังจากการชุมนุมไปได้ระยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาเจรจาให้กลุ่มเครือข่ายส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการพลังงาน พร้อมด้วยข้าราชการระดับต่างๆ ของจังหวัดแพร่ ภายในศาลากลางจังหวัด แต่เมื่อตัวแทนเครือข่ายเข้าไปพูดคุยภายในศาลากลาง กลับได้พบเพียงตัวแทนของคณะกรรมาธิการการพลังงาน ไม่ได้พบกับตัวคณะกรรมาธิการการพลังงานจาก สนช. แต่อย่างใด

ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายที่เข้าไปพูดคุยจึงได้ออกมาแจ้งกับชาวบ้านที่รอฟังผลการพูดคุยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มเครือข่ายที่มารวมตัวเกิดความไม่พอใจ และประกาศว่าจะเคลื่อนการชุมนุมไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการการพลังงาน และผู้ว่าฯ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ออกมาพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายให้ได้ ตลอดการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ รวมไปถึงชุดควบคุมฝูงชน ราว 30-40 นาย คอยสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด

จนในที่สุด พล.อ. สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และผู้บริหารท้องถิ่น อ.เมืองแพร่  ได้ลงมาพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายที่มาชุมนุมว่า ตอนนี้ยังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและยังอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย ส่วนโรงไฟฟ้าจะสร้างได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับชาวบ้าน และคณะกรรมการที่มาในวันนี้เป็นเพียงฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ต้องนำเรื่องที่รับฟังวันนี้เสนอให้ฝ่ายบริหารต่อไป

ด้านชาวบ้านยืนยันข้อเสนอว่าขอให้ยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดแพร่เพียงอย่างเดียว จากนั้นตัวแทนเครือข่ายได้ทำการอ่านหนังสือสัตยาบันที่กลุ่มเครือข่ายได้เตรียมมา เพื่อให้ผู้ว่าฯ  ข้าราชการบริหารท้องถิ่นในพื้นที่ 12 ตำบลที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ได้ร่วมลงชื่อเพื่อยืนยันว่าจะยุติโครงการลง แต่มีเพียงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่องฟองคนเดียวเท่านั้นที่ร่วมลงนามในหนังสือดังกล่าว ส่วนคนอื่นๆ ไม่ขอลงนามร่วมด้วย หลังจากการพูดคุยประมาณ 10 นาที คณะกรรมาธิการการพลังงานและคณะข้าราชการจังหวัดแพร่ ได้เดินออกจากพื้นที่การชุมนุมไป ทำให้ชาวบ้านยุติการชุมนุมลงโดยที่ประเด็นปัญหายังค้างคาอยู่

 

เสียงจากผู้ร่วมคัดค้าน กับอุปสรรคจากกฎหมายชุมนุม

จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าว แม้เพียงเวลาไม่นานนัก แต่ก็ทำให้ชาวบ้านในเครือข่ายอนุรักษ์รับรู้ถึงปัญหาของการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม และภาระที่เกิดขึ้นเมื่อต้องการทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน

นายชุติพนธ์ หรั่งแก้ว อายุ 24 ปี นักศึกษาในสาขาวิชาการพัฒนาสังคม สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หนึ่งในนักศึกษาที่เข้ามาร่วมกับเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม 12 ตำบล อ.เมืองแพร่ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการคัดค้าน เล่าถึงเหตุผลที่เข้ามาร่วมกับกลุ่มเครือข่ายว่าเกิดจากการชักชวนเข้ามาช่วยงานจากอาจารย์ที่รู้จัก เมื่อได้เข้าร่วมกับชาวบ้านก็รู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาในสาขาวิชาการพัฒนาสังคม ได้ลงพื้นที่จริง ได้ปฏิบัติจริง อีกทั้งได้เห็นเรื่องราวการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม มีการปิดบังกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment- EIA ) อย่างไม่โปร่งใส ทำให้เกิดความคิดอยากที่จะเข้ามาช่วยชาวบ้านอย่างจริงจัง โดยทั้งร่วมในการปราศรัยในการรวมกลุ่มหรือชุมนุมของชาวบ้าน การให้ความรู้เรื่องผลเสียของโรงไฟฟ้าชีวมวลและเป็นผู้ดำเนินรายการในการพูดคุยที่จัดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

(นายชุติพนธ์ นักศึกษาในสาขาวิชาการพัฒนาสังคม สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย)

สำหรับนายชุติพนธ์แล้ว มองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่จากการศึกษาแล้วพบว่ามีการให้ข้อมูลด้านดีเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีข้อมูลด้านเสียที่ไม่ถูกพูดถึง ซึ่งเป็นความผิดพลาดและชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทำให้นายชุติพนธ์รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แย่ จึงเข้าร่วมการคัดค้านด้วย

เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งถูกจับกุมและทำการเปรียบเทียบปรับนั้น นายชุติพนธ์มีความเห็นต่อพ.ร.บ.การชุมนุมฯ ดังกล่าวว่า “ผมรู้สึกว่ามันเป็นการปิดกั้นสิทธิการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านอีกด้านหนึ่ง การชุมนุมครั้งนี้ ถ้าเกิดมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เข้ามา มันรู้สึกว่าการโดนจับของแกนนำเป็นการปิดกั้นสิทธิของชาวบ้านที่จะแสดงออก แทนที่คุณจะให้เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ที่ว่าชาวบ้านมีความเห็นอย่างนี้ อยากพูดอย่างนี้ อยากให้คุณรับทราบ แต่คุณปิดกั้นพวกเรา”

 

(ภาพว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ สวมเสื้อของกลุ่มเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล)

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ อายุ 31 ปี  เป็นชาว อ.เมือง จ.แพร่ หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม เล่าถึงมุมมองของกลุ่มประชาชนที่ออกมาเรียกร้องปัญหาในพื้นที่ แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม แทนที่จะได้รับการคุ้มครองว่า

“กฎหมายถ้าหากจะศักดิ์สิทธิ์ มันขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายเล็งเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อการกระทำแบบนี้ๆ บางคนรู้ว่ามันผิด บางทีเขาก็อาจจะปล่อยผ่านให้เราได้ เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวบ้าน เป็นความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ ถ้าเขาไม่เดือดร้อนก็คงไม่หยุดงานเพื่อมากัน แต่มันก็ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนที่จะมา เกิดความกลัว กลัวที่จะมาร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความจริงเขามีสิทธิมีเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น แต่กลัวโดน พ.ร.บ.ตัวนี้ครอบไว้ กลับเป็นว่าไม่ได้ใช้สิทธิในที่สุด”

 

X