แถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี ต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561

            เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 มีกลุ่มประชาชนออกมาชุมนุมถือป้ายให้กำลังใจและสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม  ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. พระราชวังได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ชุมนุม ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 นายอดุลย์ ธรรมจิตต์ หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เพื่อรับข้อกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่ง หัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมในเขตรัศมีไม่เกิน 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ประกอบกับมาตรา 27 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ  พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า บนพื้นฐานของการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐไทย ในฐานะภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ต้องผูกพันต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการไปในทางเคารพ รับรอง ปกป้อง และคุ้มครองซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบทที่ 21 ของกติกาดังกล่าว และที่ได้รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มาตรา 44

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีความเห็นต่อการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลซึ่งใช้เสรีภาพชุมนุมตามที่ปรากฏรายละเอียดในข้างต้น ดังนี้

  1. ในปัจจุบันพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายหลักซึ่งบัญญัติลักษณะการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิดังกล่าว โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า กฎหมายชุมนุมสาธารณะนั้นจำกัดการใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนจนกระทบต่อสาระสำคัญแห่งการใช้สิทธินั้น ซึ่งรวมถึงมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
  2. การดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12. และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปอย่างกรณีข้างต้นตลอดจนการชุมนุมของเครือข่ายประชาชน People Go และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง (MBK 39) เป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นว่า เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะมั่วสุมหรือเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ขอบเขตของการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้เสรีภาพชุมนุมที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ กลายเป็นเสรีภาพที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายว่าจะใช้ดุลพินิจตีความการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ หรือเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

3.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่สองของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ไทยควรจะประกันและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และหลีกเลี่ยงการจำกัดใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การเลี่ยงพันธกรณีของข้อ 4 ของ ICCPRโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรงดเว้นจากการควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิของตนโดยไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งชาติหรือความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองทุกกรณี และเรียกร้องให้รัฐไทยเคารพการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนยอมรับว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่จำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

 

 

X