ฟ้อง 27 ชาวบ้านกลุ่มได้รับผลกระทบเหมืองทองพิจิตร คดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ-ข่มขืนใจผู้อื่น เหตุขวางรถขนแร่ของบริษัท

วันที่ 20 มี.ค.60 ศาลจังหวัดพิจิตรนัดพร้อมในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดพิจิตร กับชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยรอบเหมืองทองคำจังหวัดพิจิตร จำนวน 27 ราย ในข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น จากกรณีการขัดขวางรถขนแร่ไม่ให้ผ่านเส้นทางสาธารณะตั้งแต่ในช่วงเดือนก.ค.59

ในนัดนี้ ศาลมีการอ่านคำฟ้องและสอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ในช่วงวันที่ 12-14 ก.ย. และ 19-22 ก.ย.60

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค.59 เมื่อบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการเหมืองทอง ได้ดำเนินการขนแร่ผ่านเส้นทางสาธารณะบริเวณถนนรอบเหมือง แต่มีการระบุว่าทางกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันเข้าขัดขวางรถขนแร่เพื่อไม่ให้ผ่านเส้นทาง หลังจากนั้นทางบริษัทได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความเอาผิดกับชาวบ้านจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ในเดือนพ.ย.59 ชาวบ้านจำนวน 27 ราย ได้รับหมายเรียกให้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรทับคล้อ โดยในครั้งแรกมีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการ หรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 เพียงข้อหาเดียว แต่ในเวลาต่อมาอัยการได้ให้มีการสอบสวนในข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพิ่มเติมด้วย

ต่อมา อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพิจิตรเมื่อวันที่ 9 ก.พ.60 โดยฟ้องในข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในเรื่องการร่วมกันชุมนุมปิดกั้นทางสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน และข้อหาตามมาตรา 309  ขณะที่จำเลยบางส่วนยังถูกฟ้องในข้อหาเรื่องการปิดบังหรืออำพรางตน ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากกรณีการปิดบังใบหน้าในขณะเกิดเหตุ รวมทั้งแกนนำของชาวบ้านยังถูกฟ้องในเรื่องการเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่ควบคุมดูแลผู้ชุมนุม และไม่แจ้งการจัดการชุมนุมอีกด้วย

หลังจากอัยการยื่นฟ้องคดี ชาวบ้านได้ยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จากกองทุนยุติธรรม รายละ 1 แสนบาท แม้ในตอนแรกเจ้าหน้าที่จะระบุว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการฟ้องข้อกล่าวหาเพิ่มเติมมา แต่ต่อมา ศาลก็อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมดด้วยหลักทรัพย์ดังกล่าว โดยคดีนี้มีทนายความจากสภาทนายความเข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

 

            จำเลยทั้ง 27 คน ขณะฟังคำสั่งฟ้องคดีของอัยการ (ภาพจาก Chainarong Sretthachau)

สำหรับคดีนี้ จำเลยที่ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทั้งหมด 21 ราย ขณะที่เป็นผู้ชาย 6 ราย โดยหลายคนยังเป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในวันเกิดเหตุ ชาวบ้านบางส่วนได้เข้าไปตรวจสอบว่ามีการดำเนินการใดบริเวณเหมือง เนื่องจากได้ยินเสียงดังจากรถของบริษัท บางคนเดินกลับมาจากการเก็บผักหรือทำไร่ แล้วเข้ามามุงดูเหตุการณ์ แต่ก็กลับถูกดำเนินคดีไปด้วย ขณะที่บางส่วนที่ใส่หมวกหรือคลุมใบหน้าด้วยผ้า ก็เนื่องมาจากกำลังทำไร่ทำนาอยู่ ชาวบ้านระบุว่าไม่ได้เป็นการปิดบังอำพรางใบหน้าแต่อย่างใด

นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาในช่วงหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2558 กรณีนี้นับเป็นการใช้ข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.นี้ต่อกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการต่างๆ ของรัฐและกลุ่มทุนอีกกรณีหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้มีการกล่าวหาดำเนินคดีต่อประชาชนที่ชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น 7 คน และกรณีชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่คัดค้านเหมืองแร่ที่จังหวัดเลย 7 คน ก็ถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นคล้ายคลึงกับกรณีนี้ด้วย จากการไปรวมตัวหน้าสำนักงานอบต.เพื่อติดตามการประชุมสภาเรื่องการขอต่อใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองทองคำ โดยคดีนี้ยังอยู่ในชั้นของพนักงานอัยการ

ทั้งนี้ ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดพิจิตร เผชิญความขัดแย้งกับบริษัทที่เข้ามาทำเหมืองทองเรื่อยมา ทั้งปัญหาผลกระทบทางสุขภาพของชาวบ้าน ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าเกิดจากการทำเหมือง หรือปัญหาการคุกคามข่มขู่แกนนำ โดยแกนนำชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำงานช่วยเหลือชุมชน ยังเคยถูกบริษัทกล่าวหาในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีการโพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวกับการได้รับการยกเว้นภาษีของบริษัท

ต่อมา ในปี 2559 กลุ่มชาวบ้านยังมีการฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 จากบริษัท เนื่องจากชุมชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยกรณีนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนที่ 1)

สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนที่ 2)

สรุปแนวทางดูแลการชุมนุมของ ตร. ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนสุดท้าย)

 

X