ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมจังหวัดลำพูน เตรียมส่งฟ้อง 17 ก.ย. 63

วันที่ 8 ก.ย. 63 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดลำพูน นายธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง จากการร่วมกิจกรรม   #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย บริเวณลานเจ้าแม่จามเทวี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63 เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดหมายของพนักงานสอบสวนเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีให้กับอัยการพิจารณา ด้านอัยการเตรียมส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในวันที่ 17 ก.ย. 63 เวลา 9.00 น.

ดูการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ >> 2 น.ศ.ชุมนุม “คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย” ให้การปฏิเสธคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – “บอล” แค่ร่วมเฉยๆ

ภาพนายธนวัฒน์ หลังรายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดลำพูน วันที่ 8 ก.ย. 63 ส่วนนายธนาธรเดินทางกลับไปก่อนเนื่องจากมีตารางสอบในช่วงเที่ยง

เวลาประมาณ 10.30 น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูนได้นำสำนวนคดีที่มีความเห็นควรสั่งฟ้อง พร้อมตัวผู้ต้องหาทั้งสอง ส่งให้กับอัยการ เพื่อให้พิจารณาสำนวนและมีความเห็นทางคดีต่อไป

ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการระบุคดีอยู่ในระยะเวลาการผัดฟ้องครั้งที่ 3 ต้องให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 11 ก.ย. 63 แต่เนื่องจากนายธนวัฒน์หนึ่งในผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวกับอัยการเนื่องจากวันที่ 11 ก.ย. 63 ตัวเขาเป็นจำเลยในคดี “ปิดสวิสซ์ ส.ว.” ที่มีนัดหมายสืบพยานโจทก์ที่ศาลแขวงเชียงราย ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาตามนัดหมายได้ ขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 17 ก.ย. 63

หลังจากพิจารณาคำร้องของนายธนวัฒน์ พนักงานอัยการได้อนุญาตให้เลื่อนการรายงานตัวของผู้ต้องหาทั้งสองออกไปในวันที่ 17 ก.ย. 63 เวลา 9.00 น. โดยเบื้องต้นระบุว่าจะทำการส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในวันดังกล่าวเลย

ภาพบรรยากาศการชุมนุม #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในการชุมนุม #คนลําพูนก็จะไม่ทนโว้ย ในส่วนของนายธนวัฒน์ วงค์ไชย ระบุว่าตนเพียงแต่ไปร่วมชุมนุมเฉยๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมและไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด หากแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนกลับเห็นว่าการโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมของนายธนวัฒน์เข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว จึงน่าสนใจว่าพนักงานอัยการจะพิจารณาประเด็นนี้อย่างไร

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 5 เดือน มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 20 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนอย่างน้อย 73 คน (อ่านรายงาน ณ 26 ส.ค. 2563 ที่ เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม)

ในพื้นที่ภาคเหนือ มีรายงานการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดกิจกรรมชุมนุม ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา

 

X