เรือนจำกับการปิดล้อมสิทธิของผู้ต้องขังในการได้พบญาติและทนายความ

ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 นอกจากประเด็นการละเมิดสิทธิในมิติต่างๆ ภายใต้รัฐบาลทหารแล้ว การปิดกั้นสิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำยังเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นและมีรายงานข่าวเป็นระยะๆ ตั้งแต่เรื่องการใช้ระเบียบการกำหนดรายชื่อ 10 คนที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังแต่ละราย, การยึดที่นอนผู้ต้องขัง, การไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์รับข่าวสาร, การจำกัดการฝากเงินของญาติ เป็นต้น

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังพบว่าในเรือนจำหลายแห่งมีการห้ามทนายความเข้าพบผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดแล้ว ทั้งที่โดยปกติ ทนายความมีสิทธิพบกับลูกความโดยไม่มีการจำกัดเวลาพูดคุยเหมือนกับการเยี่ยมแบบปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ปรึกษาทางกฎหมายกับทนายความได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งทนายยังมีสิทธิขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมออกไปอยู่ในระยะที่จะไม่ได้ยินการสนทนาได้

ระเบียบดังกล่าวอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกเพิ่มและกำหนดเข้ามา แต่กลับพอสะท้อนให้เห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการจัดการเรือนจำ และการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในอีกแง่มุมหนึ่งของสังคมไทย รายงานนี้ประมวลสรุปสถานการณ์เรื่องสิทธิของผู้ต้องขังในการได้พบทนายความและญาติในปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบบางส่วนอย่างไร และสะท้อนถึงกระแสการจัดการเรือนจำในลักษณะใด

IMG_0203

 

ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้วพบทนายความ

ในช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางเข้าเยี่ยมลูกความ ที่เป็นผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้วรายหนึ่งที่เรือนจำกลางเชียงราย เพื่อพูดคุยเรื่องการทำเรื่องทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย แต่หลังจากได้กรอกเอกสารคำร้องขอพบผู้ต้องขังของทนายความตามแบบฟอร์มปกติ หัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลับมีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ทนายเข้าเยี่ยมได้ เพราะคดีของผู้ต้องขังรายนั้นสิ้นสุด เด็ดขาดแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการอ้างอิงระเบียบหรือข้อกฎหมายใดที่ชัดเจนประกอบการไม่อนุญาตให้เยี่ยมดังกล่าว

การไม่อนุญาตดังกล่าว ทำให้ทนายความต้องใช้วิธีการตีเยี่ยมญาติแบบทั่วไปในการเข้าพบลูกความแทน ซึ่งปกติกำหนดเวลาเยี่ยมไว้ราว 15 นาที หากแต่ก็พบว่าในเรือนจำดังกล่าว มีระเบียบอนุญาตให้เฉพาะญาติที่มีนามสกุลเดียวกันกับผู้ต้องขังเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ ทำให้ในที่สุด ทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกความรายนี้ได้เลย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่าในเรือนจำอีกหลายแห่ง ก็ปรากฏกรณีที่ทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่คดีที่ถึงที่สุดหรือ “คดีเด็ดขาด” แล้วได้เช่นเดียวกัน อาทิเช่น ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร หรือที่เรือนจำในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น ขณะที่ในบางเรือนจำกลับยังไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ เช่น กรณีเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่ใช้คุมขังผู้ต้องขังชาย การใช้ระเบียบดังกล่าวในแต่ละเรือนจำจึงมีความลักลั่นกันอย่างเห็นได้ชัด

ข้อห้ามดังกล่าวยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร แต่พอบอกได้ว่าเพิ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานมานี้  โดยหากดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับราชทัณฑ์แล้ว ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ที่บังคับใช้อยู่นั้น ไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดเรื่องการเยี่ยมผู้ต้องขังเอาไว้ในตัวพระราชบัญญัติ

ส่วนในกฎหมายระดับรองลงมา ที่ลงรายละเอียดเรื่องระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ มีปรากฏอยู่ใน “ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2555” โดยในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของทนายความ ปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ตั้งแต่ข้อ 13 ถึงข้อ 20 ในทุกข้อของข้อบังคับในส่วนนี้ ก็ไม่ได้มีการบัญญัติห้ามทนายความในการพบผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดแล้วแต่อย่างใด

ในทางกฎหมาย แม้ “จำเลย” จะกลายเป็น “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ” เมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ผู้ต้องขังก็ยังมีสิทธิพบทนายความ โดยยังสามารถมีประเด็นอื่นๆ เพื่อขอคำปรึกษาทางกฎหมายได้อยู่ แม้การต่อสู้คดีจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม อาทิเช่น

1) ปรึกษาเรื่องการร้องขอให้ศาลทุเลาการบังคับโทษจำคุกไว้ก่อน ด้วยมีเหตุอันควรทุเลา ได้แก่ เมื่อจำเลยวิกลจริต, เกรงว่าจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก, จำเลยมีครรภ์ หรือถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246

2) ปรึกษาทางกฎหมายเรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตามพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ที่กำหนดว่าเมื่อปรากฏพยานหลักฐานซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น  ภายหลังพบว่าพยานเบิกความเป็นเท็จ พบว่าเป็นหลักฐานปลอม หรือพบว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้ง บุคคลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้

3) ปรึกษาทางกฎหมายในเรื่องการทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 259 ถึงมาตรา 267

กล่าวได้ว่าสิทธิของผู้ต้องขังที่จะพบและปรึกษาทางกฎหมายกับทนายความไม่ได้สิ้นสุดลง เพราะศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว การไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบผู้ต้องขังได้ในหลายเรือนจำขณะนี้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังประการหนึ่ง

 

“กฎ 10 คน” และข้อจำกัดเรื่องการเยี่ยมญาติ

นอกจากสิทธิในการพบทนายความของผู้ต้องขังแล้ว หลังรัฐประหาร 2557 ยังพบปัญหาเรื่องการเริ่มใช้กฎจำกัดการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขังในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ ระเบียบนี้ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังต้องส่งรายชื่อญาติหรือบุคคลที่ตนเองต้องการให้เยี่ยมได้ 10 รายให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ และญาติหรือเพื่อนที่มีรายชื่อนอกเหนือจากนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมอีกต่อไป

ข้อบังคับในเรื่องการจำกัดผู้เข้าเยี่ยมดังกล่าว มีระบุอยู่ใน “ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2555” ในหมวด 1 เรื่องบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง

ข้อที่ 8 ของหมวดนี้ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ ผู้บัญชาการเรือนจำจะกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้าก็ได้ รายชื่อบุคคลภายนอกนั้นให้มีจำนวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สามารถดำเนินการได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน”

น่าสังเกตว่าข้อบังคับฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อบังคับฉบับปีพ.ศ.2547 โดยระบุสาเหตุการแก้ไขว่า “เพื่อให้การดำเนินภารกิจของกรมราชทัณฑ์เอื้ออำนวยต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ” ทั้งแม้จะมีการประกาศใช้โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มี.ค.55 แต่ก็ยังไม่ได้มีการใช้ จนกระทั่งราวช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.57 เป็นต้นมา ที่มีหลายเรือนจำเริ่มทยอยใช้บังคับกฎนี้

prachatai-infographic

ภาพประกอบจากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนต.ค.2557 (คลิกที่ภาพเพื่อดูแบบขยายได้)

อีกทั้ง การใช้กฎดังกล่าว ยังไม่ได้มีความแน่นอนและเป็นระเบียบเดียวกันในทุกเรือนจำทั่วประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและแนวทางของผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่ง ที่จะออกระเบียบเรื่องการเยี่ยมญาติของเรือนจำแห่งนั้นโดยเฉพาะ ทำให้เกิดความลักลั่นกันไปในแต่ละเรือนจำ

บางเรือนจำนั้นไม่ได้มีข้อกำหนดเข้มงวด ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังแต่ละรายได้ เพียงแต่ต้องระบุความสัมพันธ์กับผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่เอาไว้ก่อนเยี่ยม หรือในบางเรือนจำ แม้จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเยี่ยมได้ แต่ก็ต้องเข้าเยี่ยมพร้อมกันกับญาตินามสกุลเดียวกันเท่านั้น

หากในหลายเรือนจำกลับกำหนดให้เฉพาะญาติที่มีนามสกุลเดียวกันกับผู้ต้องขังจึงจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ หรือกำหนดให้เฉพาะคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันเท่านั้น โดยถ้าไม่ใช่บุคคลที่มีนามสกุลเดียวกับผู้ต้องขัง ต้องให้ผู้ใหญ่บ้านทำหนังสือรับรองมาในการเยี่ยม

อีกทั้ง บางเรือนจำยังมีรูปแบบการกำหนดวันที่ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ ไม่ได้ให้เยี่ยมได้ทุกวันทำการของราชการเหมือนในหลายเรือนจำ โดยในแต่ละแดนจะกำหนดให้ญาติเยี่ยมได้เพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เช่น เรือนจำกลางเชียงใหม่ มีการกำหนดให้ผู้ต้องขังในแดนแรกรับเยี่ยมได้เฉพาะในวันจันทร์และวันพฤหัส แดน 5 เยี่ยมได้วันอังคาร แดน 7 เยี่ยมได้ในวันพุธ แดน 8 เยี่ยมได้ในวันศุกร์ เป็นต้น

ผลของระบบดังกล่าว ทำให้ญาติต้องเดินทางมาเรือนจำให้ตรงกับวันที่อนุญาตให้เยี่ยมเท่านั้น ถ้ามาวันอื่นๆ จะไม่อนุญาตให้เยี่ยมได้ ทั้งหลายครั้ง ญาติของผู้ต้องขังที่เพิ่งถูกควบคุมตัวเข้าไปในเรือนจำ ก็ไม่ได้ทราบเรื่องระเบียบวันเยี่ยมนี้แต่อย่างใด ทำให้ไม่สามารถเยี่ยมในวันที่ไปเรือนจำนั้นๆ ได้ และต้องรอไปอีกหนึ่งอาทิตย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยพบกรณีผู้ต้องหาทางการเมืองที่ถูกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขังระหว่างสอบสวน แต่เนื่องจากในวันฝากขัง ญาติยังไม่สามารถเดินทางไปที่ศาลได้ ทำให้ผู้ต้องหาถูกนำตัวเข้าไปยังเรือนจำ เมื่อญาติและเพื่อนของผู้ต้องหารายนั้นไปติดต่อขอเยี่ยมที่เรือนจำในวันอังคาร เพื่อพูดคุยเรื่องการทำเรื่องขอประกันตัว กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมในวันนั้น เนื่องจากเรือนจำแห่งนั้นกำหนดการเยี่ยมญาติของแดนแรกรับไว้ในวันพฤหัส ทำให้ญาติต้องรอจนถึงวันพฤหัส กว่าจะได้พบตัวผู้ต้องหา ทำให้การทำเรื่องขอประกันตัวล่าช้าออกไปอีกหลายวัน และทำให้ผู้ต้องหาต้องอยู่ในเรือนจำนานออกไป

ข้อจำกัดเรื่องการเยี่ยมญาติดังกล่าว เกิดขึ้นแม้แต่กับผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นต่างๆ โดยตามหลักการดำเนินคดีอาญา บุคคลผู้นั้นแม้จะถูกกล่าวหาดำเนินคดี แต่ก็ต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ระบบและข้อจำกัดต่างๆ ที่เรือนจำแต่ละแห่งบังคับใช้ กลับกระทบต่อสิทธิของคนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีไปด้วยพร้อมกัน

 

เมื่อการรักษาความมั่นคงของเรือนจำ ถูกทำให้สำคัญกว่าสิทธิของผู้ต้องขัง

นอกจากเรื่องการเยี่ยมญาติและพบทนายความแล้ว ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ยังปรากฏระเบียบใหม่ๆ ที่กลายเป็นข้อจำกัดสิทธิของผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้นอีก เช่น เรื่องการฝากเงินและซื้อของให้กับผู้ต้องขัง ที่มีการกำหนดให้ญาติต้องเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังก่อน จึงจะฝากเงินและซื้อของให้กับผู้ต้องขังได้

อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งที่เคยถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ระบุว่าระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการใช้ระเบียบการเยี่ยมญาติ 10 คน แต่ในเรือนจำ รายชื่อเยี่ยม 10 คน ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลส่วนกลางของเรือนจำนั้น ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับระบบฝากเงิน ระบบซื้อของ หรือระบบฝากธนาณัติ ทำให้เรือนจำใช้วิธีกำหนดให้ญาติหรือเพื่อนต้องเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำก่อน แล้วจึงนำใบเยี่ยมมาแสดงเพื่อฝากเงิน หรือซื้อของอีกทีหนึ่ง ถ้าหากไม่เยี่ยมผู้ต้องขัง ก็ไม่สามารถฝากเงินหรือซื้อของให้ได้

ขณะเดียวกัน หลายเรือนจำยังมีการเริ่มจำกัดวงเงินที่จะฝากให้กับผู้ต้องขัง เช่น ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีการกำหนดให้ผู้ต้องขังมีเงินในบัญชีได้ไม่เกิน 9,000 บาท และญาติฝากเงินให้ได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้ง ระเบียบดังกล่าวสร้างความยากลำบากให้กับผู้ต้องขังที่มีญาติอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่สามารถเดินทางมาฝากเงินให้เป็นประจำได้ ทำให้ผู้ต้องขังหลายคนไม่มีเงินในบัญชีของตนเอง

pic 24

การเปลี่ยนแปลงระเบียบภายในเรือนจำอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การจำกัดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยแต่เดิมเรือนจำพิเศษกรุงเทพเคยมีบริการหนังสือพิมพ์ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงข่าวสารสาธารณะ แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังอ่านหนังสือพิมพ์ และไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังสั่งซื้อหนังสือได้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ญาติผู้ต้องขังนำส่งหนังสือให้ได้เดือนละ 3 เล่มเท่านั้น สภาพดังกล่าว ทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทำเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว

เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และปัจจุบันทำงานร่วมกับสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) เรื่องการช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำเคยระบุสาเหตุที่ต้องมีการใช้ระเบียบการกำหนดรายชื่อเยี่ยม 10 คน ว่าเพื่อป้องกันคนที่แอบแฝงมาเยี่ยมเพื่อกระทำผิดกฎหมาย แต่สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการกระทำในแบบนั้น การกำหนดระเบียบเยี่ยมที่เข้มงวดนี้ กลับยิ่งสร้างความลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีกให้กับผู้ต้องขัง กล่าวเฉพาะผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวกับการเมือง ก็ทำให้เพื่อนๆ หรือผู้ให้กำลังใจหลายคนไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้อีก หรือบางผู้ต้องขังที่แม้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็มีญาติและเพื่อนที่ต้องการเยี่ยมมากกว่า 10 คน

เอกชัยให้ความเห็นว่าในแต่ละวัน การเยี่ยมญาติสำคัญกับผู้ต้องขังในเรือนจำมาก เพราะทำให้เขาได้สื่อสารกับโลกภายนอก ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและส่งเรื่องราวของตนเองออกไป หรือทำให้ผู้ต้องขังที่ป่วยหรืออายุมากแล้ว ได้รับยารักษาโรคต่างๆ ที่ลูกหลานจะมาเยี่ยมและทำเรื่องส่งเข้ามาให้ เพราะในเรือนจำไม่ได้มีการจัดหายารักษาโรคต่างๆ ให้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ต้องขังได้รับกำลังใจในการต่อสู้คดี หรือมีกำลังใจในการรอคอยการปล่อยตัว

เอกชัย ซึ่งได้ริเริ่มทำแคมเปญร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org เพื่อร้องเรียนต่อกรมราชทัณฑ์ให้ยกเลิกระเบียบที่เคร่งครัดเกินไปในเรือนจำไทย ระบุว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดในทุกๆ ด้านของหลายเรือนจำขณะนี้ สะท้อนไปถึงการมองนักโทษเหมือนกับเป็นคนที่ชั่วร้าย เป็นการมองอย่างตีตราและซ้ำเติม โดยการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขัง ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุกกลายเป็นที่หรูหรา สุขสบาย เพียงแต่เขามองว่าผู้ต้องขังไม่ควรถูกจำกัดสิทธิในชีวิตทุกๆ เรื่องขนาดนี้ ทั้งที่สภาพในนั้นก็อึดอัดมากพออยู่แล้ว ระเบียบต่างๆ ที่เพิ่มพูนเข้ามายิ่งกลายเป็นเรื่องการจำกัดสิทธิและการเข้มงวดเกินกว่าเหตุไปอีก

รายละเอียดข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ข้างต้น อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนภายนอกและไม่มีญาติถูกคุมขังในเรือนจำ แต่โดยรวมแล้ว มาตรการดังกล่าวที่ทยอยบังคับใช้ในเรื่องต่างๆ กันไป นอกจากจะกระทบสิทธิของผู้ต้องขังหลายประการแล้ว กล่าวได้ว่ายังสะท้อนให้เห็นถึงภาพใหญ่ของแนวคิดการจัดการเรือนจำและลงโทษ “ผู้กระทำความผิด” ในเมืองไทยปัจจุบัน

การบริหารจัดการเรือนจำนั้นอยู่ภายใต้แรงดึงระหว่างแนวคิดสำคัญสองด้าน คือแนวคิดเรื่องของการลงโทษ “ผู้กระทำผิด” ให้สาสมกับการกระทำความผิด ทำให้การจัดการเรือนจำเน้นเรื่องการควบคุมกำกับผู้ต้องขังเข้มงวด กับแนวคิดเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงให้ “ผู้กระทำความผิด” กลับคืนสู่สังคมได้ ทำให้การจัดการเรือนจำ เน้นไปที่ด้านของการแก้ไขอบรมผู้กระทำผิด และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน-สิทธิของผู้ต้องขังด้วย (ดูในรายงาน)

กล่าวได้ว่ากฎระเบียบที่แลดูเล็กน้อยต่างๆ ข้างต้น สะท้อนภาพใหญ่ ของการที่แนวคิดการควบคุมจัดการเรือนจำอย่างเข้มงวดเพื่อความมั่นคงในด้านต่างๆ ขยายตัวและมีอิทธิพลมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขัง รวมทั้งนำไปสู่การลิดรอนความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ทั้งแนวโน้มดังกล่าว มิใช่เพียงเรื่องภายในเรือนจำ แต่กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยแทบทุกประเด็น

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์เรื่องการจำกัดโควตาเยี่ยมญาติ 10 คน

‘only 10’ เสียงสะท้อนนักโทษการเมือง กฎใหม่เรือนจำ จำกัดโควตาเยี่ยม

ฉายไฟแดนสนธยา(1) : แนวคิดลงโทษ-แก้ไข และ ‘สิทธิมนุษยชน’ ในราชทัณฑ์

‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ร้องเหตุละเมิดสิทธิในเรือนจำ-‘อังคณา’ รับปากตามเรื่อง คุ้มครองผู้ร้อง

แคมเปญร้องเรียนให้ยกเลิกระเบียบที่เคร่งครัดเกินไปในเรือนจำไทย

X