ตร.ส่งสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 นักศึกษาผู้จัด #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ให้อัยการ

วันที่ 13 ส.ค. 63 ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 4 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อ จากการทำกิจกรรมแฟลชม็อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา, ให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน และให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63 เข้ารายงานตัวกับพนักงานอัยการ ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย เพื่อส่งสำนวนคดีและตัวผู้ต้องหาให้อัยการแขวงพิจารณามีความเห็นทางคดีต่อไป

เวลา 13.30 น. เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย เดินทางเข้ารายงานตัวตามที่มีการนัดหมาย พนักงานสอบสวนได้ทำการส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด เพื่อให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงพิจารณาต่อไป

ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงระบุว่าสำนวนการสอบสวนเพิ่งถูกส่งมายังสำนักงานอัยการแขวง จึงยังไม่มีอัยการเจ้าของสำนวน ขอนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในคดีอีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค. 63 เวลา 13.30 น.

ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้อัยการเจ้าของสำนวนพิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทุกข้อกล่าวหา โดยมีรายละเอียดโดยสรุปยืนยันว่า

การชุมนุมของประชาชน บริเวณประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63 เป็นวิธีในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มุ่งประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการทั่วไป เพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล เป็นการบังคับใช้เฉพาะเจาะจงกับบุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน ด้วยเจตนาไม่สุจริต

ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการชุมนุมสถานที่จัดการชุมนุมเป็นสถานที่ทำกิจกรรมโล่งแจ้งและไม่แออัด ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และภายในการชุมนุมดังกล่าวไม่มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ร่วมชุมนุมยังใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน จึงมิได้เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

สุดท้ายผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้ขอให้มีการสอบสวนพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งสี่  ได้แก่ ศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นเรื่องเจตนารมณ์การประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับประเด็นเรื่องข้อกำหนดฉบับที่ 13 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ข้อ 1 ที่ออกมาล่าสุดในเรื่องการชุมนุม และประเด็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ  พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอีกด้วย

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ในคดีนี้ เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งหมด ได้แก่ นายธนาธร วิทยเบญจางค์ คณะมนุษยศาสตร์, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ คณะมนุษยศาสตร์, นายวัชรภัทร ธรรมจักร คณะนิติศาสตร์ และนายวิธญา คลังนิล คณะมนุษยศาสตร์

ดูลำดับเหตุการณ์การชุมนุม น.ศ.-ปชช.ชุมนุมเรียกร้องยุบสภาประตูท่าแพ ตร.เตือนฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 รอบ ท่ามกลางเสียงโห่

 

X