ฟังเพื่อนพูดถึง ‘สยาม ธีรวุฒิ’ : 1 ปี ที่เพื่อนหายไป คำถามในเสียงเพลง คำตอบในสายลม

“การหายตัวไปของสยามคือการทรมานที่เรื้อรังของคนรอบข้างทั้งครอบครัวและมิตรสหาย คือการสูญเสียโดยไม่รู้ว่าเขามีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อคนที่เรารักสูญหาย มันทำให้เราฝันร้ายอยู่เรื่อยๆ” สมาชิกวงสามัญชนกล่าว

8 พ.ค. 63  ‘สามัญชน’ วงดนตรีที่ใช้เสียงเพลงขับเคลื่อนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ร่วมกับ Friend Activist Network (F.A.N.) กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมซึ่งสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมือง จัดกิจกรรม “ร้องเพลงให้เพื่อนฟัง: ครบรอบ 1 ปี การหายตัวไป” รำลึกถึงสยาม ธีรวุฒิ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ทางแฟนเพจวงสามัญชน  บรรยากาศคืนนี้เงียบเหงาไม่ค่อยครึกครื้นนักเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

‘สยาม’ คือนักกิจกรรมซึ่งกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหาร ปี 2557 เขาถูกออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า เมื่อปี 2556 ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังลี้ภัยและยังคงเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในต่างประเทศ พฤษภาคม 2562 สยามกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีก 2 ราย หายไปอย่างไร้ร่องรอย ท่ามกลางข่าวว่าทั้งหมดถูกจับกุมตัวที่เวียดนามและส่งตัวกลับมาไทยเมื่อ 8 พ.ค. 62

วงสามัญชน เล่นดนตรี ครบรอบ 1 ปี การหายตัวไป รำลึกถึงสยาม ธีรวุฒิ

แก้วใส ศิลปินวงสามัญชน กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อเขาได้ข่าวว่าสยามถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยตอบว่ายังไม่ได้รับตัว “ผมรู้สึกว่า เฮ้ย! ชีวิตคนถูกทำให้หายไปทั้งคน คุณจะรับผิดชอบยังไง หรือคุณจะปิดตา ไม่พร้อมเปิดตารับรู้ ถ้าวันหนึ่งเป็นคนในครอบครัวของคุณ คุณจะคิดยังไง” 

เสียงเพลง ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ ค่อยๆ ดังขึ้นสยบความเงียบงัน “ฝากรักฉันไปกับลม ช่วยไปห่มให้เธอคลายหนาว ยามเหงาแหงนมองดวงดาว ส่งยิ้มแพรวพราว ส่งเธอให้นอนฝันดี….” ความคิดถึงในบทเพลงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความหวังดังในเนื้อเพลงที่ว่า “สักวันหนึ่งเราจะกลับมาพบกันเพื่อนรัก คงไม่นานนักถ้าตีนยังเหยียบย่ำอยู่บนดิน แม้อยู่ใต้ฟ้าชะตากำหนดจากคนบนดิน ก่อนร่างจะพลิกลงดิน ผีเสื้อจะบินไปถึงดวงดาว” แก้วใสกล่าวว่าเพลงนี้นอกจากเขียนขึ้นให้ ไผ่ ดาวดิน ขณะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเขียนให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีเพลง  Can’t Go Back เพลงที่พูดถึงการเดินทางอันยากลำบากของผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งบางคนพลัดพรากกลับบ้านเกิดไม่ได้ ส่วนบางคนไปไม่ถึงจุดหมาย

เพลงที่เพื่อนศิลปินเตรียมมาวันนี้ล้วนเกี่ยวกับสยาม เช่น ฟ้าใหม่  บทเพลงที่สยามเปิดก่อนเข้ารายการวิทยุที่ผู้ลี้ภัยร่วมกันจัดในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง เพลงนี้นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยวงไฟเย็นเรียบเรียงขึ้นใหม่ให้มีจังหวะชวนฮึกเหิม สอดรับกับเนื้อหาที่ชักชวนให้ประชาชนลุกขึ้นปลดแอก เพื่อให้ประเทศไทยมีเสรีภาพ เสมอภาพและภราดรภาพ เพลง ความรักเหมือนยาขม ของ สายัณห์ สัญญา ที่พูดถึงการผิดหวังจากความรัก ซึ่งสยามให้ความสำคัญต่อเพลงนี้ในฐานะมรดกร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน เขาสนใจและศึกษาศิลปวัฒนธรรมอาเซียนอย่างลึกซึ้ง ชอบฟังเพลงภาษาไทใหญ่และภาษาเมียนมาร์ สยามยังพูดได้หลายภาษาอีกด้วย รวมทั้งภาษากัมพูชาและเมียนมาร์ที่เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง สมาชิกในวงสามัญชนคนหนึ่งกล่าวว่า “เขาน่าจะได้เอาศักยภาพในส่วนนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เขาต้องมาหายตัวไป”

เพลงต่อมา งานศพฉันคงไม่ขาดเธอ ของธานินทร์ อินทรเทพ  เพลงที่พูดถึงการตายของชายคนหนึ่งที่ต้องการให้คนรักมาเผาศพ เป็นเพลงที่สยามเคยแนะนำให้ผู้ฟังขณะจัดรายการวิทยุ แม้เขาจะแนะนำเพลงไม่บ่อยนัก  ส่วนเพลงสุดท้ายที่วงสามัญชนเล่นคือ กำลังใจ ของ วิสา คัญทัพ ซึ่งศิลปินวงสามัญชนกล่าวว่าขอเล่นเพลงนี้เพื่อมอบให้ผู้ต้องลี้ภัยหลังรัฐประหารปี 2557 ทุกคน

สมาชิกวงสามัญชนคนหนึ่งเล่าถึงตัวตนของสยามตั้งแต่พบกันจากการทำค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า สยามเป็นคนน่ารัก มีน้ำใจต่อเพื่อน และชอบแบ่งปัน ชอบอ่านหนังสือ ทำให้มีความรู้เยอะ ก่อนหน้านั้นสยามไม่ได้สนใจการเมือง จนเมื่อปลายปี 2552- 2553 เป็นต้นมา เขาเริ่มสนใจและไปปรากฎตัวอยู่ในแทบทุกที่ที่มีการชุมนุมทางการเมือง แม้จะไปเพียงลำพัง ต่อมาสยามได้เข้าร่วมแสดงละครกับกลุ่มประกายไฟการละคร จึงทำกิจกรรมด้านละครการเมืองอย่างต่อเนื่อง

สมาชิกวงสามัญชนกล่าวว่า “การออกมาจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ  จึงอยากลุกขึ้นมาพูดว่าเพื่อนเราหายไป เพราะถ้าไม่พูด เราจะไม่สามารถยุติวงจรเหล่านี้ได้ และถ้าเรากลัวเราจะไม่มีอนาคต การหายตัวไปของสยามคือการทรมานที่เรื้อรังของคนรอบข้างทั้งครอบครัวและมิตรสหาย คือการสูญเสียโดยไม่รู้ว่าเขามีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อคนที่เรารักสูญหาย มันทำให้เราฝันร้ายอยู่เรื่อยๆ

“เราไม่ได้พูดถึงเพียงสยามคนเดียว แต่กรณีสยามเขาเป็นเพื่อนของเรา เรามีความชอบธรรมที่สุดในการออกมาพูดว่าเพื่อนของเราหายไป เพื่อนำไปสู่การพูดถึงการบังคับให้สูญหายกรณีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเจอเขาหรือไม่ สยามจะไม่หายไปจากความทรงจำของพวกเรา” สมาชิกวงสามัญชนกล่าว


ภาพจากilaw

ด้าน สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม Friend Activist Network (F.A.N.)  กลุ่มนักกิจกรรมที่ช่วยแม่ของสยามทวงถามลูกชายจากรัฐร่วมกับนักกิจกรรมและองค์กรสิทธิหลายองค์กร หลังทราบว่าสยามถูกส่งตัวกลับมาไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนกล่าวถึงประสบการณ์ในการตามหาสยามว่า “เราไปช่วยแม่สยามตามเรื่องหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตเวียดนาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฯลฯ เราไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมาย แต่อย่างน้อยไปเป็นเพื่อนแม่ คอยติดต่อประสานงาน  คอยให้กำลังใจแม่ด้วยการพูดคุย และตอบคำถามเวลาแม่ของสยามเกิดคำถามและความกังวล เผื่อให้แม่รู้สึกผ่อนคลายขึ้นก็ยังดี”

สมาชิกกลุ่ม F.A.N. เปิดเผยว่าไม่ได้สนิทกับสยามเป็นการส่วนตัว รู้จักผ่านการทำกิจกรรมเท่านั้น แต่ออกมาเคลื่อนไหวตามหาสยาม เพราะเห็นว่าสยามและครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่แสดงละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า แล้วถูกออกหมายจับ ต้องลี้ภัยเพราะไม่มีความเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 และสุดท้ายสูญหายไปเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน จริงๆ แล้วไม่ได้เคลื่อนไหวแค่เรื่องเพื่อน เรื่องอื่นๆ ที่กลุ่มเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเราก็ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนเท่าที่เราจะทำได้

สมาชิกกลุ่ม F.A.N. กล่าวว่ารู้สึกสะเทือนใจตั้งแต่รู้ข่าวกรณี สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยอีกสองคนหายตัวไปและปรากฏเป็นศพในแม่น้ำโขงแล้ว แต่พอมาถึงกรณีสยามซึ่งเป็นคนเพียงธรรมดา ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้มีมวลชน เขาแค่เล่นละครไม่ได้ฆ่าคนตาย จึงรู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ และพูดคุยกับเพื่อนๆ ว่าต้องออกมาทำอะไรสักอย่างแล้วเพราะคนถูกทำให้หายมีขึ้นเรื่อย ๆ

สมาชิกกลุ่มแฟนเปิดเผยว่าในช่วงช่วยแม่ของสยามติดตามลูกชาย มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตาม แอบถ่ายรูปแม้กระทั่งตอนรอรถที่ป้ายรถเมล์ และสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั้งของแม่ สยาม และของตนเอง โดยไม่บอกว่าตนมาจากสังกัดไหน ทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย แต่ยังเห็นว่าควรออกมาเป็นเพื่อนของแม่สยามติดตามหาลูกชาย

ภาพจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

“แม่มักโทรมาถามว่าเรื่องของสยามเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งแม่โทรมาเล่าให้ฟังว่า คนมักจะพูดว่า ‘ลูกของแกตายแล้ว’ หรือบางครั้งแม่ถามว่า ‘คิดว่าสยามยังมีชีวิตอยู่ไหม’ ความทุกข์ของคนเป็นแม่ คือการไม่รู้ว่าลูกอยู่ที่ไหนและเป็นยังไงบ้าง แม่บอกว่าถ้าลูกแม่ผิดก็ควรลงโทษตามกฎหมาย แต่ไม่ควรทำให้ลูกชายแม่หายไปโดยไม่รู้ชะตากรรม”

สมาชิกกลุ่ม F.A.N. กล่าวว่าหลังจากวันนั้นที่เฝ้าตามหาสยามจนถึงวันนี้ 1 ปีผ่านไปคำตอบยังอยู่ในสายลม

“เรารู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่แม่ถาม แต่เราจะอ่อนแอไม่ได้ บางครั้งตอนคุยโทรศัพท์เราร้องไห้เงียบๆ แต่พยายามไม่ให้แม่ได้ยิน เรามักบอกแม่ว่าถ้ายังไม่เห็นศพของสยาม แม่อย่าเพิ่งหมดหวัง ไม่ต้องไปสนใจสิ่งที่คนอื่นพูดเพื่อบั่นทอนจิตใจ เรามักจะบอกแม่อย่างนั้น เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่บอกแม่จะโอเคหรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราไม่อยากให้แม่หมดหวัง และตราบใดที่ยังมีคนลี้ภัยและยังมีคนสูญหาย เราไม่ควรหยุดกระตุ้นสังคมว่ามันมีเรื่องแบบนี้ เราต้องทำให้สังคมได้รับรู้ว่ามีคนสูญหาย เพื่อให้สังคมตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้”

 

X