ประจักษ์ ก้องกีรติ: “บทบาทของตุลาการไทยในการรับรองการรัฐประหาร ในวันที่รัฐมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู”

 

บทความนี้เป็นการถอดบทเรียนจากงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 จัดโดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” คือหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวและเอกสารสำคัญในคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยได้คัดสรรคดีความจำนวน 9 คดี ที่สะท้อนความพยายามของนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนในการต่อสู้ทัดทานการรัฐประหาร และการโต้กลับของพวกเขาเหล่านั้นผู้ไม่สยบยอมผ่านการต่อสู้ใน “กระบวนการทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างถึงที่สุด

ในหนังสือบันทึก 9 คดีสำคัญภายใต้ยุคสมัยของ คสช. นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของราษฎรผู้กล้าที่จะกำแหงและยืนหยัดคัดค้านอำนาจอันไม่ชอบธรรม แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามนานาชนิด ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ยังส่องสะท้อนให้เห็นถึงทั้งการใช้อำนาจของกองทัพ และบทบาทการรับรองอำนาจเหล่านั้นโดยสถาบันตุลาการ อันร่วมกันทำให้สังคมไทยติดหล่มอยู่ในระบอบแห่งการรัฐประหารเนิ่นนานยาวนับ 5 ปี

ผู้ร่วมเสวนา

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ”ราษฎรกำแหง”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น University of Wisconsin-Madison

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชาลินี สนพลาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ

นพพล อาชามาส: “บันทึกประวัติศาสตร์ 9 คดีของผู้ไม่สยบยอม”

***สามารถสั่งซื้อหนังสือ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ได้ผ่านทางเพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

วิทยากรอีกท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ภายในงานเสวนาครั้งนี้คือ อาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ซึ่งมองว่า หนึ่งในแง่งามของหนังสือราษฎรกำแหงฯ นอกเหนือจากตัวของมันเองที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือในการบันทึกความผิดแผกแปลกประหลาดของกระบวนการยุติธรรมและตุลาการภายหลังการรัฐประหารแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้ยังสะท้อนภาพของการต่อสู้ของผู้คนในโมงยามที่สังคมที่ถูกครอบทับด้วยเงาของเผด็จการ เป็นการต่อสู้ของคนธรรมดาเพื่อบอกกับสังคมว่าการรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ผิด

“สำหรับใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่ามันจะช่วยในการตอบคำถามว่าประเทศเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ถ้าถามความเห็นผม หนังสือเล่มนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะใน พ.ศ. นี้ เพราะถ้าอ่าน จะเจอเลยว่าคดีแต่ละอย่างมันมีความอัศจรรย์มาก อาจจะเกิดคำถามว่า เอ มันเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงกันแน่ เพราะมันดูน่าจะเกิดขึ้นในสมัยจอมพลถนอม หรือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มากกว่า การที่เราต้องมาบันทึกเรื่องราวเหล่านี้มันได้สะท้อนอะไรบางอย่าง ผมขอใช้คำของ ไผ่ ดาวดิน ว่า นี่เป็นยุคสมัยที่ผิดเพี้ยน กลับตาลปัตร สิ่งที่ถูกกลายเป็นผิด ผิดกลายเป็นถูก ไปได้อย่างไร”

“สิ่งที่หนังสือเล่มนี้สะท้อนออกมาคือการอ่านการรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหาร สิ่งสำคัญอย่างแรกสำหรับหนังสือ (ราษฎรกำแหงฯ) คือมันเป็นพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการต่อต้านการรัฐประหารโดยคนธรรมดาสามัญ ว่ามันมีการต่อต้านอยู่จริง ถ้าไม่บันทึก ในอนาคตอาจมีคนมาบอกว่าการรัฐประหารปี 57 เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครต่อต้าน ทุกอย่างสงบเรียบร้อยดี เพราะในคำวินิจฉัยของศาลในหลายคดีก็ได้มีการรับรองการรัฐประหารไว้เช่นนั้น แต่หนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่พิสูจน์ว่า Anti – Coup movement มันมีอยู่จริง”

“เมื่ออ่านไปอีกจะพบว่าเหล่าราษฎรกำแหงเหล่านี้ เขาไม่ได้อยากจะกำแหง ไม่ได้อยากจะดื้อแพ่งหรือปฏิวัติโค่นล้ม เพราะคนที่ต่อสู้ ถูกจับกุม ผมกลับรู้สึกว่าการต่อสู้ของเขาเหล่านี้เป็นสามัญสำนึก เป็น Common Sense ต่อสู้เพื่อบอกว่าไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหาร สู้เพื่อบอกสังคมว่าการกระทำเช่นนี้มันเป็นสิ่งที่ผิด ต่อสู้เพื่อเรียกคืนสามัญสำนึกให้กับสังคมไทย แต่กลับกลายเป็นว่าต้องโดนตั้งข้อหาเสียเอง”

“สุดท้าย หนังสือเล่มนี้ยังได้บันทึกต้นทุนของการรัฐประหาร 2557 ซึ่งไม่ไม่ใช่แค่ในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นในมิติอย่างเรื่องการทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่ตอบโจทย์ ที่สำคัญคือต้นทุนในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่คนจำนวนมากต้องจ่ายต้นทุนนี้ในราคาแพง ต้องสูญเสียอิสรภาพไป และเป็นต้นทุนที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่ค่อยได้รับรู้ ไม่ค่อยเป็นข่าว ถูกทำให้มองไม่เห็น หนังสือเล่มนี้คือข้อบันทึกถึงจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับสิทธิซึ่งส่งผลมาจากการรัฐประหารครั้งนี้

อาจารย์ประจักษ์ยังได้หยิบยกตัวอย่างคำพิพากษามาอธิบายต่อเพื่อชี้ให้เห็นว่า องค์กรตุลาการได้ให้การรับรองการรัฐประหารที่เกิดขึ้นผ่านการมีคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนอย่างไร พร้อมกับขยายความเรื่องของการที่กฎหมายเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการแสดงออกของประชาชน รวมไปถึงการที่ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเข้าต่อสู้กับรัฐเผด็จการ แม้จะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองย่อมต้องพ่ายแพ้ก็ตาม

“ตัวอย่างคำพิพากษาในหนังสือที่น่าสนใจคือ คดีของอภิชาตในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งเขาเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารโดยการชูป้าย ความน่าสนใจคือ ถ้อยคำที่ศาลใช้ได้ทำให้เราเห็นว่า สำหรับความรับรู้ของศาล มันมีสิ่งที่เรียกว่า ระบอบรัฐประหารอยู่จริง และเป็นสิ่งที่ศาลเองรับรอง ถ้ามองในมุมของนักรัฐศาสตร์มันน่าทึ่งมาก เพราะเรามักจะเถียงกันว่า เราควรจะเรียกระบอบของ คสช. ว่าอะไรดี ตั้งแต่ที่มันเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารจนมาถึงก่อนการเลือกตั้ง พอผมมาอ่านดู เราเสียเวลาเถียงกันตั้งนานทำไม เพราะศาลได้ให้นิยามการปกครองในแบบของ คสช. ไว้แล้วคือ Coup Regime ศาลมองว่าสถานการณ์การเมืองของไทยหลังการรัฐประหาร สังคมได้เข้าสู่ภาวะสงบเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการต่อต้านจากคนส่วนใหญ่หรือจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน แม้แต่คณะรัฐบาลรักษาการณ์ของยิ่งลักษณ์เองก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการยึดอำนาจ ถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจตามนัยยะของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จ ศาลได้อธิบายให้เสร็จสรรพ ศาลบอกว่ารัฐประหารเกิดแล้ว สำเร็จแล้ว เกิดเป็นระบอบการเมือง หมายถึงมีความตั้งมั่น มีการจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจเรียบร้อยแล้ว คำสั่ง คสช. จึงมีผลบังคับใช้ในฐานะที่เป็นกฎหมายการบริหารประเทศตามระบอบรัฐประหาร อันนี้คือคีย์สำคัญ ในแง่นี้ หมายความว่า ต่อให้คุณออกไปขัดขวางโดยอ้างรัฐธรรมนูญ แต่คุณกำลังฝ่าฝืนอำนาจที่ชอบธรรมแล้ว นั่นคืออำนาจของระบอบแห่งการรัฐประหารนี้เอง”

“สิ่งที่ประชาชนออกมาต่อสู้คือการปกป้องระบอบประชาธิปไตยโดยใช้สันติวิธีในทุกคดี เป็นการสู้โดยใช้กฎหมายสู้กลับด้วยในบางกรณี อันนี้น่าสนใจ เพราะรัฐประหารครั้งนี้ กฎหมายถูกนำมาใช้มากที่สุดเพื่อรักษาอำนาจของตัว คสช. เอง มากกว่าในทุกการรัฐประหารที่ผ่านมา ต่างจากเมื่อตอนปี 49 เขาไม่ได้ต้องการแค่กำจัดนักการเมือง พรรคการเมือง แต่ครั้งนี้ยังรวมคนธรรมดาด้วย ซึ่งประชาชนก็สู้กลับโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมาย มีความพยายามที่จะฟ้องกลับ แม้จะรู้ว่าเสียเปรียบ แม้จะรู้ว่าแพ้ แต่ก็ยังต้องการยืนยัน เพราะเขาหวังว่าประเทศนี้น่าจะยังมีความยุติธรรมอยู่บ้างภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ได้มีการใช้กระบวนการนอกกฎหมายเข้ามาสู้กับรัฐ”

สองคดีที่อาจารย์ประจักษ์หยิบขึ้นมาจากในหนังสือเพื่ออธิบาย ขยายความต่อเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเจตจำนงของปุถุชนในการที่จะออกมาเพื่อต่อต้านอำนาจอันไม่ชอบธรรมของคณะรัฐประหาร นั่นก็คือคดีของ สิรภพ และ ไผ่ ดาวดิน ผู้ที่ต้องใช้จ่ายอิสรภาพและสิทธิของตัวเองไปเพียงเพราะเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

“อย่างกรณีของสิรภพ เขาเป็นอีกคนที่ต้องติดคุกเป็นเวลานานจากการแสดงออกว่าไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร ถ้อยแถลงของเขาที่ผมรู้สึกกินใจก็คือ (ถอดความ) ‘เหตุที่มีการรัฐประหาร ข้าพเจ้าจึงกระทำตนอารยะขัดขืน ไม่เข้ารายงานตัวต่อ คสช. คณะทหารที่ยึดอำนาจ ตัวข้าพเจ้าได้นำเสนอความคิดต่อต้านการรัฐประหารมาโดยตลอด ไม่ได้เพิ่งออกมาสู้ ก่อนหน้านี้ตัวข้าพเจ้าเองก็เคยออกมาคัดค้านมาก่อน นี่คือวิธีการที่ข้าพเจ้าเลือกเพื่อที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร’ แล้วมีอีกข้อความที่เขาเขียนถึงลูก ซึ่งก็เป็นข้อความที่กินใจเหมือนกัน”

“อีกคนที่ออกมาต่อสู้เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของคนธรรมดาในการที่จะปฏิเสธที่จะยอมรับการรัฐประหาร ไม่ให้ความชอบธรรมกับคณะรัฐประหาร คือกรณีของ ไผ่ ดาวดิน และเพื่อนๆ ที่ออกไปชูป้ายขับไล่ประยุทธ์ มีการชูสามนิ้วแล้วโดนจับจนไม่ได้ไปสอบในวันนั้น ในคำให้การของเขา เขาบอกว่า (ถอดความ) ‘การที่ตัวข้าพเจ้าออกไปชูป้ายในวันดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่า การแสดงออกของข้าพเจ้าไม่อาจทำให้การรัฐประหารหายไปได้ แต่เพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเองและคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่ไม่กล้ามาทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อความยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็คือหน้าที่ ข้าพเจ้าจึงทำหน้าที่นี้ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ก็เท่ากับเป็นการยอมรับให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารครั้งนี้’ ผมว่าตรงนี้สำคัญ คือรู้ว่าสิ่งที่ทำอาจไม่ได้เกิดผล อาจจะแพ้ แต่เขาต้องการออกมาสู้เพื่อให้เห็นว่ามีคนที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารและไม่ให้ความชอบธรรมกับมันนั้นมีอยู่จริง”

“น่าเสียดายที่สังคมมีคนอย่างสิรภพและไผ่น้อยเกินไป การรัฐประหารจึงสำเร็จ และศาลเองก็ยอมรับ เอาไปใช้อ้างในคำตัดสิน ไม่มีหลักฐานว่าประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธหรือต่อต้านการรัฐประหาร”

นอกเหนือจากคำพิพากษาที่ให้การรับรองการรัฐประหารแล้ว อาจารย์ประจักษ์ยังได้ชี้ให้เห็นว่าในหนังสือราษฎรกำแหงฯ เองก็มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่นำเสนอเกี่ยวกับคำพิพากษาในด้านที่ปฏิเสธความชอบธรรมของการรัฐประหาร แต่ก็มีจำนวนไม่มาก เพราะในภาพใหญ่ นักกฎหมายไทยมักยึดกับแนวคิดแบบรัฐนิยมที่มุ่งเน้นแต่เรื่องความมั่นคงในรัฐ  มากกว่าการรักษาสิทธิของประชาชน กลายเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดความชอบธรรมต่อวงจรของการรัฐประหาร

“ขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากการที่ตุลาการไทยให้การรับรองการรัฐประหารแล้ว ผมสะดุดกับเนื้อหาการตีความที่ก้าวหน้าโดยผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญา เป็นความเห็นส่วนตนในคดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินของคุณ ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะเป็นไม่กี่กรณีที่ตุลาการไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ท่านกล่าวไว้ว่า (ถอดความ) ‘หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย ทั้งเป็นการละเลยหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารอยู่ร่ำไป’ ผมคาดไม่ถึงว่าเราจะได้อ่านความเห็นแบบนี้โดยผู้พิพากษา แต่ก็เป็นความเห็นส่วนน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคือผู้พิพากษาส่วนใหญ่ตัดสินในทางตรงกันข้าม รองรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจเสร็จ ถือว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะไม่มีใครขัดขืน กลายเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรม”

“เมื่ออ่านคำตัดสินและคำวินิจฉัยต่าง ๆ ผมพบว่าการตีความส่วนใหญ่เน้นไปในทิศทางที่เน้นความมั่นคงของรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน คำตัดสินคดีเป็นไปเพื่อพิทักษ์ความมั่นคงของรัฐอย่างชัดเจน ตัวอย่างคำตัดสินที่สะท้อนกรณีนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมเราไม่ค่อยได้เห็นคำตัดสินของศาลในภาพรวมโดยทั่วไป ที่ปกป้องเสรีภาพของประชาชนเป็นตัวตั้ง  อันนี้เป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมที่รัฐสมัยใหม่ควรที่จะถูกจำกัดอำนาจ ไม่ควรใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจแล้วมาอ้างความมั่นคงที่เป็นนามธรรมเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน การจะจำกัดสิทธิโดยรัฐต้องเป็นข้อยกเว้นที่ใช้ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น”

“คำพิพากษาที่สะท้อนแนวคิดรัฐนิยมของนักกฎหมาย อย่างเช่นกรณีนักศึกษาฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีมีการปะทะจับกุมหน้าหอศิลป์ กทมฯ เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเกินกว่าขอบเขตจนทำให้คนที่มาชุมนุมบาดเจ็บ คำพิพากษาคดีนี้ในชั้นศาลอุทธรณ์คือยกฟ้อง บอกว่าบาดแผลของโจทก์ส่วนใหญ่เกิดจากการฉุดกระชากลากถู อันเกิดจากการขัดขืนของตัวโจทก์เองในขณะจับกุม ตอบแบบนี้คือถ้าไม่ขัดขืนคือไม่เจ็บตัว มองว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกำแหงของคุณเอง และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ใช้อำนาจเกินขอบเขต พอมีการอ้างเรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาโต้ ศาลก็บอกว่า แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ซึ่งในมาตรา 44 บัญญัติให้สามารถชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธได้ก็ตาม แต่วรรค 2 ยังเปิดช่องให้สามารถออกกฎหมายเพื่อความมั่นคงของรัฐได้ คือเอากฎหมายที่ให้อำนาจกับรัฐมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง”

ในองค์ประกอบที่ลึกลงไป นอกเหนือจากปัญหาในเรื่องของคำวินิจฉัยของศาลและกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งเน้นแต่เพียงความมั่นคงของรัฐ อีกสิ่งสำคัญที่ถูกสะท้อนออกมาในหนังสือราษฎรกำแหงฯ นั่นก็คือ “สายตา” ที่รัฐใช้มองประชาชนที่เห็นต่างไปจากตนและตีตราประทับคนเหล่านั้นในฐานะที่เป็น “ศัตรูของชาติ” อาจารย์ประจักษ์ได้ยกเคสคดีความการชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งเปิดเผยให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐอย่างชัดเจน

“อีกคดีที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ ในส่วนที่ว่าด้วยคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” มีศัพท์ที่ผมเพิ่งพบและเพิ่งรู้ว่ามีการใช้ศัพท์นี้คือ บุคคลเป้าหมาย มันโผล่ขึ้นมาระหว่างการสืบคดีว่าทำไมตำรวจถึงไปเพ่งเล็งคนเหล่านี้ และจับคนเหล่านี้ ตำรวจให้การว่า บุคคลเหล่านี้เป็นเป้าหมายอยู่แล้ว เขาตามมาซักพักแล้ว ไม่ได้จับโดยสุ่ม มีการเฝ้าติดตามนักวิชาการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐ “Enemy of the State” ภายใต้ระบอบรัฐประหาร สิ่งหนึ่งที่พบคือ หลังการรัฐประหาร 2557 มันเกิดปรากฏการณ์ Securitization of the State คือรัฐใช้เลนส์ความมั่นคงมามองทุกอย่าง ปัญหาทุกอย่างคือภัยคุกคามของรัฐและประเทศไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ กระทั่งนิยามว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์สงคราม มองว่ากองทัพมีหน้าที่มารักษาความสงบ เกิดการจำแนกประชาชนส่วนหนึ่งว่าเป็น บุคคลเป้าหมาย ที่จะต้องถูกจับตา จากการสืบพยาน ทำให้เราได้ทราบว่ามันมีการเก็บประวัติของประชาชนเยอะมาก โดยที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มีการดักฟัง แฮคอีเมล เก็บข้อมูลส่วนตัว นักวิชาการไปพูดอะไรที่ไหนก็จะถูกเก็บข้อมูลไว้ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาจะเอาข้อมูลนั้นไปทำอะไรบ้าง เก็บไปจำนวนเท่าไหร่ จะรู้อีกทีก็เมื่อตอนเราโดนดำเนินคดีเนี่ยแหละ ท่านก็จะรู้เลยว่าท่านมีแฟ้มข้อมูลที่รัฐเก็บเอาไว้ นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ผมว่าสำคัญที่เราจะต้องเผยแพร่เรื่องนี้ให้คนทั่วไปได้รู้เพราะมันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง เป็นเรื่องผิดด้วยซ้ำที่รัฐมองประชาชนเป็นศัตรู และสภาวะแบบนี้มันไม่ได้หมดไปแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม”

“อย่างที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นชัดเจนเรื่องคนที่ไปร่วมงาน วิ่งไล่ลุง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คนเริ่มโดนหมายเรียกแล้ว ก่อนหน้างาน บางคนก็โดนข่มขู่คุกคามที่บ้าน ในแง่นี้ สิ่งที่เรียกว่าระบอบรัฐประหารที่ศาลนิยามไว้เองมันไม่ได้หมดไปพร้อมกับ คสช. และการเลือกตั้ง องคาพยพในการใช้อำนาจแบบระบอบรัฐประหารยังคงมีอยู่”

“มันมีความผิดปกติหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสมัย คสช. ที่การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน การปกป้องประชาธิปไตยกลายเป็นอาชญากรรม แต่การละเมิดสิทธิ ทำลายประชาธิปไตย กลับกลายเป็นความดีงาม ทั้งหมดล้วนไม่มีเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดี แต่กลับถูกกล่าวขานในฐานะที่เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม กลายเป็นการกระทำเพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุข และนี่คือภาพสะท้อนถึงยุคสมัยที่ผิดเพี้ยนของสังคมไทย”

 

X