ศาลนัดพิพากษาคดี “แม่น้องเกด” ไม่แจ้งชุมนุม 19 ก.ค.นี้ หลังรับบทลูกสาวเล่นละครใบ้

เมื่อวันที่ 16-17 พ.ค. 62 ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีที่อัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางพะเยาว์ อัคฮาด หรือ “แม่น้องเกด” ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 61 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาวที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้ 

จับ “แม่น้องเกด” ฐานไม่แจ้งการชุมนุม เหตุชูป้าย “บัญชี หนัง หมา” ข้างอนุสาวรีย์ปชต.

‘แม่น้องเกด’ ให้การคดีชุมนุมไม่แจ้ง ยัน ‘ละครใบ้’ เป็นอีกหนทางร้องความเป็นธรรมให้ลูกสาว

เหตุเล่นละครใบ้ในวันสิทธิมนุษยชนจนถึงการถูกดำเนินคดี

ความเป็นมาของคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 61 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล เครือข่ายวิญญูชนผู้ยังได้รับผลกระทบจากเผด็จการ หรือ “ค.ว.ย.” จัดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ “แก้แค้น ไม่แก้ไข” โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบอบเผด็จการ คสช. เข้าร่วมบริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างนั้นได้มีผู้ร่วมเล่น “ละครใบ้” จำนวน 4 คน ได้แก่ พะเยาว์ อัคฮาด, กฤษณะ ไก่แก้ว, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ทั้ง 4 คนแต่งกายเป็นยมบาลและชุดอาสาสมัครพยาบาลมาร่วมชูป้ายคำว่า “บัญชี หนัง หมา” ซึ่งภายในป้ายเป็นรูปภาพเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553

นอกจากนี้ ยังมีภาพจำนวน 6 ภาพปรากฏอยู่ในป้ายด้วย โดยมีภาพบุคคลได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กิจกรรมที่จัดนั้นอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านแมคโดนัลด์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามจะเข้าควบคุมตัวทั้งสี่คน

ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้มีการแจ้งข้อหากับนางพะเยาว์ อัคฮาด เพียงคนเดียว ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ส่วนอีกสามคนถูกกันเป็นพยานโจทก์ ซึ่งในคำให้การในชั้นสอบสวน พะเยาว์ระบุถึงเจตจำนงในการทำกิจกรรมในวันดังกล่าวว่า

“เพื่อให้สังคมตระหนักและไม่ลืมเหตุการณ์การล้อมปราบประชาชนในปี 2553 จึงได้ทำกิจกรรม “ละครใบ้” ซึ่งตนได้รับบทเป็นบุตรสาวของตนเอง โดยได้สวมชุดที่เปื้อนเลือดของลูกสาวซึ่งได้เก็บรักษาไว้ เพื่อเตือนใจและเป็นกำลังใจในการต่อสู้ และมีเพื่อนตนรับบทเป็นยมทูตถือบัญชีหนังหมา และในบรรดาวิธีเรียกร้องเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ตนได้พยายามตามวิถีทางของผู้เป็นแม่ที่สูญเสียลูกแล้วทุกวิถีทางที่สามารถกระทำได้ การทำกิจกรรมละครใบ้เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะแสดงออกให้สังคมไม่หลงลืมเหตุการณ์การล้อมปราบฯ และร่วมกันนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ สร้างบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย อันเป็นการแสดงออกในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”

 

พยานเบิกความ ละครใบ้ เป็นการชุมนุม แม้มีผู้เข้าร่วมจะมี 3 คน หรือ 1 คน ก็ตาม

16 พ.ค. 62 เป็นนัดสืบพยานวันแรก โดยนางพะเยาว์ยังยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงเริ่มการสืบพยาน โดยโจทก์นำพยานเบิกความในวันแรกทั้งสิ้น 4 ปาก ได้แก่ พล.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ, พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน, พ.ต.ท.กฤชณัท เหล่ากอ และพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหนึ่งคน โดยประเด็นหลักที่พนักงานอัยการนำสืบจากพยานทั้ง 3 ประเด็น คือ

(1) การพิมพ์ข้อความหรือการโพสต์ข้อความเชิญชวนบุคคลมาแสดงละครใบ้ของนางพะเยาว์และผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีก 3 คน เป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่

(2) เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะ นางพะเยาว์ในฐานะผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งความประสงค์ว่าจะจัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย คือหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม อันเป็นท้องที่ที่นางพะเยาว์จัดให้มีการชุมนุมหรือไม่

(3) พื้นที่จัดการชุมนุม ซึ่งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่สาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะได้หรือไม่

ทั้งนี้ พยานโจทก์ทั้ง 4 คน ขึ้นเบิกความมีสาระสำคัญไปในทางเดียวกันว่า ได้ทราบว่านางพะเยาว์จะจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่น.ส.กมลเกด อัคฮาค ลูกสาว และผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ทหารล้อมปราบเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ผ่านทางข้อความที่นางพะเยาว์เผยแพร่ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 เวลาประมาณ 11.44 น.

ข้อความระบุว่าจะมีการจัดกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันที่ 10 ธันวาคม 2561 และเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมแสดงเจตจำนงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าจากส่วนหนึ่งของข้อความที่นางพะเยาว์เผยแพร่ลงไปเป็นการเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมแล้ว เพราะมีคำว่า “เข้าร่วม” ดังนั้น นางพะเยาว์จึงเป็นผู้จัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ส่วนประเด็นที่ว่าการแสดงละครใบ้ของนางพะเยาว์และผู้เข้าร่วมอีก 3 คน เป็นการชุมนุมสาธารณะที่จัดในพื้นที่สาธารณะหรือไม่นั้น พยานโจทก์ 3 คน เบิกความตรงกันว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ แม้จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยแต่งกายเลียนแบบคนตายและยมทูตในวันนั้นเพียง 3 คน และแม้ว่าระหว่างทำกิจกรรมจะไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงและการปราศรัยก็ตาม โดยพล.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ ยังเบิกความเพิ่มเติมว่า ทุกกรณีที่มีการจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ แม้เป็นการยืนเฉย ๆ เพียงแค่คนเดียว ก็ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ ทั้งนี้ พยานโจทก์ยังอ้างต่อไปว่าในการทำกิจกรรมข้างต้นอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมของพะเยาว์จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ประเด็นสุดท้ายคือ เมื่อการจัดกิจกรรรมของนางพะเยาว์เป็นการชุมนุมสาธารณะ และนางพะเยาว์เป็นผู้จัดการชุมนุมนั้น นางพะเยาว์ได้แจ้งความประสงค์ในการจัดการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายล่วงหน้า เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงหรือไม่ ซึ่งพยานโจทก์ทั้ง 4 ปากเบิกความว่า จากการตรวจสอบระหว่างผู้มีหน้าที่รับแจ้งทั้งสองสถานี ไม่พบว่านางพะเยาว์ได้แจ้งการชุมนุมไว้ล่วงหน้าตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด

 

ถามค้าน: จำเลยทำกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่ลูกสาวเสียชีวิตไม่นาน ส่วนละครใบ้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน

ในส่วนเนื้อหาที่ทนายความของพะเยาว์ ขึ้นถามค้านพยานทั้ง 4 ประเด็นที่พยานโจทก์เบิกความไว้ โดยสรุปสาระสำคัญ คือ ประเด็นที่ (1) การจัดกิจกรรมของพะเยาว์เป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ โดยทนายความถามพยานโจทก์ว่าในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงเป็นที่ปรากฏโดยทั่วไปว่าจะมีการออกมาจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นปกติ และพะเยาว์เองเคยจัดกิจกรรมในลักษณะนี้มาแล้วนับตั้งแต่ลูกสาวของพะเยาว์เสียชีวิตจากการล้อมปราบของเจ้าหน้าที่ทหาร ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553  ในปี 2561 พะเยาว์เคยจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันในบริเวณวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นบริเวณที่ลูกสาวของพะเยาว์เสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่มิได้ดำเนินคดีต่อพะเยาว์ในข้อหาหรือตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในข้อความที่พะเยาว์เผยแพร่ลงไปในเฟซบุ๊กของตนนั้น พะเยาว์ใช้คำว่า “เชิญร่วมแสดงเจตนารมณ์” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเชิญชวนให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าร่วมการทำกิจกรรม โดยร่วมแต่งกายเป็นผู้ตายหรือยมทูตเพื่อร่วมเดินขบวนไปด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น พยานโจทก์ทั้งหมดทราบดีว่า ระหว่างจัดกิจกรรม ไม่มีบุคคลที่แต่งกายในลักษณะดังกล่าวเข้าร่วมทำกิจกรรมเลย ท้ายที่สุดแล้ว การจัดกิจกรรมของพะเยาว์ ซึ่งไม่ใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีการปราศรัย มีเพียงแต่การชูป้ายที่เขียนว่า “บัญชีหนังหมา” ที่มีรูปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ขึ้น เพราะนักข่าวที่มาทำข่าวขอให้ทำเนื่องจากต้องการภาพข่าว ก็ไม่ได้สร้างความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยให้แก่บุคคลอื่นในพื้นที่แต่อย่างใด

ต่อมาประเด็นที่ (2) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ที่บัญญัติเรื่องการสั่งให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ ทั้งนี้ หลังจากที่ทนายความถามถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเจรจากับพะเยาว์ เมื่อพะเยาว์เดินเท้ามาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้ว ทั้งหมดให้ข้อเท็จจริงตรงกันว่าได้เข้าไปสอบถามพะเยาว์ว่าได้แจ้งการชุมนุมไว้ล่วงหน้าหรือไม่เท่านั้น เมื่อพะเยาว์ตอบว่าไม่ได้แจ้งเพราะเห็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ

พยานโจทก์ยังเบิกความเพื่อตอบคำถามค้านว่า มีการแจ้งว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อพะเยาว์ แต่เป็นการแจ้งด้วยปากเปล่า ไม่ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่าให้เลิกการชุมนุมตามมาตรา 21 (1) และแทนที่จะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ เพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น พยานโจทก์กลับเชิญตัวพะเยาว์ไปทำบันทึกการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ตามที่ปรากฏในคดี ณ สน.ชนะสงครามแทน

.

สืบพยานวันที่สอง พยานเบิกความเล่นละครใบ้ จึงไม่ต้องแจ้งชุมนุม

ในส่วนวันที่ 17 พ.ค. 62 ศาลทำการสืบพยานโจทก์ต่ออีก 4 ปาก ประกอบด้วยผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 3 คน คือ กฤษณะ ไก่แก้ว, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และพนักงานสอบสวนอีก 1 คน

ทนายความมีการถามค้านใน 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ มูลเหตุจูงใจของจำเลยในการทำกิจกรรมแสดงละครใบ้ และการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีการตายของผู้เสียชีวิต 6 คนในวัดปทุมวนาราม จากเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งพยานเบิกความไปในทางเดียวกันว่าเหตุของการทำกิจกรรมเนื่องจากต้องการทวงถามความยุติธรรม เพราะ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ได้ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามในเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา โดยผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ ทั้ง 6 คน จากการไต่สวนการตายในศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ความว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้การบังคับบัญชาและความรับผิดชอบของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก และในช่วงก่อนที่ทำกิจกรรมละครใบ้ มีข่าวตามสื่อมวลชนว่าทหารได้เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

ประเด็นถัดมาที่ทนายความถามพยานคือ การทำกิจกรรมเพื่อรำลึกผู้เสียชีวิตสามารถทำได้มาโดยตลอด เหตุใดพยานจึงเห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายในวันเกิดเหตุ ด้านพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ตนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่สอบปากคำเท่านั้น และไม่ทราบถึงความเป็นมาของการทำกิจกรรมก่อนหน้านี้ ส่วนพยาน 3 ปากแรกให้การตรงกันว่าที่ผ่านการทำกิจกรรมเพื่อรำลึกผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมสามารถทำได้โดยตลอด

เนื่องจากทราบว่าคดีการสลายการชุมนุมซึ่งได้ถูกพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำการสอบสวนเพื่อฟ้องผู้กระทำผิดเป็นคดีอาญาไปแล้วนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 คดีความดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งมีข่าวการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยนายทหารระดับสูง ซึ่งจำเลยเคยร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของนายทหารผู้นั้นแล้ว แต่เรื่องไม่ได้คืบหน้าแต่อย่างใด รวมถึงคดีความดังกล่าวยังมีข่าวว่าถูกจัดให้เป็น “คดีมุมดำ” คือคดีที่หาผู้กระทำความผิดไม่ได้ และอาจไม่มีการสอบสวนเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีอีก จึงเห็นว่าการทำกิจกรรมเล่นละครใบ้ จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธรณะ พ.ศ. 2558

หลังจากเสร็จกระบวนการพิจารณาคดีวันนี้ ศาลได้อ่านรายงานกระบวนการพิจารณาคดีให้คู่ความทราบ และมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 ก.ค. 62 เวลา 10.00 น.

 

X