ทำไม ‘ธนาธร’ อาจต้องขึ้นศาลทหาร: รู้จักศาลทหารยุค คสช.

6 เม.ย. 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ข้อหาพาผู้ต้องหาหลบหนี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189, และข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 จากการเดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. บริเวณ สน.ปทุมวัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2558

หลังรับทรายข้อกล่าวหา หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า กังวลใจที่คดีนี้ต้องขึ้นศาลทหาร โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ยืนยันว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

ทำไม ‘ธนาธร’ ซึ่งเป็นพลเรือนจึงอาจถูกดำเนินคดีในศาลทหาร?

ภาพโดย Banrasdr Photo

22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจในการปกครองประเทศ และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตามมาด้วยการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2557 ให้คดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์, คดีความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, คดีความผิดตามประกาศ และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ, และความผิดเกี่ยวกับอาวุธ เป็นคดีที่พิจารณาในศาลทหาร โดยมีประกาศที่เกี่ยวข้องกับการให้ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารเพิ่มเติม คือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 50/2557 เชื่อมกับฉบับที่ 11/2557 ให้คดีความผิดที่เกี่ยวโยงกันต้องขึ้นศาลทหาร

จะเห็นได้ว่าความผิดที่ คสช. ประกาศให้พิจารณาในศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง และความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ล้วนเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น แม้จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559 ออกมายุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร แต่คำสั่งดังกล่าวมีผลเฉพาะการกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2559 เป็นต้นไปเท่านั้น ส่วนการกระทำผิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557-11 ก.ย.2559 จะยังคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร แม้จะถูกฟ้องคดีหลังจากมีคำสั่งยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้วก็ตาม

คดีของธนาธร ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การกระทำเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 เป็นข้อหาและช่วงเวลาที่ คสช.​ ประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีของพลเรือนได้ โดยคดีนี้จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ

การตั้งข้อหาตามมาตรา 116 เพื่อให้ศาลทหารพิจารณาคดีนั้นได้ในยุค คสช. เช่น คดีแถลงข่าวต่อต้านการรัฐประหารของนายจตุรนต์ ฉายแสง, คดีโพสต์ชวนคนชู 3 นิ้ว ของสมบัติ บุญงามอนงค์, คดีพลเมืองรุกเดินของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพคดีมอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์ของลุงปรีชาคดีโพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้านของรินดา, คดี 8 แอดมินเพจเรารัก พล.อ.ประยุทธ์, คดีกดไลค์ หมิ่นหมา แชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ของฐนกร, คดีแชร์ผังทุจริจอุทยานราชภักดิ์ของธเนตร, คดีโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการที่ จ.ระยอง, คดีจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ และคดีที่ยังไม่ถึงชั้นศาลแต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เช่น คดี 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นต้น

ทำความรู้จักศาลทหาร แตกต่างจากศาลยุติธรรมอย่างไร?

ศาลทหารจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานในฝ่ายบริหาร ไม่ใช่หน่วยงานในฝ่ายตุลาการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการ และเป็นผู้อนุมัติระเบียบราชการของศาลทหารและอัยการทหาร ศาลทหารแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด

ศาลทหารมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการปกครองและบังคับบัญชาทางทหาร ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กำหนดให้ศาลทหารมีหน้าที่วินิจฉัยตัดสินคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร นักเรียนทหาร พลเรือนในสังกัดราชการทหารเมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหาร หรือกระทำผิดในบริเวณที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร บุคคลซึ่งต้องขัง หรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย และเชลยศึกหรือชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งกระทำผิดตามกฎหมายอาญา กฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา และกฎหมายทหาร

โดยปกติศาลทหารมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแตกต่างจากศาลอื่นอยู่แล้ว เช่น หากผู้เสียหายไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารจะไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลทหาร ผู้เสียหายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยคืนทรัพย์ หรือชดใช้ราคาทรัพย์ หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อศาลทหาร และศาลทหารมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เช่น ตุลาการทหาร อัยการทหาร ทนายทหาร จ่าศาลทหาร นายทหารพระธรรมนูญ เป็นทหารและแต่งเครื่องแบบทหารขณะปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ จากงานวิจัยเรื่อง อำนาจของศาทหาร โดย ร.ท.ญ.ฉายพรรณ ไทยวัฒน์ ในปี พ.ศ.2521 ระบุว่าศาลทหารแตกต่างจากศาลพลเรือน ดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชาทหารเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหารชั้นต้นได้ ตุลาการศาลทหารมีอำนาจเฉพาะคดีที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ไม่ได้อยู่ประจำศาลเช่นเดียวกับศาลพลเรือน หมายความว่า ตุลาการศาลทหารจะพิจารณาคดีไม่ได้จนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นองค์คณะพิจารณาคดี และเคลื่อนย้ายไปพิจารณาคดีในสถานที่ที่อยู่ในเขตอำนาจได้

2. องค์คณะของศาลทหารประกอบด้วยตุลาการ 2 ประเภท คือ ตุลาการพระธรรมนูญที่จบนิติศาสตร์ และตุลาการทหารที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมาย รวมกันเป็นองค์คณะ เนื่องจากศาลทหารตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือในการบังคับบัญชาทหาร ขณะที่ศาลพลเรือน ผู้พิพากษาจะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดีเท่านั้น

ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ยังแสดงให้เห็นว่า ศาลทหารในเวลาปกติ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติมีวิธีพิจารณาแตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ คือ ศาลทหารในเวลาที่มีการรบ อยู่ในสถานะสงคราม หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และศาลอาญาศึก คือศาลทหารในพื้นที่สงคราม ซึ่งศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลทหารอาญาศึก ห้ามอุทธรณ์และฎีกา ในส่วนของศาลทหารอาญาศึกสามารถพิจารณาคดีอาญาในเขตอำนาจศาลได้โดยไม่จำกัดบุคคล รวมถึงห้ามจำเลยแต่งตั้งทนายความ

ปัจจุบันทั่วประเทศมีมณฑลทหารบกอยู่ทั้งหมด 35 แห่ง รวมศาลทหารกรุงเทพ ขึ้นตรงต่อ 4 กองทัพภาค จังหวัดที่มีขนาดใหญ่จะมีมณฑลทหารดูแลทั้งจังหวัดโดยเฉพาะ ส่วนจังหวัดขนาดรองลงมา โดยเฉลี่ยจะมีมณฑลทหารบกหนึ่งหน่วยดูแลพื้นที่ราวสองถึงสามจังหวัด

พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปแล้วกี่คน?

ข้อมูลจากสำนักตุลาการทหาร กรมพระธรรมนูญ นับจาก 25 พ.ค. 2557 ถึง 30 พ.ย. 2559 ระบุว่ามีจำนวนพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารทั้งสิ้น 2,177 คน หากนับเป็นคดีจะมีคดีพลเรือนในศาลทหารทั้งหมด 1,720 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธ 1,577 คดี คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 86 คดี คดีฝ่าฝืนประกาศ หรือคำสั่ง คสช. 44 คดี และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 13 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาคดี 416 คดี และมีหมายจับค้างอยู่อีกอย่างน้อย 528 หมาย

จากสถิติดังกล่าว คดีส่วนใหญ่สิ้นสุดไปแล้ว แต่จากประสบการณ์การของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึง 31 มี.ค. 2562 ช่วยเหลือคดีในศาลทหารทั้งหมด 58 คดี พบว่า คดีที่สิ้นสุดเร็วล้วนเป็นคดีที่จำเลยรับสารภาพและไม่มีการสืบพยานในชั้นศาล หรือสิ้นสุดเพราะมีกฎหมายใหม่มายกเลิกการกระทำที่เคยบัญญัติให้เป็นความผิด ทำให้ศาลทหารต้องหยุดการพิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากศาล ส่วนคดีที่ยังไม่สิ้นสุดคือคดีที่จำเลยต่อสู้คดี  มีบางคดีที่ถูกฟ้องตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังสืบพยานไม่เสร็จ เนื่องจากศาลทหารไม่มีระบบการนัดพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อพยานซึ่งนัดไว้ล่วงหน้าไม่มาศาลโดยอ้างเหตุติดราชการ  ศาลก็จะให้เลื่อนการสืบพยาน  ทำให้เสียวันนัดดังกล่าวไป และโดยปกติศาลทหารจะนัดสืบพยานเพียงครึ่งวันในช่วงเช้าเท่านั้น  ทำให้การพิจารณาคดีของศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อเทียบกับคดีประเภทเดียวกันที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม

พลเรือนที่ต่อสู้เพื่อไม่ขึ้นศาลทหาร

มีพลเรือนที่ตกเป็นจำเลยอย่างน้อย 15 คดี ที่เห็นว่า คดีของตนไม่ควรถูกพิจารณาที่ศาลทหาร และพยายามคัดค้านเพื่อจะได้ไปต่อสู้คดีที่ศาลยุติธรรมตามปกติ โดยผ่านช่องทางตามกฎหมายที่สามารถใช้คัดค้านอำนาจศาลทหารได้ มี 2 ช่องทาง คือ

1. การยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หากจำเลยเห็นว่าตัวเองไม่ควรขึ้นศาลทหาร สามารถยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ที่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบุว่า ในคดีที่จำเลยเห็นว่ากฎหมายที่จะใช้บังคับในคดีกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลย และกฎหมายนั้นๆ ขัดรัฐธรรมนูญ จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนั้นๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นเป็นอันสิ้นผลไปและจะนำมาใช้กับจำเลยไม่ได้

2. การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลทหาร

กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่มีอยู่แล้วในการพิจารณาคดีทั่วไป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มีขั้นตอนคือ เมื่อจำเลยเห็นว่าคดีของตนควรถูกพิจารณาที่ศาลอีกแห่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่ตนถูกฟ้อง ศาลจะรับคำร้องไว้และสั่งรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เพื่อทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจของตนตัวเอง และส่งเรื่องไปให้ศาลที่จำเลยเห็นว่ามีอยู่ในเขตอำนาจทำความเห็นด้วย

หากจำเลยเห็นว่าตัวเองไม่ควรขึ้นศาลทหาร ก็ต้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจต่อศาลทหาร ศาลทหารจะทำความเห็นว่าตัวเองมีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีนั้นหรือไม่ และส่งเรื่องไปให้ศาลพลเรือนที่เกี่ยวข้องทำความเห็นว่าตัวเองศาลนั้นมีเขตอำนาจหรือไม่ หากทั้งสองศาลเห็นตรงกันว่าจำเลยต้องขึ้นศาลทหาร ข้อโต้แย้งของจำเลยก็จะตกไป หรือหากทั้งศาลทหารและศาลพลเรือนเห็นตรงกันว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลพลเรือน คดีของจำเลยก็จะถูกโอนไปต่อสู้ในศาลพลเรือน แต่ถ้าศาลทหารกับศาลพลเรือนมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เป็นผู้พิจารณาว่า คดีของจำเลยควรจะต้องขึ้นศาลใด และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด

X