เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติฐานก่อความวุ่นวาย

ภาพจาก Banrasdr Photo

15 ส.ค. 2561 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 11 ชั้น 3 ศาลจังหวัดพระโขนง เป็นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 3 นักกิจกรรมทางการเมือง “ฉีกบัตรประชามติ” บริเวณหน่วยเลือกตั้งสำนักงานเขตบางนา โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559

คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปิยรัฐ จงเทพ, นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และนายทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59, 60 (9)

ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้ง 3 ฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ แต่ลงโทษ ‘โตโต้’ หรือปิยรัฐ จงเทพ ฐานทำลายบัตรออกเสียงประชามติ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย โดยปรับ 4,000 บาท และลงโทษจำคุก 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โดยให้รอลงอาญา 1 ปี ซึ่งทั้งอัยการฝ่ายโจทก์และทนายความฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

คำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์

สำหรับคำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า บัตรออกเสียงประชามติระบุข้อความชัดว่า “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” มีความหมายที่เข้าใจสำหรับผู้เข้าไปลงประชามติ จึงถือว่าบัตรออกเสียงดังกล่าวเป็นเอกสารแล้ว ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7)

ประเด็นต่อมาคือการที่จำเลยเข้าไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติแล้วหยุดที่หน้าหีบลงคะแนนเสียง ตะโกนคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แล้วทำการฉีกบัตรออกเสียง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของรัฐ มิใช่การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี

คำอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลย

ขณะที่ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะกรณีของปิยรัฐ โดยเห็นว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติมีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ไม่ใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งกฎหมายทั่วไป คือ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงขัดต่อหลักกฎหมายในกรณีที่มีความผิดระบุไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะ ให้ลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น รวมถึงขออุทธรณ์โทษจำคุกเป็นรอการกำหนดโทษไว้ก่อน

นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยยังแก้อุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เนื่องจากมีแนวคำพิพากษาฎีการะบุไว้ว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายลงไปยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้รบกวนการใช้สิทธิออกเสียงของบุคคลอื่น การลงประชามติยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงเช่นกัน

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้

ประเด็นแรก การที่จำเลยได้ทำการฉีกบัตรออกเสียงลงประชามติ 1 แผ่น ออกเป็น 2 ท่อน เป็นการทำลายบัตรที่มีไว้ออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้นั้น ปัญหาข้อนี้ศาลเห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก ได้กระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาที่จะทำลายบัตรออกเสียงประชามติเท่านั้น แม้การกระทำดังกล่าวอาจต้องด้วยองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 188 แล 358 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติความผิดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เท่านั้น ไม่ต้องลงโทษตามบทกฎหมายทั่วไป คือตามประมวลกฎหมายอาญาอีก

ประเด็นต่อมาที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเจ้าพนักงานออกเสียงเข้าห้ามจำเลยที่ 2-3 และไม่ยอมเชื่อฟัง ขณะเดียวกัน จำเลยที่ 1 รับบัตรแล้วไม่ใช้สิทธิลงคะแนน แต่ฉีกบัตรออกเสียงและตะโกน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันนำวีดีโอที่จำเลยที่หนึ่งฉีกบัตรไปโพสต์ในเฟสบุ๊คของจำเลยที่ 2-3 ต่อสาธารณะเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นร่วมกันก่อความวุ่นวาย ในที่ออกเสียงหรือรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง

ทางพิจารณามีนางจารุวรรณ ศรีทองชัย ประธานประจำหน่วยเลือกตั้ง นางอัมรินทร์ นนทะโคตร ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียง และดาบตำรวจสมพร ภักวงษ์ทอง และพยานผู้ตรวจเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสาม ได้เบิกความว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงความเห็นทางการเมืองร่วมกันมาโดยตลอดก่อนก่อเหตุ ทั้งในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เดินมายกโทรศัพท์มือถือ มีลักษณะถ่ายรูปหรือวีดีโอขณะที่จำเลยที่ 1 พูดว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ พร้อมกับฉีกบัตรเลือกตั้ง ก่อนที่จำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพหรือวีดีโอ ทั้งยังนำไปโพสต์ในเฟสบุ๊คของจำเลยที่ 2-3

การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันตระเตรียมการมาเพื่อประสงค์ต่อผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นตัวการร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรลงประชามติ อันเป็นผลจากการกระทำในเจตนาร่วมกัน การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9)  ศาลเห็นว่าอุทธรณ์ในส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในประเด็นนี้ ศาลเห็นว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และมาตรา 5 ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวต้องทำภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เป็นธรรม ดังนั้น การใช้สิทธิใด ๆ แม้จะเป็นการต่อต้านก็ต้องกระทำโดยสันติวิธีเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย การที่จำเลยที่ 1 จงใจฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ซึ่ง พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติว่าเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ มิใช่เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใด  การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการร่วมกันก่อให้เกิดความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ฉีกบัตรลงประชามติ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรค 1 เป็นผลให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ อันเป็นความผิดตามมาตรา 60 (9) ซึ่งเป็นการกระทำด้วยเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมที่ผิดต่อกฎหมายหลายบท อันต้องลงโทษตามมาตรา 60(9) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ให้รอการกำหนดโทษ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่การจะใช้สิทธิต่อต้านใด ๆ นั้น ต้องกระทำโดยสันติวิธี จะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมุ่งหวังผลเพื่อเผยแพร่การกระทำของพวกตนที่ล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ชักจูงให้ว่าเป็นสิ่งชอบธรรมที่จะกระทำได้ ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม จึงไม่มีเหตุให้รอการกำหนดโทษตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 วรรค 1 และมาตรา 60 (9) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวายตามมาตรา 60(9)  ส่วนจำเลยที่ 2-3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

ดาวน์โหลดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็มที่นี่

 

 

 

X