จับตาคดีแม่ครัวถูกกล่าวหาครอบครองอาวุธ ศาลทหารนัดพิพากษาพรุ่งนี้ หลังพิจารณาเกือบ 4 ปี

22 มิ.ย. 61 นี้ เวลา 8.30 น. ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของนางเสาวณี อินต๊ะหล่อ อายุ 53 ปี อดีตแม่ครัวร้านอาหารในจังหวัดลำพูน ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 โดยร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง, ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ และร่วมกันมีใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค.57 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าตรวจค้นภายในสวนลำไยแห่งหนึ่ง บริเวณตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยเจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่ามีการสืบทราบว่าบริเวณสวนลำไยดังกล่าว มีการฝึกการใช้อาวุธของกลุ่มการ์ดผู้ชุมนุมทางการเมือง และได้พบชายฉกรรจ์ 4-5 คน ซึ่งเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งหมดต่างพากันวิ่งหลบหนี ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมตัวนางเสาวณีเอาไว้ได้ รวมทั้งมีการตรวจค้นบริเวณสวน พบอาวุธปืนยาวแบบไทยประดิษฐ์ เครื่องกระสุนจำนวนหนึ่ง เสื้อเกราะกันกระสุน วิทยุสื่อสาร และสัญลักษณ์เสื้อหรือป้ายเกี่ยวกับคนเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่ง จึงมีการดำเนินคดีกับนางเสาวณีที่เจ้าหน้าที่พบตัวในสวนลำไยดังกล่าว

คดีนี้ อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร เมื่อวันที่ 15 ก.ย.57 โดยจำเลยไม่ได้รับการประกันตัวภายหลังสั่งฟ้อง จนกระทั่งการยื่นประกันตัวครั้งที่ 5 ศาลทหารจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสน ทำให้เธอถูกคุมขังไว้เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน

หลังจากนั้น เสาวณีมีนัดต้องไปศาลทหารทุกๆ 2-3 เดือน มาเป็นเวลา 3 ปี และการถูกจำคุกระหว่างพิจารณา ทำให้สุขภาพเธอย่ำแย่ลง ทั้งโรคภัยที่มีอยู่เดิมแล้ว อย่างเบาหวาน ความดันสูง และโรคหัวใจ เธอยังมีอาการประสาทตาเสื่อม ต้องเข้ารับการผ่าตัดและยิงเลเซอร์ที่โรงพยาบาล เธอไม่สามารถทำงานแม่ครัวที่เคยทำได้อีกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ทำให้ต้องไปรับจ้างงานต่างๆ เช่น ล้างถ้วยชาม หรืองานเก็บลำไยในช่วงฤดู แต่รายได้ก็ได้เป็นรายวันและไม่มีความแน่นอน ทั้งยังมีภาระต้องดูแลลูกและแม่ที่อายุมากแล้ว และยังต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นประจำ ท่ามกลางการดำเนินคดีที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

 

 

ศาลทหารเห็นว่าคสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร

หลังจากคดีนี้ถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหาร ทางฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารหรือไม่  หลังจากใช้เวลาอีกกว่าครึ่งปี ศาลทหารจึงได้มีคำวินิจฉัยคำร้องในเดือนกรกฎาคมปี 2558 เห็นว่าประกาศเรื่องศาลทหาร เป็นประกาศของคสช. ซึ่งได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 เป็นประกาศคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ที่ประกาศให้บุคคลพลเรือนที่กระทำความผิดตามประกาศอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร อันถือได้ว่ามีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย และมาตรา 47 ยังบัญญัติรับรองให้ประกาศและคำสั่งคสช.ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด คดีนี้จึงไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ขณะเดียวกัน ศาลทหารยังส่งความเห็นไปให้สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และศาลจังหวัดลำพูนได้มีความเห็นเช่นกันว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ทำให้ศาลทหารจึงได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จึงมีการเริ่มนัดตรวจพยานหลักฐานในช่วงเดือนกันยายน 2558

 

การสืบพยานในศาลทหารดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

กว่าจะได้เริ่มสืบพยานปากแรกของคดีนี้จริงๆ ก็ล่วงถึงเดือนธันวาคม 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 จำเลยมีปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานออกไป ทั้งในนัดต่อๆ มา พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารชุดจับกุม ไม่เดินทางมาศาล เนื่องจากถูกย้ายไปพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ต้องมีการเลื่อนสืบพยานเรื่อยมา รวมแล้วเหตุปัจจัยทั้งสองประการทำให้คดีเลื่อนการเริ่มสืบพยานออกมากว่าหนึ่งปีเศษ

ความล่าช้าสำคัญอีกประการหนึ่ง คือรูปแบบการนัดสืบพยานในศาลทหาร ที่ใช้รูปแบบการนัด 2-3 เดือนต่อหนึ่งนัด ในหนึ่งนัดยังมักจะสืบพยานได้ไม่เกิน 1-2 ปาก บางปากสำคัญหากเบิกความยาวและไม่เสร็จสิ้น ยังต้องเลื่อนนัดสืบพยานออกไปอีกนัดหนึ่งด้วย รูปแบบการนัดเช่นนี้แตกต่างจากศาลพลเรือนอย่างมาก โดยศาลพลเรือนจะกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน จนเสร็จสิ้น ทำให้คดีดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วกว่า

ในคดีนี้ หลังเริ่มการสืบพยานในเดือนธันวาคม 2559 อัยการทหารมีการนำพยานโจทก์มานำสืบรวมทั้งสิ้น 7 ปาก แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2561 รวมเวลา 1 ปี 2 เดือนเศษ ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 นัด โดยในจำนวนนี้ เป็นการเลื่อนสืบพยาน 2 นัด เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล และมีพยานสองปากที่เป็นพยานคู่ ทำให้ทางฝ่ายจำเลยยืนยันว่าต้องนำมาสืบพร้อมกันในนัดเดียว

ก่อนมีการสืบพยานจำเลยจำนวน 3 ปาก ใช้เวลา 2 นัด คือในเดือนมีนาคมและเมษายน 2561 และศาลทหารได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ โดยคำพิพากษาจะถึงที่สุดในศาลเดียว เนื่องจากเหตุเกิดขึ้นในช่วงของการประกาศใช้กฎอัยการศึก

 

เผยหลังจับกุมมีการนำตัวจำเลยเข้าไปในค่ายทหาร พร้อมกับชายอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดี

ในส่วนของพยานฝ่ายโจทก์ 7 ปาก ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าตรวจค้นจับกุมในสวนลำไย 2 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน, เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน, ชาวบ้านที่พบในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดี, เจ้าของที่ดินที่เกิดเหตุ และพนักงานสอบสวนในคดี

สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าตรวจค้น ได้แก่ ร.อ.ณัฐ วาณิชบำรุง หัวหน้าชุดรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดลำพูน ระบุว่าการเข้าตรวจค้นอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก โดยหน่วยของพยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจดูพื้นที่ต้องสงสัยในสวนลำไย พบกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ทหาร ได้วิ่งหลบหนีไป เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังเข้าไปตรวจสอบบ้านพักในที่เกิดเหตุ ตรวจพบจำเลย พร้อมกับอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนในบริเวณนั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารหลายหน่วยติดตามเข้ามาตรวจค้นในจุดต่างๆ แต่พยานจำไม่ได้ว่าจำเลยในคดีนี้จะได้ร่วมตรวจค้นในทุกจุดพร้อมกับฝ่ายทหารด้วยหรือไม่

ร.อ.ณัฐยังระบุว่าหลังจากนั้นจึงมีการจับกุมตัวจำเลย โดยจำเลยไม่ได้หลบหนี ในช่วงเย็นวันดังกล่าว ยังมีคำสั่งให้นำตัวจำเลยเข้าไปสอบสวนภายในกรมทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่พยานไม่ทราบว่าภายในค่ายทหารมีการดำเนินการอย่างไรกับจำเลย และมีการนำของกลางที่ตรวจยึดทั้งหมดไปส่งตำรวจหรือนำเข้าไปในค่ายด้วยหรือไม่ ก่อนทราบว่าได้มีคำสั่งปล่อยตัวจำเลยในวันรุ่งขึ้น (27 พ.ค.57) และพยานได้รับคำสั่งให้นำของกลางไปแจ้งความดำเนินคดีที่สภ.เหมืองจี้

พยานทหารอีกปากหนึ่งที่เข้าร่วมการตรวจค้น คือ ส.อ.อาทิตย์ บัวศรี ระบุถึงวันเกิดเหตุ ว่าเป็นการตรวจตราตามปกติ ไม่ได้เป็นการจู่โจมจุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ และเมื่อมีชายจำนวนหนึ่งวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ ชุดเจ้าหน้าที่ของพยานก็ไม่ได้ไล่ตาม จึงไม่สามารถจับกุมมาได้

ส.อ.อาทิตย์ ระบุว่าขณะพบจำเลย ไม่ได้มีท่าทางมีพิรุธ หรือจะหลบหนีแต่อย่างใด โดยจำเลยระบุว่าตนมาทำอาหารและเฝ้าสวนลำไย อยู่กับแฟนของตน แต่แฟนไม่อยู่ ต่อมาทราบชื่อแฟนของจำเลยคือนายสมพงษ์  ในส่วนอาวุธที่ตรวจพบไม่ได้อยู่รวมกัน แต่กระจายอยู่ในจุดต่างๆ เช่น พบกระสุนปืนบนโต๊ะบริเวณหน้าบ้าน และพบปืนอยู่ภายในบ้าน พร้อมกับพบเสื้อเกราะบริเวณกระท่อมอีกหลังหนึ่ง โดยพยานเป็นผู้โทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาร่วมตรวจสอบด้วย และในการตรวจค้น มีจำเลยเพียงคนเดียวที่ถูกควบคุมตัว ไม่มีคนอื่น

ด้าน ร.ต.ท.ณรัฐ มันตริกกุล อดีตรองสารวัตรสืบสวนสภ.เหมืองจี้ จังหวัดลำพูน เบิกความระบุว่าในวันเกิดเหตุ ตนได้รับแจ้งทางวิทยุของตำรวจ ว่าทหารได้เข้าทำการตรวจยึดอาวุธ จึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุด้วย เมื่อไปถึงก็พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีการเข้าควบคุมพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจค้นกันแล้ว โดยพยานไม่ได้ร่วมในการตรวจค้น แต่พบของที่ตรวจยึดวางไว้อยู่แล้ว ในการตรวจค้นยังพบนางเสาวณี อินต๊ะหล่อ กับนายไพรัช สิงห์คำ ในที่เกิดเหตุ ทาง พ.อ.คชาชาต บุญดี จึงได้ให้นำตัวทั้งสองคนไปที่กองพลทหารราบที่ 7  วันรุ่งขึ้นทราบว่าทางร.อ.ณัฐ ได้นำของกลางไปมอบให้ผู้กำกับสภ.เหมืองจี้ พร้อมกับมีการร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้

 

ภาพขณะเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้นสวนลำไยเมื่อวันที่ 26 พ.ค.57 (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

 

ชายที่ถูกคุมตัวร่วมด้วย เผยทหารกำหนดข้อตกลงห้ามยุ่งเกี่ยวการเมืองก่อนปล่อยตัว

นายไพรัช สิงห์คำ ชาวบ้านที่ถูกพบในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดี ยังได้มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์ โดยระบุว่าเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 พ.ค.57 นายชุมพงษ์ได้ชักชวนพยานไปที่สวนลำไยเพื่อไปเที่ยว ทราบว่าเป็นสวนของนายสมพงษ์ ซี่งพยานรู้จักมาประมาณสองเดือน และพบว่าเขาไม่ได้มีครอบครัว

เมื่อเดินทางไปถึงยังสวนลำไย ได้พบกับชายซึ่งไม่รู้จัก และเมื่อรวมพยานกับนายชุมพงษ์เป็นทั้งหมด 5 คน ก่อนจะมีรถเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามา พยานและพวกจึงได้วิ่งหนี โดยพยานวิ่งไปคนเดียวอยู่ด้านหลังสวน แต่เมื่อคิดว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดอะไร เพียงแต่มาเที่ยวเท่านั้น จึงได้เดินกลับไปยังที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นทราบว่าทางทหารได้ตรวจพบอาวุธและได้มีการจับกุมตัวนางเสาวณี แต่ไม่ทราบว่ามีการพบอาวุธอยู่ที่ใด และพยานไม่เคยรู้จักหรือเจอหน้าจำเลยมาก่อน

นายไพรัชยังระบุว่าตนก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาดูของกลางด้วย ก่อนถูกนำตัวไปสอบสวนที่กองพลทหารราบที่ 7 และได้ถูกปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ พยานยังตอบคำถามทนายจำเลยด้วยว่าก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะปล่อยตัวพยาน ได้มีการกำหนดเงื่อนไขสามข้อไว้ ได้แก่ 1.ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง 2.ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง และ 3.หากมีเจ้าหน้าที่ติดต่อให้ไปทำการสอบสวนหรือลงชื่อใดๆ ให้พยานทำตามนั้น

ในส่วนเจ้าของที่ดินที่เกิดเหตุ มาเบิกความสั้นๆ โดยระบุว่าพยานอยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ และได้ซื้อที่ดินสวนลำไยนี้ไว้หลายสิบปีแล้ว และอดีตสามีของพยานได้ว่าจ้างนายสมพงษ์มาเป็นผู้ดูแลสวน โดยตัวพยานไม่เคยพบนางเสาวณีและนายสมพงษ์มาก่อน และอดีตสามีพยานก็ไม่ได้อยู่ที่สวนดังกล่าว ส่วนเรื่องการกระทำความผิดนั้น พยานไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร

 

พนักงานสอบสวนระบุไม่ได้ส่งของกลางไปตรวจลายนิ้วมือ เพราะเชื่อว่ามีตัวผู้ต้องหาอยู่แล้ว

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม ทองน้อย พนักงานสอบสวนสภ.เหมืองจี้ เบิกความระบุว่าคดีนี้ร.อ.ณัฐ เป็นผู้กล่าวหา มีนางเสาวณี อินต๊ะหล่อ และนายสมพงษ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่นายสมพงษ์ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดีและได้ขอศาลทหารออกหมายจับแล้ว โดยในวันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุในฐานะพนักงานสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจค้นเสร็จแล้ว และมีการตรวจยึดของกลางเอาไว้

ในวันเดียวกันหลังการตรวจค้น ทางทหารได้นำตัวนางเสาวณี กับนายไพรัช สิงห์คำ พยานในคดีนี้ ไปสอบถามที่กองพลทหารราบที่ 7  ต่อมาวันที่ 27 พ.ค. ทางทหารได้นำตัวทั้งสองคนมาจัดทำประวัติที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน แล้วทางทหารก็ปล่อยตัวทั้งสองคนไป ก่อนร.อ.ณัฐจะเป็นผู้มาแจ้งความและดำเนินคดีต่อจำเลยในคดีนี้ เฉพาะของกลาง 5 รายการที่เป็นความผิด

จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ได้ให้เจ้าหน้าที่สายตรวจไปแจ้งให้นางเสาวณีมาพบ และจำเลยได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหากับพยาน ในวันที่ 28 พ.ค. หลังจากนั้นพยานได้ตรวจสอบกับนายทะเบียนท้องที่ว่ามีรายชื่อของนางเสาวณีและนายสมพงษ์ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนหรือไม่ ปรากฏว่าไม่เคยมีรายชื่อได้รับอนุญาต เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าทั้งสองคนมีความผิด จึงมีความเห็นสั่งฟ้องคดี

พยานยังเบิกความกับทนายจำเลยว่าอาวุธปืนของกลางไม่ได้มีการส่งตรวจลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเอ จึงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าจำเลยเคยจับต้องหรือเป็นเจ้าของหรือไม่ โดยเหตุที่ไม่ส่งตรวจ เพราะมีตัวผู้ต้องหาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องหาตัวบุคคลอีก และจากการสอบปากคำ จำเลยไม่ได้มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน และไม่ได้มีประวัติการจดทะเบียนสมรสกับนายสมพงษ์ที่หลบหนีไป

 

 

จำเลยเบิกความยันเพียงถูกจ้างไปทำอาหาร ไม่ใช่เจ้าของอาวุธที่ตรวจพบ

นางเสาวณี ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลยปากแรก โดยระบุว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ตนทำอาชีพรับจ้างเป็นแม่ครัวที่ร้านอาหารในจังหวัดลำพูน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านที่อยู่อาศัยในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเดินทางไปกลับทุกวัน และได้รู้จักกับนายสมพงษ์ขณะทำงานร้านอาหาร ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับร้าน และได้มีความสัมพันธ์กัน จึงมีบางวันที่ตนเดินทางไปพักอาศัยที่บ้านพักของนายสมพงษ์หลังเลิกงาน

ต่อมา ในวันที่ 24 พ.ค.57 พยานได้รับการติดต่อจากนายสมพงษ์ให้ไปเป็นแม่ครัวประกอบอาหารในงานเลี้ยงที่สวนลำไยในช่วงเย็น โดยมีค่าจ้างเป็นแม่ครัวให้ พยานจึงได้มาทำอาหารและได้พักค้างอยู่ที่บ้านดังกล่าวในสวน วันต่อมาพยานได้พบบุคคลประมาณ 10 กว่าคนซึ่งไม่รู้จักเข้ามารับประทานอาหารกัน พยานทำให้อาหารให้ แล้วเดินทางไปทำงานที่ร้านอาหารตามปกติ ก่อนเดินทางกลับบ้าน

ในเช้าวันที่ 26 พ.ค. พยานได้เดินทางกลับมาทำความสะอาดและล้างจานชามที่บ้านสวนลำไย เมื่องานเสร็จจึงได้ไปนอนหลับในตัวบ้าน จนในช่วงสายได้มีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 10 กว่าคน เข้ามาภายในสวนลำไยด้วยรถทหารประมาณ 3 คัน เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาสอบถามพยาน และมีการเรียกตัวพยานไปตรวจสอบสิ่งของที่มีการตรวจพบและจัดเรียงไว้อยู่แล้ว โดยพยานระบุกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่รู้ว่าสิ่งของเป็นของใครและได้มาอย่างไร ทหารยังได้พาตัวพยานไปค้นที่ห้องหลังบ้าน แต่ก็ไม่พบอะไร และได้มีการควบคุมตัวชายอีกคนหนึ่งที่พยานไม่รู้จักไว้ด้วย ภายหลังจึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสถานที่ แล้วจึงมีการควบคุมตัวพยานและชายคนดังกล่าวไปที่ค่ายทหารในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

เสาวณีระบุว่าทหารได้แยกตัวทั้งสองคนที่จับกุมมาไปสอบสวนคนละห้อง ส่วนของพยานมีการสอบถามถึงของกลางที่ตรวจยึดมาได้ และนำภาพบุคคลต่างๆ มาให้ดู ซึ่งทั้งหมดพยานไม่ได้รู้จัก เช้าวันถัดมา ทหารจึงได้ควบคุมตัวพยานไปที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน พาไปที่สวนลำไยอีกครั้ง ก่อนจะพาไปพบพนักงานสอบสวนสภ.เหมืองจี้ โดยมีการสอบสวนว่าพยานเป็นภรรยาของนายสมพงษ์หรือไม่ ซึ่งพยานยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ชู้สาวกัน แต่ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากัน และสอบถามเกี่ยวกับอาวุธของกลาง ก่อนมีการปล่อยตัวพยานกลับบ้าน

หลังจากนั้น ตำรวจยังมีการเรียกตัวพยานไปลงชื่อในเอกสารต่างๆ อีกประมาณ 3 ครั้ง โดยพยานได้อ่านคร่าวๆ ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องใด เนื่องจากสายตาไม่ดี และยังมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งการพบกับตำรวจ ยังไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย จนกระทั่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการเรียกตัวพยานไปที่ศาลทหาร และได้ถูกควบคุมตัวไปเรือนจำ โดยไม่ทราบรายละเอียดการกล่าวหาในตอนแรก จนกระทั่งได้มีทนายความไปเยี่ยมที่เรือนจำ แจ้งรายละเอียดที่ถูกกล่าวหาให้ฟัง

ขณะที่พยานจำเลยอีกสองปากเป็นบุคคลที่รู้จักจำเลย ได้แก่ กำนันในหมู่บ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ และเพื่อนบ้านของจำเลยอีกรายหนึ่ง โดยทั้งสองคนรู้จักจำเลยมานานเนื่องจากอยู่หมู่บ้านเดียวกัน และทราบว่าจำเลยได้หย่าร้างกับสามีเก่า ทราบว่าจำเลยมีบุตร 3 คน คนเล็กอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันบวชเป็นสามเณร ก่อนหน้านี้จำเลยต้องรับภาระเลี้ยงดูและส่งบุตรไปโรงเรียน และยังต้องดูแลมารดาอายุ 82 ปี โดยไม่เคยเห็นจำเลยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ มาก่อน และหลังหย่าร้างแล้ว ไม่เคยเห็นจำเลยไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับใครอีก

 

แถลงปิดคดีชี้พยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ-ไม่น่าเชื่อถือ

หลังการสืบพยานแล้วเสร็จ ทนายจำเลยยังได้จัดทำคำแถลงปิดคดียื่นต่อศาล โดยสรุปประเด็นสำคัญในคดีนี้ไว้สองประเด็น ได้แก่

หนึ่ง จำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านและสวนที่เกิดเหตุหรือไม่ ทางจำเลยสรุปว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานหลักฐานใดที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลหรือครอบครองสวนที่เกิดเหตุ และได้อยู่กินกับนายสมพงษ์ฉันสามีภรรยา โดยที่จำเลยก็พักอาศัยในบ้านที่อยู่ที่อำเภอสันป่าตอง ที่มีพยานฝ่ายจำเลยมาเบิกความยืนยัน ทั้งพนักงานสอบสวนก็ได้เบิกความสอดคล้องกัน และสิ่งของต่างๆ ที่ตรวจพบ ทั้งโทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชี หรือเสื้อผ้า ก็ไม่ปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย โดยข้อเท็จจริงที่ได้จากการเบิกความ พบว่าจำเลยไปมาหาสู่กับนายสมพงษ์ และจะไปพักที่บ้านที่เกิดเหตุเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ถึงขนาดอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองสวนและบ้านที่เกิดเหตุร่วมกับนายสมพงษ์

สอง จำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับของกลางตามฟ้องหรือไม่ ทางจำเลยสรุปว่าโจทก์ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและเอกสารได้ว่าเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง และพยานหลักฐานยังขัดแย้งกันเองว่าของกลางแต่ละรายการตรวจพบที่ไหน และเกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างไร โดยคำให้การพยานโจทก์ในการตรวจค้นที่เกิดขึ้น ขัดแย้งกับเอกสารการตรวจค้นที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้น เกี่ยวกับสถานที่พบของกลางบางรายการ

วันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารก็มิได้พบจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ผู้เดียว ยังพบนายไพรัช และกลุ่มคนอีก 4-5 คน ที่หลบหนีไป ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด การไม่ส่งของกลางไปตรวจสอบลายนิ้วมือของพนักงานสอบสวน โดยเหตุว่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้อาศัยในที่เกิดเหตุและครอบครองของกลาง จึงเท่ากับปฏิเสธที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย ด้วยเหตุว่าพบตัวจำเลยในที่เกิดเหตุเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงของกลางกับจำเลยได้

จำเลยจึงเห็นว่าสำนวนการสอบสวนคดีนี้มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถพิสูจน์ให้ปรากฏความจริงได้ ประกอบกับคำเบิกความพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

 

 

 

X