วันนี้ (27 ต.ค. 2565) สถานทูตเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย มอบรางวัล Hän ประจำปี 2565 แก่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทและผลการทำงานอันโดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในประเทศไทย
Jari Sinkari อธิบดีกรมกิจการอเมริกาและเอเชีย ประจำกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐฟินแลนด์ ทำการมอบรางวัล Hän แก่ เยาวลักษ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย
ในพิธีการมอบรางวัล Jari Sankari กล่าวยกย่องการทำงานของศูนย์ทนายฯ ในฐานะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างหลักนิติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศไทย ทําให้ประเทศไทยมีความเท่าเทียมมากขึ้น และมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยประสบความสําเร็จในด้านนี้ต่อไป
ภายหลังรับมอบรางวัล เยาวลักษ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เพื่อขอบคุณสถานทูตฟินแลนด์ ตัวแทนจากสาธารณรัฐฟินแลนด์ พันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผอ.ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังถือโอกาสเดียวกันกล่าวขอบคุณการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งทนายความอาสา นายประกันอาสา ผู้ช่วยทนายความ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ตลอดจนกล่าวให้กำลังใจนักกิจกรรม กองทุนของประชาชน รวมไปถึงองค์กรเครือข่ายที่ได้ร่วมกันทำงานเสริมสร้างประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และร่วมกันพยายามก่อร่างสร้างนิติรัฐขึ้นภายในประเทศไทยด้วย
“เพราะงานของเราไม่อาจสำเร็จได้หากขาดการสนับสนุนและการทำงานร่วมกัน”
.
สุนทรพจน์เนื่องในโอกาสศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ารับรางวัล HÄN 2022
เรียน ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในนามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดิฉันและเพื่อนร่วมงานรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล the HÄN Honor in Thailand for 2022 จากสถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย อันเป็นเครื่องยืนยันว่าการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นมุ่งไปสู่คุณค่าอันเป็นสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ คือ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และนิติรัฐ
ฟินแลนด์นับเป็นมิตรประเทศที่ให้การสนับสนุนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามสังเกตการณ์คดีชุมนุมทางการเมือง อันเป็นการยืนยันเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพชุมนุม และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของประชาชนชาวไทย
จากการทำงานของเราหลังการรัฐประหาร 2557 ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางคดี การบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน เราพบว่าสิ่งที่ประเทศไทยถูกทำลายลงอย่างมากที่สุด คือ “นิติรัฐ” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำงานโดยความมุ่งมั่นเพื่อก่อร่างสร้างนิติรัฐกลับขึ้นมาใหม่ ให้ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่มีนิติรัฐเป็นเสาค้ำยัน และอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ พูดถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ไทยจะกลับสู่การเลือกตั้งแล้วเมื่อปี 2562 แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงสืบทอดอำนาจอันเป็นผลให้คณะรัฐประหารยังมีอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ยังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไปได้
กลุ่มเยาวชนและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563-2564 อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกเพิกเฉยและถูกปราบปรามการชุมนุมอย่างหนัก อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการใช้ความรุนแรงจากรัฐที่มาทั้งในรูปแบบการสลายการชุมนุม การคุมคามนักกิจกรรม และการดำเนินคดี
ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,860 คน ในจำนวน 1,139 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนถึง 283 ราย ข้อหาที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รองลงมาคือ คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 215 ราย และยังมีผู้ต้องขังจากคดีการเมืองในเรือนจำอย่างน้อย 15 ราย
ความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังไม่อาจจบลงเพียงการเลือกตั้งในครั้งถัดไป หากสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยยังไม่ถูกรับรองอย่างแท้จริง รวมถึงการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของรัฐที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชน
รางวัล The HÄN Honor in Thailand for 2022 เป็นเกียรติและเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความอาสา นายประกันอาสา ผู้ช่วยทนายความทุกคน และเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ในการทำงานบทเส้นทางสิทธิมนุษยชน และเราขอส่งต่อกำลังใจต่อไปยังนักกิจกรรม กองทุนของประชาชน และองค์กรเครือข่ายที่ทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และนิติรัฐเช่นเดียวกัน เพราะงานของเราไม่อาจสำเร็จได้หากขาดการสนับสนุนและทำงานร่วมกัน
เช่นเดียวกับการสนับสนุนในระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะฟินแลนด์ให้การสนับสนุนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ไม่ว่าเพศใด เชื้อชาติใด ภาษาใด มีความคิดทางการเมืองแบบใด เพื่อให้เรานั้นมีความเสมอภาคและเป็นสังคมแห่งความผาสุก.
You’re a hän. I’m a hän. Everyone is a hän.
ขอบคุณค่ะ
.
สำหรับรางวัล Hän Honour เป็นรางวัลที่สถานทูตของฟินแลนด์ทั่วโลกมอบให้กับผู้คน กลุ่ม หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับแต่ละภูมิภาคของตนเอง ทั้งนี้เพื่อแสดงออกว่าเป็นทางรัฐบาลฟินแลนด์รับทราบและต้องการแสดงความขอบคุณถึงบุคคลที่ทำงาน เนื่องจากในบางครั้ง ในบางสถานการณ์ การทำงานเพื่อสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคอาจไม่ได้รับความสนใจในเชิงบวกมากนักจากรัฐบาลของตนเอง
ทั้งนี้ คำว่า Hän เป็นคำสรรพนามในภาษาฟินแลนด์ที่มีความเป็นกลางทางเพศ ด้วยเหตุนี้จึงถูกเลือกใช้เป็นชื่อของรางวัลเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าโอกาสในการเข้าถึงความเท่าเทียมกันนั้น เป็นสิ่งซึ่งครอบคลุมได้ถึงทุกกลุ่มทุกคนในสังคม
.