ในวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด แม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากนัก แต่จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ยังพบการคุกคามและการดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพของตน แต่นอกจากนั้นแล้วก็ยังพบการดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่เข้าใจกระบวนการขั้นตอนลงคะแนนด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ขาดเจตนาในการกระทำความผิด
ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 7ส.ค.2559 เกิดเหตุการณ์ฉีกบัตรหลายครั้งจนกระทั่งถึงเย็น ส่วนมากผู้กระทำเป็นผู้สูงอายุโดยมีสาเหตุมาจากการเห็นรอยประสำหรับพับแล้วเข้าใจผิด หรือเห็นเป็นสองสีจึงคิดว่าต้องฉีก ทำให้กลายเป็นบัตรเสียไปโดยปริยาย หลายกรณีไม่มีการดำเนินคดีตามมาและบางหน่วยเมื่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิจารณาแล้วพบว่าไม่ได้เป็นความตั้งใจ กกต.ประจำหน่วยยังให้ใช้สิทธิและหย่อนบัตรลงคะแนนประชามติได้แล้วจึงถูกนำตัวไปสอบปากคำลงบันทึกประจำวันเท่านั้น1
ทั้งนี้ก็ยังพบกรณีที่มีการดำเนินคดีกับการฉีกบัตรโดยไม่ตั้งใจด้วย คือกรณีที่จังหวัดกาญจนบุรี นางเมือง หนุนภักดี อายุ 89 ปี เดินทางเข้าไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติที่หน่วยลงคะแนนและฉีกบัตรออกตามรอยประ เนื่องจากความเข้าใจผิด ภายหลังกกต.ประจำหน่วยได้เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนางเมืองต่อสภ.เมือง กาญจนบุรี2 แต่ในกรณีที่หน่วยลงคะแนนที่โรงเรียนวัดศรีเอี่ยมอนุสรณ์ นางมลฤดี อ่ำสกุล อายุ 54 ปี หลังทำเครื่องหมายลงในบัตรเรียบร้อยแล้วจึงฉีกบัตรเป็นสองส่วนเพื่อนำมาหย่อนลงตู้3 เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปสอบสวนที่สน.บางนา แต่ไม่พบข้อมูลว่า กกต. ได้แจ้งความดำเนินคดีหรือไม่
นอกจากกรณีไม่ตั้งใจฉีกที่กล่าวไปวันเดียวกันนี้ก็ยังเกิดเหตุตั้งใจฉีกบัตรเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมและยังเกิดการคุกคามนักกิจกรรมอีกด้วย
ฉีกบัตรประท้วง คสช.
12.00น. ที่หน่วยเลือกตั้งในสำนักงานเขตบางนา ปิยรัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อเพื่อนหรือFFA ถูกตำรวจจากกุมเนื่องจากฉีกบัตรลง คะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องและยืนยันสิทธิของตนเอง และยืนยันว่าจะขอสู้คดีในศาลเพื่อให้เห็นว่ากระบวนการทำประชามติครั้งนี้เกิดการจับกุมผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวปิยรัฐไปสอบปากคำที่สน.บางนา โดยมีเพื่อนติดตามไปที่สถานีตำรวจด้วย
ระหว่างปิยรัฐรอสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดมือถือของทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ ซึ่งติดตามปิยรัฐไปที่สถานีและรออยู่ข้างนอกห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่อ้างว่าเพื่อนำไปตรวจสอบ
ทั้งนี้ตั้งแต่เที่ยงจนถึง16.00น. ตำรวจยังไม่ได้เริ่มการสอบปากคำปิยรัฐ โดยให้เหตุผลว่ากำลังสอบ กกต. ประจำหน่วยลงคะแนนในฐานะเจ้าทุกข์อยู่ แต่เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการดำเนินคดีในสามข้อหาคือ ทำลายเอกสาร มาตรา 188 และทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย มาตรา 358 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา59พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559
เวลา 17.30 น.ตำรวจแจ้งว่าจะไม่ดำเนินคดีกับทรงธรรมและจิรวัฒน์แล้วพร้อมคืนโทรศัพท์มือถือให้
จนกระทั่งประมาณ 18.00น. พนักงานสอบสวนจึงเริ่มสอบปากคำปิยรัฐ ซึ่งปิยรัฐได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันทรงธรรมและจิรวัฒน์ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ จากนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับทรงธรรมและจิรวัฒน์ในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาคือทั้งสองคนได้มาพร้อมปิยรัฐและได้ใช้มือถือถ่าย วิดีโอไว้ตั้งแต่ก่อนที่ปิยรัฐจะฉีกบัตรลงคะแนน
ภายหลังปิยรัฐถูกสอบปากคำเสร็จพนักงานสอบสวนยังไม่ให้ดำเนินการประกันตัว เนื่องจากอาจจะมีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 60 (9) เพิ่มด้วยเช่นกัน
จนกระทั่งประมาณ 20.45 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนต่อกับทรงธรรมและจิรวัฒน์และจะยึดสมาร์ทโฟนของทั้งสองคน อีกทั้งยังเพิ่มข้อหาเดียวกันนี้แก่ปิยรัฐ ขณะนี้ยังไม่เริ่มสอบปากคำทั้งสามคนในข้อหานี้
22.56น. ภายหลังพนักงานสอบสวนสอบปากคำปิยรัฐเสร็จสิ้น ได้อนุญาตให้ประกันตัวใน4 ข้อหาตามมาตรา 188 และ 358 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 59 และ 60(9) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ด้วยเงินประกัน 20,000 บาท หลังจากนี้ปิยรัฐจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสืออีกครั้ง และหลังจากนี้ 22 ส.ค. 15 ก.ย. และ 29 ก.ย.2559 ปิยรัฐต้องเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้กรณีของทรงธรรม และจิรวัฒน์ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
จนกระทั่งเวลา 3.30 น. ของวันที่ 8ส.ค.2559ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ ได้รับการประกันตัว โดยวางเงินประกันคนละ 10,000 บาท และต้องเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนพร้อมกับปิยรัฐ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือซัมซุงของนายทรงธรรมที่ใช้ถ่ายภาพดังกล่าว
ภาพทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์หลังได้ประกันตัว
นักกิจกรรม NDM ถูกคุกคาม เหตุทหารไม่พอใจถ่ายรูปหน้าหน่วยลงคะแนน
ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เมื่อช่วงเย็นแม่ของเธอโทรศัพท์แจ้งว่ามีตำรวจจาก สภ.ลาดหลุมแก้วไปที่บ้านของเธอย่านลาดหลุมแก้วเพื่อขอพบตัวระหว่างที่เธอไม่ อยู่บ้าน โดยตำรวจที่เธอได้คุยทางโทรศัพท์มีตำแหน่งรองผู้กำกับสืบสวน
ชลธิชาได้ทราบจากทางตำรวจว่า ทหารมีความไม่พอใจที่เธอไปถ่ายภาพกับกระดานติดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชา มติร่างรัฐธรรมนูญแล้วทางตำรวจไม่มีการติดตามและรายงานต่อทางฝ่ายทหาร ตำรวจจึงแจ้งว่าอยากจะขอพบตัว แต่เธอได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่าเธอมีธุระที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หากต้อง การพบให้ไปพบที่มหาวิทยาลัยซึ่งเธอจะรออยู่ แต่เธอก็ไม่แน่ใจว่าทางเจ้าหน้าที่จะมาพบหรือไม่
ตำรวจนายดังกล่าวยังบอกกับเธออีกว่าทางฝ่ายทหารจะมีการพิจารณาว่าการที่ไป ถ่ายภาพหน้าหน่วยลงคะแนนนั้นมีความผิดตามพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 หรือไม่ด้วย
ทั้งนี้สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้เคยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่าการถ่ายภาพหน้าหน่วยลงคะแนนสามารถทำได้
นอกจากกรณีของชลธิชาแล้วภายหลังวันประชามติ 1 วันยังเกิดกรณีลักษณะเดียวกันอีกสองกรณีคือ ตำรวจ3นาย ไปที่บ้านของอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ และได้พบกับแม่ของเขา ตำรวจได้นำภาพของอภิสิทธิ์ให้ดูแลสอบถาม และกรณีตำรวจนำหมายค้นไปที่บ้านของปิยรัฐ จงเทพ โดยหมายระบุว่าเป็นการเข้าค้นเพื่อหาสิ่งผิดกกฎหมายเพิ่มเติม แต่เจ้าหน้าที่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายจึงเดินทางกลับ
ภาพของชลธิชา แจ้งเร็วที่ถ่ายจากกระดานบัยชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนน ซึ่งตำรวจได้นำภาพนี้ไปถามกับแม่ของชลธิชา
เหตุการณ์การคุกคามครอบครัวของชลธิชายังเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง สามารถอ่านได้ที่นี่ https://tlhr2014.com/?p=1212
.
เชิงอรรถ
1http://www.thairath.co.th/content/684051
2http://www.matichon.co.th/news/240366
3http://www.matichon.co.th/news/240324