29 พ.ย. 62 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนางสุชิน มารดาของ “ศศิพิมล” (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอดีตพนักงานโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าทางเจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้แจ้งกับศศิพิมลว่าทางคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษได้มีมติไม่อนุญาตให้เธอพักการลงโทษ โดยอ้างเหตุคดีของเธอเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
สำหรับกรณีของศศิพิมล เธอถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 7 ข้อความในเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้ใช้ชื่อของเธอเอง และตัวเธอยืนยันว่ามิได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่ได้ยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ในภาวะแวดล้อมของความผิดมาตรานี้หลังการรัฐประหาร 2557 ศศิพิมลถูกควบคุมตัวและคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนถูกศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาจำคุก 56 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 28 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558
ดูเรื่องราวคดีนี้ใน ย้อนดูคดีและชีวิต “ศศิวิมล” หลังศาลทหารพิพากษาจำคุก 28 ปี
ดูความเห็นคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าการควบคุมตัวกรณีศศิพิมลเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “ศศิพิมล-เธียรสุธรรม” สองผู้ต้องขังคดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ
(ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)
ปัจจุบันเธอถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้ว 4 ปี 9 เดือนเศษ เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และผ่านการได้รับการลดหย่อนโทษจากการมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญของบ้านเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จากพระราชกฤษฎีกาช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำให้เหลืออัตราโทษที่เข้าเกณฑ์ในการได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ หรือการได้ปล่อยตัวก่อนกำหนดได้
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ญาติของศศิพิมลได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับทางเรือนจำ เพื่อให้ทางทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ทำเรื่องกลั่นกรองในการขอพักการลงโทษ ให้กับคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณา และได้ไปให้ข้อมูลกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติเพื่อทำรายงานประกอบการพิจารณา
จนล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 62 ทางเจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้แจ้งผลการพิจารณากับศศิพิมล ว่าทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่อนุญาตให้พักการลงโทษ โดยแจ้งเหตุผลว่าเป็นเพราะคดีของเธอเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ต้องขังอาจจะมีโอกาสไปกระทำความผิดซ้ำ ทั้งผู้ต้องขังยังได้รับการลดหย่อนโทษจากการพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว 3 ครั้ง เหลืออัตราโทษอีกไม่มากนัก ทำให้ทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษ
นางสุชิน มารดาของศศิพิมล เปิดเผยว่าทางครอบครัวรู้สึกผิดหวังและเสียใจ เนื่องจากตั้งความหวังกับการขอพักการลงโทษในครั้งนี้ ทั้งก่อนหน้านี้มีข่าวจากในเรือนจำมาว่าศศิพิมลได้รับอนุญาตแล้ว ทำให้มีความคาดหวังกันไว้มาก ตัวลูกสาวเองก็ถึงกับร้องไห้เมื่อตนไปเยี่ยมที่เรือนจำและทราบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้พักโทษ ในอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการปล่อยตัวผู้ได้รับการพักโทษจากทัณฑสถานฯ เป็นชุดที่ 2 โดยจากผู้ที่ได้รับการพิจารณาการพักโทษในชุดนี้จำนวน 30 คน มีศศิพิมลเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับอนุญาต ลูกสาวได้แสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้แม่และหลานสาวอีก 2 คน ต้องลำบาก เนื่องจากเธอยังต้องถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป
นางสุชินระบุว่าจากอัตราโทษที่ได้รับการลดหย่อนมาก่อนหน้านี้ ศศิพิมลจะเหลือโทษจำคุกอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 หรืออีก 1 ปี 5 เดือนเศษนับจากปัจจุบัน เมื่อไม่ได้รับการพักโทษ ทำให้อาจต้องติดไปจนครบกำหนด แต่ลูกสาวก็ระบุว่ายังมีช่องทางการขอ “ลดวันต้องโทษจำคุก” ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้หักวันต้องโทษจำคุกไปได้บางส่วน ซึ่งกระบวนการนี้อาจทำให้ได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่าจำนวนโทษที่เหลืออยู่บ้าง
ปัจจุบันศศิพิมล อายุ 34 ปี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวสองคน วัย 14 ปี และ 11 ปี ตามลำดับ ทั้งสองคนอยู่ในการดูแลของนางสุชิน ผู้เป็นยาย มาจนถึงปัจจุบัน กรณีของศศิพิมล ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 56 ปี นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษด้วยอัตราโทษที่สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
“สมยศ-ไผ่” เคยร้องศาลปกครอง เหตุไม่ได้พักโทษเหมือนผู้ต้องขังคดีอื่นๆ
สำหรับการพักการลงโทษ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การพักโทษ” หมายถึง การปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด จนกว่าจะครบกําหนดโทษจริง หากผู้ได้รับการพักโทษฝ่าฝืนเงื่อนไขคุมประพฤติ ก็จะถูกสั่งเพิกถอนการพักโทษได้
ก่อนหน้านี้จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 ถูกพิจารณาไม่อนุญาตให้พักการลงโทษ มาแล้วอย่างน้อย 2 คน ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แม้ทั้งสองคนจะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เหมือนกับผู้ต้องขังในข้อหาอื่นๆ ทั่วไป แต่กลับไม่ได้รับการอนุญาตให้พักการลงโทษ
กรณีของสมยศ ถูกให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่าเนื่องจากขาดองค์ประกอบที่จะสนับสนุนให้พักการลงโทษ ขณะที่จตุภัทร์ ถูกให้เหตุผลว่าเนื่องจากพฤติการณ์กระทำผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย จึงให้ทัณฑสถานอบรมพัฒนาพฤตินิสัยต่อไป
ทั้งสมยศและจตุภัทร์ ยังได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษ ของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาดของคณะอนุกรรมการฯ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยสมยศยื่นฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 และจตุภัทร์ยื่นฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 คดีของทั้งสองคนยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนถึงปัจจุบัน
ในส่วนการฟ้องของสมยศ ยังได้ขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการพักโทษ พิจารณาให้ความเห็นชอบการพักโทษโดยคำนึงถึงลักษณะความผิด เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้อดังกล่าวขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ ทั้งยังถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออกและคดีสิ้นสุดแล้ว ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอีกอย่างน้อย 25 คน และมีบางรายได้ทำเรื่องขอพักการลงโทษเอาไว้เช่นกัน
ดูการฟ้องคดีของสมยศและไผ่ใน ตรวจตราคดี 112 ที่ไม่จบแค่คำพิพากษา กรณีไม่ให้พักโทษไผ่และสมยศ และดูข้อมูลล่าสุดกรณีผู้ต้องขังมาตรา 112 ใน นักโทษมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 25 ราย ยังถูกคุมขังในเรือนจำ