24 มิ.ย. 2562 ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษา คดีที่สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนและนักแปล ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการแสดงความเห็นในที่ประชุมพรรคนวัตกรรมไทย เมื่อปี 2557 และใช้เวลากว่า 4 ปีนับจากถูกจับกุม กว่าที่ศาลทหารกรุงเทพจะสืบพยานจนเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม คดีนี้การกระทำเกิดขึ้นระหว่างที่ คสช. ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทำให้คดีที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารจะไม่สามารถขออุทธรณ์หรือฎีกา เพื่อทบทวนคำพิพากษาของศาลทหารชั้นต้นได้ คดีนี้จึงจะสิ้นสุดในศาลชั้นเดียว
ถูกจับกุมจากถ้อยคำที่ยังไม่ทันพูดจบ
26 พ.ย. 2557 สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มนวัตกรรมไทย ในช่วงที่เปิดให้แสดงความเห็น บัณฑิตได้พยายามแสดงความเห็นเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ แต่ยังไม่ทันพูดจบประโยคก็ถูกห้ามไม่ให้พูดต่อ หลังจากนั้นเขาพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์อีกครั้ง แต่ยังไม่ทันจบคำถาม ผู้ร่วมประชุมก็แสดงความไม่พอใจและลุกออกไปจากห้องประชุม
ประโยคที่ยังไม่ทันจบทั้งสองประโยคนั้น นำไปสู่การควบคุมตัวชายวัย 74 ปี ไว้ที่ สน.สุทธิสาร
บัณฑิตถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 27 พ.ย. 2557 และถูกนำตัวไปขอขังก่อนการพิจารณาคดีที่ศาลทหารกรุงเทพในวันถัดไป วันนั้นศาลทหารกรุงเทพอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์ 400,000 บาท
คดีขึ้นสู่ศาล
หลังใช้เวลาสืบสวนอยู่ 84 วัน ทั้งตำรวจและอัยการทหารมีความสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 และนัดถามคำให้การในอีก 40 วันต่อมา ซึ่งสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ทำผิดและขอต่อสู้คดี
การสืบพยานเริ่มขึ้นวันที่ 23 ก.ย. 2558 หลังสืบพยานตำรวจผู้จับกุม 2 ปาก คือ ร.ต.อ.บัญชา เจือจาน และ ส.ต.อ.ศิรวิทย์ รวมจิต หลังสืบพยาน ทนายความขอให้ศาลทหารส่งตัวบัณฑิตเข้าตรวจรักษาอาการทางจิตและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี เนื่องจากเขาเคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่ศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญาในคดีนั้น หลังพบว่าจำเลยมีอาการทางจิตประสาท
กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แพทย์ผู้ตรวจรักษาสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ขึ้นเบิกความต่อศาลว่าเขามีร่องรอยความเจ็บป่วย ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง แต่สามารถต่อสู้คดีได้
อัยการทหารกลับมาสืบพยานต่อวันที่ 4 พ.ค. 2559 โดยนำเจ้าหน้าที่ทหารที่จับกุมจำเลยเข้าให้การต่อศาล 2 ปากแรก คือ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ และ ส.ท.พิชาญ วรรณกี้
สืบพยานโจทก์
พยานผู้จับกุมทั้ง 4 คน ต่างให้การในทำนองว่า ช่วงที่เปิดให้ผู้ร่วมเสวนาถามคำถาม สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ พูดในลักษณะพาดพิงถึงระบอบพระมหากษัตริย์ หลังจากสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์พูดถ้อยคำดังกล่าว ผู้เข้าร่วมเสวนาบางคนห้ามไม่ให้พูดต่อ ขณะที่บางคนเดินออกนอกห้องไป เจ้าหน้าที่ทหาร จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งพยานบางคนเห็นว่าข้อความยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงนำตัวสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ไปยัง สน.สุทธิสาร
ในการถามค้านโดยทนายความจำเลยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2559 ร.ต.อ.บัญชา เห็นว่า ประโยคแรกที่จำเลยพูดขึ้นและมีผู้กล่าวแทรกขึ้นมาเป็นประโยคที่จบความแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าประโยคที่สองเป็นประโยคคำถามหรือไม่ เนื่องจากจำเลยยังพูดไม่จบประโยค จึงไม่ทราบว่าจำเลยจะพูดอะไรต่อ แต่จากคำพูดของจำเลย พยานรู้สึกว่าเป็นการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับว่าโดยทั่วไป ประโยคคำถามไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง
ภายหลังจำเลยกล่าวถ้อยคำที่เป็นความผิดตามฟ้อง ตัวพยานและเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชามากกว่า 3 ชั่วโมง เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าถ้อยคำของจำเลยเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจให้ดำเนินคดีกับจำเลย หลังจากนั้นจึงพาตัวจำเลยไปยัง สน.สุทธิสาร โดยจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
ด้าน ส.ต.อ.ศิรวิทย์ เห็นว่า จำเลยยังพูดประโยคแรกไม่จบความ ส่วนประโยคที่สองเป็นประโยคคำถามที่ยังถามไม่จบ เพราะมีคนแย้งและลุกออกจากห้องไปก่อน แต่จำเลยจะสื่อความหมายอย่างไรพยานไม่ทราบ หลังจากนั้นจึงมีการปรึกษากันในระหว่างผู้บังคับบัญชาว่าคำพูดของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ แต่พยานไม่ได้เข้าร่วม พยานเป็นผู้ทำบันทึกจับกุม ที่ สน.สุทธิสาร เวลาประมาณ 22.00 น.
ส่วนพยานนายทหารผู้จับกุมทั้งสองให้การตรงกันว่า ทหารมีอุดมการณ์ที่จะต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เมื่อมีผู้กล่าวหรือตั้งคำถามถึงพระมหากษัตริย์ พยานในฐานะทหารและคนไทยย่อมจะรู้สึกเสียใจและไม่พอใจ แต่ ส.ท.พิชาญ ยอมรับว่า ขณะจำเลยพูดในวงเสวนา พยานไม่สามารถจับใจความคำพูดของจำเลยได้ เนื่องจากเป็นผู้บันทึกวิดีโอ
20 ม.ค. 2560 อัยการทหารนำนายสมคิด ทิพย์สอน หัวหน้าพรรคนวัตกรรมไทย เข้าเบิกความต่อศาล
นายสมคิดเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. เวลาประมาณ 13.30 น. พรรคนวัตกรรมไทยและสหพรรคการเมืองไทยได้จัดเสวนาเพื่อหาแนวทางในการเสนอและมีส่วนร่วม ขณะจำเลยพูดพยานไม่ทันได้ฟัง พยานทราบข้อความของจำเลยเมื่อไปพบพนักงานสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ ซึ่งพยานไม่เห็นด้วยกับที่จำเลยพูด แต่นาสมคิดก็ได้ตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560 ว่า การที่จำเลยไม่พูดให้จบทั้งสองประโยค ทำให้พยานไม่ทราบว่าจำเลยมีเจตนาจะสื่อความหมายอย่างไร และประโยคที่ 2 เป็นประโยคคำถาม ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ส่วนคำว่าระบอบ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์
14 พ.ย. 2560 อัยการทหารนำรองศาสตราจารย์ เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ อายุ 70 ปี อาจารย์ภาคภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ พยานให้การโดยสรุปว่า ประโยคที่นายบัณฑิตกล่าวเป็นคำพูดที่ไม่สมควรกล่าว เนื่องจากเป็นคำพูดที่ล่วงกิน ล่วงละเมิด และจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์
12 ก.พ. 2561 พ.ต.ท.ภิรมย์ เมืองไสย พนักงานสอบสวน เข้าเบิกความต่อศาลว่า พยานเป็นผู้รับตัวจำเลยไว้และได้สอบปากคำ ร.ต.อ.บัญชา เจือจาน ผู้กล่าวหา ซึ่งให้การโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุมีการจัดประชุมเสวนา ผู้กล่าวหาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ และบันทึกภาพลงแผ่นบันทึกข้อมูลไว้ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 15 คน จำเลยได้พูดประโยคที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้โต้แย้งให้จำเลยหยุดพูด บางคนออกจากห้องเสวนาไป ตำรวจและทหารที่สังเกตการณ์เห็นว่าคำพูดดังกล่าวเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเข้าค้นตัวจำเลย พบคำพิพากษาที่จำเลยเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในการจับกุมจำเลยมีการจัดทำบันทึกการจับกุม และรายงานข้อเท็จจริง พร้อมถ่ายประกอบ
พ.ต.ท.ภิรมย์ร่วมสอบสวนคดีนี้กับ พ.ต.ท.พงษ์นรินทร์ ลับไพรี สอบปากคำผู้กล่าวหา และพยานอีก 9 ปาก โดยทำบันทึกคำให้การไว้ พยานเป็นผู้สอบปากคำจำเลย แจ้งข้อกล่าวหา และแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้จำเลยทราบ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทรพมหากษัตริย์ เนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยพูดประโยคแรกเป็นการใส่ร้ายใส่ความว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย และข้อความที่สองเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายและไม่ประสงค์ดีต่อพระมหากษัตริย์ ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ภิรมย์ ตอบคำถามค้านทนายความว่า ข้อความที่จำเลยพูด เป็นคำพูดที่ยังไม่จบประโยค คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าจะสื่อถึงอะไร ลักษณะประโยคที่จำเลยพูด ประโยคแรกเป็นประโยคบอกเล่า ส่วนประโยคที่สองเป็นประโยคคำถาม ซึ่งการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด และลักษณะข้อความต้องมีการยืนยันข้อเท็จจริง ส่วนคำว่า “ระบอบ” หมายถึงสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่พยานก็ตอบคำถามติงของอัยการทหารว่า “ระบอบเจ้า” หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
สืบพยานจำเลย
24 เม.ย. 2561 สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ เบิกความต่อศาลเกี่ยวกับเจตนาของตนว่า เขาต้องการจะสื่อสารว่าสังคมกำลังขัดแย้งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย หากต่อสู้กันจนเกิดความรุนแรงจะทำอย่างไร ซึ่งเขาเจตนาจะพูดถึงระบอบการปกครอง ไม่ใช่ตัวบุคคล ส่วนที่กล่าวว่ากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายนั้นหมายความว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่จะถูกฟ้องร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาอาการทางจิต ระหว่างรักษาแบบผู้ป่วยในอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ บัณฑิตไม่ได้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หลังจากนั้นเมื่อได้รับยาก็โยนทิ้งทั้งหมด เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้วิกลจริต และเชื่อว่าถ้อยคำที่พูดในคดีนี้ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
28 พ.ค. 2561 นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความเป็นพยานจำเลย ให้ความเห็นว่า ประโยคที่จำเลยถูกฟ้องประโยคแรกยังพูดไม่จบประโยค ส่วนประโยคที่ 2 เป็นประโยคคำถามที่ยังไม่จบเช่นกัน ทั้งสองประโยคไม่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และพูดถึงระบอบมากกว่าตัวบุคคล
13 มี.ค. 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา เข้าให้การต่อศาลว่า ประโยคที่ถูกฟ้องของสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสองประโยค เพราะไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
พยานเห็นว่า ถ้อยคำว่ากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองก็เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ เนื่องจากพระองค์ทรงกระทำการใดผ่านผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนประโยคที่ 2 เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบการปกครองซึ่งเป็นคำถามสากล ไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
หลังสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นศาลทหารนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 มิ.ย. 2562 นอกจากคดีนี้ สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อีกคดีในศาลทหารกรุงเทพ จากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559