ข้อควรรู้ในการชุมนุมสาธารณะ

ปี 2562 นับเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยบรรยากาศใหม่ ที่ประชาชนสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น ภายหลังจากการติดตามจับตา กดดัน และสกัดกั้นมาเป็นเวลา 4 ปีกว่า โดยการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จากการที่มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 61 เพื่อปลดล็อคคำสั่งของคณะหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง บางฉบับที่ได้เคยออกมาบังคับใช้เพื่อควบคุมการทำกิจกรรมของประชาชนและพรรคการเมือง
ศูนย์ทนายฯ เห็นว่าเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้การชุมนุมแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปโดยสันติและได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมาย นั่นก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ดังนั้น ศูนย์ทนายฯจึงได้จัดทำสรุปขั้นตอน วิธีการ และข้อควรระมัดระวังในการจัดการชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจและผู้ที่อาจจะมีโอกาสได้จัดการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายฉบับนี้ด้วยกัน
 
  1. การชุมนุมสาธารณะคืออะไร

ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 “การชุมนุมสาธารณะ” คือ การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
ส่วน “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ
ดังนั้น “การชุมนุมสาธารณะ” ที่จะถือเป็นการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงต้องประกอบด้วย
(1) เป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ และ (2) บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้
หากไม่ครบเงื่อนไขในสองข้อนี้ คือ หากเป็นการชุมนุมในพื้นที่ส่วนบุคคล ในบ้าน หรือหอประชุมส่วนตัว รวมถึงการชุมนุมที่บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น การประชุมหารือของสมาชิกองค์กรภายในหมู่บ้าน ก็ไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และไม่ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนกฎหมายนี้
           
แต่แม้การชุมนุมสาธารณะในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังกล่าวข้างต้นจะมีความหมายที่กว้างขวางครอบคลุม แต่ก็มีการชุมนุมสาธารณะ 6 ประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯนี้ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ได้มีการจำกัดการจัดการชุมนุมในบางพื้นที่มีลักษณะต้องห้ามไม่สามารถกระทำได้อยู่
อ่านรายละเอียด > [simple_tooltip content=’

แม้การชุมนุมสาธารณะจะมีความหมายที่กว้างขวางครอบคลุม แต่ก็มีการชุมนุมสาธารณะ 6 ประเภทที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้ยกเว้นว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ไว้ ได้แก่

  1. การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
  2. การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
  3. การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
  4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา
  5. การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
  6. การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น’]การชุมนุมสาธารณะ 6 ประเภทที่ได้รับการยกเว้นจากพ.ร.บ.ชุมนุมฯ[/simple_tooltip]
อ่านรายละเอียด >[simple_tooltip content=’

นอกจากนั้นพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังมีการจำกัดการจัดการชุมนุมในบางพื้นที่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งหากฝ่าฝืนก็มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พื้นที่ต้องห้ามดังกล่าว ได้แก่

  1. ภายในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ
  2. ภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารและศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น
  3. ภายในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบสถานที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล ตามประกาศของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายเมื่อได้มีการประกาศห้ามชุมนุมรอบสถานที่ดังกล่าว
‘]พื้นที่ต้องห้ามการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ  [/simple_tooltip] 
อ่านรายละเอียด >[simple_tooltip content=’การชุมนุมสาธารณะไม่ควรกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้

(1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ

(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ

(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน

(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ

(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

‘]พื้นที่ควรระวังกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ  [/simple_tooltip] 

 

  1. ขั้นตอนการแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะ

เมื่อทราบความหมาย ข้อยกเว้น และข้อห้ามของการชุมนุมสาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนในการแจ้งการชุมนุมให้เป็นไปที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้กำหนดไว้
          2.1 ผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมและผู้รับแจ้ง
  • ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และหากเป็นกรณีที่การชุมนุมสาธารณะมีผู้ร่วมจัดการชุมนุมหลายคนหรือเป็นกลุ่มคณะ ผู้จัดคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แจ้งการชุมนุมก็ได้
  • ผู้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะได้แก่ หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะหรือบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุม
  • ทั้งนี้การแจ้งการชุมนุมสาธารณะเป็นการแจ้งเพื่อทราบ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมตัวในการอำนวยความสะดวกแก่การชุมนุมและผู้สัญจรผ่านพื้นที่สาธารณะดังกล่าว ไม่ใช่การขออนุญาต และเจ้าหน้าที่ไม่อาจปฏิเสธหรือไม่รับแจ้งการชุมนุมได้
         2.2 แจ้งการชุมนุมอย่างไร เมื่อไหร่
การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะ โดยทำเป็นหนังสือตามแบบที่กำหนด ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://demonstration.police.go.th/form.pdf
  • ช่องทางการแจ้งชุมนุมมี 3 ช่องทาง
        1. แจ้งเป็นหนังสือโดยตรง (เป็นวิธีการง่ายและใช้บ่อยที่สุด)
        2. แจ้งทางโทรสาร
        3. แจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
  • โดยที่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุม “ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
  • มี[simple_tooltip content=’

    ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะสามารถยื่นขอผ่อนผันกําหนดเวลาได้ โดยยื่นคําขอผ่อนผันพร้อมแบบแจ้งการชุมนุมสาธารณะ  ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคําขอต่อผู้บังคับการตํารวจนครบาลผู้รับผิดชอบพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ในจังหวัดอื่นให้ยื่นคําขอต่อผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัด

    หากมีการยื่นคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลหรือผู้บังคับการตำรวจภูธรแล้วแต่กรณี ก็จะต้องมีหนังสือแจ้งคำสั่งว่าอนุญาตให้ผ่อนผันตามที่ยื่นขอหรือไม่ พร้อมด้วยเหตุผลโดยต้องแจ้งให้แก่ผู้ยื่นคำขอผ่อนผันทราบภายในเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับคำขอ

    กรณีผู้บังคับการตำรวจนครบาลหรือผู้บังคับการตำรวจภูธรมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม สามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันนั้นได้ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 44 โดยยื่นต่อ ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปหนึ่งขั้นของบังคับการตำรวจนครบาล หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด’]ข้อยกเว้น[/simple_tooltip]กรณีไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่มากขึ้นจนอาจเกิดความยุ่งยากได้ เป็นทางเลือกที่ยังไม่พบเห็นการนำมาใช้   

          2.3 เมื่อแจ้งการชุมนุมแล้วจะเป็นอย่างไร
              2.3.1. เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว
              1. ต้องตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือแจ้งการชุมนุม
              2. ทำหนังสือ สรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะให้ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะทราบภายใน 24 ชั่งโมง นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง
              3. ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลการชุมนุมสาธารณะเพื่อให้ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะปฏิบัติหรือแก้ไขภายในเวลาที่กำหนดด้วยก็ได้ และในบางกรณีเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ (จพณ.) อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะปฎิบัติตามก็ได้ แต่เงื่อนไขหรือคำสั่งนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อ[simple_tooltip content=’

(1) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม

(2) รักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม

(3) รักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม

(4) อำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและ บริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุดเท่านั้น

‘]ประโยชน์ 4 ข้อ[/simple_tooltip]เท่านั้น หากกำหนดเงื่อนไขหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์อื่น ก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ให้อำนาจ เช่น การกำหนดเงื่อนไขหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับเนื้อหาในการชุมนุม เป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานไม่สามารถกระทำได้

 

กล่าวโดยสรุปขั้นตอนแจ้งการชุมนุมสาธารณะ คือ
  1. ผู้แจ้งกรอกแบบฟอร์มแจ้งการชุมนุมสาธารณะ
  2. ยื่นแจ้งการชุมนุมผ่านช่องทางต่างๆ ต่อสถานีตำรวจในพื้นที่การชุมนุม ก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง
  3. รับหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุม ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีการแจ้ง
  4. ชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย
               2.3.2. หากกรณีที่ หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะที่เป็นผู้รับแจ้งการชุมนุม เห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
              1. หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะก็จะมีคำสั่งให้ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด 
               2. หากผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะที่ให้แก้ไขการชุมนุม  หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะในฐานะผู้รับแจ้งก็จะต้องมีคำสั่งห้ามชุมนุมโดยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือไปยังผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ
ดังนั้น กรณีนี้หากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีคำสั่งห้ามชุมนุม แต่ไม่แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือ เช่น สั่งด้วยวาจา เป็นต้น ก็จะต้องถือว่าเป็นคำสั่งห้ามชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          ผู้ชุมนุมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งห้ามการชุมนุม
ทั้งนี้ กรณีผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งห้ามชุมนุมเป็นหนังสือของหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ
  • สามารถยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะขึ้นไปหนึ่งชั้น เมื่อมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามชุมนุมของหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ผู้รับอุทธรณ์ก็จะต้องวินิจฉัยและแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลา 24 ชั่วโมง คำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นให้เป็นที่สุด
ในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม ระหว่างการอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ก็ให้งดการชุมนุมสาธารณะ
          2.4 หากไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะมีผลอย่างไร
เมื่อมีการจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุม ต้องระวางโทษไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ข้อสังเกตคือ ไม่แจ้งการชุมนุมมีเพียงแค่โทษปรับเท่านั้น ไม่มีโทษจำคุก

 

           
  1. ข้อควรระมัดระวังในการชุมนุมสาธารณะ

เมื่อสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะตามขั้นตอนในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ยังมีข้อควรระมัดระวังเบื้องต้นที่กำหนดไว้ภายในการพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมต้องปฏิบัติในระหว่างการชุมนุมอีกด้วยว่า
3.1 ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร
3.2 ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกาย ตามปกติประเพณี
3.3 ไม่พาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน หรือสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ เข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่
3.4 ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
3.5 ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ
3.6 ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น
3.7 ไม่ขัดขวางหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น
3.8 ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
3.9 ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจที่ระบุไว้ในกฎหมาย
 
ท้ายที่สุดนี้ศูนย์ทนายฯ ขอยืนยันว่า เสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจกัรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 และมาตรา 34 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21  ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายต้องให้ความเคารพและไม่อาจละเมิดได้  แม้จะมีข้อควรระวังหรือข้อจำกัดอยู่บ้างแต่ก็เป็นข้อยกเว้น เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะและการแสดงความคิดเห็นบรรลุวัตถุประสงค์ของการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น เจ้าหน้าที่ไม่อาจยกเอาข้อยกเว้นเหล่านั้นขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อบีบบังคับ กดดัน หรือกระทั่งปิดกั้นการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายได้
นอกจากสรุปข้อควรรู้ฉบับย่อนี้แล้ว ศูนย์ทนายฯยังได้เคยจัดทำสรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 อย่างละเอียดไว้จำนวน 3 ตอน เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ทำความเข้าใจ เชิญอ่านได้ใน
สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตอนที่ 1
สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตอนที่ 2
สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตอนที่ 3

 

(แก้ไขเมื่อ 1 ก.พ. 62)

X