ศาลนัดสืบพยานคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ฝ่ายโจทก์ 6-7 ธ.ค.-ฝ่ายจำเลย 12-14 ธ.ค. นี้

24 ก.ย. 61 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของนายชยันต์ วรรธนะภูติ และพวก รวม 5คน กรณีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ก่อนวันนัด คู่ความได้นำพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายเข้ามาในสำนวน โดยทางอัยการโจทก์ได้ระบุพยานบุคคลจำนวน 11 ปาก และฝ่ายจำเลยระบุพยานจำนวน 15 ปาก  เมื่อทนายจำเลยและจำเลยทั้งห้า ได้ตรวจดูเอกสารของฝ่ายโจทก์แล้ว ก็ได้แถลงต่อศาลเพื่อขอดูและคัดลอกไฟล์ภาพวิดีโอในแผ่นซีดี ซึ่งฝ่ายโจทก์ได้ส่งเข้ามาในสำนวนคดีด้วย ด้านศาลได้อนุญาตให้เปิดดูไฟล์ภาพวิดีโอดังกล่าวและทำการคัดลอกได้

ระหว่างการตรวจพยาน จำเลยที่ 1 ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้แถลงต่อศาลว่าจากการดูเอกสารของฝ่ายโจทก์ที่ใช้ในการกล่าวหาตนเองแล้วนั้น ตนเองมีบทบาทแตกต่างไปจากจำเลยคนอื่นๆ คือ ตนเองมีฐานะเป็นประธานฝ่ายวิชาการของงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งนี้ และได้ถูกเรียกให้ไปดูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งในเอกสารของฝ่ายโจทก์กลับไม่มีการระบุว่าตนเองมีฐานะเป็นประธานฝ่ายวิชาการของงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาด้วย

ศาลเจ้าของสำนวนได้ระบุเมื่อได้ฟังจำเลยที่ 1 แถลงเสร็จแล้วว่าที่กล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายจำเลยต้องนำสืบเข้ามา แต่เบื้องต้นได้มีการสืบสวน ทำความเห็น กล่าวหา และสั่งฟ้องจำเลยเข้ามา ซึ่งจำเลยสามารถนำเสนอพยานหลักฐานหักล้างและแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลได้อยู่แล้ว เบื้องต้นข้อเท็จจริงส่วนนี้ศาลยังไม่สามารถนำเข้ามาในสำนวนได้ ส่วนที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีนั้น ศาลก็เข้าใจว่าก่อให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของระบบงานยุติธรรม ของทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ในส่วนข้อเท็จจริงของจำเลยก็สามารถนำเข้ามาให้ครบถ้วนในขั้นตอนการสืบพยานได้ต่อไป

ต่อมา ศาลจึงได้สอบถามคู่ความถึงประเด็นที่จะให้พยานเบิกความในแต่ละปาก จากนั้นได้สอบถามจำนวนวันที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยต้องการในการใช้สืบพยานของฝ่ายตน อัยการโจทก์ได้ขอวันสืบพยานจำนวน 2 วัน ส่วนด้านจำเลยได้ขอวันในการสืบพยานจำนวน 3 วัน  คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงตกลงวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาล โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 6-7 ธ.ค. 61 และวันนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12-14 ธ.ค. 61 ในเวลา 9.00 น. ของแต่ละวันเป็นต้นไป

สำหรับนัดคดีในวันนี้ มีนักวิชาการ และผู้สังเกตการณ์คดี เดินทางมาที่ศาลราว 10 คน โดยมีศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาให้กำลังใจที่ศาล โดยมีการนำดอกบัวมามอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ตกเป็นจำเลยทั้งห้าคนด้วย นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามสังเกตการณ์และบันทึกภาพอยู่ภายนอกศาลด้วย

สำหรับคดีนี้มี ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวหาทั้งห้าคน โดยหลังจากเหตุการณ์ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และการกล่าวหาดำเนินคดี ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนอัยการเจ้าของสำนวนและอธิบดีอัยการภาค 5 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีในที่สุด

จำเลยทั้ง 5 คน ในคดีนี้ ได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ดูความเป็นมาและกระบวนการที่เกิดขึ้นของคดีนี้ใน เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง

 

X