‘หมอนิรันดร์’ เบิกความคดี ‘หนูหริ่ง’ 116 ยืนยันโพสต์ชวนชูสามนิ้วเป็นเสรีภาพการแสดงออก

หมอนิรันดร์ อดีต กสม. ขึ้นเบิกความในคดี ‘หนูหริ่ง’ หรือ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ชวนชูสามนิ้วค้านรัฐประหาร ช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 4 มิ.ย. 2557 ถึงผลการพิจารณาของ กสม. ว่าการแสดงออกของสมบัติเป็นการใช้สิทธิแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและไม่ควรทำร้ายเขา และแม้ว่าเขาจะเป็นเสียงข้างน้อยก็ควรคุ้มครองด้วย สืบพยานนัดหน้า 3 ต.ค.นี้

3 ก.ย. 2561 ศาลทหารนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยในคดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกฟ้องด้วยข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์ชวนคนออกมาชูสามนิ้วต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. พยานที่มาเบิกความในครั้งนี้คือนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยนชนแห่งชาติ (กสม.)

 

 

จากคำเบิกความของ นพ.นิรันดร์ สรุปได้ว่า เขาดำรงตำแหน่งเป็น กสม. ตั้งแต่ปี 2552-2558 ซึ่ง กสม.เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นอกจากนั้นพยานเป็นประธานอนุกรรมการอีกสองชุด คืออนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง และอนุกรรมการด้านสิทธิชุมนุมด้วย

นพ.นิรินดร์เบิกความต่อว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง กสม.อยู่ 6 ปี ก็มีการชุมนุมทางการเมืองของทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ตนได้เข้าตรวจสอบการชุมนุมเหล่านี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เนื่องจากในการชุมนุมดังกล่าวมีการใช้ความรุนแรงและมีการใช้อาวุธสงครามในที่ชุมนุม จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งการเข้าตรวจสอบเป็นไปตามหน้าที่ของ กสม. ที่ถูกระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง กสม.มีหน้าที่ตรวจสอบการการดำเนินงานของรัฐว่าได้ปฏิบัติตามกรอบสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และทำการตรวจสอบการชุมนุมต่างๆ ว่ามีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

สอง จัดทำรายงานเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐ เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

สาม ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิขึ้น

นอกจากนั้น รัฐไทยยังเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีการลงนามยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อีกทั้งยังนำหลักการมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไทยด้วยทั้งฉบับ 2540 และ 2550 ซึ่งหากรัฐไทยไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ยอมรับหลักการเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามปฏิญญาสากล

อีกทั้งในข้อเท็จจริง แม้ว่าจะมีการรัฐประหารและยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว แต่หลักการข้างต้นก็ยังถูกระบุเอาไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย

นพ.นิรันดร์เบิกความถึงการตรวจสอบกรณีของนายสมบัติว่า ทาง กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยที่ถูกควบคุมตัว เพราะฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และยังได้รับเรื่องร้องเรียนลักษณะดังกล่าวอีก จึงได้เข้าตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าว เป็นไปตามกรอบสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบจะเชิญทั้งฝ่ายจำเลย และเจ้าหน้าที่ คสช. เข้ามาให้ข้อมูลด้วย การตรวจสอบดังกล่าวเป็นในลักษณะการไต่สวนสาธารณะ นอกจากนั้นยังเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวทั้งในค่ายทหารและเรือนจำด้วย

การตรวจสอบก็จะดูด้วยว่าการแสดงออกนั้น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีการใช้อาวุธหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงก็จะมีการตรวจสอบด้วยว่าเกิดการซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายหรือไม่ ที่ทำการตรวจสอบนี้ไม่ใช่เป็นการจับผิดเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เพื่อที่รัฐจะได้ดำเนินการได้อย่างสง่าผ่าเผย ยังมีการใช้กระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะเกิดกรณีที่มีการใช้อาวุธเกิดขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกรณีของจำเลยในคดีนี้ เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบสันติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ปราศจากอาวุธ ถึงแม้ว่าจะต้องยอมรับรับเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย

หลังการรัฐประหารครั้งนี้ ต่างชาติให้ความสนใจการเมืองไทยมาก มีทูตและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศเข้าพบประธาน กสม. เป็นจำนวนมาก และแสดงความห่วงใย ทั้งนี้การเข้าพบเหล่านี้ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นเพราะถ้าการเมืองไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็ไม่มีเสถียรภาพด้วย พวกเขาจึงต้องการข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์

 

 

นพ.นิรันดร์กล่าวถึงด้วยว่าในช่วงปี 2553-2554  กสม.เคยมีมติตั้งให้จำเลยเป็นอนุกรรมการเฉพาะกิจค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 เพราะเห็นว่าจำเลยมีคุณสมบัติพอจะเป็นกรรมการที่มาจากภาคประชาชน ทางกรรมการเห็นว่าในอนุกรรมการที่เป็นภาคประชาชน ต้องเคยเป็นคนที่ทำงานด้านประโยชน์สาธารณะมาก่อน

นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่าตนเคยขึ้นเบิกความในคดีที่นายสมบัติถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. กรณีถูกเรียกรายงานตัวที่ศาลแขวงดุสิตมาก่อนแล้ว ซึ่งเนื้อหาเหมือนกับที่ตนเบิกความในวันนี้ และที่ขึ้นเบิกความในฐานะพยานทั้งสองครั้งเพราะเป็นหน้าที่ของ กสม. แม้ว่าตนจะหมดวาระไปแล้วก็ตาม อีกทั้งพยานเองก็เคยขึ้นเบิกความลักษณะนี้ในกรณีอื่นๆ เช่น คดีเหมืองแร่เมืองเลย กรณีคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้อีกด้วย

ทนายความจำเลยยังถามนพ.นิรันดร์ ถึงเรื่องที่เขาเคยไปเบิกความในคดีของนายสมบัติที่ศาลแขวงดุสิต นพ.นิรันดร์ระบุว่าในช่วงระยะเวลา 10 ที่ผ่านมา มีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง รัฐมีการใช้กฎหมายความมั่นคง มีการนำกฎอัยการศึกมาใช้กับประชาชน เขาเห็นว่าเปรียบเหมือนเป็นการใช้ยาแรงในการรักษาโรค คือเราต้องดูก่อนว่ามีการใช้ความรุนแรงหรือไม่ การใช้ยาแรงก็อาจจะทำให้เรื่องบานปลาย แล้วถ้าเกิดกรณีที่ใช้ความรุนแรงก็จัดการไปตามกฎหมาย

พยานเบิกความต่ออีกว่า การกระทำของนายสมบัติเป็นการแสดงความคิดเห็น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ พยานยังเห็นอีกว่าการจะใช้คำว่า “ยุยงปลุกปั่น” ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะต้องดูที่มาที่ไปของการกระทำของจำเลยด้วย และแม้ว่าในวันที่เกิดการรัฐประหารคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร แต่นายสมบัติเป็นเสียงข้างน้อย ก็ต้องไม่ไปทำร้ายเขา การที่เขาออกมาพูดก็ถือเป็นเรื่องดี และป้องกันไม่ให้คนกลุ่มน้อยต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการที่รุนแรง

นพ.นิรันดร์ยังเบิกความถึงนายสมบัติอีกว่า จำเลยเคยทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์กับมูลนิธิที่ทำประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยและคนสูญหาย โดยประเด็นหลังเป็นการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย

หลังสืบพยานปากนี้แล้วเสร็จ ศาลทหารได้นัดสืบพยานคดีต่อไปในวันที่ 3 ต.ค. 2561 เวลา 8.30 น.

 

 

X