เหตุใดต้องยกเลิกอำนาจของกษัตริย์ ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ

เกื้อ เจริญราษฎร์

 

ในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะมีระบบการเมืองแบบรัฐสภาหรือประธานาธิบดี มีรูปแบบของรัฐเป็นแบบสาธารณรัฐหรือราชอาณาจักร หลักการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแก่นของประชาธิปไตย ก็คืออำนาจย่อมเป็นสิ่งที่มาคู่กับความรับผิดชอบเสมอ

ในรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขนั้น ประธานาธิบดีย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรื่องทางการเมือง เนื่องจากโดยปกติย่อมต้องรับผิดชอบกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

แต่ในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรซึ่งมีประมุขมาจากการสืบสันตติวงศ์ตามราชนิติประเพณี ประมุขของรัฐไม่อาจมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะได้ เนื่องจากประมุขของรัฐไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งในฐานะพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือสมเด็จพระจักรพรรดิก็ตาม โดยทั่วไปย่อมไม่ได้มีจุดยึดโยงกับประชาชนและไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านการเลือกตั้งแต่อย่างใด

สาเหตุที่ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจอนุญาตให้ประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักรสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางการเมืองได้อย่างเสรี เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกับคติที่เป็นกระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์เสียก่อน[1]

 

พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครองกับการห้ามกษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง[2]

ในเบื้องต้นหากเราพิจารณารัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรากล่าวได้ว่าการกำหนดสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามภาษิตที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือไปจากการเมืองและปราศจากการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ปกเกล้าในฐานะผู้แทนของรัฐ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า แต่ไม่ปกครอง เนื่องจากที่มาของพระมหากษัตริย์นั้นขาดความรับผิดชอบทางการเมือง

 

ภาพจากทวิตเตอร์ @whatupth

 

ในบางประเทศไอเดียแบบนี้ได้ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้ง เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่นได้บัญญัติหลักการต่างๆ เรื่องบทบาทและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในหมวดที่ 1 เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรวมถึงหลักการว่าพระจักรพรรดิทรงเป็นผู้แทนของรัฐในเชิงสัญลักษณ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน[3] และหลักการที่ว่าพระจักรพรรดิจะทรงมีพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เท่าที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เท่านั้น โดยไม่มีพระราชอำนาจที่เกี่ยวกับการปกครองแต่อย่างใด[4]

การที่ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจอนุญาตให้พระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้นั้น เพราะพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยน้อย เนื่องจากการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบหรือยินยอมจากประชาชน ตามปกติพระมหากษัตริย์ย่อมเข้าสู่ตำแหน่งโดยการสืบราชสันตติวงศ์ตามราชนิติประเพณีผ่านตำแหน่งทางสายโลหิต เช่น ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นมกุฏราชกุมารย่อมได้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

เราอาจกล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ต่างกับบรรดาองค์กรทางการเมืองอื่นๆ ที่ต้องมีความเชื่อมโยงและต้องรับผิดชอบทางการเมืองกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น หากนายกรัฐมนตรีผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารได้แสดงความคิดเห็นหรือตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดพลาด นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกของฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นต้น

ดังนั้นในเชิงหลักการ ระบอบประชาธิปไตยจึงเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) และถูกห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าทางใดๆ เพราะปราศจากความรับผิดชอบและความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การมีพระราชดำรัสหรือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองด้วยพระองค์เองนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองที่โดยทั่วไประบอบประชาธิปไตยไม่อนุญาตให้กระทำได้

 

ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ โดยทั่วไปพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือการเมืองมาจากไหน?

เมื่อกษัตริย์ไม่อาจแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยอิสระ เนื่องจากอยู่ในฐานะประมุขของรัฐที่ไม่ได้มีจุดยึดโยงกับประชาชน โดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะมีพระราชดำรัสเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเมืองได้ ก็ต่อเมื่อได้รับถวายคำแนะนำมาจากฝ่ายบริหาร

ในบางประเทศกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ถูกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น รัฐธรรมนูญแห่งเบลเยี่ยม มาตรา 102 ได้กำหนดว่า “ไม่มีกรณีใดที่พระราชดำรัสหรือพระราชหัตถเลขาจะหลุดพ้นไปจากความรับผิดชอบของรัฐมนตรี”[5] ซึ่งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความชัดเจนในการดำรงตนของสถาบันพระมหากษัตริย์ และก่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการมีพระราชดำรัสหรือพระราชหัตถเลขาใดๆ ต่อสาธารณะ และบทบัญญัติดังกล่าวยังเป็นบทบัญญัติที่เน้นย้ำถึงหลักการเรื่องประชาธิปไตยและความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจอย่างยิ่ง

แม้ในระบอบประชาธิปไตย การมีพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ หากเป็นกิจการในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินหรือเกี่ยวเนื่องกับการเมือง พระมหากษัตริย์จะต้องทรงกระทำตามคำแนะนำของฝ่ายบริหารเสมอ อย่างไรก็ตามในบางวโรกาส พระมหากษัตริย์อาจมีพระราชดำรัสด้วยพระองค์เองได้เฉพาะเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง

ในประเทศอังกฤษ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธจะทรงมีพระราชดำรัสต่อสาธารณะในโอกาสการเปิดประชุมรัฐสภา การมีพระราชดำรัสดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ที่พระองค์ทรงต้องกระทำในฐานะประมุขของรัฐ เนื้อหาของพระราชดำรัสดังกล่าวจะถูกเขียนและรับผิดชอบโดยนายกรัฐมนตรี และสมเด็จพระราชินีมิอาจมีความคิดเห็นส่วนตัวหรือความรู้สึกส่วนตัวลงไปในพระราชดำรัสได้ โดยทั่วไปเนื้อหาของพระราชดำรัสดังกล่าวจะประกอบด้วยแนวนโยบายของรัฐบาลและรายการการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เราอาจกล่าวได้ว่าพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะเช่นนี้ สมเด็จพระราชินีไม่อาจแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้แต่อย่างใด แต่ต้องกล่าวพระราชดำรัสตามคำแนะนำที่นายกรัฐมนตรีถวายเท่านั้น

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงมีพระราชดำรัสในการเปิดการประชุมรัฐสภาอังกฤษ เมื่อปี 2560 (ภาพจาก AFP)

 

ในทางกลับกันหากเป็นพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันคริสมาสต์และวันพระราชพิธีฉลองวันชาติเครือจักรภพ (Commonwealth day) แม้พระราชินีย่อมไม่ถูกผูกพันทางรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีพระราชดำรัสตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี[6] แต่ในทางปฏิบัติ พระราชินีมักจะนำร่างพระราชดำรัสเสนอให้นายกรัฐมนตรีดูก่อนทรงมีพระราชดำรัสเสมอ และเนื้อหาโดยทั่วไปมักจะไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่อย่างใด

ในประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิมีหน้าที่ที่จะต้องทรงมีพระราชดำรัสในการเปิดประชุมรัฐสภาญี่ปุ่น โดยพระราชดำรัสดังกล่าวเรียกว่าโอโคะโตะบะ (OKOTOBA) การแสดงพระราชดำรัสในการเปิดประชุมรัฐสภาญี่ปุ่นนั้นถือเป็นประเพณีที่มีมายาวนานกว่า 120 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญเมจิ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สถาปนาระบบรัฐสภาขึ้น[7] เนื้อหาของพระราชดำรัสดังกล่าวย่อมถูกร่างขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีหลังจากผ่านการปรึกษากับสำนักพระราชวังหลวง (Imperial Household Agency)[8]

แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงอยู่บ้างว่าในเมื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชน พระจักรรพรรดิในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและประชาชนในชาติควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรื่องทางการเมืองผ่านพระราชดำรัสหรือไม่ โดยในปี 2009 Katsuya Okada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เสนอแนะในประเด็นนี้ว่าพระราชดำรัสในการเปิดประชุมรัฐสภาของพระจักรรพรรดิไม่ควรเป็นคำพูดจากนักการเมือง แต่ควรเป็นคำพูดของพระองค์เอง อย่างไรก็ตามความคิดเห็นของ Okada ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และท้ายที่สุดข้อเสนอดังกล่าวได้เป็นอันตกไป

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งก็ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า หากการมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา (OKOTOBA) ถูกปฏิรูปไปในทางที่นาย Okada เสนอ สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เองจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย[9]

 

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงมีพระราชดำรสเปิดการประชุมสภาไดเอต หรือรัฐสภาญี่ปุ่น เมื่อปี 2562 (ภาพจาก AP)

 

คำอธิบายของ “หยุด แสงอุทัย” เรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นการห้ามมิให้พระมหากษัตริย์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตได้มีปรมาจารย์ทางกฎหมายท่านหนึ่งได้อธิบายเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนไปแล้ว นั่นคือหยุด แสงอุทัย นักกฎหมายที่มีความคิดเห็นตรงไปตรงมาในเรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

หยุดได้อธิบายว่าในระบอบประชาธิปไตยไม่มีการใช้อำนาจทางการเมืองใดที่ปราศจากความรับผิดชอบ ดังนั้นเพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดตามหลักที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King can do no wrong)” ต้องมิให้พระมหากษัตริย์กระทำการใดๆ เว้นแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอย่างแท้จริง ซึ่งในเรื่องการมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับความเห็นทางการเมืองนั้น หยุดได้กล่าวในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” อ่านออกอากาศเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ไว้ว่า

องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

หยุดมีความเห็นอย่างชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ไม่อาจมีพระราชดำรัสแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้หลังจากที่ได้ลองสำรวจความคิดทางกฎหมายจากตำราและบทความต่างๆ ของหยุด ผู้เขียนเห็นว่าความคิดเรื่องดังกล่าวของหยุด ตั้งอยู่บนเหตุผลรากฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรทางรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีที่มาโดยมีจุดยึดโยงกับประชาชน แต่กลับมีลักษณะที่พิเศษอย่างยิ่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ นั่นคือการอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ดังนั้นการที่จะรักษาสถานะตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะได้ในระบอบประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์จะต้องทรงมีความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) และไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ โดยตัวพระองค์เอง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น อาจทำให้องค์พระมหากษัตริย์เสื่อมความเคารพสักการะได้ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองย่อมก่อให้เกิดการถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

หยุดได้กล่าวว่า “เพื่อที่พระมหากษัตริย์จะอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงเว้นเสียซึ่งการกระทำใดๆ โดยเปิดเผย อันอาจทำให้ประชาชนนำไปวิพากษ์วิจารณ์ เช่น โดยการออกแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ฯลฯ หรือกล่าวถึงปัญหาในทางการเมืองที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ในประเทศ เป็นต้น…”[10]

 

ภาพจาก หยุด แสงอุทัย. คำบรรยายประมวลกฎหมายอาญา. พระนคร: ดวงดาว, 2500.

 

หากเราพิจารณาความเห็นทางกฎหมายของหยุด เราอาจกล่าวได้ว่า การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ และหากพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สถานะความเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์นั้น ได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 6 ซึ่งบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักการไว้โดยปริยายด้วยว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและต้องเป็นกลางทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองย่อมก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อันทำให้การรักษาสถานะของพระมหากษัตริย์ในเรื่องการเป็นที่เคารพสักการะนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

กล่าวโดยสรุปคือข้อเสนอข้อที่ 7 ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ไม่อาจแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะได้นั้น เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องในทางวิชาการและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติหลักการไว้ว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นกลางทางการเมือง เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะ

 

บทสรุป: การห้ามกษัตริย์มิให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นการทำให้คติพระมหากษัตริย์ปกเกล้าแต่ไม่ปกครองสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

การห้ามมิให้พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะนั้น แม้จะเป็นข้อเสนอที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวพระมหากษัตริย์ และอาจก่อให้เกิดคำถามว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของพระมหากษัตริย์นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่าผ่าเผย เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เป็นองค์กรที่ไม่ได้มีจุดยึดโยงกับประชาชนเท่ากับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ แต่กลับมีสถานะเป็นผู้แทนรัฐและใช้อำนาจเชิงสัญลักษณ์บางประการของรัฐ ดังนั้นการห้ามมิให้พระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาความเป็นกลางในฐานะผู้แทนของรัฐ และเป็นการรักษาคติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ว่า “พระมหากษัตริย์ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรสกับผู้พิพากษาที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

 

ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ อันเป็นหนึ่งในข้อเสนอ 10 ประการสำหรับปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นข้อเสนอที่ถูกพูดถึงไม่มากนัก โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกมองว่าเป็นข้อเสนอทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอในลักษณะดังกล่าวโดยไม่ไปแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น อาจจะเป็นข้อเสนอที่ไม่มีผลบังคับ หากเราพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยพระมหากษัตริย์ในแต่ละครั้งมีผลกระทบกับฐานะของพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น เช่น พระราชดำรัสที่นำไปสู่กระแสตุลาการภิวัฒน์ก่อนการรัฐประหาร 2549 หรือการแสดงความคิดเห็นที่มีมูลเหตุทางการเมืองในปัจจุบัน ด้วยถ้อยคำที่ว่า “กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก เก่งมาก ขอบใจ” เป็นต้น

เพื่อที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยไว้ในโลกสมัยใหม่ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ จะต้องถูกห้ามมิให้ข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจบัญญัติให้ชัดเจนได้ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจน และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผยในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

——————————————

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า “กระดูกสันหลัง” มนุษย์ไม่อาจยืนตัวตรงได้หากปราศจากกระดูกสันหลังฉันใด พระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจยืนโดยสง่าผ่าเผยได้ในระบอบประชาธิปไตยได้หากปราศจากคตินี้ฉันนั้น

[2] ผู้เขียนใช้คำกลางๆ ว่าพระมหากษัตริย์ แต่อันที่จริงในแต่ละประเทศมีชื่อเรียกตำแหน่งที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ประวัติศาสตร์ ประเพณีการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นพระจักรพรรดิ พระราชินี หรือพระมหากษัตริย์

[3] Constitution of Japan, Article 1 “The Emperor shall be the symbol of the State and of the unity of the People, deriving his position from the will of the people with whom resides sovereign power.”

[4] Constitution of Japan, Article 4 “The Emperor shall perform only such acts in matters of state as are provided for in this Constitution and he shall not have powers related to government.”

[5] Constitution of Belgium, Article 102 “In no circumstances may a written or oral order of the King exempt a minister from his accountability.”

[6] Blackburn R., King and Country, Politico’s Publishing Ltd, first edition, 2006, p.11.

[7] Narutoshi Yoshida, Comparison of the Status of the Monarch’s Speech in Parliament between the UK and Japan, King’s Student Law Review, Constitutional Law Blog

[8] เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาลญี่ปุ่น รับผิดชอบในกิจการของรัฐอันเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่น

[9] Supra note 7

[10] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515, สำนักพิมพ์ นิติบรรณาการ, หน้า 54

 

X