10 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับ “นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ” โดยทันที

10 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับ “นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ” โดยทันที

1010

10 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นและกระบวนการทางกฎหมายอื่น ๆ ทั้งหมดกับทนายความด้านสิทธิมนุษยชน “นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ” โดยทันที

วันนี้ (3 ตุลาคม 2559) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Forum for Human Rights and Development – FORUM-ASIA) กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Observatory for the Protection of Human Rights Defenders ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล- FIDH  และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก – OMCT) องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันแนล  (Protection International – PI) องค์กรลอว์เยอร์ไรท์วอชแคนาดา Lawyers Rights Watch Canada (LRWC) องค์กรโฟร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights) และองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสฟอร์ฮิวแมนไรท์ International Service for Human Rights (ISHR) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีทุกคดีกับทนายความด้านสิทธิมนุษยชน “นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ” โดยทันที รวมถึงข้อกล่าวหาที่มิชอบเรื่องยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งว่าเกี่ยวโยงกับการที่องค์กรที่เธอสังกัดเป็นทนายความให้กับนักศึกษา 14 คนที่รวมตัวประท้วงอย่างสงบเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558

นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights – TLHR) ได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 ภายหลังถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาในความผิดประเภท ‘ยุยงปลุกปั่น’ โดยในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร คือ พ.ท. พงศฤทธิ์ ภวังค์คะนันท์

นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริได้รับหมายเรียกลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ภายหลังเดินทางกลับจากเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญที่ 33 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ณ นครเจนีวา ซึ่งเธอได้รณรงค์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในฐานะตัวแทนของ FORUM-ASIA และ ICJ ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหมายเรียกลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 ไปยังอพาร์ตเมนต์ของเธอ อย่างไรก็ตาม ความปรากฎว่านางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริไม่ได้รับหมายเรียกเนื่องจากเธอไม่ได้อยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในวันดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกตั้งข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาสองข้อหา คือ “แจ้งความอันเป็นเท็จ” และ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน”   ซึ่งข้อหาดังกล่าวเชื่อมโยงกับการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นักศึกษา 14 คน ทั้งนี้ หมายเรียกฉบับใหม่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับคดีเดียวกันนี้

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ)

ข้อกล่าวหาของทางทหารที่ว่า นางสาวศิริกาญจน์  เจริญศิริ ทำผิดกฎหมายฐานยุยงปลุกปั่นนั้น  เป็นฐานความผิดที่มักถูกนำมาใช้โดยมิชอบอยู่บ่อยครั้ง โดยเป็นบทกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรงอย่างสุดโต่ง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่คดีของ นางสาวศิริกาญจน์  เจริญศิริ จะอยู่ภายใต้การพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะต้องถอนข้อหาดังกล่าวทันที นายวิลเดอร์ เทย์เลอร์ (Wilder Tayler) เลขาธิการ ICJ กล่าว ข้อเท็จจริงที่ว่าทางการตั้งข้อหาดังกล่าวเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ภายหลังที่ลูกความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นในคดีเดียวกัน  แสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นการโต้กลับกับการที่ตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารเป็นต้นมา เธอได้ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยได้รับความสนใจอย่างสูงทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)

“เป็นเรื่องที่เหลือทนที่ทางการไทยกำลังพิจารณาตั้งข้อหาทนายความ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เหตุเพราะ
ทำหน้าที่ปกป้องลูกความของเธอ และเป็นเรื่องที่แย่ลงไปอีกเท่าตัวหากว่าทางการนำตัวเธอขึ้นสู่ศาลทหารซึ่งไร้ความเป็นธรรมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว” นายแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียของ Human Rights Watch กล่าว “การพยายามข่มขู่ทนายความผู้ทำหน้าที่แก้ต่างให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกำลังแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารมีความกลัวอย่างฝังลึกต่อหลักนิติธรรม”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International)

“การตั้งข้อหาใหม่กับ นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ อีกครั้งแสดงถึงความตั้งใจของทางการไทยที่จะ
โต้กลับทนายความและนักกิจกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสำคัญของการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและหลัก
นิติธรรม” นายราเฟนดิ ดีจามิน (Rafendi Djamin) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของ Amnesty International กล่าว “รัฐบาลไทยควรเปลี่ยนแนวคิดดังกล่าวและปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของทนายความและเสรีภาพของพวกเขาในการทำหน้าที่แก้ต่างให้ลูกความโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น และเพื่อสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรีและปลอดภัย”

สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Forum for Human Rights and Development – FORUM-ASIA)

“การออกหมายเรียกทนายความสิทธิมนุษยชน นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ด้วยข้อหาประเภทยุยงปลุกปั่นภายใต้มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ผู้รณรงค์เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557” เบตตี้ โยลานดา (Betty Yolanda) ผู้อำนวยการ FORUM-ASIA กล่าว  “หากถูกดำเนินคดี งานรณรงค์ด้าน
สิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของ นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริอาจถูกปิดกั้นด้วยการจำกัดไม่ให้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเงื่อนไขที่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศ”

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights – FIDH)

“การที่รัฐบาลคุกคามนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทย มีเพียงลมปากว่าจะทำตามพันธสัญญาที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” นายดิมิตริส คริสโตปูลอส (Dimitris Christopoulos) ประธาน FIDH กล่าว

องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organisation Against Torture – OMCT)

“ข้อกล่าวหาต่อนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริเป็นความพยายามอย่างโจ่งแจ้งและไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วที่จะทำลายการปฏิบัติหน้าที่ทนายความสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของเธอ” นายเจอรัลด์ สตาเบร็อค (Gerald Staberock) เลขาธิการ OMCT กล่าว “การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างรุนแรงจะต้องยุติลงและต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งปวงต่อนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ โดยทันที

องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันแนล  (Protection International – PI)

“การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุของการรายงานและกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในประเทศไทย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงจะตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นพิเศษ” ลิเลียนา เดอ มาร์โค โคเนน (Liliana De Marco Coenen) ผู้อำนวยการ PI กล่าว “ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 8 ใน 10 คนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญาเป็นผู้หญิง”

องค์กรลอว์เยอร์ไรท์วอชแคนาดา  (Lawyers Rights Watch Canada – LRWC)

การเพิ่มข้อกล่าวหาใหม่กับนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริเป็นเรื่องที่น่าตระหนก เพราะดูเหมือนว่าเป็นปฏิบัติการตอบโต้การทำงานของเธอในฐานะทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เกล เดวิดสัน (Gail Davidson) ผู้อำนวยการ LRWC กล่าว ประเทศไทยได้รับรองมติของที่ประชุมแห่งสมัชชาสหประชาชาติซึ่งเรียกร้องให้ทุกชาติคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บัดนี้ ประเทศไทยจะต้องอนุวัติการพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยดำเนินการถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อ นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ”

องค์กรโฟร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights)

“การมุ่งเป้าไปที่ นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ เนื่องมาจากการทำหน้าที่ทนายความสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของเธอเป็นความพยายามอีกครั้งของทางการไทยที่จะกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว”  เอมี่ สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการ Fortify Rights กล่าว “ทางการไทยควรปฏิบัติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสมือนเป็นสมาชิกผู้มีคุณค่าของสังคมแทนที่จะเป็นศัตรูของรัฐ”

องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสฟอร์ฮิวแมนไรท์ (International Service for Human Rights – ISHR)

ข้อกล่าวหาเท็จต่อทนายความสิทธิมนุษยชน นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ควรถูกถอนทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข นายฟิล ลินช์ (Phil Lynch) ผู้อำนวยการ ISHR กล่าว ประเทศไทยมีหน้าที่ชัดเจนที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจเป็นการตอบโต้งานรณรงค์สิทธิมนุษยชนที่เธอดำเนินการมาตั้งแต่ภายหลังรัฐประหาร

ความเป็นมา

หมายเรียกลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 มิได้ระบุมูลเหตุแน่นอนของข้อกล่าวหา แต่ดูเหมือนว่าหมายเรียกดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นักศึกษา 14 คนซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 หลังจากชุมนุมประท้วงอย่างสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยกเลิกการปกครองโดยฝ่ายทหาร

หากท้ายที่สุดนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริถูกดำเนินคดีด้วยความผิดตามที่กล่าวหา เป็นไปได้ว่าคดีของเธอจะอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหาร เพราะความผิดตามข้อกล่าวหาเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนคำสั่งฉบับที่ 55/2559 ของหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 ซึ่งยกเลิกการฟ้องคดีพลเรือนต่อศาลทหาร

ข้อ 12 ในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 (ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป) กำหนดบทลงโทษสูงสุดจำคุกหกเดือนหรือโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดประเภท ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษสูงสุดจำคุกเจ็ดปี

ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และมาตรา 116 กำหนดข้อจำกัดด้วยคำที่กินความกว้างและกำกวมเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งล้วนละเมิดพันธกรณีด้านกฎหมายของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อีกทั้งยังแย้งกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 116 กำหนดให้การกระทำใดๆ อันเป็นการ “เพื่อ…ให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” เป็นความผิดทางอาญา

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ให้หลักประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม และการห้ามมิให้จับกุมหรือคุมขังโดยพลการ

ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ยืนยันสิทธิของคนทุกคนที่จะคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหนทางสันติ ปฏิญญาฯห้ามมิให้กระทำการ
โต้กลับ ข่มขู่และคุกคามด้วยรูปแบบอื่นๆ ต่อบุคคลใดก็ตามที่กระทำการโดยสันติเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะในระหว่างหรือนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของพวกเขา

หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) กำหนดให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่าทนายความจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของพวกเขาโดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง คุกคามหรือแทรกแซงอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม

ลงชื่อ

  1. คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ)
  2. ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)
  3. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International)
  4. สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Forum for Human Rights and Development – FORUM-ASIA)
  5. 5. สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights – FIDH)
  6. 6. องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organisation Against Torture – OMCT)
  7. 7. องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันแนล (Protection International – PI)
  8. องค์กรลอว์เยอร์ไรท์วอชแคนาดา (Lawyers Rights Watch Canada – LRWC)
  9. องค์กรโฟร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights)
  10. องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสฟอร์ฮิวแมนไรท์ (International Service for Human Rights (ISHR)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทนายความของศูนย์ทนายฯ ถูกออกหมายเรียกข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และม.116

ตร.มีความเห็นสั่งฟ้องทนาย NDM คดีไม่ยอมให้ค้นรถ อัยการนัดฟังคำสั่ง 27 ก.ค. หลังทนายขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่ม

Police decided to file the case against the NDM’s attorney with the public prosecutor for preventing car search, the indictment decision by the prosecutor to be announced later pending the request from the attorney to have more witnesses examined

พนักงานสอบสวนนัดทนายความของสมาชิกประชาธิปไตยใหม่ ส่งตัวให้พนักงานอัยการคดี

June’s case will be transferred to the public prosecutor on 12 May

ทนายความของ NDM เข้าให้การเพิ่มเติมในคดีค้นรถยืนยันว่าการไม่อนุญาตค้นรถชอบด้วยกฎหมาย

 
X