พิพากษายืนปรับ 2 พัน เอกชัย-โชคชัย ฐานไม่แจ้งชุมนุม กรณีเปิดเพลง “ประเทศกูมี” 

29 ก.ค. 2563 ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่ 2 นักกิจกรรม เอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ตกเป็นจำเลยในข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีที่ทั้งสองนัดหมายไปเปิดเพลง “ประเทศกูมี” และทำกิจกรรมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อคัดค้านการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562

คดีนี้ศาลแขวงดุสิตพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้เชิญชวน เท่ากับเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ทำให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องแจ้งจัดการชุมนุมต่อผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท

>> ศาลปรับ ‘เอกชัย-โชคชัย’ 2 พัน เหตุเปิดเพลง “ประเทศกูมี” หน้าบก.ทบ.

เอกชัยและโชคชัยยื่นอุทธรณ์ว่า การจัดกิจกรรมของจำเลยไม่เข้าลักษณะของการชุมนุมสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมสาธารณะ และไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายแต่อย่างใด

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และให้ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท 

หลังทราบผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เอกชัยให้สัมภาษณ์ว่า “ก็ไม่เหนือความคาดหมาย แต่ก็ไม่เห็นด้วยเพราะเรามองว่ามันเป็นเพียงแค่กิจกรรมเหมือนที่เราและโชคชัยทำมาก่อนหน้านี้ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง ซึ่งก็ไม่เคยโดน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เลยสักครั้ง และเราก็ทำลักษณะเดียวกันนี้ทุกครั้งคือเราจะโพสต์แจ้งก่อน ซึ่งไม่ใช่การเชิญชวนแต่เป็นแค่การประกาศ  จะเห็นว่าทุกครั้งที่เราไปก็ไม่ได้มีการเชิญชวนให้ใครมาร่วมด้วยเลย” 

เอกชัยแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “ที่ศาลวินิจฉัยว่า ถ้ามีการรวมตัวของคน 2 คนขึ้นไปก็ถือว่าเป็นการชุมนุม เราเห็นว่า น่าจะมีการนิยามใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ชัดเจนกว่านี้ ไม่ใช่ครอบจักรวาล แล้วทำให้ใครทำอะไรก็ผิดไปหมด จริงๆ แล้ว การชุมนุมควรจะมีตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป แล้วต้องมีการประกาศเชิญชวนคน แต่ถ้ามากันไม่กี่คนและไม่ได้เชิญชวนคนแบบนี้ก็ควรถือเป็นแค่การจัดกิจกรรม” 

ด้านโชคชัยเปิดเผยว่า “เราไม่ได้คิดจะแจ้งการชุมนุม เพราะไม่ได้ตั้งใจจะจัดการชุมนุมสาธารณะและเชิญชวนใครมาร่วมอยู่แล้ว เราแค่มายื่นหนังสือและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น พอดีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูเฟซบุ๊กเราและเห็นการตั้งค่าเป็นสาธารณะก็ตีความเองว่าต้องการเชิญชวนให้คนอื่นมาร่วม”

กิจกรรมเปิดเพลง “ประเทศกูมี” ถือเป็นการชุมนุม จำเลยมีพฤติการณ์เป็นผู้จัด ไม่ต้องวินิจฉัยว่า โพสต์เชิญชวนหรือไม่

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีรายละเอียดโดยย่อ ดังนี้

ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการจัดกิจกรรม มิได้เป็นการจัดชุมนุมสาธารณะนั้น ศาลเห็นว่า ตามบทนิยามของในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ “การชุมนุมสาธารณะ” หมายถึง การรวมตัวของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อเรียกร้องสนับสนุนคัดค้านหรือแสดงความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและประชาชนสามารถเข้าร่วมได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าเป็นเพียงการกระทำกิจกรรม แต่เมื่อกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในที่สาธารณะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นของจำเลยทั้งสองต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งประชาชนทั่วไปหรือบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมกับจำเลยทั้งสองได้ การรวมตัวของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะแล้ว

ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะรวมตัวกันนั้นได้มีการนัดหมายกัน โดยกำหนดวัน เวลา และสถานที่ไว้ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 มีผู้ติดตามจำนวนมาก ประชาชนทั่วไปที่เข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองย่อมต้องทราบกำหนดนัด และสามารถเข้าร่วมชุมนุมกับจำเลยทั้งสองได้ อีกทั้งจำเลยทั้งสองยังเป็นผู้จัดเตรียมสิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องขยายเสียง ตุ๊กตาหมีขนาดใหญ่ และเก้าอี้แบบพับได้ เพื่อนำไปใช้ในการชุมนุมสาธารณะ และกล่าวแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุอีกด้วย จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองลงไว้ในเฟซบุ๊กมีข้อความในลักษณะเป็นการเชิญชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมชุมนุมหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งการชุมนุมดังกล่าวต่อผู้มีหน้าที่รับแจ้งคือ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 3 พ.ย. 2558 จำเลยทั้งสองจะมีความผิดตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าการทำกิจกรรมของจำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจแทรกแซง กีดกัน และขัดขวางไม่ให้จำเลยทั้งสองไปทำกิจกรรมยังบริเวณป้ายกองบัญชาการกองทัพบก และก่อนหน้านี้จำเลยทั้งสองเคยมาประกอบกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีนั้น ศาลเห็นว่า บริเวณหน้าป้ายกองบัญชาการกองทัพบกก็เป็นที่สาธารณะเช่นเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะจัดกิจกรรมหรือการชุมนุมสาธารณะในบริเวณป้ายกองบัญชาการกองทัพบกหรือบริเวณที่เกิดเหตุก็ถือว่าเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะทั้งสิ้น

ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจกีดกัน ขัดขวางการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญนั้น หากจำเลยทั้งสองเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองก็สามารถดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาต่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ แต่จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นข้อยกเว้นการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้ 

นอกจากนี้ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าประชาชน หรือบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมกับจำเลยทั้งสองได้เพราะจำเลยทั้งสองจัดกิจกรรมภายใต้วงล้อมของเจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนคล้องแขนกัน จึงไม่เข้าองค์ประกอบการชุมนุมสาธารณะนั้น ศาลเห็นว่าในขณะที่จำเลยทั้งสองมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ยืนคล้องแขนพร้อมจำเลยทั้งสองไว้ทันที แต่เข้าโอบล้อมจำเลยทั้งสองในช่วงท้ายของกิจกรรมเท่านั้น และที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ก่อนคดีนี้จำเลยทั้งสองเคยจัดกิจกรรมมาหลายครั้งแต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีนั้น ศาลเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่ข้อกล่าวอ้างที่จะทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดไปได้

ย้อนดูคำอุทธรณ์จำเลย            

ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา เอกชัยและโชคชัยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  ระบุเหตุผลว่า  

1. คดีนี้เจ้าหน้าที่มุ่งใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจำเลยทั้งสอง ซึ่งขัดกับหลักการหลักของรัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 19      

2. จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเนื่องจาก

2.1 จำเลยทั้งสองไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ หรือประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงไม่ได้เป็นผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยทั้งสอง เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในวันที่เกิดเหตุ การจัดกิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นเพียงการจัดกิจกรรมที่มีลักษณะของการแสดงเชิงสัญลักษณ์ประกอบ ไม่ใช่ “การชุมนุมสาธารณะ” ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 4  การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าบทนิยามของ “เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ”  ด้วย

2.2 จำเลยทั้งสองเจตนาที่จะไปจัดกิจกรรมบริเวณพื้นที่ป้ายหน้ากองทัพบก ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่เป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ของกองทัพบกจัดเตรียมไว้ให้ประชาชนในการยื่นหนังสือ หรือกิจกรรมการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณนี้ ไม่ได้เป็นการรบกวนหรือกระทบกระเทือนต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ และกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนคนอื่นเกินสมควร แต่ที่จำเลยจัดกิจกรรมบริเวณจุดเกิดเหตุเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการปิดกั้นบริเวณป้ายหน้ากองทัพบก และเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบชุดสืบสวนของตำรวจนครบาล พาจำเลยทั้งสองมาบริเวณที่เกิดเหตุ และแจ้งให้จัดกิจกรรมบริเวณนี้ อีกทั้งการจัดกิจกรรมของจำเลยอยู่ในความดูแลอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  จึงไม่กระทบเทือนต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ หรือสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ ICCPR ให้การรับรอง   

2.3 แม้จำเลยทั้งสองจะมีการโพสต์ข้อความดังกล่าวแบบสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาดูได้ แต่จำเลยมีเจตนาเพื่อแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจและนักข่าวทราบ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถเข้ามาดูแลความปลอดภัยได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่จำเลยที่ 1 ถูกทำร้ายร่างกายในขณะที่ทำกิจกรรม อีกทั้งโพสต์ของจำเลยทั้งสอง ก็ไม่ได้มีถ้อยคำหรือข้อความใดที่เชิญชวนบุคคลมาร่วมกิจกรรม เนื่องจากพยานมีเจตนาจัดกิจกรรมเฉพาะจำเลยทั้งสองเท่านั้น การโพสต์ข้อความของจำเลยทั้งสองในเฟซบุ๊กจึงไม่อาจอนุมานได้ว่ามีลักษณะเป็นการเชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมกิจกรรมที่จำเลยทั้งสองจัดขึ้นในวันเกิดเหตุ

2.4 เหตุที่มีการนำเครื่องขยายเสียงเข้าไปในที่เกิดเหตุ เนื่องจากจำเลยทั้งสองตั้งใจจะไปเปิดเพลง “ประเทศกูมี” ให้ พล.อ.อภิรัชต์ ฟังจากบริเวณหน้าป้ายกองทัพบก จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องเสียง ไม่ได้มีเจตนาแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมฟังและชมการจัดกิจกรรมของจำเลยทั้งสองได้ เนื่องจากชุดตำรวจควบคุมฝูงชนของกองบังคับการตำรวจนครบาลที่ยืนคล้องแขนเพื่อป้องกันบุคคลอื่นหรือประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม   

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาจึงไม่ถือว่าการจัดกิจกรรมของจำเลยทั้งสองเข้าลักษณะของการชุมนุมสาธารณะ ตามบทนิยามในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมสาธารณะ และไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายแต่อย่างใด

ผบ.ทบ.สั่งการให้เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ตามคลื่นวิทยุของกองทัพบก

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อเดือน ก.พ. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปรับลดงบประมาณกลาโหม โดยไล่ให้ไปฟัง “เพลงหนักแผ่นดิน” และมีการสั่งการให้เปิดเพลงนี้ตามคลื่นวิทยุของกองทัพบก ทำให้เอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ สองคู่หูนักกิจกรรม ได้นัดหมายไปที่หน้า บก.ทบ. เพื่อทำกิจกรรมคัดค้านการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งทั้งสองเห็นว่ามีส่วนในการนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

ทั้งสองได้ทำกิจกรรมเปิดเพลง “ประเทศกูมี” พร้อมทั้งนำตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ไปจำลองการแขวนคอและฟาดเก้าอี้ในเหตุการณ์ 6 ต.ค. ด้วย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ผ่านลำโพง L-Rad ตอบโต้ และควบคุมตัวทั้งสองคนไปดำเนินคดี ในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และต่อมาอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตในความผิดฐานดังกล่าว

>>ดำเนินคดีไม่แจ้งชุมนุม 4 น.ศ.-นักกิจกรรม หลังทำกิจกรรมค้านเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” หน้าบก.ทบ.

>>อัยการสั่งฟ้อง 2 คดี “เอกชัย-โชคชัย” และ “เพนกวิ้น-บอล” เหตุค้าน ผบ.ทบ.เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน”

นอกจากเอกชัยและโชคชัยแล้ว ยังมีพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย หรือ บอล นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นัดหมายไปทำกิจกรรมในเช้าวันเดียวกันด้วย เพื่ออธิบายว่าทำไมกองทัพไม่ควรเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน”  ที่หน้า บก.ทบ. เช่นกัน แต่ทั้งสองไปถึงก่อนเอกชัยและโชคชัยเล็กน้อย และได้อ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ผบ.ทบ.ยุติการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ในหน่วยทหารและวิทยุของกองทัพ  หลังจากอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวทั้งสองทันที และนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ซึ่งต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรค 1 ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท เช่นกัน

>> ปรับเพนกวิน-บอล คนละ 2,000 บาท เหตุค้านเปิดเพลงหนักแผ่นดินหน้ากองทัพบก

X