อ่านร่องรอย 4 ปี การต่อสู้คดี “ฉีกบัตรประชามติ” ก่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาพรุ่งนี้

21 ก.ค. 2563 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดี “ฉีกบัตรประชามติ” ที่อัยการฟ้อง 3 นักกิจกรรม ได้แก่ “โตโต้” นายปิยรัฐ จงเทพ เป็นจำเลยที่ 1 รวม 4 ข้อหา จากการฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ขณะเข้าไปลงคะแนนเสียง พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” รวมทั้งฟ้องนายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ เป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาก่อความวุ่นวาย จากการถ่ายวีดิโอขณะที่นายปิยรัฐทำการฉีกบัตร

ก่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งจะชี้ขาดว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของปิยรัฐและเพื่อนเป็นความผิดหรือไม่ หลังการยืนยันต่อสู้คดีของทั้งสามเป็นเวลาเกือบครบ 4 ปี ในวันที่ 7 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านสรุปเรื่องราวความเป็นมาของคดี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ตลอดจนข้อต่อสู้ของนักกิจกรรมทั้งสามที่นำคดีขึ้นถึงศาลสูงสุด (อ่านรายละเอียดคดีทั้งหมดได้ที่ ปิยรัฐฉีกบัตรประชามติ – 5 ปี คสช. สถิติผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ)

ทั้งนี้ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ คสช. ที่เป็นเหตุของคดีนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีข้อวิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไปว่า ไม่ได้เป็นกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม เนื่องจากเต็มไปด้วยการใช้ “กฎหมาย” ตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยมีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องมาจากใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างน้อย 212 คน ซึ่งรวมถึง 3 จำเลยในคดีนี้ ในข้อหาต่างๆ กัน ทั้งฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558, ข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (อ่านใน รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี”) 

สำหรับคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เท่าที่ศูนย์ทนายฯ มีข้อมูล ส่วนใหญ่จบลงโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด ได้แก่ คดีแปะใบปลิวโหวตโน ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือคดีแจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และ สติกเกอร์โหวตโนศาลจังหวัดราชบุรี รวมถึงคดีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ และยังคงเหลือคดีที่ยังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ได้แก่ คดีแจกใบปลิวประชามติบางเสาธง ที่กำลังสืบพยานที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการในขณะนี้ โดยมีเพียงคดีฉีกบัตรประชามติเป็นคดีแรกที่ต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานก่อความวุ่นวายตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ

 

ในหน่วยออกเสียงประชามติ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลา 12.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งในสำนักงานเขตบางนา นายปิยรัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง ได้ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างการลงคะแนนเสียง พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อประท้วงการออกเสียงประชามติครั้งนี้ที่ไม่เสรีและเป็นธรรมเพราะมีการปิดกั้นการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ และนายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ เพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไม่ได้ใช้สิทธิในหน่วยนี้ได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโอไว้ ปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในทันทีและนำตัวไป สน.บางนา โดยมีเพื่อนทั้งสองติดตามไปด้วย

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาปิยรัฐใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายเอกสารผู้อื่น ในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 358 และข้อหาทำลายบัตรออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 รวมทั้งต่อมาได้แจ้งเพิ่มเติมในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ และยังได้แจ้งข้อหานี้แก่เพื่อนทั้งสองที่เป็นผู้ถ่ายวีดิโอ โดยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคน แต่ยึดโทรศัพท์มือถือของนายทรงธรรมที่ใช้ถ่ายวีดิโอไว้เป็นของกลาง 

คำแถลงของ ปิยรัฐ จงเทพ (ภาพโดย ประชาไท)

.

ในศาลพระโขนง: ปากคำ กกต. – ตำรวจ ถึงสามจำเลย

หลังอัยการยื่นฟ้องปิยรัฐและเพื่อนรวม 3 คน ต่อศาลจังหวัดพระโขนง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ในฐานความผิดดังกล่าว ปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาทำลายบัตรออกเสียง แต่ปฏิเสธข้อหาทำลายเอกสารและทำให้เสียทรัพย์  และจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง โดยโจทก์และจำเลยได้นำพยานบุคคลเข้าเบิกความมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

พยานโจทก์: ไม่มีความวุ่นวายระหว่างการฉีกบัตร

คณะกรรมการในหน่วยออกเสียงประชามติซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถ่ายวิดีโอจากด้านนอกของหน่วยออกเสียง และทั้งในขณะเกิดเหตุฉีกบัตรและหลังเกิดเหตุ ประชาชนที่มาใช้สิทธิก็ยังคงดำเนินการลงคะแนนไปได้เป็นปกติ รวมทั้งระบุว่า เขตบางนาได้ออกข้อกำหนดห้ามถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียง แต่ พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว

เช่นเดียวกับตำรวจ 2 นายที่รักษาความปลอดภัยอยู่ในหน่วยออกเสียง ซึ่งเบิกความว่าหลังเกิดเหตุการณ์ฉีกบัตร การใช้สิทธิออกเสียงของประชาชนยังเป็นไปโดยปกติ

ควรบันทึกไว้ด้วยว่าคดีนี้มีผู้ชำนาญการฝ่ายกฎหมายของบริษัทเอไอเอส  เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ ในประเด็นการตรวจสอบการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสาม เพื่อยืนยันว่าจำเลยทั้งสามคนรู้จักกันและมีการติดต่อกันมาโดยตลอด โดยพยานเป็นผู้รวบรวมการใช้งานโทรศัพท์ทั้ง 3 หมายเลขของจำเลย เกี่ยวกับระยะเวลาการติดต่อ การรับส่ง SMS และพิกัดตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 – 18 ส.ค. 2559 จัดทำเป็นเอกสารส่งให้พนักงานสอบสวน พยานรับว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้  แต่พยานเชื่อว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้พยานส่งหลักฐานดังกล่าวไปให้ จึงได้ปฏิบัติตาม  

สามจำเลย: ยืนยันคัดค้านประชามติที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

นายปิยรัฐได้เบิกความต่อศาลในฐานะจำเลยว่า ในวันนั้นตนได้ไปที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตที่สำนักงานเขตบางนา และได้นัดนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมไปพบกัน เนื่องจากต้องการคุยธุรกิจกันต่อในตอนบ่าย เมื่อไปถึงที่หน่วยและเข้าไปรับบัตรออกเสียงแล้ว ตนได้เดินเข้าไปยังหีบใส่บัตรออกเสียง และทำการฉีกบัตรที่รับมา พร้อมกับพูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”  เหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะเห็นว่าสถานการณ์ในช่วงก่อนถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกว่าไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีการจับกุมบุคคลเข้าค่ายทหาร ดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นอยู่ฝ่ายเดียว แต่กับบุคคลที่ออกมาสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ

ส่วนนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมเบิกความคล้ายกันว่า พวกตนเดินทางไปที่สำนักงานเขตบางนาเนื่องจากมีการนัดพูดคุยธุรกิจกับนายปิยรัฐในตอนบ่าย จึงนัดเจอกันที่หน่วยออกเสียง และนายทรงธรรมได้ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตเอาไว้ที่เขตบางนาด้วย เมื่อพวกเขาทั้งสามคนได้พบกันที่หน้าหน่วยออกเสียง และปิยรัฐแยกตัวไปใช้สิทธิ นายทรงธรรมคิดว่าจะถ่ายภาพเอาไว้ จึงได้เดินไปสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าถ่ายภาพได้หรือไม่ และได้ถ่ายวีดิโอขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร อยู่ที่ด้านหลังบอร์ดรายชื่อ ทั้งสองคนยืนยันว่าไม่ทราบมาก่อนว่าปิยรัฐจะฉีกบัตรออกเสียง และระหว่างที่ถ่ายวิดีโออยู่นั้นไม่เห็นว่าเกิดความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง ทั้งยังมั่นใจว่าการกระทำของพวกเขาไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย

 

ศาลชั้นต้น: ยกฟ้องข้อหาก่อความวุ่นวาย ข้อหาฉีกบัตรให้รอลงอาญา

26 ก.ย. 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า สำหรับความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียงประชามติ เมื่อจำเลยรับสารภาพก็ถือว่าทำผิดข้อหานี้ และย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย แต่เนื่องจากบัตรลงคะแนนประชามติยังไม่ถูกกา ยังไม่ถือเป็นเอกสารตามนิยามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) จึงไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสาร

ส่วนข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง ที่จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธนั้น เนื่องจากการออกเสียงประชามติยังดำเนินไปได้ตามปกติ อีกทั้งการฉีกบัตรของจำเลยที่ 1 ใช้เวลาเพียงสั้นๆ และโดยสันติ ยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย และเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามไม่ให้ถ่ายรูป  อีกทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 และ 3 ใช้เวลาสั้นๆ และโดยสันติ การโพสต์เฟซบุ๊กก็ไม่ได้กระทำภายในหน่วยออกเสียง และไม่ส่งผลต่อการออกเสียงประชามติแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการก่อความวุ่นวายภายในหน่วยออกเสียง

ศาลจังหวัดพระโขนงจึงพิพากษาลงโทษปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ฐานทำลายบัตรออกเสียง และทำให้เสียทรัพย์ โดยเป็นการกระทำเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 ทุกข้อกล่าวหา

 

ยื่นอุทธรณ์: อัยการขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานก่อความวุ่นวาย ปิยรัฐขอให้ลงโทษแค่ทำลายบัตร

ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลขั้นต้นว่า บัตรออกเสียงประชามติระบุข้อความชัดว่า “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” มีความหมายที่เข้าใจสำหรับผู้ออกเสียงลงประชามติ จึงถือว่าบัตรออกเสียงดังกล่าวเป็นเอกสารตามนิยามของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวาย ไม่ใช่การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี

ฝ่ายจำเลยแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสาร เนื่องจากมีแนวคำพิพากษาฎีการะบุไว้ว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายลงไปยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้รบกวนการใช้สิทธิออกเสียงของบุคคลอื่น การลงประชามติยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงเช่นกัน

นอกจากนี้ ปิยรัฐยังยื่นอุทธรณ์ว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติเป็นความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งกฎหมายทั่วไป คือ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงขัดต่อหลักกฎหมายในกรณีที่มีความผิดระบุไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะ ให้ลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น ปิยรัฐยังอุทธรณ์คัดค้านโทษจำคุก โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษารอการกำหนดโทษไว้ก่อน

 

ศาลอุทธรณ์: พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานก่อความวุ่นวาย เหตุฝ่าฝืนกฎหมาย

ต่อมา วันที่ 15 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดพระโขนงนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปใจความได้ว่า

ประเด็นแรก ศาลเห็นว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาที่จะทำลายบัตรออกเสียงประชามติเท่านั้น และเนื่องจากความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียง เป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติใช้โดยเฉพาะคือ พ.ร.บ.ประชามติฯ แล้ว จึงไม่ต้องปรับบทความผิดตามกฎหมายทั่วไป คือประมวลกฎหมายอาญาอีก เป็นไปตามที่จำเลยอุทธรณ์

ประเด็นต่อมา ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงตามที่โจทก์อุทธรณ์ เนื่องจากจำเลยทั้งสามร่วมกันตระเตรียมการมาเพื่อประสงค์ต่อผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 คือการฉีกบัตรลงประชามติ ซึ่ง พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติว่าเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กระทบต่อความสงบเรียบร้อย มิใช่เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี

ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ให้รอการกำหนดโทษ ศาลเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่การจะใช้สิทธิต่อต้านใด ๆ นั้น ต้องกระทำโดยสันติวิธี ไม่ละเมิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมุ่งหวังผลเพื่อเผยแพร่การกระทำที่ละเมิดกฎหมาย ชักจูงให้เห็นว่าเป็นสิ่งชอบธรรม ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม จึงไม่มีเหตุให้รอการกำหนดโทษ

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็น จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก  ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 มีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี 

 

ยื่นฎีกา: ปิยรัฐยืนยันการใช้สิทธิต่อต้านโดยสงบ ไม่ส่งผลต่อการออกเสียงของบุคคลอื่น 

จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง หรือรอการกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสาม ด้วยเหตุผลดังนี้

ข้อ 1 จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า เมื่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ ได้กำหนดความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียงเป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำลายเอกสารหรือฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ 358 อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก 

อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยที่ 1 จะรับสารภาพว่าได้ฉีกบัตรออกเสียงประชามติจริง แต่ถ้าหากศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด ศาลก็สามารถพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185  กล่าวคือ บัตรออกเสียงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 จะต้องมีการกาเครื่องหมายลงในบัตรออกเสียงเสียก่อน เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้บุคคลใดกระทำด้วยประการใดแก่บัตรออกเสียงที่ผู้ออกเสียงได้ใช้สิทธิลงคะแนนแล้ว  อันจะทำให้กระทบกระเทือนถึงผลของการลงประชามติ เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกแบบพิมพ์บัตรออกเสียงในขณะที่ยังไม่ได้กาเครื่องหมาย แบบพิมพ์ดังกล่าว จึงยังไม่ถือว่าเป็นบัตรออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และไม่ถือว่าเป็นเอกสารตามนิยามของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7)  การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียง และขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2338/2538 

ข้อ 2 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงตามที่ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 บัญญัติไว้ จะต้องมีผลขึ้นถึงขนาดเป็นการรบกวน หรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ฉีกแบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ เกิดขึ้นด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ในระยะเวลาอันสั้น ขณะนั้นการออกเสียงประชามติก็ดำเนินการไปได้ตามปกติ ไม่ถึงขนาดจะมีผลเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ 

อีกทั้งจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาร่วมกันกระทำการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง การกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติเพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารของ คสช. และจัดขึ้นในสถานการณ์ไม่ปกติ  มีการกวาดล้างจับกุมผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นกระบวนการออกเสียงประชามติที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและไม่เป็นธรรมเท่านั้น  และกระทำในระยะเวลาอันสั้น ด้วยความสงบ ไม่ได้ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่ดูแลการออกเสียงประชามติหรือไปห้ามบุคคลอื่นไม่ให้ออกเสียงประชามติ รวมทั้งไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่เข้ามาจับกุม 

นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ตระเตรียมร่วมมือกับจำเลยที่ 1 ในการฉีกบัตรออกเสียงประชามติหรือกระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง เห็นได้จาก ขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตร ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน หรือห้ามปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1  อีกทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนบันทึกภาพและวีดีโออยู่ด้านหลังบอร์ดรายชื่ออันเป็นสถานที่นอกหน่วยออกเสียง โดยที่ พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่มีบทบัญญัติห้ามถ่ายรูปในหน่วยออกเสียง การนำคลิปวีดีโอไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กก็เกิดขึ้นเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี  เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องที่พบเจอเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง

ข้อ 3 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสงบ ตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ทั้งนี้ เนื่องจากการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถูกจัดขึ้นโดย คสช. อันเป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร กระบวนการจัดทำประชามติก็ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. มีการใช้กฎหมายโดยบิดเบือน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนจับกุม คุมขัง และตั้งข้อหาฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก การรณรงค์ทำได้แต่เฉพาะฝ่ายผู้สนับสนุนรับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น จำเลยที่ 1 มีความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย จึงได้ตัดสินใจแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพอันพึงมีตามรัฐธรรมนูญโดยการปฏิบัติการอารยะขัดขืนต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ พร้อมกล่าวสดุดีว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” อันเป็นการกระทำที่สงบ ปราศจากอาวุธ ภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใด  และเป็นการใช้วิธีการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ถึงเห็นการไม่เห็นด้วยและหยุดยั้งกับกระบวนการทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้ 

ข้อ 4 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม หนักเกินไป ไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดี ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มีมูลเหตุจูงใจเพียงเพื่อจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านกระบวนการประชามติที่ไม่ชอบธรรมไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้นแล้วหากศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาลงโทษ เพื่อมิให้จำเลยทั้งสามต้องมีประวัติการต้องโทษจำคุกติดตัว ก็ขอศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จากรอการลงโทษ  ให้เป็นรอการกำหนดโทษด้วย

 

X