เฝ้ารอวันที่แม่ลูกได้พบเจอถามไถ่ทุกข์สุขกันอีกครั้ง: แม่ 1 ใน 6 วัยรุ่นคดีเผาซุ้มฯ

วัยรุ่น 6 คน ตัดสินใจรับการว่าจ้างให้ไปก่อเหตุ “เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ” ในจังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นเดือน พ.ค. 60 โดยไม่คาดหมายว่า ตนเองจะถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 และวางเพลิงเผาทรัพย์ จนทำให้ชีวิตที่ปกติวนเวียนอยู่บ้าน-หมู่บ้าน-โรงเรียน ต้องหักเหเข้าไปอยู่ในเรือนจำ พวกเขาถูกจำคุกนับถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว โดย 2 คน ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี ได้รับการปล่อยตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ทำให้ได้รับการลดโทษลง 1 ใน 4 และถูกขังจบครบโทษที่ลดลงแล้วนั้น

‘ต้อม’ หรือไตรเทพ (นามสมมติ) ในวันนี้เขาอายุ 21 ปีเต็ม ต้อมเป็น 1 ใน 3 คนที่ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี เช่นเดียวกับคนอื่น เขาได้รับการลดโทษ 1 ใน 4 คงเหลือโทษ 4 ปี 6 เดือน ‘มล’ แม่ของต้อมเล่าตามคำบอกเล่าของลูกว่า 18 พ.ย. 64 คือวันครบกำหนดโทษ

“ปกติแม่จะไปเยี่ยมเขาเดือนละครั้ง ไปเยี่ยมครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ประมาณกลางเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่เรือนจำโทรมาบอกว่าเขาจะปิดเรือนจำเพราะกลัวโรคระบาดนี่แหละ ให้รีบไปฝากของ ฝากเงิน แล้วหลังจากนั้นเขาจะปิดยาว ไม่ให้เยี่ยม ให้ส่งธนาณัติเอา แม่ได้ไปฝากเงินให้เขาก่อนเรือนจำปิด แต่ไม่ได้เยี่ยม” แม่ของต้อมเล่าสถานการณ์ล่าสุดของเรือนจำอำเภอพล จ.ขอนแก่น ที่รับรู้มา

มลยังได้ยินมาว่ามีผู้ต้องขังในเรือนจำนี้นับร้อยคนถูกสุ่มเลือกให้ย้ายไปเรือนจำอำเภอบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อระบายผู้ต้องขังออกไป ลดความแออัดในเรือนจำอำเภอพล ซึ่งในจำนวนนี้มีปรีชาและสาโรจน์ อีก 2 ผู้ต้องขังวัยเกือบ 50 ปี จากเหตุเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติเช่นเดียวกัน ในห้วงเวลาเดียวกันนี้หลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศได้เสนอให้ใช้มาตรการปล่อยชั่วคราวและการพักโทษผู้ต้องขังเพื่อลดความแออัดและสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing)

มลเล่าถึงความเป็นอยู่ของลูกก่อนหน้าเรือนจำปิดว่า “เขาบอกว่าสบายดี แม่ไปเยี่ยมเขาก็หน้าตาสดใส ไม่เหมือนตอนที่เข้าไปใหม่ๆ ตอนนี้เรียน ปวส. จบแล้ว ได้เป็นช่างไฟอยู่ข้างใน ถือกล่องเครื่องมือเดินไปเดินมา ซ่อมไฟซ่อมพัดลม ตอนไปเยี่ยมครั้งสุดท้ายเขาบอกให้แม่เตรียมชุดนักศึกษาไว้ เขาจะเอาไปใส่ไปรับใบประกาศนียบัตร แต่พอมาเจอโรคโควิดเลยยังไม่ได้เอาไปให้

“ปกติแม่จะเยี่ยมต้อมเดือนละครั้ง บางครั้งได้ฝากเงิน 300-500 บ้าง บางครั้งไม่ได้ฝาก ต้อมมักบอกแม่ว่า มีกับข้าวกินอยู่ เขากินยังไงก็ได้ แม่ไม่ต้องสั่งอาหารให้ เงินที่แม่ฝากเขาก็ใช้ซื้อสบู่ ผงซักผ้า ยาสีฟัน เขามักจะถามด้วยความเป็นห่วงว่า แม่เอาเงินมาฝากให้ต้อม แม่ได้กินได้ใช้หรือเปล่า ถ้าไม่มีแม่ไม่ต้องฝากก็ได้”

เมื่อเรือนจำประกาศปิดไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังอย่างน้อยถึงสิ้นเดือนเมษายน เดือนนี้มลจึงไม่ได้เดินทางไปเรือนจำที่ห่างจากบ้านไปราว 30 กม. ซึ่งปกติจะไป-กลับด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เสียค่ารถ 200 บาท แต่หากจะไปส่งธนาณัติให้ต้อม เธอต้องไปที่ที่ทำการไปรษณีย์ในอำเภอชนบท ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 15 กม. มีรถโดยสารวิ่งวันละ 1 เที่ยว ออกตอน 7 โมงเช้า ค่ารถไป-กลับ 40 บาท ค่าส่งธนาณัติอีกประมาณ 40 บาท แต่… “ยังไม่รู้จะส่งเงินให้ต้อมได้เมื่อไหร่ เพราะยังไม่มีตังค์ ถ้าเก็บตังค์ได้ถึงจะส่งให้เขา”

มลในวัย 56 ปี รับจ้างเย็บผ้าเล็กๆ น้อยๆ คนในหมู่บ้านมักนำเสื้อ-กางเกงมาให้เปลี่ยนซิปหรือยางยืดพอได้เป็นค่ากับข้าว และก่อนหน้านี้มีคนนำเด็กมาให้เธอเลี้ยงได้ค่าจ้างเดือนละ 2,000 บาท ทำให้เธอเก็บหอมรอมริบค่าเลี้ยงเด็กส่งให้ต้อมได้ แต่คนนำเด็กมาเลี้ยงเลิกจ้างไปตั้งแต่ก่อนมีโรคระบาด ตอนนี้มลอาศัยแค่งานเย็บผ้า ซึ่งยังมีเพื่อนบ้านเอามาให้ทำอยู่เรื่อยๆ

“เรือนจำปิดไม่ให้ญาติไปเยี่ยม แม่ว่ามีผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่อยู่ข้างในทั้งหมด เดือนเมษาฯ ปกติมี ‘วันเยี่ยมใกล้ชิด’ เราจะสั่งอาหารมากินร่วมโต๊ะ คุยกัน กอดกัน ตั้งแต่ 10 โมงถึงเที่ยง แม่จะเตรียมเงินไปซื้อของใช้ให้เขาด้วย ตอนนี้ก็ยกเลิกไปก่อน” มลเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมโควิด-19 ด้วยความเสียดายโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดลูก ซึ่งเป็นวาระสำคัญ เพราะหลังต้อมถูกจับและคุมขัง เธอต้องใช้ชีวิตลำพัง พ่อของต้อมเสียชีวิตจากไปนานแล้ว

แม้จะไม่ได้เจอกันเดือนกว่าแล้ว แต่มลไม่ได้วิตกกังวลถึงความเป็นไปของต้อมในเรือนจำ ไม่ใช่เพราะเธอได้เยี่ยมทางไลน์ เพราะนั่นเธอใช้ไม่เป็นแน่ แต่เป็นเพราะเธอยังได้รับข่าวคราวของต้อมอยู่ “เด็กแถวบ้านโดนคดียาเสพติดได้ปล่อยตัวออกมา ต้อมฝากเขามาบอกว่า แม่ไม่ต้องเป็นห่วง เขาอยู่สบายดี ขอให้แม่ดูแลรักษาตัวเองไว้นะ เขาบอกด้วยว่า ข้างในยังไม่มีคนติดโควิด แม่ก็สบายใจแล้ว”

มลยังอัพเดตเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกันที่ยังอยู่ในเรือนจำอีก 3 คน เบลเป็นช่างไฟไปด้วยกันกับต้อม ส่วนฟิล์มและฟลุคอยู่แผนกสานแหสานอวน แต่ทั้งหมดได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีมากแล้ว และมีความหวังว่า หากปีนี้มีพระราชทานอภัยโทษอีกพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัว ยกเว้นฟลุคซึ่งได้รับโทษมากที่สุดคือ 9 ปี ซึ่งตอนนี้ได้ลดโทษเหลือ 6 ปี 9 เดือน

ความตั้งใจของต้อมยามพ้นโทษไม่ว่าปีนี้หรือปีหน้า คือได้เปิดร้านซ่อมรถที่บ้าน เหมือนที่เขาเคยทำช่วงเรียน ปวช. ก่อนถูกจับ แต่ถึงตอนนั้นหนทางอาจไม่ง่ายนัก เครื่องมือหลายอย่างต้องซื้อใหม่ มลคิดว่าเธออาจต้องเอาที่ดินบ้านและนาไปจำนองเพื่อขอกู้กับ ธกส. หรือไม่ต้อมอาจต้องไปทำงานกับเพื่อนที่เปิดอู่ซ่อมรถในอีกอำเภอเพื่อเก็บเงินก่อนเปิดร้านของตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเธอต่างเฝ้ารอให้ถึงวันนั้น พร้อมทั้งเฝ้ารอให้วิกฤตโควิด-19 ผ่านไปโดยทุกคนยังปลอดภัย และแม่ลูกจะได้พบเจอถามไถ่ทุกข์สุขกันอีกครั้ง

#TLHRJusticeDistancing

ดูเรื่องราวและคำพิพากษาในคดีเผาซุ้มฯ ได้ที่ ชี้ชะตา 6 วัยรุ่นเผาซุ้มฯ ผลพวงความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกกด และ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหา 112 หกวัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

 

X