นิยามที่หลากหลายและข้อถกเถียงต่อความหมายของ “นักโทษการเมือง”

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

.

สังคมการเมืองเป็นแหล่งรวมของความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกที่หลากหลาย เป็นที่ทราบกันดีว่าความขัดแย้งและความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมการเมืองทุกแห่งหน  อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศยังคงมีรายงานถึงกรณีผู้คนที่ถูกคุมขังเนื่องจากการแสดงออกที่แตกต่าง หรือจากข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นกระทั่งเป็นภัยคุกคามของรัฐ ซึ่งผู้คนเหล่านี้มักถูกเรียกรวม ๆ ว่า ‘นักโทษการเมือง’ พวกเขาอาจเป็นได้ตั้งแต่ผู้ถูกจำคุกจากข้อกล่าวหาทางการเมืองโดยตรง หรือผู้ถูกคุมขังจากข้อกล่าวหาทางอาญา กระทั่งการถูกจองจำโดยปราศจากการตั้งข้อกล่าวหา

ใครบ้างคือนักโทษการเมือง? คำถามนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงโดยเฉพาะจากมุมมององค์กรสิทธิมนุษยชนกับรัฐ  ผู้มีอำนาจจำนวนมักปฏิเสธการมีอยู่ของนักโทษการเมือง เนื่องจากการมีอยู่ของพวกเขากำลังสะท้อนสภาวะความผิดปกติบางอย่างของกระบวนการยุติธรรม  รัฐมักกล่าวอ้างว่า ผู้ที่ถูกระบุว่าคือนักโทษการเมืองจากบรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชน แท้ที่จริงคือนักโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย เป็นผู้กระทำผิดทางอาญา กระทั่งเป็นอาชญากรตัวฉกาจ ดังนั้นจึงยืนยันว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่านักโทษการเมืองในเรือนจำ  แน่นอนว่าการปฏิเสธจากมุมมองของรัฐไม่ได้หมายความว่านักโทษการเมืองไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะเมื่อการถูกคุมขังถูกพิจารณาผ่านมุมมองสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง  

อย่างไรก็ดี ไกลออกไปจากข้อถกเถียงที่ไม่ลงรอยระหว่างรัฐกับองค์กรสิทธิมนุษยชน การหานิยามเพียงหนึ่งเดียวว่านักโทษการเมืองคืออะไร ทั้งจากมุมมองของข้อตกลงระหว่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชน กระทั่งจากแวดวงวิชาการ ความหมายของนักโทษการเมืองยังคงเป็นที่ถกเถียงและห่างไกลจากข้อสรุปที่เป็นฉันทามติร่วมกันแม้ในทศวรรษปัจจุบัน  

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจนิยามร่วมสมัยของคำว่า ‘นักโทษการเมือง’ (political prisoner) โดยพิจารณาแนวคิดการให้คำจำกัดความจากข้อตกลงระหว่างประเทศ จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และจากงานศึกษาทางวิชาการที่กล่าวถึงประเด็นนักโทษการเมือง เพื่อตอบคำถามว่า นักโทษการเมืองคืออะไร?

.

.

ภาพรวมพัฒนาการแนวคิดนักโทษการเมือง

แม้ว่าตลอดประวัติศาสตร์จะมีผู้ที่ถูกลงโทษหรือถูกจองจำจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจด้วยเป้าหมายทางการเมืองมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ โบติอุส (Boethius; 480-524) ผู้ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดและทรยศต่อจักรพรรดิแห่งโรม, โธมัส มอร์ (Thomas More; 1478-1535) ผู้ถูกจองจำและประหารชีวิตจากการปฏิเสธความเป็นประมุขแห่งคริสตจักรอังกฤษของกษัตริย์เฮนรี กระทั่งหลิวเสี่ยวโป (Liu Xiaobo; 1955-2017) ซึ่งถูกจำคุกด้วยข้อหาการปลุกระดมท้าทายการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน  อย่างไรก็ดี เราพึงแยกแยะระหว่างตัวบุคคลที่ถูกจำคุกด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กับความเป็นนักโทษทางการเมืองในฐานะแนวคิด ซึ่งอย่างหลังเป็นมโนทัศน์ที่ค่อย ๆ ก่อตัวและเป็นรูปเป็นร่างในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และเป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่เราสนใจในบทความนี้

แนวคิดนักโทษการเมืองอย่างที่เราคุ้นชินในปัจจุบันเป็นแนวคิดที่ก่อตัวขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของสังคมการเมืองสมัยใหม่ มันเป็นการบรรจบกันระหว่างการจองจำกับความเป็นการเมืองภายใต้กรอบการพิจารณาแบบเสรีนิยม  ในช่วงเวลาแห่งการพยายามรวมศูนย์อำนาจของรัฐ เรือนจำสมัยใหม่เป็นประดิษฐกรรมแห่งการลงทัณฑ์ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองจำนวนอาชญากรที่สูงขึ้น มันถูกพัฒนาให้กลายเป็นระบบของการบงการเนื้อตัวร่างกายและมีการบริหารจัดการจากส่วนกลาง (ดูเพิ่มเติมใน Foucault, 1977) ในฐานะพื้นที่แห่งการลงโทษและควบคุม เรือนจำไม่เพียงถูกใช้เป็นสถานที่ในการคุมขังผู้กระทำผิดทางอาญาเท่านั้น ทว่ามันยังถูกใช้เพื่อการกักขังลงโทษบรรดาผู้กระด้างกระเดื่องท้าทายระบอบการปกครองแทนการเนรเทศซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลาก่อนหน้า (Kenney, 2012 pp.870)

พร้อมกันนั้น ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 เป็นยุคสมัยที่ผันผวนของระบบการปกครองในรัฐจำนวนมาก  สายลมแห่งการปลดแอก การต่อต้านอาณานิคม การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และการลุกฮือเรียกร้องสิทธิ ได้พัดโหมอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นกลุ่มต่อต้าน กองกำลัง และขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมากทั่วทุกมุมโลกซึ่งบางส่วนมาพร้อมกับการใช้ความรุนแรง ตั้งแต่ขบวนการเอกราชในไอร์แลนด์ ขบวนการชาตินิยมในอินเดีย กลุ่มปลดแอกในแอฟริกา ไปจนกระทั่งกองทัพปฏิวัติในรัสเซีย อันเป็นช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อช่วงชิง และการกดปราบเพื่อการรักษาอำนาจ 

ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนและการถูกคุกคาม การจองจำถูกนำมาใช้เพื่อการกดปราบฝ่ายต่อต้าน เมื่อความเป็นการเมืองและระบบการจองจำมาบรรจบกัน นักโทษการเมืองในฐานะแนวคิดก็ก่อตัวขึ้น  มันตั้งต้นจากมุมมองการปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้ามที่มีสถานะใกล้เคียงกัน เนื่องจากบรรดาผู้เข้าร่วมฝ่ายต่อต้านเหล่านั้น จำนวนหนึ่งพวกเขาเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้มีการศึกษา เป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน กระทั่งบางกรณีเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะทัดเทียมกับบรรดาข้าราชการที่จับกุมพวกเขา ทำให้สถานะโดยพื้นฐานของผู้ถูกคุมขังเหล่านี้ต่างจากอาชญากรทั่วไป (Kenney, 2012 pp.872-873) และได้รับการปฎิบัติอย่างพิเศษ เช่น การไม่ถูกคุมขังร่วมกับอาชญากรคดีอาญาอื่น ๆ และการสามารถมีปฏิสัมพันธ์รวมกลุ่มกับนักโทษทางการเมืองด้วยกันได้ แม้ในหลายกรณีพวกเขาจะถูกจำคุกจากกรณีการใช้ความรุนแรงก็ตาม (McConville,  2003 pp.4) 

กรณีที่โดนเด่นเช่นบรรดาสตรีจากขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในอังกฤษ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งพวกเธอจำนวนมากต่างมาจากบรรดากุลสตรีชนชั้นผู้มีการศึกษา  กระทั่งในเวลาต่อมาภายใต้การปะทะกันระหว่างแนวคิดเสรีนิยมและเผด็จการ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนหลังสิ้นสุดสงครามเย็น แนวคิดการจำแนกนักโทษทางการเมืองซึ่งเดิมมีพื้นฐานอยู่บนการกระทำที่มีเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลัก ได้ถูกผสมผสานเข้ากับมุมมองการพิจารณาบนกรอบแนวคิดเสรีนิยมที่มีพื้นฐานอยู่บนการจำกัดอำนาจรัฐและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทำให้แนวคิดนักโทษการเมืองค่อย ๆ มีพลวัตจนตกตะกอนเป็นนิยามอย่างที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน

.

.

แนวคิดการนิยามของนักโทษการเมือง

แน่นอนว่า เราคงไม่สามารถกล่าวได้ ว่าบุคคลใดคือนักโทษการเมือง หากเราไม่มีนิยามที่ชัดเจนสำหรับคำว่านักโทษการเมือง แม้ในอดีตแนวคิดนี้จะมีลักษณะเป็นการจัดประเภทหลวม ๆ ซึ่งมีมุมมองแตกต่างกันสำหรับผู้ที่ถูกคุมขังจากการต่อต้านรัฐ  แทบจะสามารถกล่าวได้ว่าแรกเริ่มมันเป็นหมวดหมู่ที่ค่อนข้างคลุมเครือ  อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนิยามของนักโทษการเมืองสามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มนิยามหลัก ได้แก่ กลุ่มที่พิจารณาผู้ถูกคุมขังในฐานะผู้กระทำการ กับกลุ่มที่พิจารณาผู้ถูกคุมขังในฐานะผู้ถูกกระทำจากรัฐ

1. กลุ่มที่พิจารณาผู้ถูกคุมขังในฐานะผู้กระทำการ 

เนื่องจากแนวคิดนักโทษการเมืองมีพัฒนาการภายใต้บริบทของการกระทำทางการเมืองที่มีลักษณะในแนวทางการต่อต้านเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบรรดานักเคลื่อนไหวเป็นฝ่ายแสดงออกในฐานะผู้กระทำการอย่างชัดเจน นิยามของนักโทษการเมืองในกลุ่มนี้จึงมุ่งพิจารณาไปที่การกระทำของนักโทษการเมืองเป็นหลัก อย่างมุมมองที่เสนอว่า “นักโทษการเมืองคือบุคคลที่ถูกจำคุกจากการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” (James 2004, Willis, Chou และ Hunt, 2015) ซึ่งเป็นมุมมองที่ตัดสินความเป็นการเมืองโดยพิจารณาจากแรงจูงใจเป็นสำคัญ และเป็นจุดตัดในการจำแนกนักโทษการเมืองออกจากนักโทษกลุ่มอื่น  ขณะที่บางมุมมองได้ไฮไลต์การแสดงความคิดเห็นให้เด่นชัดขึ้น โดยระบุว่า “นักโทษการเมืองคือบุคคลที่ถูกจำคุกเนื่องจากความคิดเห็นหรือการกระทำทางการเมือง” (Elijah, 2002)  

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการกระทำทางการเมืองจำนวนมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงศตวรรษที่ 20 เกี่ยวข้องกับการต่อต้านสถาบันการเมืองอย่างเป็นทางการซึ่งผูกขาดการใช้ความรุนแรงเอาไว้ การต่อต้านสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจึงเป็นส่วนผสมของการใช้กำลัง ตั้งแต่การปะทะเล็กน้อยไปจนถึงการก่อวินาศกรรม  มุมมองบางส่วนที่พิจารณาจำแนกนักโทษการเมืองจึงยอมรับประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงเพื่อการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง อย่างมุมมองที่เสนอว่า “นักโทษการเมืองคือบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากการกระทำที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐบาล” (Forsythe, 1976 pp.198)  

ภายใต้มุมมองในลักษณะนี้ แมคคอนวิลล์ (McConville Séan) ได้ให้คำอธิบายเพื่อสนับสนุนการนิยามนักโทษการเมืองที่ไม่เบียดขับประเด็นการใช้ความรุนแรงออกไป โดยอ้างอิงจากบริบทช่วงเวลาที่การต่อต้านเหล่านั้นเกิดขึ้น  เขาเห็นว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคสมัยของการปลดแอกจากสภาพการกดขี่ ซึ่งการลุกฮือ การต่อต้าน การสู้รบปลดแอกจากชาติอาณานิคมจำนวนมากไม่อาจปราศจากความรุนแรง  เหตุนี้ จึงสมเหตุสมผลที่จะพิจารณานักโทษการเมืองว่าคือ “บุคคลที่ถูกจำคุกจากการกระทำผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งการกระทำผิดมีตั้งแต่ที่ไม่ใช้ความรุนแรงทั่วไป ไปจนกระทั่งความรุนแรงที่มากที่สุด อย่างการลุกฮือด้วยอาวุธ การวางเพลิง กระทั่งการวางระเบิดตามอำเภอใจ ที่ทำในนามของอุดมคติทางการเมือง” (McConville, 2003 pp.5)

กระนั้นก็ดี ในปัจจุบันภายใต้ช่วงเวลาที่แนวคิดเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนครองบทบาทนำ ประเด็นเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงและการคำนึงถึงสันติภาพร่วมกันถูกให้ความสำคัญ ดูเหมือนนักวิชาการและองค์กรสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการเปิดที่ว่างสำหรับการใช้ความรุนแรงในนิยามของนักโทษทางการเมือง (Steinert, 2021 pp.6)  เจมส์ ซีมัวร์ (James Seymour) ยืนยันว่า บุคคลที่ใช้วิถีทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมืองด้วยความรุนแรงไม่อาจถือเป็นนักโทษการเมือง (Seymour, 1979, 99) 

ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ปลีกออกจากการความชุลมุนของการนิยามนี้ ด้วยการจำแนกกลุ่มใหม่ ได้แก่ การนำเสนอแนวคิด ‘นักโทษทางความคิด’ (Prisoners of Conscience) ซึ่งหมายถึง “บุคคลที่ถูกคุมขังหรือถูกจำกัดเสรีภาพทางร่างกายเพียงเพราะการแสดงความคิด และ/หรือมีความเชื่อทางการเมือง ศาสนา ของตนที่แตกต่าง หรือเพียงเพราะมีชาติพันธุ์ เพศ สีผิว ภาษา ความเป็นมาด้านเชื้อชาติหรือสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ชาติกำเนิด อัตลักษณ์ทางเพศ หรือสถานะอื่น ๆ ที่แตกต่าง โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงหรือความเกลียดชัง” ซึ่งเป็นการไฮไลต์ประเด็นการไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อเป็นจุดตัดในการจำแนกพวกเขาออกจากผู้ใช้ความรุนแรง และเรียกร้องว่า “ต้องมีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข” (Amnesty International Thailand, 2558)

ขณะที่ผู้ถูกจองจำที่ใช้ความรุนแรง สนับสนุนความรุนแรง หรือใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดพวกเขาไว้ในจำพวกที่ต่างออกไป โดยจัดพวกเขาไว้ใน ‘นักโทษการเมือง’ ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่างจากนักโทษทางความคิดเหลือ โดยเรียกร้องว่าพวกเขาต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ภายในเวลาอันสมควร มีการไต่สวนอย่างโปร่งใส และเปิดเผย แต่ไม่ใช่การปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข  

ในแง่นี้ดูเหมือน ‘นักโทษทางความคิด’ จะไม่อาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มย่อยของ ‘นักโทษทางการเมือง’ ทว่าเป็นกลุ่มในระนาบเดียวกัน โดยมีจุดตัดหลักอยู่ที่ประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลให้ความสำคัญ  ในปัจจุบันดูเหมือนตัวการให้ความหมายขององค์การนิรโทษกรรมสากลจะเป็นหนึ่งในความหมายที่ได้รับความนิยมใช้อย่างกว้างขวาง  อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติดูเหมือนองค์สิทธิมนุษยชนและองค์กรเคลื่อนไหวต่าง ๆ ยังคงมีการใช้ 2 คำนี้สลับกันไปมาอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งในทางการเมือง การระบุกลุ่มนักโทษอย่างเคร่งครัดจะส่งผลต่อข้อจำกัดที่ผูกมัดด้วยนิยามของนักโทษแต่ละกลุ่มในการเรียกร้องพันธะหน้าที่ที่รัฐพึงปฏิบัติต่อพวกเขาให้แตกต่างกันไปด้วย

.

.

2. กลุ่มที่พิจารณาผู้ถูกคุมขังในฐานะผู้ถูกกระทำจากรัฐ

ในสถานการณ์ความขัดแย้ง รัฐจำนวนมากได้ใช้เรือนจำเพื่อวัตถุประสงค์อย่างการคุมขังผู้มีความเห็นต่าง การกดปราบการเคลื่อนไหว ไปจนกระทั่งการกำจัดศัตรูทางการเมือง แนวทางการพิจารณาความเป็นนักโทษการเมืองในกลุ่มนี้จึงมุ่งพิจารณาไปที่การกระทำของรัฐในฐานะตัวกระทำการเป็นสำคัญ อย่าง มุมมองที่เสนอว่า “นักโทษทางการเมืองคือบุคคลที่ถูกคุมขังโดยรัฐที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” (Guriev & Treisman, 2019) แนวทางนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มแนวทางที่พิจารณานักโทษการเมืองผ่านมุมมองของการเป็นผู้ถูกข่มเหงโดยรัฐ  (Forsythe, 1976 pp197) ในฐานะที่การจองจำถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งของผู้มีอำนาจ  

แตกต่างจากแนวทางแรก โดยภาพรวมแนวทางการพิจารณาผู้ถูกคุมขังในฐานะการถูกกระทำจากรัฐ โต้แย้งแนวคิดที่พิจารณานักโทษการเมืองจากการกระทำหรือเจตนาทางการเมืองของพวกเขาล้วน ๆ โดยย้ายจุดสนใจไปที่การพิจารณาการกระทำของรัฐ และเสนอว่าสิ่งที่ใช้ตัดสินว่านักโทษที่ถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองหรือไม่ คือแรงจูงใจทางการเมืองในการคุมขัง ไม่ใช่ตัวรูปแบบการกระทำหรือแรงจูงใจทางการเมืองของตัวผู้ถูกคุมขัง  โดยการคุมขังด้วยเป้าหมายทางการเมืองนี้ ครอบคลุมกรณีที่กว้างขวางไปกว่าการจำคุกบุคคลที่กระทำการโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง กล่าวคือ รัฐอาจจับกุมคุมขังใครก็ตามด้วยเป้าหมายทางการเมืองแม้ผู้ถูกจองจำจะไม่ได้กระทำการใด ๆ ด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองเลยก็ตาม เช่น ผู้นำเผด็จการอาจสั่งจองจำผู้นำฝ่ายค้านผ่านการยัดข้อหาการทุจริต โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แม้แต่จะกระทำการใดที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง  หรือรัฐบาลที่เกลียดชังชนกลุ่มน้อยอาจคุมขังพวกเขาในค่ายกักกัน เพียงเพราะพวกเขามีศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมหลักของรัฐ  

อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นการเมืองในคำว่านักโทษการเมืองในกลุ่มการพิจารณานี้ อยู่ที่เป้าหมายในการคุมขังของรัฐซึ่งเป็นเป้าหมายทางการเมือง  ลองจินตนาการถึงกรณีใกล้ตัวในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่นักการเมืองผู้เป็นที่นิยม ถูกรัฐประหารและพิจารณาคดีบนศาลพิเศษด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา ภายใต้กระบวนการที่ไม่ปกติ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเขาตกเป็นเหยื่อของการพิจารณาคดีที่มีอคติทางการเมือง 

หนึ่งในคำจำกัดความตามแนวทางการพิจารณาผู้ถูกคุมขังในฐานะผู้ถูกกระทำจากรัฐ ซึ่งได้รับการยอมรับและถูกใช้อย่างกว้างขวาง คือแนวทางคำจำกัดความนักโทษการเมืองของสมัชชารัฐสภาแห่งยุโรป (Parliamentary Assembly) ในปี 2012 มติที่ 1900  ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับสมาชิกสภายุโรปทั้งหมดเพื่อใช้ประเมินคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักโทษการเมืองใหม่อีกครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์ความว่า 

“บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลให้ถือเป็น “นักโทษการเมือง” ภายใต้สถานการณ์ดังต่อไปนี้:

ก. หากการคุมขังนั้นฝ่าฝืนหลักประกันพื้นฐานข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพิธีสาร (ECHR) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการคิด มโนธรรม และศาสนา เสรีภาพในการแสดงออกและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม หรือ

ข. หากการกักขังนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วน ๆ โดยปราศจากความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใด ๆ หรือ

ค. หากเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ระยะเวลาในการคุมขังหรือเงื่อนไขการคุมขังไม่สอดคล้องเมื่อเทียบกับความผิดที่บุคคลนั้นถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือถูกสงสัยว่ากระทำความผิด หรือ

ง. หากเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง บุคคลนั้นถูกควบคุมตัวในลักษณะเลือกปฏิบัติเมื่อเทียบกับบุคคลอื่น หรือ

จ. หากการคุมขังเป็นผลจากกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน และดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ”

จะเห็นได้ว่าการคุมขังนักโทษการเมืองของรัฐภายใต้นิยามนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม การถูกคุมขังด้วยระยะเวลาที่ไม่ปกติ การถูกควบคุมตัวอย่างเลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่การถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วน ๆ ซึ่งล้วนมีจุดสนใจอยู่ที่การกระทำของรัฐต่อผู้ถูกคุมขังเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับนิยามนักโทษการเมืองของ คริสตอฟ สไตเนิร์ต (Christoph Steinert) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคำจำกัดของสมัชชารัฐสภาแห่งยุโรป ซึ่งได้เสนอว่า

“นักโทษการเมือง หมายถึง บุคคลที่ถูกจำคุกเนื่องจากการพิจารณาคดีที่มีอคติทางการเมือง การพิจารณาคดีถือว่ามีอคติทางการเมืองหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และ (ก) ขาดพื้นฐานกฎหมายภายในประเทศรองรับ หรือ (ข) ละเมิดหลักความยุติธรรมในกระบวนการพิจารณาคดี หรือ (ค) ละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล บุคคลที่ถูกลิดรอนอิสรภาพโดยไม่มีการเข้าถึงการพิจารณาของศาลภายในระยะเวลาที่สมควรจะถูกจัดประเภทเป็นผู้ถูกคุมขังทางการเมือง” (Steinert, 2021 pp)

ภายใต้กลุ่มแนวทางการนิยามดังกล่าว ผู้ที่เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมืองจึงกว้างขวางไปกว่าเฉพาะ บุคคลที่ถูกจำคุกจากการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยสามารถเป็นได้ทั้งบุคคลที่ถูกจำคุกเพราะอัตลักษณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น รสนิยมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม รวมไปถึงอาชญากรทางอาญาที่กระทำผิดด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมือง พวกเขาต่างสามารถถูกจัดประเภทเป็นนักโทษการเมืองได้ หากการจำคุกนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมจากอคติทางการเมืองหรือจากจุดมุ่งหมายทางการเมืองของผู้มีอำนาจ  

ขณะเดียวกันด้วยแนวทางนี้ย่อมหมายความว่า ไม่ใช่ทุกกรณีที่บุคคลที่ถูกจำคุกจากการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง จะถือเป็นนักโทษการเมืองโดยปริยาย หากการถูกจำคุกของพวกเขาชอบด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม มีกฎหมายรองรับ และข้อกล่าวหานั้นไม่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองที่ได้รับการยอมรับร่วมกันในฐานะบรรทัดฐานสากล เช่น การคุมขังกลุ่มผู้ก่อวินาศกรรมเพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองที่ถูกจำกุมและดำเนินคดีโดยชอบด้วยกระบวนการยุติธรรมและชอบด้วยบรรทัดฐานสากล ที่ในกรณีนี้จะไม่ถือว่าพวกเขาเป็นนักโทษการเมือง

.

.

ข้อถกเถียงและข้อจำกัดของกลุ่มนิยามนักโทษการเมือง

ภายใต้แนวคิดทั้งสองกลุ่มในการนิยามนักโทษการเมืองข้างต้น กล่าวได้ว่าข้อแตกต่างสำคัญของสองกลุ่มนิยามนั้น อยู่ที่การถ่วงน้ำหนักจุดสนใจของความเป็นการเมืองในระหว่าง ‘ตัวผู้ถูกจองจำ’ กับ ‘รัฐ’  ขณะที่กลุ่มแรกมุ่งไปที่แหล่งที่มาทางการเมืองภายใต้แรงจูงใจของผู้กระทำการ กลุ่มหลังมุ่งไปที่แหล่งที่มาทางการเมืองภายใต้แรงจูงใจของรัฐ  

ภายใต้ข้อถกเถียงดังกล่าว กลุ่มแรกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การนิยามนักโทษการเมืองด้วยแรงจูงใจทางการเมืองหรือการกระทำทางการเมืองล้วน ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่กีดกันประเด็นเรื่องความรุนแรง จะทำให้ผู้กระทำการใด ๆ ที่อ้างแรงจูงใจทางการเมือง สามารถได้รับสถานะนักโทษการเมือง แม้แต่ในกรณีที่พวกเขาใช้ความรุนแรงอย่างมหันต์ อย่างการสังหารผู้คนหรือการก่อวินาศกรรม ทำให้กลุ่มก่อการร้ายที่มักอ้างแรงจูงใจทางการเมืองสามารถกลายเป็นนักโทษการเมืองได้ ซึ่งย่อมทำลายความชอบธรรมของแนวคิดนักโทษการเมือง (Steinert, 2021 pp.5) พร้อมกับส่งผลให้รัฐต้องปฏิบัติต่อพวกเขาแตกต่างจากผู้ต้องขังทางอาญาอื่น ๆ จากการยอมรับฐานะนักโทษการเมืองทั้งที่พวกเขาเป็นอาชญากรทางอาญาที่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์  

ขณะที่แนวทางที่สอง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการพาแนวคิดนักโทษการเมืองออกห่างจากจุดตั้งต้นอย่างการเป็นผู้ต่อต้านสถาบันการเมืองที่กดขี่ มาสู่ประเด็นเรื่องความยุติธรรม ทำให้แนวคิดนักโทษการเมืองกลายเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของนักโทษที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แทนที่จะเป็นการจำแนกผู้ต้องขังที่สัมพันธ์กับแนวคิดของการต่อต้านทางการเมือง

ไกลไปกว่านั้น ในการถกเถียงต่อประเด็นนักโทษการเมือง แม้จะมีบางมุมมองที่เสนอการปฏิเสธการแยกประเภทนักโทษการเมืองออกจากนักโทษกลุ่มอื่น เนื่องจากเห็นว่าการมีอยู่ของนักโทษประเภทนี้ ได้สร้างความไม่เท่าเทียมในทางปฏิบัติผ่านสถานะพิเศษของพวกเขา ทั้งที่นักโทษทั้งหมดควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และการมีอยู่ของประเภทนักโทษการเมืองได้ดึงดูดความสนใจและความเห็นใจ ส่งผลเป็นการละเลยความสำคัญของนักโทษกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน ทำให้พวกเขาหลุดออกไปจากโฟกัสเมื่อนักโทษการเมืองถูกทำให้โดดเด่นขึ้นมา เพียงเพราะความเป็นธรรมนั้นไม่ได้ถูกจำแนกว่าเกี่ยวกับความเป็นการเมือง (Llorente, 2016)  

อย่างไรก็ดี ตัวผู้เขียนเห็นว่า เรายังคงไม่อาจละเลยถึงความสำคัญของการมีแนวคิดนักโทษการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รัฐจำนวนมากยังคงใช้การจองจำในฐานะเครื่องมือทางการเมืองสำหรับการกดปราบการต่อต้านและขจัดผู้เห็นต่าง ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก  การถูกจำคุกของนักโทษการเมืองไม่ใช่เพียงกรณีความไม่เป็นธรรมในระดับปัจเจก แต่มันคือภาพสะท้อนในระดับสังคมการเมืองถึงสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองกำลังถูกคุกคาม และการพยายามกดขี่ปราบปรามผู้คิดเห็นต่างโดยรวมของรัฐยังคงดำรงอยู่  เหตุนี้การพิจารณาแนวคิด พัฒนานิยาม และระบุตัวนักโทษการเมืองจึงยังคงมีความสำคัญ  ทั้งหมดไม่ใช่เพียงเพื่อการให้ความเป็นธรรมต่อนักโทษการเมืองเป็นกรณีเฉพาะ แต่คือการพยายามนำความเป็นธรรมและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองคืนกลับแก่สังคมการเมืองโดยรวมอีกด้วย 

.

—————————-

เอกสารอ้างอิง

Amnesty International Thailand. (2558). นิยาม “นักโทษทางความคิด” & “นักโทษทางการเมือง” ในความหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. เข้าถึงจาก http://old.amnesty.or.th/news/press/628

Elijah, S. (2002). Reality of Political Prisoners in the United States: What September 11 Taught Us about Defending Them. Harv. Blackletter Law Journal, 18, 129-137

Forsythe, D. P. (1976). Political prisoners: The law and politics of protection. Vanderbilt Journal of Transnational Law, 9(2), 295-322.

Foucault, M. (1977). Discipline and Punish: The Birth of the Prison. New York: Vintage Books

Guriev, S., & Treisman, D. (2019). Informational autocrats. Journal of economic perspectives, 33(4), 100-127.

James, J. (2004). Imprisoned intellectuals: America’s political prisoners write on life, liberation, and rebellion. Lanham, MD: Rowman & Littlefield.

Kenney, P. (2012). “I felt a kind of pleasure in seeing them treat us brutally.” The Emergence of the Political Prisoner, 1865–1910. Comparative Studies in Society and History, 54(4), 863–889. 

Llorente, R. (2016). The Concept of “Political Prisoner”: A Critique. Criminal Justice Ethics, 35(3), 249–267.

Machcewicz, A. (2018). Political Prisoners in Poland, 1944–56: The Sources and Strategies of Resistance in the Authoritarian State’s Prison System. Acta Poloniae Historica, (118), 93-126.

McConville, S. (2003). Irish Political Prisoners, 1848-1922: Theatres of War. London: Routledge.

Parliamentary Assembly. (2012). The definition of political prisoner.

Seymour, J. (1979). Indices of Political Imprisonment. Universal Human Rights 1(1): 99–103.

Steinert, C. V. (2021). Who is a political prisoner?. Journal of Global Security Studies, 6(3)

Willis, S., Chou, S., & Hunt, N. C. (2015). A systematic review on the effect of political imprisonment on mental health. Aggression and violent behavior, 25, 173-183.

.

X