#เมื่อชาวชั่ยไม่ขอทนแต่ขอชน: สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 95 ครั้ง หลังยุบอนาคตใหม่


แม้สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของนักเรียนนิสิตนักศึกษาจะลดระดับลง ภายหลังวิฤกติการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนำไปสู่กระแสการชุมนุม “แฟลชม็อบ” คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว และเรียกร้องประชาธิปไตยที่เคารพเสียงประชาชน ก็ควรได้รับการบันทึกไว้ ว่าเป็นกระแสการชุมนุมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในการเมืองไทย

กิจกรรมการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้น โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่-นักเรียนนิสิตนักศึกษาในหลายสถานศึกษาเป็นหัวหอกสำคัญ พื้นที่สถานศึกษาทั่วประเทศกลายเป็นจุดชุมนุมทางการเมือง เนื้อหาทั้งในการปราศรัยและแผ่นป้ายต่างๆ ต่างสะท้อนถึงประเด็นที่ไปไกลกว่าเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยแสดงออกไปถึงความไม่พอใจต่อทั้งรัฐบาล นโยบายการบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยที่เป็นอยู่่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากยังเข้าร่วมการเคลื่อนไหวนี้เป็นครั้งแรกๆ ในชีวิตทางการเมืองของเขาและเธออีกด้วย

พื้นที่ในสถานศึกษานั้น เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ผู้จัดกิจกรรมจึงไม่ต้องไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะกับเจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายชุมนุม ในการเข้าไปดูแลหรือติดตามจับตากิจกรรม แต่กระนั้นก็ตามการชุมนุมที่เกิดขึ้นตลอดสองสามสัปดาห์ ก็เผชิญกับการปิดกั้นแทรกแซงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการปิดกั้นจากสถานศึกษาเอง และการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอีกทีหนึ่ง 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนบันทึกภาพรวมของสถานการณ์สิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของนักเรียน/นิสิตนักศึกษา เอาไว้เป็นบทตอนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

.

กิจกรรมชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 95 ครั้ง ทั้งในและนอกสถานศึกษา

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. จนถึง 14 มี.ค. 63 มีการจัดกิจกรรมชุมนุม #แฟลชม็อบ ในประเด็นด้านการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ อย่างน้อย 95 ครั้ง  ในจำนวนนี้แยกเป็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัยจำนวน 79 ครั้ง กิจกรรมในพื้นที่โรงเรียนจำนวน 6 ครั้ง และกิจกรรมภายนอกสถานศึกษาอีก 10 ครั้ง 

การชุมนุมเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  โดยหากพิจารณาตามภูมิภาค ในพื้นที่ภาคกลาง มีการชุมนุมเกิดขึ้นมากที่สุด คืออย่างน้อย 44 ครั้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 20 ครั้ง ภาคเหนืออย่างน้อย 15 ครั้ง ภาคใต้อย่างน้อย 11 ครั้ง และภาคตะวันออกอย่างน้อย 5 ครั้ง การชุมนุมหลายแห่งยังมีจำนวนผู้เข้าร่วมในหลักหลายพันคนอีกด้วย

ในหลายมหาวิทยาลัยได้มีการจัดชุมนุมขึ้นในหลายวิทยาเขต ซึ่งอยู่คนละพื้นที่กัน อาทิเช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มีการจัดชุมนุมทั้งที่วิทยาเขตวังท่าพระ, วิทยาเขตสนามจันทร์ (นครปฐม) และวิทยาเขตเพชรบุรี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดชุมนุมทั้งที่ท่าพระจันทร์ และรังสิต เป็นต้น 

ขณะที่ในบางมหาวิทยาลัยก็มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องหลายครั้ง มหาวิทยาลัยที่มีการจัดกิจกรรมมากที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดชุมนุมอย่างน้อย 4 ครั้ง เป็นการชุมนุมขนาดเล็กที่บริเวณอ่างแก้ว 2 ครั้ง และการชุมนุมขนาดใหญ่ขึ้นที่ลานศาลาธรรมอีก 2 ครั้ง  

ส่วนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการจัดการชุมนุมถึง 3 ครั้ง และมหาวิทยาลัยที่มีการจัดชุมนุม 2 ครั้ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  

ปรากฏการณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการชุมนุมยังเกิดขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยที่เคยมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนอยู่แล้ว โดยพบว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้นในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศอย่างน้อย 21 แห่ง และการชุมนุมเกิดขึ้นในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลอย่างน้อย 7 แห่ง 

รวมทั้งในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนก็มีการจัดการชุมนุมเกิดขึ้นในหลายที่เช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เป็นต้น


ส่วนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระดับโรงเรียน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนในกรุงเทพฯ ได้แก่ สตรีวิทยา, เตรียมอุดมศึกษา, ศึกษานารี และหอวัง นนทบุรี แต่มีโรงเรียนในต่างจังหวัด ได้แก่ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนักเรียนมีกิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นด้วยใน 2 โรงเรียน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงจำนวนการชุมนุม ความกว้างขวางในพื้นที่เกิดกิจกรรม และปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้จึงนับได้ว่าเป็น “คลื่นแห่งการชุมนุมทางการเมือง” ของนักเรียน-นักศึกษา ขนาดใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

.

นายกฯ ขู่น.ศ. – ตำรวจจับตาเข้มข้น – กพฐ.อ้างว่าโรงเรียนไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง

ท่ามกลางคลื่นแห่งการชุมนุมนี้ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐก็มีการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว ในลักษณะพยายามลดระดับกระแสการชุมนุมดังกล่าวลง โดยมีการกล่าวหาเรื่องการออกมาชุมนุมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มองว่าผู้ชุมนุมตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง การมองการแสดงออกทางการเมืองในแง่ลบ และมีการกล่าวย้ำในลักษณะข่มขู่ว่ากิจกรรมต้องไม่ละเมิดกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะกฎหมายชุมนุม ทั้งที่การชุมนุมในสถานศึกษานั้น ไม่ได้อยู่ในการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาว่าขอให้ระวังเรื่องกฎหมายชุมนุม และกล่าวหาว่านิสิตนักศึกษาที่ออกไปร่วมชุมนุมอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว และยังข่มขู่ว่าการออกมาชุมนุมจะเป็นอันตรายต่ออนาคตของตนเองด้วย 

รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข่าวในลักษณะย้ำว่าขอให้การชุมนุมต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และไม่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมระบุว่าตำรวจจะส่งกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าดูแลการชุมนุมต่างๆ ทั้งดูแลการจราจร รักษาความสงบเรียบร้อย และเก็บข้อมูลว่ามีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ รองโฆษกตำรวจยังอ้างว่า ในส่วนที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษา เพราะตำรวจมีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม สิ่งไหนที่ยังไม่เกิด ทำได้ก่อนก็ทำ

ส่วนทางคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และหามาตรการป้องกันการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน โดยทางเลขาฯ ระบุเรื่องหน้าที่ของโรงเรียนคือการส่งเสริมและมอบความรู้ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การแสดงออกต้องไม่กระทบต่อการเรียนการสอน และใช้เวลาเรียนมาทำกิจกรรม แต่หากเป็นกิจกรรมนอกโรงเรียน ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของนักเรียน

สถานการณ์เรื่องไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการออกประกาศระบุให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก รวมถึงทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังให้ข่าวในลักษณะว่าอาจมีการใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในการควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสด้วย แต่ก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้แต่อย่างใด

การชุมนุมต้องยกเลิก/จัดไม่ได้ อย่างน้อย 12 กิจกรรม 

แม้จะมีการชุมนุมที่จัดขึ้นได้ในเกือบหลักร้อย แต่ก็ยังมีกิจกรรมหลายแห่งไม่สามารถจัดขึ้นได้ด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนพบว่ามีการชุมนุมอย่างน้อย 12 กิจกรรม ที่ต้องยกเลิกการจัด หรือไม่สามารถจัดขึ้นได้ตามกำหนดการ โดยแยกเป็นกิจกรรมในพื้นที่โรงเรียนจำนวน 5 กิจกรรม กิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยจำนวน 7 กิจกรรม

สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการไม่สามารถจัดกิจกรรมขึ้นได้ คือสถานศึกษาไม่อนุญาตให้นักเรียน-นักศึกษาใช้สถานที่ หรือการถูกกดดันจากบุคลากรของสถานศึกษา ทำให้ผู้จัดต้องตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม

ที่​โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี นักเรียนผู้จัดชุมนุมไม่ได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียนให้ใช้สถานที่ทำกิจกรรม จึงได้ประกาศจัดกิจกรรมหน้าโรงเรียน แต่เมื่อไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตำรวจได้ให้ความเห็นว่ากิจกรรมอาจขัดต่อมาตรา 8 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรื่องการกีดขวางทางเข้าออกของสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ทำให้นักเรียนตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม เพราะเกรงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น 

ส่วนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนออกประกาศว่าไม่มีการขออนุญาตในการใช้พื้นที่ทำกิจกรรม และยังมีการส่งหนังสือขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พระราชวัง มาดูแลความเรียบร้อยในเวลาที่มีการประกาศทำกิจกรรมอีกด้วย โดยที่โรงเรียนเองก็มีมาตรการในการไม่ให้มีการชุมนุม ทำให้สุดท้ายในโรงเรียนสวนกุหลาบไม่ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้น  

เช่นเดียวกับที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี ซึ่งทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้ศิษย์เก่าใช้พื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กิจกรรมไม่สามารถจัดขึ้นได้  หรือที่โรงเรียนสันติคีรี ที่จังหวัดเชียงราย ที่มีประชาชนสนใจจะจัดกิจกรรมชุมนุมเล็กๆ แต่ทางโรงเรียนยังไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ เพราะเห็นว่าอาจละเมิดกฎหมาย และผู้จัดยังถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอ้างว่าจะนำกำลังมาจับกุมที่บ้าน ทำให้ไม่ได้จัดกิจกรรมในที่สุด

ที่มหาวิทยาลันในภาคอีสาน ทั้งราชภัฏบุรีรัมย์, ราชภัฏอุบลราชธานี และราชภัฏนครราชสีมา นักศึกษาผู้จัดชุมนุมต้องยกเลิกกิจกรรมในลักษณะคล้ายกัน เมื่อได้ถูกเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเรียกตัวไปพูดคุย และมีการแจ้งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ทำให้ผู้จัดตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม 

ส่วนกิจกรรม #ครูรุ่นใหม่ก็ไม่ไหวแล้ว ของเครือข่ายครูขอสอน ที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร ก็ถูกทางคณะศึกษาศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ ทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรม และทำการไลฟ์สดการพูดคุยปัญหาของกลุ่มครูแทน

.

สถานศึกษาออกประกาศไม่อนุญาตให้ชุมนุม หรือห้ามไม่ให้จัด อย่างน้อย 20 แห่ง

ในหลายพื้นที่ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังมีแนวทางไม่อนุญาตให้นักเรียน/นักศึกษาทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่สถานศึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีสถานศึกษาที่สั่งห้ามหรือไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมชุมนุม จำนวนอย่างน้อย 20 แห่ง โดยมีสถานศึกษาที่มีการเผยแพร่ประกาศอย่างเป็นทางการ มีเนื้อหาในลักษณะปิดกั้นกิจกรรมอย่างน้อย 6 แห่ง  ในจำนวนนี้ บางส่วนผู้จัดชุมนุมก็ต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมไปดังที่กล่าวถึงข้างต้น แต่บางส่วนก็ยังยืนยันจัดต่อไป โดยต้องเปลี่ยนสถานที่หรือปรับรูปแบบกิจกรรมไป

ที่โรงเรียนบดินทรเดชา โรงเรียนได้มีการออกประกาศมาตรการควบคุมพื้นที่เรื่อง “ไม่ให้ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง” โดยอ้างว่าการเชิญชวนให้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของนักเรียนและบุคลากร อาจขัดต่อแนวคิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงกำหนดมาตราการควบคุมไม่อนุญาตและไม่สนับสนุนให้ใช้พื้นที่โรงเรียนทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ทางนักเรียนที่เดิมมีแผนจะทำกิจกรรม ต้องยกเลิกไป

เช่นเดียวกับที่โรงเรียนสวนกุหลาบและโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ก็มีการออกประกาศในลักษณะใกล้เคียงกันนี้ด้วย 

ประกาศของผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

หนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลกิจกรรม

ประกาศของผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชชูทิศ จังหวัดจันทบุรี

ส่วนที่มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้มีการออกประกาศอ้างว่าสถานศึกษาเป็นหน่วยงานรัฐ จึงไม่มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรม และอ้างว่ากิจกรรมการชุมนุมอาจจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบมหาวิทยาลัย และส่งผลต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยยังมีการนำป้ายข้อความ “พื้นที่อันตราย ปรับปรุงพื้นที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ” มาติดบริเวณที่กลุ่มนักศึกษาจะทำกิจกรรมด้วย ทำให้ผู้จัดต้องประกาศย้ายสถานที่จัดกิจกรรมไป   

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา รองอธิการบดีออกประกาศเรื่องการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ว่าไม่เคยอนุญาตให้บุคคลใดจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ทำให้ในที่สุดนักศึกษาต้องยกเลิกการชุมนุมไป

ประกาศของมหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ (ศาลายา)

ประกาศของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

กรณีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีลพบุรี อธิการบดีได้มีการออกหนังสือเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ให้หยุดการชุมนุมของนักศึกษาไว้ชั่วคราว โดยอ้างถึงมาตรการป้องกันไวรัสโควิค-19 ทำให้ไม่มีนักศึกษาออกมาทำกิจกรรม

กรณีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ผู้จัดต้องยกเลิกการชุมนุม เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยไม่ให้จัดกิจกรรม โดยอ้างว่าหากเกิดเหตุร้ายหรือมีปัญหาทางกฎหมาย ทางมหาวิทยาลัยจะไม่สามารถช่วยได้ รวมทั้งอาจมีปัญหาในการสอบ ทำให้ทางผู้จัดไม่กล้าจัดกิจกรรม แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย ยังมีประชาชนประมาณ 100 คน ออกมาชุมนุมแสดงออกอยู่เช่นเดิม

ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการออกประกาศให้กิจกรรมที่ใช้พื้นที่ศาลาอ่างแก้ว ต้องแจ้งขอใช้พื้นที่กับมหาวิทยาลัยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อป้องกันฝุ่นพิษและโรคติดต่อ แต่ประกาศฉบับดังกล่าว กลับออกก่อนหน้าการจัดชุมนุมของนักศึกษาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทำให้กลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้ปฏิเสธไม่ทำตามประกาศฉบับดังกล่าว

สถานศึกษาอีกหลายแห่ง แม้ไม่ได้มีการออกประกาศเป็นทางการ แต่ทางผู้บริหารหรือครูอาจารย์ก็มีการห้ามไม่ให้ทำกิจกรรม เช่น ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนใช้สถานที่ทำกิจกรรม โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ราชการ ไม่ควรเลือกข้างทางการเมือง ทำให้กลุ่มนักเรียนต้องย้ายออกมาทำกิจกรรมนอกรั้วโรงเรียนแทน  เช่นเดียวกับที่โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี ที่นักเรียนถูกผลักดันให้หาพื้นที่ทำกิจกรรมนอกโรงเรียน จนต้องเผชิญกับปัญหาการใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะ และยกเลิกกิจกรรมในที่สุด

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ขอร้องนักศึกษาไม่ให้จัดกิจกรรม แต่นักศึกษายังยืนยันทำกิจกรรมท่ามกลางการจับตาของเจ้าหน้าที่

.

สถานศึกษาปิดกั้น หรือให้ปรับรูปแบบกิจกรรม

ในอีกหลายสถานศึกษา แม้ผู้บริหารไม่ได้ห้ามนักเรียน/นักศึกษาจัดกิจกรรมตรงๆ แต่ก็มีรูปแบบการปิดกั้นหรือทำให้กิจกรรมต้องปรับรูปแบบไปจากเดิมหลายแห่ง เช่น การห้ามจัดกิจกรรมในลักษณะการปราศรัย ขอความร่วมมือไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์พรรคการเมือง หรือไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียงในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยไม่ให้ผู้จัดปราศรัยหรืออ่านแถลงการณ์ ทำให้ต้องปรับรูปแบบเป็นการเขียนป้ายแสดงความคิดเห็นแทน และใช้เวลาทำกิจกรรมสั้นลง 

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ทางมหาวิทยาลัยขอนักศึกษาผู้จัดชุมนุมไม่ให้มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นักศึกษาผู้จัดถูกขอไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก นักศึกษาที่จัดกิจกรรมถูกรองอธิการบดีเรียกพบ โดยยืนยันไม่ให้ใช้สถานที่ทำกิจกรรม และขอให้การจัดชุมนุมใดๆ อย่าใช้ชื่อมหาวิทยาลัย ทำให้กลุ่มนักศึกษาไม่สามารถจัดในลักษณะการปราศรัยและกล่าวแสดงออกใดๆ ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นการรวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการชูสามนิ้วในช่วงเวลาสั้นๆ แทน 

ด้านนักเรียนโรงเรียนเดชอุดม อุบลราชธานี ได้ถูกโรงเรียนปิดประตูทุกด้านพยายามไม่ให้ทำกิจกรรม ทำให้นักเรียนต้องใช้สถานที่ร้านกาแฟฝั่งตรงข้ามโรงเรียน เป็นจุดรวมตัวกันเขียนป้ายข้อความแทน

นอกจากนั้น ในบางมหาวิทยาลัยพบว่ามีบุคลากรของมหาวิทยาลัย เข้าปลดป้ายแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษาออกไปอีกด้วย เช่น ที่มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนักศึกษาพบว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไล่ปลดป้ายข้อความทางการเมืองออกไป, ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้าปลดป้ายจากรูปปั้นสัญญา ธรรมศักดิ์ หรือที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ ป้าย “ไม่เอาเผด็จการ” ที่ถูกติดไว้ ก็ถูกปลดหายไป แต่ไม่ทราบว่าใครนำออกไป เป็นต้น

.

เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามข้อมูลผู้จัดกิจกรรม-จับตาสอดส่องการชุมนุม

แม้ในพื้นที่สถานศึกษาจะไม่อยู่ในการบังคับใช้ของกฎหมายชุมนุมสาธารณะ แต่พบว่าในหลายสถานศึกษา ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปขอข้อมูลผู้จัดกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเข้าไปตรวจตราในพื้นที่ชุมนุม หรือไปขอตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วม  และในแทบทุกการชุมนุม ล้วนมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากหน่วยต่างๆ จำนวนมากเข้าไปติดตามถ่ายวีดีโอการปราศรัย ถ่ายภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรม และถ่ายภาพป้ายข้อความที่มีการแสดงออกในที่ชุมนุม

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไอลอว์รายงานว่าก่อนกิจกรรมได้มีตำรวจไม่ทราบสังกัดโทรไปหานักศึกษาขอรายละเอียดของงาน ถามชื่อผู้เข้าร่วม องค์กรและสังกัด อ้างว่าต้องนำไปรายงาน “นาย” และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่คณะรัฐศาสตร์ เพื่อไปพบและสอบถามรายละเอียดของงานจากอาจารย์ด้วย

ที่มหาวิทยาลัยนครพนม ก่อนหน้าวันจัดกิจกรรมมีทหารจากกอ.รมน.จังหวัดเข้ามาที่มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยกับอาจารย์เรื่องกิจกรรม  เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีตำรวจในเครื่องแบบเข้ามาคุยกับอาจารย์และนักศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ ก่อนการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 13 มี.ค. เช่นกัน

ส่วนการเข้าแทรกแซงที่เกิดในระหว่างการชุมนุม เช่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้มีการล้อมรั้วและตั้งจุดตรวจวัดไข้เพื่อป้องกันไวรัส แต่กลับให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องลงชื่อสกุล เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และหน่วยงานที่สังกัดก่อนเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุม และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเข้าตรวจตราอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้จะร่วมชุมนุมหลายคนเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะลงชื่อและร่วมชุมนุม  

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบกว่า 20 นาย เข้าไปในที่ชุมนุม และบางนายเดินขอตรวจบัตรประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุม

ที่โรงเรียนหอวัง นนทบุรี หลังนักเรียนออกมาชูป้ายแสดงออกทางการเมืองในสนามฟุตบอลของโรงเรียน พบว่าได้มีตำรวจในเครื่องแบบจาก สภ.ปากเกร็ด 5 นาย เดินทางมาตรวจสอบป้ายและกิจกรรมถึงในโรงเรียนด้วย

นอกจากนั้น ยังพบว่าการติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังเกิดขึ้นหลังกิจกรรมชุมนุมไปแล้วอีกด้วย ได้แก่ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม กลุ่มผู้จัดได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามไปยังร้านอาหารนอกมหาวิทยาลัย และมีการเข้าสอบถามว่าจะมีการจัดกิจกรรมอีกเมื่อไรหรือไม่ ทำให้นักศึกษาที่จัดกิจกรรมรู้สึกไม่ปลอดภัย 

หรือผู้จัดชุมนุมที่จังหวัดระยอง หลังกิจกรรม ได้ถูกชายหัวเกรียน 1 นาย ในลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ทหาร เดินทางมาตามหาที่บ้าน และมีการถ่ายรูปครอบครัวไป นอกจากนั้นยังพบว่ามีคนขับรถติดตามระหว่างไปทำธุระอีกด้วย ทำให้เกิดความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงได้เข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน

กรณีลักษณะนี้ ยังรวมไปถึงนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เคยคิดจะจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” แม้ผ่านไปกว่า 2 เดือน และนิสิตไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ แล้ว แต่พบว่ายังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวนเวียนไปติดตามที่หอพัก ทั้งมีการข่มขู่เจ้าของหอพักว่าจะมีการขอหมายค้นเข้าตรวจค้นหอพัก ทำให้เจ้าของหอพักรู้สึกกังวลและขอให้นิสิตย้ายออกจากหอพัก ทำให้นิสิตรายดังกล่าวได้ไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้แล้ว

รูปแบบการติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังกิจกรรม จึงยังมีวิธีการสำคัญที่ต้องติตตามจับตาต่อไป เนื่องจากสร้างผลกระทบให้ผู้ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่แตกต่างไปจากยุคคณะรัฐประหาร คสช.  

.

ถูกดำเนินคดี 3 คดี เรื่องไม่แจ้งชุมนุม-ใช้เครื่องขยายเสียง ในพื้นที่นอกสถานศึกษา

นอกจากกิจกรรมในสถานศึกษา ในการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นภายนอกสถานศึกษา กลุ่มนักเรียนนักศึกษา-ประชาชนต้องเผชิญกับการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และกฎหมายการใช้เครื่องขยายเสียง ทำให้ผู้จัดกิจกรรมในช่วงการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา ถูกดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับไปแล้ว อย่างน้อย 3 คดี 

ในการชุมนุมที่จังหวัดจันทบุรี ทางนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้ถูกมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรม ทำให้มีการออกมาใช้พื้นที่สนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชยในการจัดชุมนุมแทน แต่ผู้จัดได้ไปแจ้งการชุมนุมก่อนหน้ากิจกรรมไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทำให้ต่อมาทางสภ.เมืองจันทบุรีได้มีการเรียกตัวผู้จัดกิจกรรมไปเปรียบเทียบปรับตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ใน 2 ข้อหา คือ ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และไม่ยื่นคำร้องขอผ่อนผันกำหนดเวลา โดยสั่งปรับข้อหาละ 2,500 บาท รวม 5,000 บาท การสั่งปรับในทั้งสองข้อหาที่ซ้ำซ้อนกันของตำรวจ ยังมีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากการกระทำตามสองมาตรานี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้

ส่วนในกรณีที่มีการแจ้งการชุมนุมแล้ว ก็มีการดำเนินคดีในข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ กรณีการชุมนุมที่หน้าศาลากลางหลังเก่า จังหวัดเชียงราย ผู้จัดได้ถูกเรียกไปเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท ภายหลังกิจกรรม แม้จะพยายามไปแจ้งขอใช้เครื่องขยายเสียงต่อเทศบาลแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเชียงราย ที่ต้องลงชื่อรับทราบในเอกสารดังกล่าว ได้พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลงชื่อ ทำให้การแจ้งใช้เครื่องขยายเสียงไม่เสร็จสิ้น 

กรณีการชุมนุมคัดค้าน ส.ส.งูเห่า ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ที่จังหวัดแพร่ ผู้จัดก็ได้ถูกตำรวจสภ.เมืองแพร่ เรียกไปเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท เรื่องการไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเช่นเดียวกัน แม้ว่าทีมงานจะได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และแจ้งการใช้เครื่องขยายเสียงในแบบฟอร์การแจ้งการชุมนุมแล้วก็ตาม การใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นทั้งการแจ้งการชุมนุม และแจ้งขอใช้เครื่องเสียง จึงมีลักษณะซ้ำซ้อน และสร้างภาระให้กับผู้จัดการชุมนุมเกินความจำเป็นอีกด้วย

 

จับตาต่อไปสถานการณ์ชุมนุมหลังพ้นวิกฤติโควิด-19

แม้กระแสการชุมนุมในสถานศึกษาจะลดระดับลงในช่วงกลางเดือนมีนาคม หลังทั่วทั้งโลกเผชิญกับวิกฤติการณ์จากไวรัสโควิด-19  แต่ภายใต้วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาความไม่ชอบธรรมและความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลไทยในการรับมือกับสถานการณ์นี้ ก็ยิ่งเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากปัญหาจากไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป การชุมนุมคัดค้านรัฐบาลและเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอาจจะกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง

ประเด็นที่น่าจับตาต่อไป คือพื้นที่สถานศึกษาจะยังเป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมต่อไปหรือไม่ ความพยายามปิดกั้นห้ามปรามจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ หรือการชุมนุมจะขยับขยายออกสู่พื้นที่นอกสถานศึกษามากยิ่งขึ้นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น กฎหมายการชุมนุมสาธารณะจะยิ่งมีบทบาทสำคัญในถูกใช้ควบคุมกิจกรรมสาธารณะมากยิ่งขึ้น ผู้ชุมนุมจะรับมือกับการใช้กฎหมายที่กลายไปเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพนี้อย่างไร รวมถึงจะยุติการข่มขู่คุกคามและกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังดำเนินอยู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค คสช. อย่างไร

ประเด็นเหล่านี้ ยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่จะดำรงอยู่ต่อไปท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในอนาคต

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายผู้รักปชต.แพร่ถูกปรับใช้เครื่องเสียง หลังกิจกรรมไม่เอาส.ส.งูเห่า แม้แจ้งชุมนุมแล้ว
นิสิตวิ่งไล่ลุง ม.พะเยา ถูกขอให้ออกจากหอพัก หลัง นคบ.ติดตาม ระบุอาจออกหมายค้นหอพัก
แม้เผชิญแรงกดดันจากมหาลัย-จนท.รัฐ นักศึกษามรภ.-มอ.สุราษฎร์ ยังจัดชุมนุมต้านเผด็จการ
ตร.เรียกผู้จัดแฟลซม๊อบ #เชียงรายไม่เอาเผด็จการ ปรับใช้เครื่องเสียง แม้แจ้งชุมนุมแล้ว
ม.บูรพายังไม่ได้ห้ามจัดชุมนุม แต่สั่งตามแกะป้ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มโกงกาง

 

X