ฟ้อง 112 แปดผู้ต้องหาคดีเผาซุ้มฯ เพิ่มเติมจาก 4 ข้อหาเดิม

ฟ้อง 112 แปดผู้ต้องหาคดีเผาซุ้มฯ เพิ่มเติมจาก 4 ข้อหาเดิม

16 ส.ค.60 พนักงานอัยการจังหวัดพลเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติใน จ.ขอนแก่น ต่อศาลจังหวัดพล ในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และร่วมกันหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ รวม 3 คดี หลังพนักงานสอบสวนมีหมายเรียกทั้ง 8 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในเช้าวันเดียวกันนี้

หลังแจ้งข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมที่ สภ.ชนบทแล้ว พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ส่งสำนักงานอัยการจังหวัดพล และส่งฟ้องต่อศาลตามลำดับ ก่อนที่จำเลย 8 คน จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำอำเภอพลในช่วงเย็น

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ทหารและตำรวจเข้าจับกุมเยาวชนชาย (อายุ 14 ปี) 1 คน วัยรุ่นชาย (อายุ 18-20 ปี) 6 คน และผู้ใหญ่อีก 2 คน จากบ้านและสถานศึกษาในตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท และอำเภอโนนศิลา นำไปควบคุมตัวที่ค่ายศรีพัชรินทร (มณฑลทหารบกที่ 23) จ.ขอนแก่น และมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพฯ รวม 6 วัน ก่อนที่จะส่งตัวกลับมาให้ตำรวจดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร จากพฤติการณ์รับจ้างวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ใน อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท รวม 3 จุด และตระเตรียมวางเพลิงใน อ.เปือยน้อย โดยพนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลจังหวัดพลฝากขังผู้ต้องหา 8 คน ที่เรือนจำอำเภอพล และแยกเยาวชนชายไปขออำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ควบคุมตัวไว้ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น (ดูประมวลคดีก่อนหน้านี้)

ต่อมา หลังครบกำหนดที่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฯ ฝากขังครั้งที่ 4 หรือถูกขังมาแล้วรวม 48 วัน ผู้ต้องหา 8 คน ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำฯ เนื่องจากพนักงานอัยการยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาล (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่ถึงสิบปี ศาลมีอํานาจสั่งขังได้ไม่เกิน 48 วัน) ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลว่าเยาวชนชายได้รับการปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ

ทั้งนี้ อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 รวม 3 คดี รายละเอียดดังนี้

1.คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.บ้านไผ่ ฟ้องจำเลยวัยรุ่น รวม 6 คน ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ โจทก์บรรยายฟ้อง ความโดยสรุปว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จนถึงวันที่ 3 พ.ค. 60 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้ง 6 กับพวกได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่มุ่งประสงค์จะวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่ร่องกลางถนนสายบ้านไผ่-บรบือ จำนวน 1 ซุ้ม โดยมีนายปรีชา กับพวก ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เป็นหัวหน้าคณะบุคคลอั้งยี่นี้ และเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ได้มีการประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำที่กระท่อมนาของนายปรีชา เพื่อไปวางเพลิงเผาซุ้มดังกล่าว โดยเวลาต่อมาได้ไปวางเพลิงจนซุ้มฯ ได้รับความเสียหายบางส่วน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 พ.ค.60 พนักงานสอบสวนจับจำเลยทั้ง 6 ได้

2.คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.ชนบท ฟ้องจำเลยวัยรุ่น 4 คน (เป็นกลุ่มเดียวกับคดีแรก) ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ โจทก์บรรยายฟ้อง ความโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 12 พ.ค. 60 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จนถึงวันที่ 13 พ.ค. 60 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้ง 4 กับพวก (โดยร่วมกับเยาวชน ซึ่งแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว) ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่มุ่งประสงค์จะวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยมีนายปรีชา กับพวก ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เป็นหัวหน้าคณะบุคคลอั้งยี่นี้ และได้มีการประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำที่กระท่อมนาของนายปรีชา เพื่อไปวางเพลิงเผาซุ้มดังกล่าวในเขต ต.ชนบท อ.ชนบท จำนวน 2 ซุ้ม โดยเวลาต่อมาได้ไปวางเพลิงจนซุ้มฯ ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 958,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 พ.ค.60 พนักงานสอบสวนจับจำเลยทั้ง 4 ได้

3.คดีตระเตรียมเผาซุ้มใน อ.เปือยน้อย ฟ้องจำเลย 2 คน (คนละกลุ่มกับ 2 คดีข้างต้น) ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ (ไม่มีข้อมูลคำฟ้อง)

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาวัยรุ่นบางคนได้เคยให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่า เขาแค่ได้รับการว่าจ้าง โดยไม่รู้ว่าให้ไปทำอะไร จนถึงเวลาที่ผู้ว่าจ้างนัดหมายมา โดยผู้ว่าจ้างเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันที่รู้จักกันเพียงแค่เคยเห็นหน้า หรือทักทายทั่วไป ไม่ได้รู้จักสนิทสนมหรือเข้าร่วมเป็นกลุ่มขบวนการอย่างที่ถูกกล่าวหา ซึ่งในขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายทหาร หรือสถานีตำรวจ ที่พวกเขาไม่สามารถติดต่อใครได้ พวกเขาถูกสอบปากคำทีละคนตามลำพังกับเจ้าหน้าที่หลายๆ รอบ  หลายคนยังให้ข้อมูลตรงกันว่า ขณะถูกส่งตัวออกมาจาก มทบ.11 ทหารบอกว่า จะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ แต่แล้วก็ถูกส่งกลับมาดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ ด้วยข้อหาที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าคืออะไร แบบไหนคืออั้งยี่ ซ่องโจร

แม่ของหนึ่งในจำเลยวัยรุ่นเปิดเผยอีกว่า หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา พวกเขา 4 คนก็พากันบวชสามเณรที่วัดในหมู่บ้าน บวชอยู่ 1 เดือน เพิ่งสึกออกมาก็ได้รับหมายเรียกจากตำรวจเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ให้มาพบตำรวจวันที่ 16 บอกว่า แค่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม วันนี้ก็เอารถตู้ไปรับมาแต่เช้า แต่พอถึงสถานีตำรวจกลายเป็นแจ้งข้อหาหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์เพิ่ม “แม่ตกใจ ลูกก็ตกใจว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ได้ ทั้งทหาร ตำรวจ ไม่เคยพูดถึงข้อหานี้ มันหนักมากนะ”

ย้อนไปเมื่อครั้งมีการแถลงข่าวการจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหากลุ่มนี้ ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้กล่าวว่า “ไม่มีประเด็นหรือการสืบสวนสอบสวนที่ซัดทอดเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แต่อย่างใด โดยเชื่อว่าสาเหตุที่ลงมือทำนั้นน่าจะเกิดปมขัดแย้งเรื่องส่วนตัวและผลประโยชน์ในพื้นที่” การกลับลำมาดำเนินคดีข้อหาหนักเช่นนี้กับจำเลยซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี และอาจจะรวมถึงเยาวชนอายุ 14 ปี รวมถึงส่วนหนึ่งยังศึกษาอยู่ ยิ่งทำให้สถานการณ์คดี 112 เลวร้ายลง

การยื่นฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัด ทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ซึ่งได้รับอิสรภาพชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือนเศษ ต้องถูกส่งกลับเข้าเรือนจำอำเภอพลอีกครั้ง จากการที่ศาลฯ สั่งขังไว้ในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า การให้ประกันตัวเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่การขังในระหว่างสอบสวน ซึ่งยังไม่มีข้อหาตามมาตรา 112 ญาติผู้ต้องหาได้เคยยื่นประกันหลายครั้ง โดยวางหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1-3 แสนบาท/คดี ศาลจังหวัดพล รวมถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยังไม่อนุญาตให้ประกัน

คดีนี้ที่ผ่านมา ในชั้นจับกุม คุมตัวในค่ายทหาร และในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐมีหน้าที่ไม่ละเมิดและต้องประกันสิทธิเสรีภาพดังกล่าว  ทั้งนี้ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ให้คำแนะนำแก่ประเทศไทย ให้ปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับ ICCPR ซึ่งรวมถึงการรับประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมด้วย     

 

X