ศาลแขวงดุสิตปรับ “รุ้ง – ไบรท์” คนละ  25,200 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ทำให้ทรัพย์เปรอะเปื้อน เหตุปาไข่-สาดสี ม.พัน 4 รอ. ทวงถามเรื่องทหารล็อกคอผู้ชุมนุม ปี 63

28 มิ.ย. 2566 ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาในคดีที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 398 กระทําด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์ จากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 หน้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 พล.1 รอ.) 

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ภาณุพงษ์ จาดนอก, ธนชัย เอื้อฤาชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์ และ ‘ภูมิ’ เยาวชนอายุ 17 ปี เดินทางมาทวงถามเรื่องการลงโทษ 3 พลทหารที่ล็อกคอมวลชนที่ไปถ่ายรูปหน้ากองพัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ขณะภาคประชาชนเดินขบวนนำ 100,732 รายชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปยื่นที่รัฐสภา แต่ไม่มีใครออกมาพบ จึงมีกิจกรรมการปราศรัย-ปาไข่-สาดสี ที่ด้านหน้าป้ายกองพัน 

คดีนี้มี ร.อ.สําเนา ดําเนื้อดี นายทหารเวร ม.พัน 4 พล.1 รอ. ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พ.ท.อิทธิศักดิ์ เสนตา ผบ.ม.พัน 4 พล.1 รอ. เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ โดยตำรวจแยกดำเนินคดีเป็น 3 คดี ในคดีนี้ ปนัสยา, ณัฐชนน และชินวัตร  ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 3, 4 และ 16 พ.ย. 2563 และให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ภายหลัง พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตยื่นฟ้องปนัสยาและชินวัตรต่อศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 โดย สมโชค ศรีถาวร บรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งสองกับพวก ซึ่งเป็นแกนนําการชุมนุมทางการเมือง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ตามหานาย” ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองทัพบก เพื่อเรียกร้องทวงถามความคืบหน้ากับผู้บังคับบัญชาของทหาร ที่บังคับให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองลบภาพถ่ายป้ายหน้าหน่วย โดยจําเลยทั้งสองได้ร่วมกันไม่แจ้งความประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กํากับการสถานีตํารวจนครบาลเตาปูน หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งการชุมนุมได้กระทำในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

จําเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โฆษณาแสดงความคิดเห็นแก่ผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ในการทํากิจกรรม โดยไม่ได้ขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ปนัสยา จำเลยที่ 1 กับภาณุพงศ์ และธนชัย ซึ่งพนักงานสอบสวนแยกไปดําเนินคดีที่ศาลอาญา ได้ร่วมกันใช้สีเท สาดใส่ที่ประตูรั้วทางเข้า ปาถังสีเข้าไปในหน่วย จากนั้นได้นําสีไปทาที่ป้ายชื่อหน่วย ทําให้ประตูรั้วทางเข้าและป้ายชื่อหน่วยกองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นทรัพย์ของกองทัพบก ผู้เสียหาย ได้รับความเสียหาย ถูกทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ คิดเป็นเงินรวม จํานวน 45,000 บาท 

.

เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และการจัดชุมนุมอยู่ในที่แออัด ไม่มีมาตรการป้องกันโรค มีการมั่วสุม มีการสาดสี ปาไข่ใส่ป้าย ม.พัน 4 และปาเข้าไปในค่าย เป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358,389 และทำให้ทรัพย์สินของกองทัพบกเสียหายมูลค่า 45,000 บาท กองทัพบกผู้เสียหายได้เรียกชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ในค่าเสียหายส่วนแพ่ง อีกทั้งโจทก์ได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของศาลอื่นที่เป็นจำเลยอยู่ด้วย โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นที่รัฐต้องมีมาตรการป้องกันโรค โดยการประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีการขยายระยะเวลาครอบคลุมช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อีกทั้งการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยปนัสยา (จำเลยที่1) ปราศรัยขณะชินวัตร (จำเลยที่ 2) ยกเครื่องเสียงไปหน้า ม.พัน.4 และจำเลยได้ปาไข่กับสาดสีใส่ประตูกับป้ายชื่อหน่วย อีกทั้งจำเลยไม่เคยแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และไม่มีมาตรการป้องกันโรค รวมถึงไม่ได้ขออนุญาตจัดกิจกรรม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

พยานโจทก์คือ พ.ต.ท.ศรันย์ และ พ.ต.ท.จำลอง ได้เบิกความตรงกับเอกสารหมาย จ. ว่า เห็นจำเลยเข้าชุมนุมจริง ปราศรัยจริง และสาดสีจริง ไม่มีพิรุธต้องสงสัยว่า พยานเบิกความเท็จ และเมื่อพิจารณาจากคลิปตั้งแต่ต้นจนจบเหตุการณ์ มีการใช้เครื่องเสียงจริง และพบเห็นภาณุพงศ์ จาดนอก มาพร้อมจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้สลับกันปราศรัยพร้อมภานุพงศ์และคนอื่นๆ โดยจำเลยที่ 2 ปราศรัยขู่ว่าจะใช้สี ส่วนจำเลยที่ 1 ได้เตรียมปาไข่ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กับภาณุพงศ์ได้ปาไข่ พร้อมกับผู้ชุมนุมได้ปาตามด้วย จำเลยที่ 1 ยังเอาไข่ไปป้ายตัวอักษร หลังจากนั้นปรากฏว่า ภาณุพงศ์ได้ราดสีแดง บุคคลเสื้อขาวราดสีขาว และจำเลยที่ 1 ราดสีน้ำเงิน และสาดสีที่รั้ว ประตู กับป้ายหน่วย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุม และแบ่งหน้าที่กันทำ แม้จะต่อสู้ว่า ไข่ที่ขว้างปาเป็นไข่ต้ม ซึ่งเป็นอาหาร ไม่ใช่สิ่งโสโครก แต่เมื่อปาไข่ต้มแล้ว ไข่ได้แตกเลอะเทอะทั่วบริเวณ จึงสิ้นสภาพการเป็นอาหาร และก่อความสกปรกขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งโสโครก และจำเลยได้เบิกความว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่ก็มีน้ำหนักน้อย เพราะขัดต่อพฤติการณ์ในคลิปเหตุการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และไม่ถูกหลักสุขอนามัย อีกทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น จำเลยทั้งสองยังไม่มีการแจ้งชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน และไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมาย พยานโจทก์รับฟังได้สิ้นข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9,18, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 389, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 6,10,28 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4,8,9 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต ปรับคนละ 200 บาท และฐานทำให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์ ปรับคนละ 5,000 บาท รวมปรับทั้งสิ้นคนละ 25,200 บาท ไม่มีการพิพากษาลงโทษจำคุก จึงไม่มีการนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อกับคดีอื่น

ในส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 358 นั้น กองทัพบกได้มีตัวแทนคือ พ.ท.อิทธิศักดิ์ มาร้องทุกข์ แต่ผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับมอบอำนาจมาจากกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำข้อกล่าวหานี้มาฟ้องจำเลยในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเพื่อเรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงยกข้อหานี้

.

สำหรับคดีนี้ในส่วนของ “ภูมิ” ซึ่งเป็นเยาวชนและได้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำพิพากษา จำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาพร้อมคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 4 เดือน 

ขณะที่คดีที่ศาลอาญาของ ภาณุพงษ์ จาดนอก, ธนชัย เอื้อฤาชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์ มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 21 มิ.ย., 5-7 ก.ค. และ 4 ส.ค. 65 ก่อนศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค. 2565 จำคุก “ไมค์” ภาณุพงศ์  9 เดือน และปรับ 15,150 บาท, จำคุก “หอย” ธนชัย 9 เดือน และปรับ 14,250 บาท และจำคุก “บอส” ฉัตรมงคล 6 เดือน และปรับ 10,500 บาท เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติทั้งสามคนละ 1 ปี กับให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดี “ไมค์-หอย-บอส” ร่วม #ตามหานาย หน้า ม.พัน 4 ศาลลงโทษจำคุกและปรับ โดยให้รอลงอาญา จำเลยยังเชื่อไม่ได้บุกรุก-ทำลายทรัพย์สิน

ไมค์-รุ้ง เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เหตุ “ปาไข่-สาดสี” ม.พัน 4 รอ. ทวงถามการลงโทษทหารล็อกคอผู้ชุมนุม

แจ้ง 5 ข้อหา 2 น.ศ. บุก “ปาไข่-สาดสี” ม.พัน 4 รอ. ทวงถามการลงโทษทหารล็อกคอผู้ชุมนุม

X